กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยผ่านบัญชี Facebook ทางการว่ามีขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกแม่ของนักศึกษาสาวรายหนึ่งว่าลูกสาวถูกลักพาตัว

หลอกแบบซ้ำซ้อน

โดยกรณีนี้เป็นการหลอก 2 ชั้น เริ่มจากการโทรหลอกฝ่ายลูกสาวโดยอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก ‘ปปง.’ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ว่ามีการแอบอ้างชื่อของเจ้าตัวไปพัวพันกับยาเสพติดและการฟอกเงิน

จากนั้นได้มีการขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไป ‘ตรวจสอบข้อเท็จจริง’ และให้พ่อแม่โอนเงินเข้าบัญชีที่ระบุไว้เพื่อตรวจสอบข้อมูลทางการเงิน โดยเจ้าตัวจะได้รับส่วนแบ่ง 2 ล้านบาท

พร้อมแนะนำหากข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ให้ไปแจ้งกับทางสำนักงานไปรษณีย์ตามเบอร์ที่ระบุไว้ให้ และย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัยเสมือนว่าถูกลักพาตัว ซึ่งนักศึกษาสาวรายนี้ก็ได้ทำตามโดยไปเช่าห้องพักแห่งหนึ่งอยู่

จากนั้นทำการโทรหลอกผู้เป็นแม่ว่าลูกสาวถูกลักพาตัว ให้โอนเงินเข้าไปบัญชีของลูกสาว หากไม่ยอมทำตามจะพาตัวลูกสาวหนีออกไปที่ต่างประเทศทันที

วิธีการหลักคือการพยายามไม่ให้ทั้งฝ่ายแม่และลูกได้สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่การขู่ฝั่งลูกว่าหากบอกเรื่องดังกล่าวกับคนในครอบครัวอาจทำให้ข้อมูลของคดีรั่วไหล และไปกดดันทางฝั่งแม่ให้โอนเงินภายใน 5 นาที จึงจะได้ยินเสียงของลูกสาว

ในท้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ก็สามารถเข้าช่วยเหลือเหยื่อรายได้ดังกล่าวได้สำเร็จ แต่ดูเหมือนว่าเจ้าตัวจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกหลอกอยู่

วิธีการป้องกันตัว

การหลอกด้วยวิธีนี้เป็นหนึ่งในวิธีการที่เรียกว่าวิศวกรรมสังคมหรือ Social Engineering ซึ่งใช้จุดอ่อนทางจิตวิทยาอย่างความโลภ และความกลัว มารีดไถเงินและหลอกเอาข้อมูลจากเหยื่อ

ครั้งนี้อาจแตกต่างจากแนวโน้มที่ผ่าน ๆ มาที่มักเป็นการรีดไถเงินโดยตรง แต่ใช้การหลอกใช้คนในครอบครัวเพื่อขมขู่เอาเงินเหยื่อ ซึ่งอาจได้ผลกว่าการแอบอ้างเป็นคนในครอบครัวเสียเอง

แต่ในการหลอกลวงครั้งนี้ยังมีจุดที่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติได้อยู่

อย่างแรกคือการอ้างหน่วยงานที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่ง ปปง. หรือสำนักงาน ปปง. เป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับตำรวจเหมือนที่อาชญากรกล่าวอ้าง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าหน้าที่ ปปง. ตัวจริงจะอ้างยศและตำแหน่งของตำรวจ

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่คนร้ายมักแอบอ้างนั้นจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทางที่ดีควรตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการหรือหน้าเพจโซเชียลทางการของหน่วยงานต่าง ๆ จะดีกว่า

นอกจากนี้ เบอร์โทรศัพท์ที่คนร้ายอ้างว่าเป็นของหน่วยงานต่าง ๆ ในกรณีนี้คือไปรษณีย์นั้นแท้จริงแล้วเป็นเบอร์ของเครือข่ายคนร้ายอีกที

ซึ่งวิธีการป้องกันคือควรยืนยันว่าจะไปติดต่อกับเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นทางการของหน่วยงานนั้น ๆ จริง ๆ แทนการโทรไปที่เบอร์ที่คนปลายสายมอบให้

ยิ่งไปกว่านั้นคือการสอบถามข้อมูลส่วนตัว และการทำธุรกรรมเพื่อพิสูจน์ตัวตน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอำนาจในการขอข้อมูลจากสถาบันทางการเงินตามกฎหมาย ไม่มีความจำเป็นที่จะขอให้ ‘โอนเงิน’ เพื่อพิสูจน์ข้อมูล

ที่มา IDMB

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส