ทำไมสหรัฐอเมริกาจึงได้ชื่อว่า ประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ? ทั้งที่เพิ่งก่อตั้งประเทศเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว และสหรัฐฯ มีรัฐธรรมนูญเพียงแค่ฉบับเดียวเท่านั้น แล้วอะไรคือเคล็ดลับของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ทำให้ถูกใช้งานมาได้อย่างยาวนาน คลิปนี้เราจะบรีฟให้คุณฟัง

ข้อมูลจากสารานุกรมประวัติศาสตร์สากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเขียนโดย รศ. ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นเนื่องจากความล้มเหลวของ ธรรมนูญแห่งสมาพันธรัฐ ซึ่งเป็นธรรมนูญการปกครองฉบับแรกของประเทศที่เกิดขึ้นใหม่

โดยธรรมนูญนี้ขาดประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ เนื่องจากไม่มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งในการบริหารบ้านเมือง ส่งผลให้มีการจัดประชุมร่างรัฐธรรมนูญขึ้นในปี 1787 ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย และท้ายที่สุดก็ได้มีการลงนามรับรองในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 17 กันยายน ปี 1787 และหากนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลา 236 ปีแล้วที่รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ ถูกใช้งาน และก็ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่มีเนื้อหาสั้นและกระชับมาก โดยมีแค่ 7 มาตราเท่านั้น และเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความทันสมัยตลอดเวลา ก็ได้มีการกำหนดวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในมาตรา 5

ซึ่งถ้าเรานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ ผ่านการแก้ไขมาแล้วทั้งหมด 27 ครั้ง โดยการแก้ไข 10 ครั้งแรกที่ออกมาพร้อมกัน คือ บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง หรือ Bill of Rights ซึ่งจะประกันสิทธิต่าง ๆ เช่น เสรีภาพในการพูด, การนับถือศานา รวมถึงกระบวนการทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งความยืดหยุ่นของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี่เองที่ทำให้รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาถูกใช้งานมาเป็นเวลา 200 กว่าปี

สำหรับเนื้อหาอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ

1. รูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากสมาพันธ์รัฐ มาเป็นสหพันธ์รัฐ ที่แบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐต่าง ๆ โดยอำนาจสำคัญ ๆ เช่น การประกาศสงคราม, การออกเงินตรา จะอยู่ในมือของรัฐบาลกลาง ในขณะที่อำนาจส่วนใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนจะอยู่ในมือของรัฐบาลท้องถิ่น เช่น การออกกฎหมายเพื่อปกครองในรัฐ, การจัดการศึกษา แต่ก็มีบ้างที่บางอำนาจจะถูกใช้ร่วมกัน เช่น การเก็บภาษี แต่ไม่ว่าจะเป็นอำนาจใด ๆ ก็ตาม โดยพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนชาวอเมริกัน คือ แหล่งที่มาของอำนาจสูงสุด

2. ระบบการแบ่งแยกอำนาจ ซึ่งแบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วน คือ

  1. อำนาจนิติบัญญัติ หมายถึง อำนาจในการออกพระราชบัญญัติต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่ใช้อำนาจส่วนนี้ คือ รัฐสภาหรือสภาคองเกรส ที่มาจากการรวมกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งล้วนมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
  2. อำนาจบริหาร เป็นอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งผู้ที่ใช้อำนาจส่วนนี้ คือ ประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ในขณะที่คณะรัฐมนตรีจะได้รับการแต่งตั้งตามความเหมาะสม
  3. อำนาจตุลาการ เป็นอำนาจในการตัดสินคดีความต่าง ๆ โดยผู้ที่ใช้อำนาจส่วนนี้ คือ ศาล นั่นเอง

3. ระบบตรวจสอบและคานอำนาจ เพราะแม้ว่าจะมีการกระจายอำนาจออกเป็น 3 ส่วนแล้ว ก็ยังมีกำหนดให้มีการตรวจสอบและคานอำนาจกันและกันอีกชั้นหนึ่ง เช่น สภาคองเกรส แม้ว่าจะมีอำนาจในการออกพระราชบัญญัติ แต่ประธานาธิบดีก็มีสิทธิยับยั้งพระราชบัญญัตินั้นได้ เรียกว่า วีโต้ (Veto) ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีก็มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาสูงสุดและคณะรัฐมนตรี แต่การเสนอต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาก่อน

จะเห็นได้ว่าความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ไม่ได้มีเคล็ดลับที่ซับซ้อนอะไรเลย โดย รศ. ดร.โกวิท ก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า บรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ตระหนักไว้ว่า อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น พวกเขาจึงได้ร่างรัฐธรรมนูญที่สั้น กระชับ และเปิดโอกาสให้มีการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง ทำให้รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยได้ตามกาลเวลานั่นเอง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส