ทีมวิจัยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดบ้านให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ เพื่อโชว์ศักยภาพให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของ สวทช. ที่มุ่งเป้าขับเคลื่อนให้เป็น ‘ขุมพลังหลักของประเทศ’ ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของรัฐและเอกชน ชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญนำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ NBT ยังมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) และความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงพัฒนาโปรแกรมช่วย ‘วิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์สัตว์’ หนุนลดอัตราเสี่ยงการสูญพันธุ์จากปัญหาโรคทางพันธุกรรม โดยเริ่มเดินหน้าสนับสนุนการอนุรักษ์ ‘ละมั่งพันธุ์ไทย’ แล้ว

“NBT มีองค์ความรู้ของนักวิจัยเฉพาะทางและมีความพร้อมด้านเครื่องมือสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพในรูปแบบคงสภาพหรือคงความมีชีวิตที่อุณหภูมิเยือกแข็งถึง 3 ระดับ ระดับ -20 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่บรรจุในหลอดขนาด 25 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 100,000 หลอด ส่วนอุณหภูมิระดับ  -80 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บจุลินทรีย์และตัวอย่างชีววัสดุอื่น ๆ ที่บรรจุในหลอดขนาด 2.5 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 300,000 หลอด นอกจากนี้ยังมีถังไนโตรเจนเหลวขนาด 1,770 ลิตร สำหรับจัดเก็บตัวอย่างเซลล์สิ่งมีชีวิตในสภาวะเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส หัวใจสำคัญในการอนุรักษ์พันธุกรรมสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด คือ ‘ความสามารถในการมีชีวิตรอดหลังการจัดเก็บในธนาคาร’ เพื่อให้มั่นใจว่าจะนำสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กลับมาใช้ฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้คงความสมบูรณ์ต่อไปได้ในอนาคต”

ดร.พงศกร วังคำแหง นักวิจัยธนาคารข้อมูลทรัพยากรชีวภาพ NBT สวทช. อธิบายถึงกลไกการทำงานของโปรแกรมว่า เป็นการใช้เทคโนโลยีชีวสารสนเทศในการวิเคราะห์จับคู่รหัสพันธุกรรม (Genotype) ของสิ่งมีชีวิตประมาณ 30,000 ตำแหน่ง แบบเมทริกซ์ (Matrix) หรือการจับคู่ผสมพันธุ์แบบพบกันทุกตัว เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของรหัสพันธุกรรม เพื่อใช้คัดเลือกพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกันมากที่สุด ซึ่งจะช่วยป้องกันการผสมในเครือญาติใกล้ชิดได้ โดยโปรแกรมนี้จะแสดงผลข้อมูลการจับคู่ให้เห็นเป็นเฉดสีจากสีอ่อนไปเข้ม หรือจากความแตกต่างทางพันธุกรรมมากไปถึงความแตกต่างทางพันธุกรรมน้อย เพื่อให้ผู้ดำเนินงานด้านการขยายพันธุ์นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประโยชน์ต่อสะดวก ซึ่งปัจจุบัน NBT ได้พัฒนาโปรแกรมจนเสร็จสิ้นและส่งมอบชุดข้อมูลผลวิเคราะห์การจับคู่ละมั่งพันธุ์ไทยในประเทศให้แก่ผู้ดำเนินงานด้านการผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว และมีแผนการที่จะใช้สนับสนุนการอนุรักษ์สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่น ๆ อาทิ พญาแร้ง เก้งหม้อ ในอนาคตด้วย

“หลังจากนี้ NBT มีแผนดำเนินงานร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโปรแกรมเข้าสู่ระบบขององค์การสวนสัตว์ฯ เพื่อเปิดให้ผู้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และการผสมพันธุ์สัตว์ในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมร่วมกันต่อไปในอนาคต ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโปรแกรมนี้จะไม่เพียงมีส่วนสนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์ในไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานในประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย พร้อมกันนี้ NBT ยังเตรียมจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของสัตว์ในการดูแลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ เพื่อสำรองไว้ใช้ในการฟื้นคืนความหลากหลายในอนาคตหากต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤติด้วย” ดร.พงศกร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ด้วยความพร้อมทางด้านบุคลากร งานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน NBT กล่าวว่าจะดำเนินงานส่งเสริมหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรที่มีค่าและใช้ข้อมูลชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจชีวภาพของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส