เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อคืน กับ iPhone 15 สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่จากทางยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิ้ล (Apple) ซึ่งสื่อหลายแห่งคาดการณ์กันว่าไอโฟนรุ่นใหม่นี้คงจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนพอร์ตให้เป็น USB-C ด้วย ทำให้ไอโฟนกลายเป็นอุปกรณ์ที่สากล (เหมือนคนอื่น) มากขึ้น

ในยุคปัจจุบัน แม้ผ่านมาหลายปีแล้ว ผู้คนยังถกเถียงกันอยู่เลยว่า ทำไมไอโฟนถึงราคาแพงขนาดนั้น มันคุ้มค่าขนาดนั้นจริง ๆ หรือเปล่า แต่ไม่ว่าจะแพงยังไง ผู้คนก็ต่างโหยหามันมาครอบครองให้ได้สักเครื่อง ที่น่าสนใจคือบางคนมองว่าการครอบครองไอโฟน เป็นการมีไว้เพื่อยกระดับสถานะทางสังคมให้ตัวเอง ส่วนเหตุผลที่บอกว่าทำไมไอโฟนถึงกลายเป็นเครื่องวัดสถานะทางสังคมไปได้ เราลองไปดูเหตุผลเหล่านี้กัน

ฟิลสตาร์ โกลบอล (Philstar Global) สื่อดังจากทางฟิลิปปินส์ ตีพิมพ์บทความที่น่าสนใจเอาไว้ตัวนึง ว่าด้วยเรื่อง ‘iPhone: แค่แกดเจ็ตธรรมดา ๆ หรือ มีไว้เพื่อวัดสถานะทางสังคม’ โดยตัวบทความมีเนื้อหาคร่าว ๆ ว่า

เมื่อไอโฟนรุ่นใหม่เปิดตัว โซเชียลมีเดียก็ลุกเป็นไฟแทบจะทุกครั้ง อย่างล่าสุด เมื่อคืนเพิ่งเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ไป ปรากฏว่ามีคนดูไลฟ์เปิดตัวแบบสด ๆ มากถึงอย่างน้อย 2 ล้านคน ไม่รวมสื่อช่องทางอื่น ๆ อีก 

จากบทความบอกเอาไว้ว่า มันจะมีคนอยู่กลุ่มนึง ที่ไม่ว่ายังไงก็จะต้องหาไอโฟนรุ่นใหม่มาครอบครองให้ได้ แม้ต้องขายอวัยวะเพื่อมาเอาเงินมาซื้อก็ตาม ส่วนหนึ่งคือเพื่อยกระดับสถานะทางสังคมให้ตัวเอง จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Social Climbers’ แปลตรงตัวคือนักปีนเขาทางสังคม หรือพวกที่ชอบยกระดับทางสังคมให้ตัวเอง ด้วยการถือของหรู ๆ แพง ๆ

การศึกษาโดย Picodi.com พบว่าชาวฟิลิปปินส์โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลาทำงานประมาณ 90 วันเพื่อซื้อไอโฟน 1 เครื่อง แต่ในเงินจำนวนนั้นคือต้องไม่เอาไปใช้กับอะไรเลย ต้องเก็บทุกบาททุกสตางค์เอาไว้ซื้อไอโฟนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งถ้านับค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปด้วย ก็คงไม่ใช่แค่เก็บเงินเพียง 90 วันแน่ ๆ

ค่านิยมการมีมือถือเพื่อยกระดับฐานะทางสังคม

เมื่อช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว หากใครมีมือถือโนเกีย (Nokia) สักเครื่อง เขาคนนั้นจะดูหล่อเท่มาก ๆ จนต่อมาก็เริ่มกลายเป็นยุคของแบล็กเบอรรี่ (BlackBerry) และสุดท้ายก็จะมาแทนที่ด้วยไอโฟนในที่สุด ซึ่งนับว่ายุคนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของปรากฎการณ์ ‘สังคมก้มหน้า’ ได้เลย

ผลวิจัยจาก Piper Sandler บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินสัญชาติอเมริกัน ได้เผยแพร่งานวิจัยที่น่าสนใจเอาไว้ว่า เครื่องชี้วัดสถานะทางสังคมของเด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เสื้อผ้าแฟชัน แต่คือการไปดินเนอร์กินอาหารดี ๆ หรือไม่ก็ซื้อสมาร์ตโฟนราคาแพงสักเครื่อง (โดยเฉพาะไอโฟน) ส่งผลให้ความต้องการของไอโฟนไม่เคยลดลงเลย

ซื้อ iPhone เพื่อแค่อยากได้สัญลักษณ์ Apple

ในปี 2013 ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของแอปเปิ้ลกล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีราคาแพงเพราะไม่อยากลดคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพราะข้อจำกัดเรื่องราคา”

ซึ่งสิ่งนี้แหละ ทำให้ไอโฟนทุกรุ่นมีราคาแพงหูฉี่ จนต่อมาก็เริ่มกลายเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมและเป็นมากกว่าแกดเจ็ตธรรมดาทั่วไป ซึ่งนอกจากมีราคาสูงแล้ว ความต้องการก็ยังสูงอีก จากข้อมูลบอกว่าผู้คนต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีโลโก้แอปเปิ้ลแปะอยู่ด้านหลัง และพวกเขายินดีจ่ายเงินก้อนโตเพื่อซื้อเทคโนโลยีดังกล่าว

สิ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ไอโฟนก็เป็นแค่สมาร์ตโฟนเครื่องหนึ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานได้อย่างน้อยก็ 3-5 ปี แต่ทันทีที่แอปเปิ้ลมีงานเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่ทีไร มันจะกระตุ้นให้คนรู้สึกอยากได้รุ่นใหม่มากขึ้น ถึงแม้จะมีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยก็ตาม 

เรื่องนี้เป็นผลมาจากความซื่อสัตย์ที่มีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ซึ่งหากกางสถิติออกมาดูจะพบว่าในบรรดาค่ายมือถือทั้งหลาย แอปเปิ้ลมีสถิติด้านนี้สูงที่สุดถึง 92.6% กล่าวคือหากผู้ใช้ไอโฟนคนนั้นอยากเปลี่ยนมือถือสักเครื่อง พวกเขาจะเลือกกลับไปใช้ไอโฟนเหมือนเดิม ขณะที่แบรนด์ซัมซุง (Samsung) มีสถิติความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์อยู่ราว 74.6%

สรุปแล้ว ก็คงไม่ใช่คนทุกกลุ่มที่จะมีสมาร์ตโฟนไว้เพื่อยกระดับทางสังคม บางคนเพียงแค่มีไว้เพื่อใช้งานจริง ๆ ก็เยอะแยะไป เพราะสมัยนี้มีสมาร์ตโฟนหลายรุ่นให้เลือกเยอะมาก แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ส่วนไอโฟนมันจะมีไว้เพื่ออะไร มันคุ้มกับคำว่า ‘ของมันต้องมี’ ขนาดนั้นเลยไหม ก็สุดแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน

ที่มา: Philstar Global, The Tech Edvocate, Gitnux

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส