การมาสก์หน้าด้วยแผ่นมาสก์เป็นขั้นตอนการบำรุงผิวที่ดีวิธีหนึ่ง คนที่ดูแลผิวก็ต้องใช้มาสก์อยู่เป็นประจำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำมาจากเยื่อกระดาษผสมพลาสติกที่สามารถกักเก็บสารบำรุงผิว และบรรจุอยู่ในซองพลาสติกอีกทีเพื่อรักษาประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าแผ่นมาสก์ และซองใส่แผ่นมาสก์ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งจะต้องกลายเป็นขยะ หากทิ้งไม่ถูกที่ก็อาจกำจัดได้ยาก และปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมของโลกเรา จากข้อมูลแผ่นมาสก์เหล่านี้ถูกผลิตราว 120,000 ล้านชิ้น/ปีเลยทีเดียว

ACS Applied Materials & Interfaces ได้คิดค้นแผ่นมาสก์แบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นได้ดี และมีคุณสมบัติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมกว่าแผ่นมาสก์แบบเดิม โดยนักวิจัยได้ผลิตแผ่นมาสก์หน้าจาก PLA หรือ โพลีแลกติกแอซิด (Polylactic acid) ที่สกัดจากพืช ซึ่งเป็นวัสดุที่กำลังได้รับความนิยมในวงการสิ่งแวดล้อม เพราะมีคุณสมบัติคล้ายกับพลาสติก แต่เป็นมิตรกับโลกมากกว่า หนึ่งในนั้น คือ สามารถย่อยสลายได้ และกันน้ำได้

โดยนักวิจัยได้ใช้เจลาตินผสมกับสารบำรุงผิวยอดนิยม อย่างไฮยาลูโรนิกแอซิด (Hyluronic acid) ที่มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว และสารสกัดจากชาเขียวที่ช่วยบำรุงผิว ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ ผสานเข้ากับแผ่นมาสก์ PLA และใช้เทคนิคในเชิงวิศวกรรมสร้างเส้นใย และไมโครสเฟียร์ (รูปแบบการกักเก็บ และปล่อยสารบำรุง) ที่ด้านนอกของแผ่นมาสก์ แล้วนำไปทดสอบคุณสมบัติในการให้ความชุ่มชื้นกับเซลล์ทดลอง  และพบผลลัพธ์ที่น่าสนใจ

ข้อแรก: หากแผ่นมาสก์ไม่ได้สัมผัสกับผิวหนัง ความชุ่มชื้นในแผ่นมาสก์จะไม่รั่วไหลออกจากแผ่นมาสก์เลย

ข้อสอง: การใช้แผ่นมาสก์ที่ถูกใช้วิธีกักเก็บแบบไมโครสเฟียร์จะทำให้ความชุ่มชื้น และสารบำรุงเข้าสู่ผิวแบบทางเดียว ซึ่งอาจช่วยให้การมาสก์หน้าชุ่มชื้นมากกว่าเดิม

ข้อสาม: การใช้แผ่นมาสก์ PLA บนผิวที่เปียกช่วยความชุ่มชื้น และสารบำรุงถ่ายเทได้ดีขึ้น

นักวิจัยพบว่าเซลล์ของสัตว์ทดลองยังคงได้รับคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดชาเขียวด้วยการสังเกตการเสื่อมของเซลล์ที่น้อยลงจากการใช้แผ่นมาสก์ PLA 

หากการทดสอบสำเร็จ อาจเป็นได้ว่าแผ่นมาสก์ PLA จะเปลี่ยนทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมของวงการความสวยงามให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้แผ่นมาสก์ที่มีคุณสมบัติในการดูแลผิวที่ดีกว่าเดิม และสามารถใช้ได้อย่างสบายใจ เพราะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้มาสก์แบบกระปุก หรือมาสก์ชนิดที่ไม่ต้องใช้แผ่นมาสก์อาจช่วยลดขยะจากแผ่นมาสก์พลาสติกได้ตั้งแต่วันนี้เลย

ที่มา: American Chemical Society

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส