คอสเพลย์ (Cosplay : コスプレ) เกิดขึ้นมานานหลายปี ก่อนที่คำนี้จะถูกบัญญัติขึ้นในปี 1982 โดยโนบุยุกิ ทากาฮาชิ (Nobuyuki Takahashi) นักเขียนและโปรดิวเซอร์ของ Studio Hard จากประเทศญี่ปุ่น โดยคำนี้มาจากการนำคำ 2 คำมารวมกัน นั่นก็คือ “Costume” (เครื่องแต่งกาย) และ “Play” (การเล่น) โดยมีความหมายว่า การแต่งกายเลียนแบบตัวละครจากอนิเมะหรือเกม ซึ่งอาจมีการแสดงท่าทางหรือบุคลิกตามตัวละครนั้น ๆ ร่วมด้วย

คอสเพลย์นั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นงานฝีมือประเภทหนึ่ง เนื่องจากเลเยอร์ (Layer) หรือ คอสเพลเยอร์ (Cosplayer) ซึ่งเป็นคำเฉพาะที่ใช้เรียกผู้ที่แต่งกายเลียนแบบตัวละครนั้น บางครั้งก็จำเป็นต้องสร้างเสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องแต่งกายขึ้นมาเอง เนื่องจากสิ่งของเหล่านี้มักไม่มีวางขายตามท้องตลาดทั่วไป ส่งผลให้คอสเพลเยอร์อาจจะต้องมีทักษะในการตัดเย็บเสื้อ งานช่างฝีมือ การแต่งหน้า การทำผม ไปจนถึงการถ่ายภาพ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกมา

cosplay costumes and wigs market size

แต่เรื่องนี้ก็มี Pain Point อยู่บ้าง เพราะไม่ใช่ว่าคอสเพลเยอร์ทุกคนจะถนัดงานฝีมือ หรือมีความสามารถครบถ้วนรอบด้าน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคอสเพลย์เกิดขึ้นตามมาอีกจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่การรับตัดชุดคอสเพลย์, การทำอุปกรณ์ประกอบ, การตัดแต่งวิกผม, ช่างแต่งหน้า, สตูดิโอถ่ายภาพ ไปจนถึงการนำเข้าสินค้าสำหรับคอสเพลย์จากต่างประเทศ

รายงานของ Arizton Advisory & Intelligence บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยการตลาดชั้นนำระดับโลกประเมินว่า ในปี 2022 มูลค่าตลาดเครื่องแต่งกายคอสเพลย์และวิกผมทั่วโลกอยู่ที่ 35,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.22 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปี 2028 จะสูงถึง 80,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2.81 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโต 14.87%

โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือ คือ พื้นที่ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในตลาดเครื่องแต่งกายคอสเพลย์และวิกผมทั่วโลก เนื่องจากมีการเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนและคริสต์มาสที่ผู้คนทั่วไปนิยมแต่งกายแฟนซีและใส่วิกผม โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคอสเพลเยอร์เท่านั้น

cosplay costumes and wigs market size

รายงานของ Arizton ยังระบุอีกว่า อุตสาหกรรมเกมและอนิเมะที่เฟื่องฟูก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดเครื่องแต่งกายคอสเพลย์และวิกผมเติบโต เนื่องจากมีผู้ที่สนใจและหันมาเป็นคอสเพลเยอร์เพิ่มขึ้น รวมถึงการจัดอีเวนต์คอสเพลย์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนสำคัญ

เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้เหล่าคอสเพลเยอร์ได้ออกมาโลดแล่น และอวดโฉมเครื่องแต่งกายของพวกเขา พร้อมกับแลกเปลี่ยนความชื่นชอบและคลั่งไคล้ในเกม มังงะ อนิเมะ หรือแม้แต่เคล็ดลับการตัดเย็บชุดคอสเพลย์ จนกลายเป็น Community หรือชุมชนของผู้ที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน

ในวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคมนี้ จะมีการจัดงาน CAF 2023 (คาฟ) ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม MRT ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นงานคอสเพลย์ที่รวบรวมกิจกรรมเอาไว้มากมาย เช่น การประกวดคอสเพลย์ CAF Cosplay Contest 2023, แฟนมีตคอสเพลเยอร์ชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศ, Cosplay Studio หรือโซนถ่ายภาพที่มาพร้อมสุดฉากอลังการ, Live Concert จากศิลปินชื่อดังหัวใจอนิเมะ รวมถึงพื้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนของสะสมของเหล่าคอสเพลย์

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและซื้อ Wristband สำหรับเข้าร่วมงาน CAF 2023 ได้ที่เว็บไซต์ The Concert (คลิกที่นี่) และสำหรับผู้ที่แต่งคอสเพลย์สามารถเข้าร่วมงานฟรี! (การพิจารณาชุดคอสเพลย์ที่สามารถเข้าร่วมงานได้ฟรีเป็นไปตามการตัดสินของทีมงาน)

ที่มา : Arizton

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส