วันที่ 18 กันยายน 2566 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยชนะคดีที่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย กรณียกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 59,000 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลัง ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. จ่ายเงินจำนวน 24,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ให้กับ โฮปเวลล์ หลังมีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 โดยศาลปกครองกลางเห็นว่า โฮปเวลล์ ยื่นฟ้องคดีพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

สำหรับโครงการโฮปเวลล์ หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System : BERTS) เป็นโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ และรถไฟฟ้ายกระดับ บนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้เครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ บริษัทสัญชาติฮ่องกง

แนวคิดของโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2532 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมี นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น โครงการโฮปเวลล์ คือ การก่อสร้างทางยกระดับทางรถไฟขึ้นไปเหนือผิวการจราจร โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดจุดตัดกับทางรถยนต์ เป็นการแก้ไขปัญหารถยนต์ที่ต้องหยุดรอรถไฟ 

โครงการโฮปเวลล์ คือ การก่อสร้างคร่อมทางรถไฟระยะทางทั้งสิ้น 60.1 กิโลเมตร โดยใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท และคาดว่าจะให้ผลตอบแทนรายปี รวม 30 ปี เป็นมูลค่า 53,810 ล้านบาท ซึ่ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด จะได้รับสิทธิสร้างถนนยกระดับ สัมปทานเดินรถบนทางรถไฟยกระดับ การเรียกเก็บค่าผ่านทางคู่ขนานกับทางรถไฟยกระดับ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และอสังหาริมทรัพย์บริเวณสองข้างทาง ซึ่งคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส