ใครเป็นสายสุขภาพ หรือสายลดน้ำหนักต้องรู้จักกับการทำ IF หรือ Intermittent Fasting อย่างแน่นอน โดยการทำ IF เป็นคอนเซปต์การคุมน้ำหนักแบบแบ่ง ‘ช่วงอด’ และ ‘ช่วงรับประทาน’ อาจเริ่มต้นตั้งแต่ 12/12 ที่หมายถึง รับประทาน 12 ชั่วโมง อด 12 ชั่วโมง ไปจนถึงอด 24 ชั่วโมงเลยก็มี

การอดอาหารต่อเนื่องกันหลายชั่วโมงจะช่วยเปลี่ยนกลไกในการเผาผลาญ โดยไปดึงไขมันสะสมมาใช้ และส่งผลต่อร่างกายหลายระบบ ในช่วงหลายปีมานี้มีงานวิจัยออกมามากมายว่าการทำ IF ส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยลดน้ำหนัก ลดไขมัน ช่วยชะลอวัย ไปจนถึงเสริมการทำงานของระบบความจำ ส่งผลให้การทำ IF ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลก

แต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2024 ผ่านมา American Heart Association หรือสมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทความจากการศึกษาที่พบว่า การจำกัดเวลากับการรับประทานอาหารน้อยกว่า 8 ชั่วโมง/วัน ซึ่งคือรูปแบบหนึ่งของการทำ IF นั้นเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ แน่นอนว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่สั่นสะเทือนวงการ IF เพราะการทำ IF รูปแบบ 16/8 (อด 16 ชั่วโมง รับประทาน 8 ชั่วโมง) ได้รับความนิยมในวงกว้าง

วิธีการศึกษา

การศึกษาชิ้นนี้ติดตามข้อมูลสุขภาพของคนวัยผู้ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 20,078 คน (แต่คนที่ตรงกับเกณฑ์ IF มีเพียง 414 คน) โดยมีอายุเฉลี่ย 49 ปี สัดส่วนของเพศชายและหญิงอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่ง ทีมนักวิจัยได้เก็บข้อมูลรูปแบบการรับประทานอาหารของผู้เข้าร่วมการสำรวจสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติ (NHANES)

รวมถึงคนที่จำกัดช่วงเวลาการรับประทานอาหารให้ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงหรือก็คือการทำ IF โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2018 และเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2019 การศึกษาชิ้นนี้ติดตามข้อมูลสุขภาพต่อเนื่องเฉลี่ย 8 ปี และยาวนานที่สุด 17 ปี 

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่ได้ศึกษาการทำ IF โดยตรง เพียงแต่สังเกตจากระยะเวลาในการรับประทานอาหารตามกรอบเวลาของผู้เข้าร่วมการศึกษา

ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า

  • คนที่จำกัดช่วงเวลาการรับประทานอาหารให้ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงมีความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้จำกัดเวลาเพิ่มมากขึ้นถึง 91 เปอร์เซ็นต์
  • การทำ IF ด้วยการจำกัดเวลารับประทานอาหารน้อยกว่า 10 ชั่วโมง/วัน เพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ในผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 66 เปอร์เซ็นต์
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
  • ช่วงเวลาการรับประทานอาหารที่มากกว่า 16 ชั่วโมง/วันมีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
  • ข้อมูลชุดนี้ชี้ว่าการจำกัดเวลาการรับประทานไม่มีส่วนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคใดเลย

หากผลลัพธ์ของการศึกษาชิ้นนี้เป็นจริง นั่นอาจส่งผลต่อรูปแบบการรับประทานอาหาร และสุขภาพของคนทั่วโลกที่กำลังคุมอาหาร และดูแลร่างกายด้วยวิธี Intermittent Fasting เพราะนอกจากข้อมูลนี้จะไม่พบผลดีในการลดความเสี่ยงของโรคแล้ว แต่ยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคบางโรค ซึ่งตรงข้ามกับการศึกษาส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้

ข้อจำกัดของการศึกษา

แม้ว่าผลการศึกษาชิ้นนี้จะดูน่าตกใจสำหรับคนที่ทำ IF เพราะนอกจากผลลัพธ์ดูรุนแรงแล้ว ปัจจัยในการศึกษาก็นับว่าค่อนข้างมีผลต่อความน่าเชื่อถือ เพราะทำในคนกว่า 20,0000 คน แถมยังเป็นการติดตามผลต่อเนื่องนานหลายปี แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อจำกัดทางการศึกษาที่ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อน

  1. จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีลักษณะการรับประทานอาหารแบบ IF (โดยอาจมาจากความไม่ตั้งใจ) ที่มีจำนวนเพียง 414 คนจากทั้งหมดเท่านั้น
  2. ข้อมูลหลายส่วนของการศึกษานี้มาการรายงานด้วยตนเอง (Self-report) ซึ่งการรายงานอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด โดยอาจมาจากความรู้สึก อคติ ความเข้าใจผิด หรือผู้เข้าร่วมไม่สามารถจดจำรายละเอียดที่แท้จริงได้ทั้งหมด
  3. ไม่มีข้อมูลของรายการหรือชนิดของอาหารที่ผู้เข้าร่วมการศึกษานี้รับประทานอย่างชัดเจน จึงส่งผลต่อการวิเคราะห์ผล เนื่องจากทีมนักวิจัยไม่สามารถคำนวณหรือประเมินความเหมาะสมของสารอาหารที่คนทำ IF รับประทานในช่วงเวลาประทานตามกรอบเวลา
  4. การศึกษานี้ยังขาดการเปรียบเทียบในเชิงการศึกษาในอีกหลายแง่มุม เช่น ความแตกต่างของน้ำหนัก ความเครียด ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ความเสี่ยงของโรคหัวใจที่มีอยู่ก่อนแล้วในแต่ละคน หรือปัจจัยอื่นที่สัมพันธ์กับการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิต โรคเบาหวาน และระดับไขมันในเลือด เป็นต้น ไปจนถึงการเปรียบเทียบผลกระทบของกรอบเวลาในการรับประทานอาหารแต่ละแบบ ว่าส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจแตกต่างกันหรือไม่

ดังนั้น อย่าเพิ่งตกใจ ควรรอให้มีผลการศึกษาอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์จากการศึกษานี้ก่อนว่าจริงเท็จ หรือมีแง่มุมอื่นที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ของการศึกษานี้มากน้อยแค่ไหน

ศ.ดร.วิกเตอร์ เหวินเซ จง หนึ่งในผู้ทำการศึกษาให้ความเห็นว่า การทำ IF หรือการอดอาหารตามช่วงเวลาได้รับความนิยมมากขึ้นในการลดน้ำหนัก และดูแลสุขภาพหัวใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก โดยเฉพาะการจำกัดการรับการรับประทานอาหารในช่วง 8 ชั่วโมง แต่ผลกระทบสุขภาพในระยะยาว และความเสี่ยงของการเสียชีวิต โดยเฉพาะโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้นจากการทำ IF นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด

ดังนั้น การศึกษาที่ว่านี้ยังคงมีข้อจำกัด และแง่มุมอีกหลายแง่มุมที่ยังไม่ถูกค้นพบจึงยังไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์ได้อย่างแน่ชัด ในระหว่างนี้การใส่ใจกับการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ การควบคุมพลังงานให้เหมาะสมกับที่ร่างกายต้องการ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การดูแลสุขภาพจิต หลีกเลี่ยงความเครียด และการพักผ่อนให้เพียงพอยังคงเป็นหนทางของการมีสุขภาพที่ดี และลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่ทุกคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะทำ IF หรือไม่ก็ตาม

ที่มา

  1. American Heart Association, 8-hour time-restricted eating linked to a 91% higher risk of cardiovascular death, 18 Mar 2024
  2. Mayo Clinic, What is intermittent fasting? Does it have health benefits?, 5 May 2022