เหตุการณ์ความรุนแรงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาวต่างชาติ 2 ราย ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับทุกฝ่าย และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในอนาคต ทำให้ภาครัฐต้องเร่งยกระดับมาตรการป้องกัน และกอบกู้ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

ล่าสุด วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมแถลงข่าวต่อกรณีดังกล่าว

โดยระบุว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต รวมถึงการประสานงานกับสถานทูตต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งตามปกติแล้วจะมีกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นแกนกลางสำคัญในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา

อย่างไรก็ตาม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า กองทุนดังกล่าวได้ถูกยุบไปแล้ว ทำให้ต้องมีการหารือว่า จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร จะใช้เงินงบปกติที่มีอยู่หรืองบกลาง ซึ่งจะมีความคืบหน้าเร็ว ๆ นี้ และต้องนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

กองทุนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วยเหลืออะไรบ้าง ?

กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ ถูกตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยที่เกิดความสูญเสียหรือเสียหายใด ๆ ทั้งในภาวะปกติหรือภาวะวิกฤต โดยไม่ได้เกิดจากความประมาท เจตนา หรือการกระทำที่ผิดกฎหมายของนักท่องเที่ยว

คำว่า นักท่องเที่ยว หมายถึง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผู้ถือหนังสือเดินทางพร้อมหลักฐานการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวในหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ยกเว้นกรณีที่ไม่ต้องมีการตรวจลงตราสำหรับคนต่างด้าวบางประเภทเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ ต้องเป็นการเข้ามาด้วยการสมัครใจ และวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพื่อการประกอบอาชีพหรือหารายได้

สำหรับเหตุการณ์ที่เข้าข่ายขอรับความช่วยเหลือ หรือการเยียวยาจากกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติได้นั้น ตามข้อกำหนดกองทุนฯ ระบุว่า ต้องเป็นการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุจลาจล การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ อาชญากรรม เช่น การถูกข่มขืน หรือภัยอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด สำหรับรายละเอียดการช่วยเหลือหรือการเยียวยานั้น จะคล้ายกับการทำประกันของบุคคลทั่วไป ได้แก่

  • หากเป็นการเสียชีวิต สูญเสียดวงตา ทุพพลภาพถาวร หรือได้รับอันตรายสาหัส เยียวยาไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อคน ซึ่งเงินจำนวนนี้จะรวมถึงค่าใช้จ่ายในการปลงศพนอกประเทศภูมิลำเนา ค่าส่งศพหรือเถ้ากระดูกกลับภูมิลำเนา
  • ค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 500,000 บาทต่อคน
  • ค่าความเสียหายจากการหยุดชะงักของการเดินทาง จ่ายไม่เกิน 2,000 บาทต่อคนต่อวัน โดยไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน
  • ค่าฟื้นฟูสภาพจิตใจจากเหตุจลาจล การก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ และการถูกข่มขืน ไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน
  • ค่าเสียประโยชน์จากการถูกประทุษร้ายต่อทรัพย์สินให้เหมาจ่าย 6,000 บาทต่อคน 

กองทุนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปไหน?

กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ มีจุดเริ่มต้นจากในปี 2556 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับงบจัดสรรจากรัฐบาลจำนวน 50 ล้านบาท จึงตัดสินใจจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปี 2557

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่อการสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ และดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 6 ปี ก่อนที่จะถูกสั่งยุบกองทุนในวันที่ 9 ตุลาคม ปี 2563 เนื่องจากไม่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน

สำหรับผลการดำเนินงานนั้น ในปี 2559 กองทุนดังกล่าวได้มีการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวเป็นจำนวน 22.72 ล้านบาท ปี 2560 เบิกจ่าย 5.86 ล้านบาท และปี 2561 เบิกจ่าย 116,533.43 บาท

ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส