วันที่ 11 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญเป็นวันแรก โดยเริ่มต้นที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศ ซึ่งถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โดยปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้อย่างเป็นรูปธรรม 

ความท้าทายเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความยากลำบากให้กับสังคมไทย ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชน และกลายมาเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับคนไทยทุกคนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ซึ่ง นายเศรษฐา ได้กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภามีทั้งหมด 4 นโยบาย ได้แก่

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

1. นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท

การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

2. การแก้ไขปัญหาหนี้สิน

การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยรัฐบาลจะลดภาระเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม หรือ Moral Hazard ของผู้มีภาระหนี้สิน

3. ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน

การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียงและสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

4. สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว

รัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะการท่องเที่ยวจะเป็นกุญแจดอกแรกในการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวด้วยการอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทำ Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE)

และเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี รัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแสดงต่าง ๆ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยจะปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนำนักท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะสร้างความมั่นใจและความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านได้เริ่มการอภิปราย โดย สส. และ สว. หลายคนเห็นว่า คำแถลงนโยบายรัฐบาลยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ไม่มีกรอบเวลา และไม่มีเป้าตัวชี้วัดที่วัดผลได้ โดยเฉพาะนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่ง นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายโดยตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณในการดำเนินนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ สส. และ สว. อีกหลายคนได้อภิปรายโดยตั้งคำถามถึงนโยบายที่หาเสียงไว้ในช่วงก่อนเลือกตั้ง เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท, นโยบายปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท ซึ่งไม่ถูกบรรจุไว้ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะฝ่ายค้านระบุว่า ฝ่ายค้านจำเป็นต้องมีหน้าที่ตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้รัฐบาลตระหนักว่า การหาเสียงสามาถทำได้ แต่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนด้วย

อ่านฉบับเต็มของคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ที่นี่ (คลิก)