อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน สำนวนนี้ไม่เกินจริง เมื่อต้องใช้กับสถานการณ์บางอย่าง เพราะล่าสุดมีพฤติกรรมหนึ่งที่กำลังกลายเป็น “เทรนด์ไม่พึงประสงค์” ในออฟฟิศยุคใหม่ นั่นคือการ Oversharing หรือ การเล่าเรื่องราวส่วนตัวเกินพอดีในที่ทำงาน ซึ่งพบมากในกลุ่มพนักงาน Gen Z ที่เติบโตมากับความกล้าเปิดเผยตัวตนและปัญหาสุขภาพจิตอย่างตรงไปตรงมา

แม้ความตั้งใจอาจมาจากความจริงใจ แต่ในโลกของการทำงาน การแบ่งปันเรื่องส่วนตัวมากเกินไปก็อาจกลายเป็นภาระทางอารมณ์ของคนฟังโดยไม่รู้ตัว และที่สำคัญ…มันอาจกระทบภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของตัวเอง

ความจริงใจที่ล้น อาจกลายเป็นภาระที่คนอื่นไม่ได้ขอ

Oversharing หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า Trauma dumping หรือ Emotional vampiring เป็นพฤติกรรมที่หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “เราควรรับฟังมากแค่ไหน” และ “แค่ไหนถึงพอดี”

แคร์รี บัลเจอร์ (Carrie Bulger) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Quinnipiac อธิบายว่า “เส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวแทบไม่มีอยู่แล้ว เพราะเราพกงานกลับบ้านผ่านมือถือได้ง่าย แล้วทำไมเรื่องส่วนตัวจะไม่หลุดไปที่ทำงานบ้างล่ะ ?”

ขณะที่ คาร์ลา บีวินส์ (Carla Bevins) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เตือนว่า “การสื่อสารที่ดีต้องชัดเจนและน่าเชื่อถือ ความจริงใจกับการพูดโดยไม่กลั่นกรอง คือคนละเรื่องกัน”

วิธีรับมือ เมื่อโดนเพื่อนร่วมงาน ‘เทสตอรีชีวิต’ ใส่เป็นประจำ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องฟังเรื่องเครียดของเพื่อนร่วมงานแบบไม่สมัครใจทุกวัน ลองใช้วิธีเหล่านี้เพื่อถนอมใจตัวเอง

ตั้งขอบเขตให้ชัด หากรู้สึกว่าเรื่องที่อีกฝ่ายเล่าหนักเกินไป ให้ตอบอย่างสุภาพ เช่น “ขอบคุณที่เล่าให้ฟังนะ แต่ช่วงนี้เราขอโฟกัสกับงานก่อน” พร้อมใช้ภาษากายช่วย เช่น หันไปที่คอมพิวเตอร์ หรือพูดด้วยน้ำเสียงที่จริงจังขึ้น

เปลี่ยนเรื่องหรือปิดบทสนทนาเบา ๆ ตอบสั้นแต่จบ เช่น “อืม ฟังดูหนักเลย ขอเปลี่ยนเรื่องมาที่งานดีกว่าเนอะ” หรือใช้ลูกเล่น เช่น “เสนอหมากฝรั่งให้เคี้ยว” เพื่อตัดบทแบบนุ่มนวล

ดูแลตัวเองก่อนเสมอ หากรู้สึกจิตตกตาม ลองหยุดคุยหรือบอกตรง ๆ ว่า “ตอนนี้เราไม่ไหว ขอเวลาสงบใจก่อน” หายใจลึก ๆ ลุกไปเดิน หรือหลบไปพักสายตาชั่วคราวก็ช่วยได้

อย่างไรก็ดี การเล่าเรื่องราวที่เป็นเรื่องส่วนตัวก็ไม่ควรไว้ใจหรือเล่าให้คนนอกฟังอยู่แล้ว เพราะบางทีเราอาจจะไม่รู้จักคนที่เราไปเล่าให้ฟังดีพอเลยก็ได้ ต่อให้มีเรื่องหนักหนาจิตใจจริง ๆ อาจจะต้องนึกถึงคนที่บ้าน หรือบางทีอาจจะลองเงียบและลองอยู่กับตัวเองซะก่อน ก่อนที่จะพูดอะไรออกไป อาจจะต้องจดจำไว้ว่า การที่จะเอ่ยปากพูดเล่าอะไรก็ตาม แม้เรื่องราวนั้นเราไม่ได้เป็นตัวร้าย แต่เราก็ดูไม่ดีเพราะพูดเรื่องที่ไม่ดีก็เป็นได้ เราห้ามความคิดคนไม่ได้ แต่เราต้องห้ามปากตัวเองให้ได้ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีต่อตัวเรานั่นเอง