ปี 2020 – 2021 นับว่าเป็นยุคทองของคริปโทเคอร์เรนซี หลายเหรียญทำยอด New High กันเป็นว่าเล่น โดยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 บิตคอยน์ที่ถือว่าเป็นเหรียญผู้นำของตลาดก็สามารถทำ All-Time High เหนือ 68,000 ดอลลาร์ได้สำเร็จ

เหตุการณ์นี้ส่งผลให้คนทั่วไป เริ่มหันมาสนใจการลงทุนในคริปโทกันมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะกลายเป็นเศรษฐีในชั่วข้ามคืน และในมุมของนักลงทุนบางคนแล้ว เขาเชื่อว่าคริปโทและบิตคอยน์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินไปตลอดกาล

หนึ่งในผู้ที่เชื่อมั่นในบิตคอยน์อย่างสุดหัวใจคือ นายิบ บูเคเล (Nayib Bukele) ประธานาธิบดีของเอลซัลวาดอร์ ที่มุ่งมั่นจะให้บิตคอยน์กลายเป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมาย พร้อมกับการผลักดันให้เอลซัลวาดอร์กลายเป็นศูนย์กลางแห่งบิตคอยน์ของโลก ด้วยความหวังที่ว่าจะนำพาให้เอลซัลวาดอร์หลุดพ้นจากความยากจน

ด้วยภาพลักษณ์ของบูเคเลที่ดูเป็นผู้นำหัวสมัยใหม่ และตลาดคริปโทที่แสนสดใส ณ ช่วงเวลานั้น ทำให้ไม่มีใครสามารถขัดขวางการซื้อบิตคอยน์เข้าคลังของบูเคเลได้เลย แม้ว่าเงินที่ใช้ในการซื้อเหรียญนั้นจะมาจากภาษีประชาชนก็ตาม

ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ก็ไม่อาจหยุดความมุ่งมั่นของผู้นำหนุ่มคนนี้ได้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของตลาดคริปโทขาลง บูเคเลยังคงช้อนซื้อบิตคอยน์ต่อไป และมีการประกาศผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวอยู่เรื่อย ๆ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2022 (ตามเวลาท้องถิ่น) บูเคเลทวีตว่าได้ซื้อบิตคอยน์เพิ่มอีก 80 BTC ที่ราคาเหรียญละ 19,000 ดอลลาร์

ณ วันที่เราถ่ายทำคลิปนี้ (14 กันยายน 2022) ข้อมูลของเว็บไซต์ El Salvador INFO เปิดเผยว่า รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ถือครองบิตคอยน์ทั้งสิ้น 2,381 BTC คิดเป็นต้นทุนเหรียญละ 43,357 ดอลลาร์ แต่ปัจจุบัน ราคาบิตคอยน์กลับลดลงมามากกว่า 70% จากจุดสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 และลดลงมากกว่า 55% นับตั้งแต่บูเคเลประกาศแผนของเขาในเดือนมิถุนายน ปี 2021 โดยมูลค่าในปัจจุบันนั้นลดลงเกินกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นผลมาจากตลาดคริปโทที่อยู่ในช่วงขาลง

เรียกว่าจนถึงตอนนี้ เอลซัลวาดอร์เดิมพันความรอดทางเศรษฐกิจไว้กับบิตคอยน์ไปแล้ว ถ้าในอนาคตบิตคอยน์ราคาขึ้นก็ดีไป แต่ถ้ามันยังคงไว้ที่ราคานี้ก็อาจจะทำให้เอลซัลวาดอร์ต้องล่มสลายไม่ต่างกับเวเนซุเอลา

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์กลับลดลง การขาดดุล และอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP ของประเทศยังคงสูงอยู่มาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดหลักที่ใช้สะท้อนว่า เอลซัลวาดอร์กำลังเป็นหนี้ ซึ่งสวนทางกับแผนการของบูเคเลที่พยายามสร้างให้เอลซัลวาดอร์หลุดพ้นจากความยากจน

Moody’s สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอลซัลวาดอร์ลงจากปัญหาหนี้ของประเทศที่พุ่งสูงขึ้น โดยระบุว่า “ความพยายามที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์” เป็นเหตุทำให้ประเทศตกต่ำลงอย่างรุนแรง และปัญหาทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจากความดื้อรั้นของบูเคเลที่ไม่ฟังคำเตือน

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมกราคม ปี 2022 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เคยออกมาเตือนให้เอลซัลวาดอร์ยุติการใช้บิตคอยน์เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย พร้อมชี้ว่าคริปโทเคอร์เรนซีคือความเสี่ยงมหาศาล และอาจส่งผลรุนแรงให้ประเทศล้มละลายตามเวเนซุเอลาได้

ขณะนี้เอลซาวาดอร์เป็นหนี้ IMF อยู่ทั้งสิ้น 23,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต้องเริ่มจ่ายคืนในปี 2023 เป็นจำนวน 800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่ามีโอกาสมากถึง 87% ที่เอลซัลวาดอร์น่าจะผิดนัดชำระหนี้เงินกู้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปี 2022 บูเคเลทวีตว่าได้ปรับแผนชะลอหนี้ที่เกิดขึ้นหลังการกู้ยืม IMF ด้วยการตั้งเป้าไปที่พันธบัตรของประเทศ โดยเขาได้เขียนร่างกฎหมายส่งไปยังรัฐสภาเอลซัลวาดอร์ ขอกู้เงินเพื่อเป็นทุนในการชำระหนี้ให้กับ IMF และนำมาซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งจะครบกำหนดในปี 2023 – 2025 โดยแผนการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลนี้ เป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

แน่นอนว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ยิ่งเป็นคริปโทที่ขึ้นชื่อเรื่องความผันผวนและมีความเสี่ยงสูงมาก ๆ แล้ว คนเป็นผู้นำอาจต้องคิดหนักหน่อย เพราะความลำบากอาจตกมาอยู่ที่ประชาชนทั่วไปได้ เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร เราคงต้องติดตามกันต่อไป

ที่มา : Time.com, Economist, El Salvador Info

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส