ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมต่างพยายามย้ำเตือนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change อยู่เสมอ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจ และลงมือแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างจริงจังมากนัก 

แต่งานศึกษาชิ้นล่าสุดนี้ อาจเรียกร้องให้คอเบียร์ส่วนใหญ่หันมาสนใจภัยด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อการผลิต ‘เบียร์’ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมของคนทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสถาบันวิจัย Czech Academy of Sciences (CAS) ร่วมกันเผยแพร่งานศึกษาผ่านวารสาร Nature Communications ซึ่งพวกเขาค้นพบว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า “ภาวะโลกรวน” นั้น กำลังทำให้ราคาของเบียร์แพงขึ้น แต่คุณภาพกลับแย่ลง

โดยนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ ‘ฮอปส์’ (Hops) พืชที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในการแต่งรสชาติเบียร์ มีผลผลิตน้อยลงและคุณภาพต่ำลง โดยผลกระทบที่ตามมาคือ เบียร์อาจมีราคาสูงขึ้น เพราะว่าผู้ผลิตต้องปรับวิธีการผลิตเบียร์ เพื่อต่อสู้กับต้นทุนของฮอปส์ที่สูงขึ้นนั่นเอง

Close up of confident senior man brewer with self crafted beer
ฮอปส์ (Hops)

งานศึกษายังระบุอีกว่า ผลผลิตฮอปส์ที่ปลูกในยุโรปจะลดลงราว 4 – 18% ภายในปี 2050 ในขณะที่ปริมาณกรดอัลฟาในฮอปส์ ซึ่งทำให้เบียร์มีรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัวจะลดลง 20 – 31% ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องย้ายฟาร์มไปในพื้นที่หุบเขาที่มีฝนตกมากขึ้น หรือลงทุนในระบบชลประทานเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

แต่เพื่อรักษาจำนวนผลผลิตและคุณภาพของฮอปส์เอาไว้ เกษตรกรก็จำเป็นต้องทำ เพราะสภาพอากาศน่าจะยังร้อนและแห้งแล้งเช่นนี้ไปอีกนาน เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะยังคงไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ว ๆ นี้ สะท้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ที่ยังคงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการละเลยต่อเป้าหมายในการจำกัดอุณหภูมิโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ‘เบียร์’ คือเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากน้ำดื่มและชา

ที่มา : BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส