นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ประกาศจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีโลก หรือ The World’s Billionaires ซึ่งภายในลิสต์จะประกอบด้วยผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ ประจำปี 2565 ทั้งนี้ มีเศรษฐีของไทยติดอันดับดังกล่าวไปถึง 28 ราย โดยมี 10 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ (ไทย)ชื่อธุรกิจมูลค่าทรัพย์สินอันดับ (โลก)
1ธนินท์ เจียรวนนท์เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 13,500 ล้านเหรียญ137
2เจริญ สิริวัฒนภักดี ไทยเบฟเวอเรจ12,000 ล้านเหรียญ156
3สารัชถ์ รัตนาวะดีกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์11,800 ล้านเหรียญ161
4สุเมธ เจียรวนนท์เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 5,300 ล้านเหรียญ509
5จรัญ เจียรวนนท์เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 5,200 ล้านเหรียญ523
6มนตรี เจียรวนนท์เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 5,100 ล้านเหรียญ 536
7สมโภชน์ อาหุนัยพลังงานบริสุทธิ์4,000 ล้านเหรียญ728
8ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถโรงพยาบาลกรุงเทพ3,400 ล้านเหรียญ883
9วานิช ไชยวรรณไทยประกันชีวิต3,200 ล้านเหรียญ951
10ชูชาติ – ดาวนภา เพชรอำไพเมืองไทยแคปปิตอล2,500 ล้านเหรียญ1,238

สำหรับธุรกิจของเจ้าสัวทั้ง 10 รายข้างต้น สามารถจัดกลุ่มธุรกิจออกมาได้ทั้งหมด 5 ประเภท ที่ดันเจ้าสัวไทยให้ติดอันดับมหาเศรษฐีโลก

1. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

อาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจอาหาร

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมนี้ มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ก็จะมีการจับจ่ายเพื่อซื้ออาหารมากขึ้น โดยเฉพาะการออกไปกินข้าวนอกบ้านตามร้านอาหารต่าง ๆ ก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

โดยข้อมูลจากสถาบันอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปีที่แล้ว (2564) การส่งออกอาหารไทยมีมูลค่าสูงกว่า 1.1 ล้านบาท ขยายตัวถึง 11.8% จากตลาดจีนที่กำลังการซื้อเริ่มกลับมา

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ปีนี้ (2565) จีนให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลังมีคำสั่งห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสดใช้หลอดพลาสติก รวมถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้อย่างเข้มงวด ทำให้ผู้ประกอบการน่าจะมองหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ข้อมูลว่า ส่วนมาก 90% เป็นการบริโภคภายในประเทศ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเริ่มกลับมาขายดีอีกครั้ง หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ร้านอาหารกลางคืน เช่น ผับ บาร์ สามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่หลายแบรนด์ออกเครื่องดื่มทางเลือกมาในตลาด

2. ธุรกิจพลังงาน

พลังงาน พลังงานสะอาด พลังงานลม โซลาร์เซลล์

ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้า แม้ว่าค่าไฟฟ้าจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ออกมา ณ ปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าการที่กระทรวงการคลังประกาศลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าลง 40% ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจะทำให้แต่ละครัวเรือนหันมามองถึงการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง และเป็นสัญญาณว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนน่าจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนค่าไฟฟ้าที่แพงนั้นก็อาจทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว หันมาลงทุนผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์เซลล์ (Solar Rooftop) มากขึ้น 

ส่วนความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กรมธุรกิจพลังงาน รายงานว่าช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ผ่านมา มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.3% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นถึง 13.4% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่กลับมาฟื้นตัวหลังประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ไทยเราเองก็ส่งออกสินค้าได้ดีขึ้นเช่นกัน

3. ธุรกิจการแพทย์

การแพทย์ ยา หมอ โรงพยาบาล

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดให้ธุรกิจทางการแพทย์เป็นดาวเด่นของปีนี้ เพราะประชาชนหันมาใส่ใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น หลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการป้องกัน ที่จะเริ่มเห็นการจับจ่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคมากขึ้นในกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะตลาดอาหารเสริมที่ออแกนิก และอาหารที่ทำจากธรรมชาติ จะได้รับความนิยมค่อนข้างมากในปีนี้ หรือหากเจ็บป่วย ก็มักจะหาข้อมูลดูแลตัวเองในเบื้องต้น รวมถึงซื้อยารักษาโรคผ่านระบบออนไลน์ด้วยตัวเอง

อีกหนึ่งตลาดที่เติบโตต่อเนื่องและคาดว่าจะเติบโตระยะยาวอย่างแน่นอน คือการแพทย์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีทั้งกำลังซื้อและต้องจับจ่ายเพื่อดูแลสุขภาพอย่างแน่นอน รวมถึงธุรกิจเกี่ยวกับความสวยและความงาม โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้มีโอกาสเติบโตขึ้นแน่นอน หากเศรษฐกิจฟื้นตัวในปีนี้ การจับจ่ายในส่วนนี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

4. ประกันภัย

ประกัน ประกันสุขภาพ สุขภาพ กรมธรรม์

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อประกันภัยและประกันชีวิตเพิ่มขึ้น โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักเรื่องของสุขภาพมากขึ้น จึงซื้อประกันภัยเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลในอนาคต ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประกันมีจำนวนมากขึ้น หลากหลาย และราคาจับต้องได้ ตอบสนองความต้องการ จึงได้รับความนิยมไม่ยาก 

ขณะเดียวกัน การที่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการวางแผนเกษียณของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้ประกันชีวิตแบบบำนาญและประกันชีวิตควบการลงทุน (หรือ Unit Linked) มีแนวโน้มเติบโตในปีนี้

ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตมีการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจทำให้กำลังซื้อลดลงในภาวะเงินเฟ้อ จึงถือว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต แต่ก็มีปัจจัยที่ต้องปรับตัวตามกันตลอดทั้งปี

5. ธุรกิจการเงิน

การจ่ายเงิน paymemt บัตรเครดิต จ่ายเงิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โควิด-19 คือปัจจัยหลักที่ทำให้ระบบการเงินทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ประกอบกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมออนไลน์ ทั้งการโอนและการชำระเงิน ทำให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลส่งเสริมการทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งสิ้น ส่งผลให้ร้านค้าส่วนมาก ทั้งรายใหญ่และรายย่อยต้องปรับตัว มีคิวอาร์โค้ดแปะที่หน้าร้านเพื่อรับชำระเงินผ่านระบบออนไลน์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจการเงิน คือความปลอดภัยในการใช้บริการ ทุกธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินต้องออกแบบระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย และป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น

โดยคน Gen Y และ Gen Z เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดนี้ เพราะรักความสะดวกสบาย แม้กระทั่งการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ก็ออกแบบมาให้เข้าถึงง่ายด้วยปลายนิ้ว จนทำให้มีธุรกิจเฉพาะด้านเกิดใหม่ขึ้นมาตลอด ที่เห็นได้ชัดก็คือธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดอยู่ตลอดเวลา

ที่มา : ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, Forbes

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส