Dairy Queen แบรนด์ซอฟต์เสิร์ฟในดวงใจของใครหลายคนประกาศความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ปี 2564 – 2566 เติบโตต่อเนื่อง 30% จากหลายปัจจัยที่สนับสนุน ทั้งการกลับมาขยายสาขาใหม่ได้หลังจากต้องพักไประหว่างช่วงโควิด นอกจากนี้ยังมีเมนูใหม่ที่เปิดตัวหมุนเวียนหลายครั้งต่อปี รวมถึงการใช้งานสื่อยุคใหม่เพื่อสื่อสารไปถึงลูกค้าชาวไทย พร้อมประกาศเดินหน้าสู่การเป็น “The playground for a sweet pause” ในปี 2567

ธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด

คุณธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด บริษัทในเครือ ไมเนอร์ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจร้านไอศกรีม “แดรี่ควีน“ เปิดเผยว่า สำหรับการดำเนินงานของแดรี่ควีนในปี 2566 ที่ผ่านมา ภาพรวมมีการเติบโตอยู่ที่ 70% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ฟื้นจากวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการเติบโตเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ในขณะที่ตั้งแต่ปี 2564-2566 ภาพรวมมีการเติบโตขึ้นกว่า 30% ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นการตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยเมนูแปลกใหม่และรสชาติที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น เมนูบลิซซาร์ดข้าวเหนียวมะม่วงน้ำกะทิ รสชาติเข้มข้นสร้างการจดจำ เมนูบลิซซาร์ดโอวันตินภูเขาไฟ ที่สร้างยอดขายในประเทศไทยได้มากกว่า 1 ล้านถ้วย ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน และเมนูบลิซซาร์ดปังกรอบชาไทย ที่ได้รับกระแสตอบรับแบบถล่มทลายจนสามารถทำยอดขายนิวไฮ พร้อมกับการขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันแดรี่ควีนมีจำนวนสาขาครอบคลุมกว่า 520 สาขาทั่วประเทศ พร้อมตั้งเป้าขยายให้ได้ 1,000 สาขา

โดยสินค้าหลักของร้านคือกลุ่มไอศกรีมโคนและถ้วย ทำรายได้ราว 60% รองลงมาคือเค้ก 20% และกลุ่มเครื่องดื่มอยู่ 10% ซึ่งเค้กถือเป็นหนึ่งในอาวุธลับของแดรี่ควีน เพราะในตลาดมีเค้กไอศกรีมเด่นอยู่แค่ 2 เจ้าคือ DQ กับ Swensen’s (ซึ่งก็เป็นอีกบริษัทในเครือไมเนอร์) โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่แทบไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจาก 2 เจ้านี้ ทำให้โดดเด่นมาก

สรุปเคล็ดลับความสำเร็จของ Dairy Queen

คุณธนกฤตอธิบายให้เราฟังถึงความสำเร็จของ Dairy Queen ว่า

  • ปีที่ผ่านมาแดรี่ควีนออกสินค้าฮิตหลายตัวอย่างมะม่วง, ทุเรียน, โอวัลติน, ข้าวหลาม
  • ก่อนจะออกสินค้าต้องมีการทำคอนเช็ปต์เทสต์ เพื่อให้ลูกค้าให้ความเห็นก่อนว่าจะเลือกอะไร
  • สินค้าแต่ละชุดใช้เวลาพัฒนา 1 ปีก่อนจะออกสู่ตลาดจริง ช่วง 6 เดือนแรกคือการพัฒนา อีก 6 เดือนหลังคือได้รับอนุญาตจาก Dairy Queen International
  • องค์กรของแดรี่ควีนใหญ่มาก การออกสินค้า หรือการทำอะไรต้องใช้เวลา เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าสำเร็จ แฟรนไชส์ได้กำไร
  • การทำแฟรนไชส์ของแดรี่ควีนคือสิทธิ์แต่ละเจ้าในระดับจังหวัดเลย ทำให้ไม่มีการตั้งร้านข้ามเขตกัน เพื่อเชื่อได้ว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์ของแดรี่ควีนจะได้กำไร ซึ่งปัจจุบันมีแต่แม่ฮ่องสอนเท่านั้นที่ไม่มีแฟรนไชส์ไปตั้ง เพราะภูเขาเยอะ เดินทางลำบาก ประชากรน้อย เลยยังไม่มีคนสนใจ
  • ซึ่งพอแดรี่ควีนใหญ่มาก เข้าถึงคนหมู่มาก มีคนเกี่ยวข้องเยอะ ของที่เอามาออกเป็นสินค้า คนซื้อต้องเข้าใจทันที เช่นโอวัลติน ขายดีคอนเชปต์ nostagia ลูกค้าวัยกลางคนอยากกิน คาดหวังได้ถึงรสชาติโดยไม่ต้องอธิบาย
  • ทำไมแดรี่ควีนถึงยืนหนึ่ง เพราะสูตรไอติมไม่ได้เปลี่ยนมา 28 ปี มาจากโรงงานของไมเนอร์เอง ทำให้ได้รสแบบเดียวกับต้นฉบับ ซึ่งการใช้วัตถุดิบมีนมเป็นส่วนประกอบ ทำให้ได้รสแตกต่างจากคู่แข่งอื่น ๆ รวมถึงคู่แข่งรายใหม่จากจีน ที่ใช้ผงนมสำเร็จรูปมาทำวัตถุดิบ
  • ปีหนึ่ง ๆ แดรี่ควีนออกสินค้าพิเศษประมาณ 7 ครั้ง ชุดหนึ่งขายประมาณ 1 เดือน หรือ 45 วัน ซึ่งปีนี้คงไม่ทำถี่กว่านี้ เพราะต้องมั่นใจว่าร้านค้าทั้งหมด รวมถึงร้านแฟรนไซส์สามารถขายสินค้าพิเศษได้กำไร ถ้าเปลี่ยนเร็วไป จะมีปัญหาเรื่องใช้วัตถุดิบไม่ทัน
  • มีเน้นใช้โซเซียลมีเดียด้วย คือจุดเด่นเดิมของแดรี่ควีนคือทำสดหน้าร้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำไอศกรีมหรือแต่งหน้าเค้ก ก็ให้พนักงานถ่ายวิดีโอแล้วแชร์ลงโซเซียล ก็ได้กระแสตอบรับที่ดี
  • ไทยเป็นฐานในการพัฒนาสินค้าของอาเซียน สินค้าหลายอย่างพัฒนาที่ไทยก่อนแล้วส่งขายที่ DQ ในประเทศเพื่อนบ้าน ไทยจึงเป็นคีย์โฟกัสของ DQ International ในโซนอาเซียน ซึ่งจำนวนสาขาในไทยเป็นรองแค่จีนในเอเชีย

The Playground for a Sweet Pause

คุณธนกฤตพูดถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2567 ว่าแดรี่ควีนตั้งเป้ามุ่งสู่การเป็น “The playground for a sweet pause” หรือ ที่ที่ให้คุณได้แวะพัก เติมพลังให้กับชีวิต ผ่านการปรับโฉมแบรนด์ครั้งใหม่ ภายใต้คาแรกเตอร์ ทันสมัย รักสนุก และมีพลัง (Modern, fun-loving, energetic)

ในส่วนเมนูหวานน้อย ลูกค้าไม่ได้อยากได้เท่าที่ควร และการโฟกัสที่ตลาด Healhty อาจทำให้จุดยืนของแบรนด์ที่เน้นของหวานเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ยังเปิดตัว “DQ Lounge” ร้านในคอนเซปต์ใหม่ จากเดิมที่ DQ จะเน้นการให้บริการแบบ Grab and Go แต่ร้านแบบ Lounge จะมีพื้นที่รองรับการให้บริการที่มากขึ้น ให้ลูกค้าสามารถนั่งกินสบาย ๆ ได้ มาพร้อมเมนูพิเศษที่มีจำหน่ายเฉพาะที่ DQ Lounge เท่านั้น เช่น เบเกอรี่ และ พาร์เฟต์ โดยได้เปิดให้บริการแล้วที่ร้านแดรี่ควีน ชั้น 1 เซ็นทรัลเวสต์เกต พร้อมกันนี้แดรี่ควีนยังมีแผนขยายสาขาเข้าไปยังอาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย และร้านขายส่งเพิ่มเติมเพื่อสร้างการเข้าถึงและใกล้ชิดกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการให้บริการในรูปแบบ EV truck ซึ่งแดรี่ควีนทดลองเป็นครั้งแรกในโลก พร้อมให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งตั้งเป้าจะขยายให้เป็น 5 คันในปีนี้ ที่ช่วยให้แบรนด์และสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่เป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้จากการดำเนินกลยุทธ์ข้างต้น แดรี่ควีนเชื่อมั่นว่าจะช่วยผลักดันการเติบโตของธุรกิจและทำให้ภาพรวมการดำเนินงานของธุรกิจในปี 2567 เติบโตเป็นไปตามเป้าหมาย ตอกย้ำการเป็นเจ้าตลาดและเป็นแบรนด์ขนมหวาน พรีเมียมที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกสไตล์ อร่อยได้ในทุกโอกาสและทุกเทศกาลความสุขของคนไทย” คุณธนกฤต กล่าวทิ้งท้าย

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส