หากไม่มีอะไรผิดพลาด ในการเสนอชื่อนายกฯ รอบที่ 3 ครั้งที่จะถึงนี้ พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พร้อมชูนโยบายหาเสียงแจกเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาท เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเวลา 6 เดือน โดยมีรายละเอียดคร่าว ๆ ดังนี้

  • แจกเป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาท
  • เข้าบัญชีประชาชนโดยตรงและจะถอนเป็นเงินสดไม่ได้
  • ใช้จ่ายได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร
  • ใช้ให้หมดภายในระยะเวลา 6 เดือนเท่านั้น
  • ต้องเป็นบุคคลตามเลขที่ลงทะเบียนไว้
  • ประชาชนไทย อายุ 16 ปีขึ้นไปที่มีบัตรประชาชน เลข 13 หลัก
  • จำนวนคนที่จะได้รับทั้งหมด ขั้นต่ำประมาณ 50 ล้านคน
  • กรณีประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ขอแค่มีบัตรประจำตัวประชาชนและโค้ดสำหรับการใช้จ่ายก็สามารถใช้เงินดิจิทัลได้
  • กระเป๋าเงินดิจิทัล คือ เหรียญ (คูปอง) ไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซีและไม่ใช่เงินสกุลใหม่

ทว่า นโยบายดังกล่าวกลับเป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้าง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างก็บอกว่านโยบายนี้จะทำให้เกิดความเสียหายในแง่การคลังและหนี้สาธารณะของประเทศ แต่บางคนก็บอกว่าเป็นวิธีการหนุนเศรษฐกิจที่ดี แถมยังช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลไปอีกสเต็ปด้วย

ในรายการ ‘หนุ่ยทอล์ก’ ออกอากาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวไว้ โดยมีการเชิญผู้มีความรู้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงนโยบายดังกล่าว ได้แก่ คุณชยนนท์ รักกาญจนันท์ Head Coach & Co-Founder FINNOMENA และ อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการบริหาร บริษัท โฉลกดอทคอม และนี่คือความเห็นของแขกทั้ง 2 ท่าน

สรุปแล้วนโยบายนี้จำเป็นต้องใช้ ‘บล็อกเชน’ ไหม?

อ.พิริยะ สัมพันธารักษ์ ให้ความเห็นว่า บล็อกเชนมันไม่ได้มีความหมายถึงขนาดนั้น หลายคนชอบบอกว่าจะเอาบล็อกเชนมาใช้แล้วเคลมว่ามันจะได้เรื่องความปลอดภัยหรือเรื่องประสิทธิภาพการทำงานอะไรต่าง ๆ ซึ่งบล็อกเชนเป็นแค่เครื่องมือในการประทับเวลาเท่านั้น มีองค์ประกอบและโซลูชันอย่างอื่นอีกตั้งมากมาย

ทีนี้เรามาดูที่นโยบายพรรคเพื่อไทยกันบ้าง เขาตั้งไว้ว่ามันมีอายุ 6 เดือนและต้องอยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร ประเด็นแรกคือต้องใช้ในระยะเวลา 6 เดือน อันนี้ง่าย เราแค่ตั้งเวลาหมดอายุไว้ก็พอแล้ว

ส่วนประเด็นที่ 2 ที่บอกว่าต้องใช้เงินดิจิทัลในระยะ 4 กิโลเมตร อันนี้ต้องอาศัยข้อมูลเยอะกว่าระบบบล็อกเชนทั่วไป อย่างบิตคอยน์เราจะไม่รู้ว่าใครถือบ้าง ไม่มีบอกว่าใครเป็นใคร แต่ถ้าจะทำนโยบายนี้มันต้องมีการทำ KYC หรือต้องยืนยันตัวตนเพื่อระบุว่าคนคนนั้นเป็นใครและอยู่ในรัศมีเท่าใด นั่นหมายความว่ามันต้องมีศูนย์กลางในการตรวจสอบข้อมูล ดังนั้น ในเชิงการออกแบบมันจำเป็นต้องใช้เป็นระบบ ‘บล็อกเชนแบบรวมศูนย์’ ดังนั้น ถ้าเกิดการรวมศูนย์แล้ว เทคโนโลยีบล็อกเชนจะกลายเป็นภาระมากกว่าประโยชน์ 

อ.ตั๊ม สรุปว่า “สมมติถ้ารัฐบาลใช้ระบบแบบนี้ เท่ากับว่าถ้าเซิร์ฟเวอร์รัฐบาลโดนแฮก ข้อมูลก็จะถูกโจรกรรมไปได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าให้เทียบด้านความปลอดภัยมันจึงอยู่ระดับเดียวกันกับพวกแอปเป๋าตัง หรือ CBDC ดังนั้น ถ้าถามว่าจำเป็นต้องเอาบล็อกเชนมาใช้ไหม? ต้องบอกว่ามันยังเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่” “ส่วนเรื่องที่บอกว่าบล็อกเชนมีความปลอดภัยสูงสุด อันนี้ก็ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป มันมีปัจจัยอื่น ๆ อีกเยอะมากมาย สิ่งที่ต้องทำคือต้องป้องกันการแก้ไขบัญชีย้อนหลังหรือป้องกันการโกงเงินให้ได้”

เงินดิจิทัลจะช่วยเศรษฐกิจได้จริงไหม?

คุณแบงก์ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ให้ความเห็นในส่วนนี้ไว้ว่า หลักการในการทำให้เงินหมุนเวียนอยู่ในเศรษฐกิจนั้น ถ้าปกตินโยบายที่มีผลกระทบในวงกว้าง อัตราการหมุนของเงินจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 เท่า แปลว่าเงิน 500,000 ล้านบาทที่เข้ามาอยู่ในกระเป๋าคนไทยและนำออกไปจับจ่ายใช้สอยส่วนนี้ ก็คูณไปอีก 4-5 เท่า นั่นคือการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ

ทีนี้ทางฝั่งเพื่อไทยเองก็ยังไม่แน่ใจเลยว่านโยบายตัวนี้มันจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ๆ ความตั้งใจหลักคืออยากจะสร้าง Infrastructure ขึ้นมาเพื่อใช้กับนโยบายถัด ๆ ไป ทีนี้นักวิเคราะห์หลายที่เลยมองว่าประเทศไทยมี GDP ประมาณ 3% ซึ่งมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น แถมหนี้ครัวเรือนยังสูงมากด้วย

ทีนี้การใส่เงินในกระเป๋าเข้าไปอีก 500,000 ล้านบาท ให้เขาจำเป็นต้องจับจ่ายเยอะขึ้น แต่กลับที่มีหนี้เยอะอยู่ มันอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าถ้าคนได้เงิน 10,000 ไปแล้ว จะใช้เท่าที่มีให้หรือว่าใช้เกินกว่า 10,000 บาท (ควักจ่ายเพิ่มเอง) ซึ่งถ้าเป็นตัวเลือกหลัง มันจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจพังลงกว่าเดิมอีก เพราะเหมือนบังคับให้เขาต้องออกไปใช้เงินมากขึ้น หนี้ครัวเรือนก็จะเยอะขึ้นอีก

ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ประชาชนจะเสพติดนโยบายประชานิยมมากขึ้น คนไทยเห็นว่าได้ของฟรี ได้เงินฟรี แต่กลับไม่มีวินัยทางการเงิน จึงเกิดคำถามขึ้นว่า “สรุปแล้วมันดีต่อเศรษฐกิจจริงไหม?”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส