ศึกบิทคับแมตช์หยุดโลก หมัดต่อหมัด ใครจะอยู่ ใครจะไป ที่เชือดเฉือนกันด้วยแนวความคิดที่แตกต่าง ระหว่างดิว-วีรวัฒน์ วลัยเสถียร นักธุรกิจ ผนึกกำลังกับซีเค เจิง CEO Fastwork ปะทะ ดร. โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส 

เนื้อหาปูมาตั้งแต่ในโซเชียลมีเดีย “คนรุ่นใหม่ไม่ซื้อบ้าน คนรุ่นใหม่ชอบเช่า” จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำให้เหตุการณ์บานปลายไป

ก่อนหน้านี้มีรายการ ‘หากระแส’ ที่นัดทั้งสองฝั่งเคลียร์ใจ แต่ดราม่านี้กลับปะทุเดือดยิ่งกว่าเดิม ซึ่งทั้งสองฝั่งเป็นตัวแทนระหว่างการเงินโลกใบใหม่ ผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และการเงินอนุรักษ์ที่เชื่อใน Real Asset ผู้เสวนาต่างวัยตั้งแต่ Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z โดยมีพี่หนุ่ย จาก BT beartai รับหน้าที่เป็น moderator ในงาน BITKUB SUMMIT 2024

ซึ่งกำหนดกฎไว้ว่า เวทีจะเป็นการให้ความรู้ที่แซ่บมาก ๆ ไม่มีการใช้คำหยาบคาย ไม่มีการรุม มีการต่อสู้กันอย่างยุติธรรม ให้ผู้ชมเลือกที่จะเชื่อแต่ละชุดความคิดเอง

ประเด็นหลักของเวทีนี้คือ “เปิดแผนที่ลงทุนขุมทรัพย์แห่งอนาคต”​ ความเห็นแต่ละท่านคิดอย่างไรกับเงินสด หุ้น อสังหาริมทรัพย์ การลงทุนแบบไหนเหมาะสำหรับแต่ละคน

เปิดแผนที่ลงทุนขุมทรัพย์แห่งอนาคต

อสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินแสนมั่นคง

ดร. โสภณ พรโชคชัย กล่าวว่า คนที่เล่นบิตคอยน์ แบ่งเป็น 10% ขาดทุน อีก 20% เสมอตัว 70% ได้กำไร อ้างอิงผลการสำรวจที่หาข้อมูลมา แล้วกลุ่มคนหนุ่มสาวก็ยอมเสี่ยง รู้สึกทันสมัยดี เชื่อตามคำชี้แนะของกูรู แต่ ดร. โสภณ แนะนำให้ค่อย ๆ สะสมดีกว่า เลือกเสี่ยงสูงอาจไม่ใช่ทางสำเร็จเสมอไป ในโลกเรามีสิ่งที่น่าลงทุนเยอะแยะมากมาย ทำธุรกิจ SME ดีกว่ามาคอยนั่งดูลงทุนขึ้นลงจากกราฟ

ส่วนเรื่องอสังหาฯ บางคนกังวลเรื่องไม่มีทุน ก็ค่อย ๆ เริ่มศึกษาดูก่อนได้ หรือเริ่มจากการเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์มาก่อน หรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) บางคนอาจจะอายได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่ามันมีทางนะที่รวยได้จากอสังหาริมทรัพย์ได้จริง

ดร. โสภณ เห็นว่า “บ้านเป็นทรัพย์สิน เพราะชื่อบ้านเป็นของเรา แม้โฉนดจะอยู่กับธนาคาร แต่สามารถ​นำมาปล่อยเช่าต่อได้ สร้างแบรนด์เพิ่มมูลค่า ไม่ต้องมานั่งเฝ้ากระดานเทรด”

ทรัพย์สินที่คุ้มค่าที่สุดของเจ้าพ่อปลาสวยงาม

ส่วนดิว-วีรวัฒน์ เล่าจากมุมมองของตัวเอง สิ่งสำคัญของการลงทุนก็คือ ลงทุนในสิ่งที่ตัวเองถนัด ถ้าไม่ถนัดไม่ทำแน่นอน นิยามว่าตัวเองเป็นพ่อค้าที่มองหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา และคริปโทฯ ไม่เหมือนกับหุ้น เพราะไม่มีการประกอบธุรกิจเบื้องหลัง แต่ก็ยังกำลังศึกษา เพื่อรอโอกาสในทุก ๆ ทรัพย์สิน

และไม่เห็นด้วยกับคนรวย ประเด็นที่บอกว่าคนรวยไม่ถือเงินสด เพราะเงินสดคือหนี้ ต้องนิยามเพิ่มเติมด้วย เพราะการถือเงินสดนั้นไม่เวิร์ก คนรวยต้องนำเงินสดไปลงทุน เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ แล้วยกตัวอย่าง คนรวยถือเงินสดเพราะรอโอกาส ช้อนซื้อหุ้น รอซื้อกิจการกำลังจะเจ๊ง ให้เงินสดทำหน้าที่ปั่นกระแสสร้างลูกหลานของเงินสดต่อไป

สมัยก่อนดิว-วีรวัฒน์ก็ทำงานหนักมาก แล้วคิดว่าต้องทำงานหนักไปจนตายเลยเหรอ ทำไมไม่ลงทุนเพื่อให้เงินทำงานเพื่อผลิตดอกเบี้ยออกมา และในวัย 24 ปีมีเงินสด 30 ล้านบาทเลือกว่าจะซื้อรถเฟอร์รารี่ดีไหม สุดท้ายเลือกไปซื้ออะพาร์ตเมนต์เพื่อสร้างกระแสเงินสดก่อน ดังนั้นจุดแข็งของดิว-วีรวัฒน์คือวินัย ที่ยอมขับรถกระบะเก่าแทนที่จะไปซื้อรถสปอร์ตหรู

อีกทั้งยังแนะนำให้เริ่มต้นศึกษาหุ้นปันผล จากประสบการณ์ตัวเองที่เริ่มจากการขายพอร์ตอสังหาฯ แล้วแบ่งลงเงินในหุ้นปันผล แล้วรอเงินปันผลรายปีไม่จำเป็นต้องเดย์เทรดในทุกวัน ยอมให้โตช้า แต่ได้เงินแน่นอน

โดยนี้ดิว-วีรวัฒน์แนะนำให้แบ่งพอร์ตลงทุนเป็น 2 สินทรัพย์ ประกอบด้วย 1. ทองคำ หากเกิดสงครามทุกคนจะวิ่งเข้าหา เพราะได้รับการยอมรับมากที่สุด 2. หุ้น แนะเลือกกลุ่มหุ้นโรงพยาบาล หรือพลังงานเลือกทาง พลังงานสะอาด ที่กำลังเป็นเทรนด์ในอนาคต

“ทรัพย์สินที่คุ้มค่าที่สุด คือ การลงทุนที่สร้าง passive income

ถ้าคุณไม่สามารถหาเงินได้ในเวลาตื่นและนอนหลับ คุณไม่มีวันรวย !”

เงินสดคือหนี้ ขณะที่บ้านก็คือหนี้เช่นกัน

ส่วนซีเค เจิง CEO Fastwork เชียร์ให้ลงทุนในตราสารหนี้อเมริกา ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 4.75% แม้ว่าจะลดลงจาก 5.25% แต่ก็อยู่ในระดับที่สูงมากตั้งแต่ปี 2018 รองลงมาที่น่าสนใจ หากไม่นับทองคำ และบิตคอยน์คือ หุ้น โดยเฉพาะหุ้นอเมริกา S&P500

แต่อสังหาริมทรัพย์ยังคงแปลก ๆ มาตั้งแต่หลังปี 2008 เนื่องจากสภาพคล่องต่ำ ซื้อขายยาก บวกกับกระแสของคนรุ่นใหม่ย้ายมาทำงานในเมือง วันที่พ่อแม่ที่มีบ้านนอกเมืองเสียชีวิต ลูกหลานอาจเอามาเทขาย จนไม่มีใครรับซื้อ ต่างจากหุ้นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดหลักทรัพย์ง่ายกว่า

“ขณะที่บ้านก็คือหนี้เช่นกัน ดอกเบี้ยเป็นทรัพย์สินของธนาคาร แต่คือภาระหนี้สินของเรา”

แล้วยังยืนยันว่า เงินสดคือหนี้ เพราะก่อนปี 1970 เงินสดถูกแบ็กหลังด้วยทองคำ เป็นใบรับฝากทองคำ จนกระทั่งเงินสดออกจากระบบ Gold Standard​ แล้วแบคหลังเงินสดด้วยหนี้ของสหรัฐอเมริกาแทน เพราะรายได้จากรัฐบาล ไม่พอค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

“เงินสดคือหนี้ของรัฐบาล หากรัฐบาลไหนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เงินสดที่ประชาชนถือจะไร้ค่าทันที”

“การซื้อบ้านเพื่ออยู่ตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้คุณไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าล่าฝัน มีเงินเดือนต้องมาหล่อเลี้ยงบ้าน น่ากลัวยิ่งกว่าดอกเบี้ย” 

Session ส่งท้ายเคลียร์ใจเรื่องบิตคอยน์ ที่เหมือนจะจบ แต่ไม่เคลียร์ !! แต่ในท้ายที่สุด แนวคิดทั้งหมดนี่ผู้ชมต้องใช้วิจารณญานในการตัดสินใจ ตั้งมั่นด้วยข้อมูลหลักการ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม