วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) สมาชิกรัฐสภาได้มีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเป็นเวลาเกือบ 8 ชั่วโมง โดยคำที่ประชาชนอย่างเรา ๆ ได้ยินบ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นคำว่า “ญัตติ” ซึ่งมีปัญหาอย่างมากในการตีความวันนี้ แล้วจริง ๆ แล้วคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ

คำว่า “ญัตติ” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือข้อเสนอเพื่อลงมติ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ญัตติที่ต้องมีผู้รับรอง และญัตติที่ไม่ต้องมีผู้รับรอง นอกจากนี้ ญัตติยังแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ญัตติที่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ โดยผู้เสนอและผู้รับรองต้องลงลายมือชื่อในญัตตินั้น ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 59

2. ญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 60

ใครมีสิทธิ์เสนอญัตติบ้าง ?

ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถเสนอญัตติได้ทั้งหมดแล้วแต่กรณี ตามปกติแล้วการเสนอญัตติจะต้องมีผู้เสนอตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ยกเว้นในกรณีที่มีการกำหนดจำนวนผู้เสนอไว้โดยเฉพาะ เช่น ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เสนอไว้โดยเฉพาะว่า ต้องไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

วิธีการเสนอญัตติ

การเสนอญัตติต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี และต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับของแต่ละสภากำหนด เว้นแต่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ หากเป็นญัตติที่เสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ผู้เสนอและผู้รับรองต้องลงลายมือชื่อในญัตตินั้น แต่หากเป็นญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือ ให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศีรษะ

ข้อห้ามในการเสนอญัตติ

เมื่อที่ประชุมของแต่ละสภากำลังปรึกษาหรือพิจารณาญัตติใดอยู่ ห้ามเสนอญัตติอื่นขึ้นมาพิจารณา เว้นแต่จะเป็นญัตติที่ได้กำหนดไว้ให้สามารถกระทำได้

การแก้ไขเพิ่มเติมญัตติหรือการถอนญัตติ

หากญัตตินั้นประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี สั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติม หรือถอนญัตติจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุม

สำหรับการถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมกันเสนอญัตติ หรือจากการเป็นผู้รับรอง จะกระทำได้เฉพาะก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณี สั่งบรรจุญัตตินั้นเข้าระเบียบวาระการประชุม แต่หากได้มีการสั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว จะถอนชื่อได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของที่ประชุม

ญัตติจะตกไป ในกรณีที่ญัตตินั้นถึงวาระพิจารณาในการประชุมแล้ว

หากผู้เสนอญัตติไม่ชี้แจงในที่ประชุม หรือผู้เสนอญัตติไม่อยู่ในที่ประชุมโดยไม่มีผู้ชี้แจงแทนในฐานะผู้รับมอบหมายญัตติที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังไม่ได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

ที่มา : สถาบันพระปกเกล้า

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส