เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นคำว่า BPA Free ผ่านตากันมาบ้าง แต่คุณพอจะนึกออกไหมว่าเห็นที่ไหนมา?

BPA Free เป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ปลอดจาก BPA หรือ บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A) เป็นสารเคมีกลุ่มโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate Plastic) ที่นำมาใช้ผลิตพลาสติกและเรซินเพื่อเสริมความแข็งแรง แม้ BPA มีประโยชน์ทางอุตสาหกรรมพลาสติก แต่สารชนิดนี้ถูกจัดไว้เป็นสารก่อมะเร็ง และส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่นได้ด้วย

คุณเลยสามารถเห็น BPA Free อยู่บนอะไรก็ตามที่ทำจากพลาสติก เช่น แก้วน้ำ ขวดน้ำ ถ้วยชามต่าง ๆ แต่ถึงอย่างนั้น BPA ก็ยังไม่ได้ถูกห้ามใช้ในไทย เพราะจำเป็นต่อการผลิต Hack for Health เลยรวบรวมผลกระทบด้านสุขภาพ และวิธีรับมือกับ BPA มาให้ได้อ่านกัน

อันตรายจากการสัมผัส BPA

BPA เป็นสารเคมีที่ส่งผลต่อร่างกายในหลายด้าน คุณสามารถได้รับ BPA ผ่านทางการรับประทาน การสัมผัส หรือแม้แต่สูดดม การสัมผัสกับ BPA ในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพ เช่น

  • โรคมะเร็ง
  • โรคหัวใจ
  • ปัญหาด้านพัฒนาการในเด็ก โดยเฉพาะพัฒนาการสมอง

นอกจากนี้ งานวิจัยจำหนึ่งพบว่า BPA อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคสมาธิสั้นได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด

BPA อยู่ที่ไหนบ้าง?

อย่างที่ได้บอกไปว่า BPA เป็นส่วนประกอบของพลาสติกและเรซิน ของรอบตัวเราล้วนมีส่วนประกอบของพลาสติกไม่มากก็น้อย แต่ถึงยังนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณกำลังได้รับสารก่อมะเร็งอยู่ทุกวัน ซึ่งคุณอาจเสี่ยงที่จะได้รับ BPA เมื่อ

  • ใช้ภาชนะพลาสติกในการอุ่นอาหาร หรือใส่ของร้อน
  • ดื่มหรือกรอกน้ำร้อนด้วยขวดหรือแก้วพลาสติก
  • ทำงานในโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้สารเคมีกลุ่มนี้

งานวิจัยชี้ว่าพลาสติกจะปล่อย BPA ออกมาเมื่อเจอกับความร้อน การใช้ภาชนะพลาสติกที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใส่ของร้อน มาใช้อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิสูงอาจทำให้ BPA ปะปนในอาหารได้ แต่ถึงอย่างนั้น หากไม่ได้รับในปริมาณมากร่างกายสามารถขับออกเองได้ แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่ดี

วิธีเลี่ยงการได้รับสาร BPA

การใช้สิ่งของจากพลาสติกในชีวิตประจำวันไม่ได้ทำให้คุณเป็นโรค แต่เพื่อความปลอดภัย วิธีต่อไปนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับสาร BPA จากพลาสติกได้

  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก BPA Free
  • เลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติกในการอุ่นอาหาร หรือใส่ของร้อนจัด
  • เลี่ยงการรับประทานอาหารร้อนจัดในกล่องโฟมจากร้านอาหาร
  • ไม่ใช้ภาชนะพลาสติกที่ไม่ได้ระบุความทนทานต่ออุณหภูมิในการใส่ของร้อน
  • ตัดความเสี่ยงด้วยการใช้ภาชนะกระเบื้อง แก้ว หรือสเตนเลสแทน
  • เลี่ยงการใช้พลาสติกรีไซเคิลประเภท 3 และ 7

เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการได้รับ BPA แล้ว นอกจากนี้ แนะนำว่าให้เลี่ยงอาหารกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูป เพราะเป็นกลุ่มอาหารที่มักมี BPA ปนเปื้อน สำหรับคนที่ต้องทำงานกับพลาสติก ไม่ว่าจะงานโรงงาน งานประดิษฐ์​ หรืองานรูปแบบอื่น แนะนำว่าให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน อย่างถุงมือ แว่นตา และหน้ากากอนามัยเสมอ

ที่มา: Mayo clinic, WebMD

ภาพปก: Freepik

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส