รัฐบาลญี่ปุ่นจะเริ่มการศึกษาเกี่ยวกับ “บลูคาร์บอน” บนพื้นที่ทะเล ซึ่งเป็นการจับคาร์บอนไดออกไซด์จากพืชทะเลที่ปลูก และเก็บกักไว้ในทะเลลึก เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) โดยมีการวางแผนที่จะดำเนินการวิจัยนี้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การศึกษาครั้งนี้หวังให้พืชทะเลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการดูดซับคาร์บอน เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์สามารถละลายน้ำได้ดี และพืชทะเลจะเจริญเติบโตโดยการดูดซับคาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำ พืชที่พบในชายฝั่งและทะเล เช่น ป่าชายเลนและสาหร่ายทะเล มีความสามารถในการดูดซับและเก็บคาร์บอนมากกว่าพืชที่เจริญเติบโตบนพื้นดิน ซึ่ง “บลูคาร์บอน” หมายถึงคาร์บอนที่ถูกจับโดยระบบนิเวศทางทะเลผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสง และถูกเก็บกักในทะเลลึก ส่วน “กรีนคาร์บอน” คือคาร์บอนที่เก็บไว้ในระบบนิเวศทางบก เช่น ป่าไม้
กระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นจะมอบหมายให้หน่วยงานวิทยาศาสตร์ทางทะเลและเทคโนโลยีของญี่ปุ่น (JAMSTEC) รวมถึงบริษัทผู้จัดจำหน่ายน้ำมันชั้นนำของญี่ปุ่น Eneos Corp. และองค์กรอื่น ๆ ทำการศึกษาพฤติกรรมของสาหร่ายทะเลเมื่อถูกจมอยู่ในน้ำลึก และประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการจับและเก็บคาร์บอนใต้ทะเล
แม้ว่าการปล่อยคาร์บอนในญี่ปุ่นจะลดลงมากจากการขยายตัวของพลังงานทดแทนและการเริ่มต้นใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้ง แต่รัฐบาลยังคงต้องเพิ่มความพยายามในการจับคาร์บอนให้ได้มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ภายในปี 2050
ญี่ปุ่นพึ่งพาป่าไม้ในการดูดซับคาร์บอนเป็นจำนวนมาก โดยในปีงบประมาณ 2023 ป่าไม้ดูดซับได้ประมาณ 45 ล้านตัน แต่ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนของป่าไม้เริ่มลดลงจากอายุของต้นไม้ที่เพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงกล่าวว่า “หากเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการเก็บคาร์บอนที่พื้นทะเลได้ มันอาจเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญ”
ญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายจะจับคาร์บอนให้ได้ 1 ล้านตัน ภายในปีงบประมาณ 2035 และ 2 ล้านตัน ภายในปี 2040 ผ่านการใช้เทคโนโลยีบลูคาร์บอน โดยเปรียบเทียบกับการดูดซับคาร์บอนจากพืชชายฝั่งในปี 2023 ที่อยู่ที่ประมาณ 34 ตัน