กิจการพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยกําลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งหลักการและเป้าหมายที่สําคัญคือการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมในการลดและเลิกการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นทรัพยากรภายในประเทศ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้บรรลุเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงและความร่วมมือในระดับนานาชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ปัญหาสําคัญประการหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็คือราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 3.61 บาทต่อหน่วยเมื่อปี 2564 มาเป็น 4.70 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน และยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้มีความสนใจ มีการนําเสนอข่าว และมีการจัดเวทีอภิปราย ดีเบตที่เกี่ยวข้องกับประเด็นค่าไฟฟ้าก่อนการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองต่าง ๆ ล้วนมีนโยบายและแนวทางเกี่ยวกับปัญหาค่าไฟฟ้า

ซึ่งในงาน #ค่าไฟต้องแฟร์ จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการเปิดเผย 5 ข้อเสนอสำคัญจากภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่ ดังนี้

  1. หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน
  2. เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า กับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ บนหลักการที่เสรี เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและครอบคลุมทั้งประเทศ
  3. เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่นๆ
  4. พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่
  5. นําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทยและก๊าซจากพม่าไปคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ กลไกค่าไฟฟ้า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา มีความไม่เป็นธรรมหลายประการต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น การลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่โปร่งใส การวางแผนกําลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เหมาะสม และการกําหนดราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนอกจากจะเพิ่มค่าครองชีพของประชาชนโดยตรงแล้ว ยังสร้างปัญหาต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส