เกาหลีใต้ ประเทศที่ได้ชื่อว่าเคร่งครัดเรื่อง ‘ระบบอาวุโส’ เป็นอย่างมาก ยิ่งใครที่มีเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นคนเกาหลีใต้ น่าจะงงกับวิธีการนับอายุและระดับภาษาที่ใช้เพื่อทักทาย เพราะถ้าดูตามปีเกิดแม้จะเกิดปีเดียวกัน แต่ถ้าเป็นการนับอายุแบบเฉพาะของเกาหลีใต้ คน ๆ นั้นอาจมีอายุมากกว่าเราถึง 2 ปี ระบบอาวุโสของเกาหลีใต้ยังนับรวมการ ‘มาก่อนถือเป็นรุ่นพี่’ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร แต่หากเข้าไปทำงานหรือว่าเรียนก่อนหน้าคนอื่น คุณก็จะได้รับการเคารพในฐานะผู้อาวุโสกว่า ทั้งในโรงเรียน ที่ทำงานหรือแม้แต่กรมทหาร

เกิดปุ๊บอายุ 1 ขวบปั๊บ

ด้วยเกณฑ์การนับอายุที่มีมากถึง 3 วิธี ทำให้เจ้าของอายุต้องประเมินเองว่า จะใช้วิธีนับอายุแบบไหนให้สอดคล้องกับกฎหมายหรือบริบททางสังคม เดิมทีคนเกาหลีใต้จะนับอายุของเด็กทารกตั้งแต่อยู่ในท้อง เมื่อคลอดออกมาทารกจะมีอายุ 1 ปีทันทีตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก แล้วถ้าผ่านวันขึ้นปีใหม่ไปก็จะบวกอายุเพิ่มให้กับทารกไปอีก 1 ปี 

ลดช่องโหว่ทางกฎหมาย

รัฐบาลเกาหลีใต้หลายสมัยพยายามปรับเกณฑ์การนับอายุจากวิธีการดั้งเดิมมาแล้วหลายครั้ง แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งปรับยิ่งสร้างความสับสนในสังคมมากขึ้น จนมาถึงยุคสมัยของ ยุน ซอก-ยอล ประธานาธิบดีคนล่าสุด ที่ลุกขึ้นมาชูนโยบายยกเลิกการนับอายุแบบเกาหลี ที่มีส่วนทำให้เขาได้รับชัยชนะในครั้งนี้ 

ยุนระบุว่าเกณฑ์การนับอายุแบบสากลจะกลายเป็นมาตรฐานเดียวทั้งในด้านกฎหมายและด้านสังคม ประชาชนชาวเกาหลีใต้ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเอกสารหรือบัตรประจำตัวใด ๆ เนื่องจากแบบฟอร์มของรัฐบาลอิงการนับอายุตามระบบสากล เช่นเดียวกับอายุเกษียณ อายุสำหรับการรับเงินบำนาญ อายุสำหรับการเลือกตั้ง รวมถึงอายุสำหรับการเกณฑ์ทหารภาคบังคับ และอายุการสมัครเข้าโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามปีปฏิทิน หรือตามปีเกิดที่แท้จริง

และที่สำคัญอายุใหม่จะไม่ส่งผลกระทบกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มคนหนุ่มสาวรวมถึงการสูบบุหรี่ เพราะร้านค้าจะนับอายุตามปีปฏิทิน ไม่ใช่ ‘อายุเกาหลี’ จึงมั่นใจได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่จะถูกขายให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 19 ปีเท่านั้น 

ถึงไม่ปลื้มแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ 

ผลสำรวจจากฮันกุก รีเสิร์ช (Hankook Research) เมื่อเดือนมกราคม 2565 ระบุว่าประชาชน 3 ใน 4 ของเกาหลีใต้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน แต่ก็ยังประชาชนอีกไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย และมองว่าการนับอายุแบบใหม่จะทำให้คนเกาหลีสับสนมากกว่าเดิม เนื่องจากการนับอายุแบบสากลไม่ใช่ระบบหลักที่พวกเขาคุ้นชิน

ที่มา : BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส