รายงานข่าวเรื่องการปลดพนักงานจำนวนมากของบริษัทเทคโนโลยีได้สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วตลาดแรงงาน ขณะเดียวกันผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยีหลายรายก็ต้องเผชิญกับความกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะรักษารายได้และผลกำไรของบริษัท ไปพร้อม ๆ กับการลดต้นทุน โดยปลดพนักงานลงให้น้อยที่สุด เพื่อรักษาภาพลักษณ์เอาไว้

อย่างไรก็ตาม ความกดดันเหล่านี้ไม่มีผลใด ๆ กับ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอคนดังของทวิตเตอร์ (Twitter) ซึ่งปัจจุบันเขาได้ประกาศถอนตัวจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าก่อนหน้าที่มัสก์จะวางมือและหันไปดูแลด้านเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มเต็มตัว เขาได้สั่งปลดพนักงานของทวิตเตอร์ไปแล้วหลักพันคน

ข้อมูลจาก TechCrunch ระบุว่า ทวิตเตอร์เคยมีพนักงานราว 7,500 คน และข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 เปิดเผยว่าทวิตเตอร์เหลือพนักงานเพียง 2,000 คนเท่านั้น จนพนักงานรายหนึ่งถึงกับออกมาพูดเปรียบเปรยว่า โปรแกรม Slack ที่ใช้พูดคุยงานของบริษัทนั้นกลายเป็น “เมืองร้าง” (Ghost Town) ไปแล้ว

ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มัสก์ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า ในบรรดาพนักงานที่เขาปลดออกไปนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะไม่เป็นที่ต้องการ แต่เพื่อลดค่าใช้จ่ายของบริษัทแล้ว เขาจำเป็นต้องปล่อยมือจากพนักงานที่มีความสามารถ และนำพาให้บริษัทรอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้

แม้ว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอของเมตา (Meta) จะเคยมีเรื่องไม่ลงรอยกับมัสก์ แต่ “ความโนสนโนแคร์” ในการปลดพนักงานทวิตเตอร์ของเขา ทำให้ซักเคอร์เบิร์กประทับใจในตัวมัสก์อย่างมาก และออกปากชื่นชมผ่านรายการ Lex Fridman ซึ่งเขาให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยซักเคอร์เบิร์กระบุว่า มัสก์คิดถูกแล้วที่พยายามทำให้บริษัทคล่องตัวมากขึ้นด้วยการลดช่องว่างระหว่างเขากับวิศวกร และเอาระบบการจัดที่ยุ่งยากออกไป การกระทำของมัสก์ทำให้พวกเรา (บรรดาผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี) ต้องกลับมาคิดทบทวนกันว่า “นี่คือหนทางที่ดีที่สุดที่พวกเราควรจะทำหรือเปล่า? เพื่อให้บริษัทของเราดีขึ้น”

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีหลายคนต้องการที่จะปลดพนักงานออก แต่พวกเขาไม่กล้าทำ เพราะว่ารู้สึกอับอาย การกระทำของมัสก์จึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจพวกเราทั้งหมดว่า บริษัทของเขากำลังนำหน้าพวกเราทุกคนจากความกล้าในการทำสิ่งที่แตกต่าง

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม ปี 2023 เมตา ซึ่งเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม ประกาศว่าจะเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเป็น 11,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เคยบอกว่าจะเลิกจ้างพนักงาน 10,000 คน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และจะหยุดการจ้างงานใหม่อีก 5,000 ตำแหน่งในปีนี้ เพื่อทำให้องค์กรคล่องตัวมากขึ้น และผลักดันให้พนักงานที่เหลืออยู่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

แม้ว่าพนักงานของเมตาหลายคนจะออกมาบอกว่า “พวกเขารู้สึกใจสลาย” กับการประกาศดังกล่าว แต่นักลงทุนกลับเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง สะท้อนได้จากราคาหุ้นของเมตาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 112% นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (Year to Date)

บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายอื่น ๆ ก็ประกาศปลดพนักงานในปีนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Salesforce, Microsoft และ Amazon ซึ่ง Challenger, Grey & Christmas บริษัทจัดหางานรายใหญ่ของสหรัฐฯ ระบุว่า ถ้านับจนขณะนี้ มีพนักงานในบริษัทเทคโนโลยีที่ถูกปลดแล้วมากกว่าวิกฤตฟองสบู่ดอตคอมแตก เมื่อ 22 ปีก่อนเสียอีก

การปลดพนักงานจำนวนมากของบริษัทเทคโนโลยี มีที่มาจากการจ้างงานมากเกินไปในช่วงโรคระบาดที่ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการของพวกเขาเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ทำให้นักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ได้รับผลตอบแทนดีกว่าหุ้น

ซักเคอร์เบิร์กยังอธิบายอีกว่า หนึ่งในสาเหตุที่เขาปลดพนักงานของเมตาออกนั้น ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว แต่เขาต้องการผลักดันให้องค์กรกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่แข็งแกร่งขึ้น “ผมไม่ได้ต้องการองค์กรที่มีระบบการจัดการซับซ้อน และแต่ละคนมีหัวหน้ามากถึง 8 ชั้น แต่วิศวกรที่ทำงานจริง ๆ กลับกลายเป็นคนที่อยู่ปลายสุดของสายงาน”

ผู้บริหารของเมตายังย้ำอีกว่า องค์กรที่ดีต้องหาจุดสมดุลของระบบการจัดการให้ได้ โดยมันต้องไม่มีลำดับชั้นหรือความซับซ้อนมากเกินไป เพื่อให้ทุกคนได้จดจ่อกับงานและสร้างสรรค์มันออกมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ระบบการจัดการที่วุ่นวายเหล่านี้

ที่มา : Yahoo Finance

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส