สปีชีส์สัตว์ต่าง ๆ ที่สามารถเปลี่ยนสีอวัยวะในร่างกายได้มักจะเป็นที่สนใจศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ ทั้งในแง่ของสปีชีส์, ที่อยู่อาศัย และแม้แต่ส่วนประกอบของร่างกาย ตัวอย่างของสัตว์ที่ได้รับความสนใจนั้น ได้แก่ กวางเรนเดียร์ที่จะมีสีตาเปลี่ยนไปในช่วงฤดูหนาว หรือปลาที่สามารถเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อโกรธ เป็นต้น

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้เผยฟุตเทจแรกของโลกที่แสดงการเปลี่ยนสีของ Labord’s chameleon ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์คาเมเลียนจากมาดากัสการ์ในช่วงวาระสุดท้ายก่อนสิ้นใจเอาไว้ได้

ฟุตเทจนี้ถูกบันทึกผ่านการถ่ายแบบ time-lapse ของชีวิตคาเมเลียนในป่ากิรินทร์ทางตะวันตกของมาดากัสการ์ โดยบันทึกช่วงเวลาการวางไข่และหลังจากกลบฝังไข่เพื่อปกป้องลูกของมันจากสภาพอากาศในฤดูแล้งของมาดากัสการ์

“คาเมเลี่ยนเพศเมียจะใช้พลังงานทั้งหมดเพื่อวางไข่ที่จะต้องอดทนผ่านหน้าแล้งอันยาวนานใต้ดิน และพวกมันก็จะตายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการวางไข่” ทีมนักวิจัยให้สัมภาษณ์

การเปลี่ยนสีสันอันน่าทึ่งเกิดขึ้นจากเซลล์ผิวหนังหลายชั้น โดยผิวหนังชั้นนอกสุดจะโปร่งใส ในขณะที่ชั้นข้างในประกอบด้วยเซลล์ที่เรียกว่า โครมาโทฟอร์ (chromatophores) ที่แต่ละเซลล์จะมีเม็ดสีแตกต่างกัน

เมื่อคาเมเลียนมีอุณหภูมิหรืออารมณ์เปลี่ยนไป ถุงบรรจุเม็ดสีเหล่านี้ก็จะถูกกระตุ้นจากระบบประสาทจนส่งผลให้เกิดสีสันมากมายเปลี่ยนแปลงไปบนตัวของคาเมเลี่ยน

ทีมนักวิจัยเผยว่า แม้ระหว่างที่ Labord’s chameleon ตายไป แต่สัญญาณประสาทยังคงถูกส่งไปทั่วร่างกายของมันอยู่ นั่นทำให้รูปร่างของเซลล์ผิวหนังเปลี่ยนและเกิดเป็นลวดลายสีสันอันอลเวงอย่างที่ปรากฎในฟุตเทจ

ทั้งนี้ Labord’s Chameleon เป็นหนึ่งในสายพันธุ์คาเมเลียนที่มีขนาดเล็ก และมีวงจรชีวิตที่สั้นที่สุดในสายพันธุ์ โดยอายุขัยของมันจะอยู่ได้เพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ในขณะที่ระยะเวลาระหว่างที่เป็นไข่จนกว่าจะฟักออกมาต้องใช้เวลาอยู่ใต้ดินนานถึง 9 เดือนเลยทีเดียว

ที่มา: iflscience

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส