หลังจากที่เรื่องราวของพ่อมดน้อย ‘แฮร์รี พอตเตอร์’ (Harry Potter) จากหนังสือวรรณกรรมเยาวชนของ ‘เจ.เค.โรว์ลิง’ (J.K.Rowling) ได้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ 8 ภาค ณ วันนี้ โลกเวทมนตร์ได้ถูกขยายออกเป็นจักรวาล ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘วิซาร์ดดิง’ เวิลด์ (Wizarding World) เพื่อขยายเรื่องราวออกไปให้ไกลกว่าเดิม ทั้งละครเวที เกมโชว์ สารคดี เกม บอร์ดเกม สวนสนุก ฯลฯ โดยเฉพาะการขยายเรื่องราวโลกเวทมนตร์ยุคโบราณ และเรื่องราวของสัตว์วิเศษ จนกลายมาเป็นแฟรนไชส์ ‘Fantastic Beasts’ ที่มีมาแล้วถึง 3 ภาค

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่า หากมองในภาพรวม กระแสของ ‘Fantastic Beasts’ ทั้ง 3 ภาค ที่แม้จะยังมีพอตเตอร์เฮด หรือแฟนเดนตายของจักรวาลแฮร์รี พอตเตอร์ติดตามอย่างเหนียวแน่น แต่กลับทำรายได้ไม่สู้ดีนัก อันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และตัวบทที่มีปัญหาจนกลายเป็นกระแสวิจารณ์ทั้งสามภาค จนทำให้รายได้จากทั้ง 3 ภาค ยังไม่มีภาคไหนที่พอจะเทียบเคียงกับความสำเร็จจากภาพยนตร์แฟรนไชส์พ่อมดน้อย ‘แฮร์รี พอตเตอร์’ ได้เลย

Wizarding World
โลโกจักรวาล ‘วิซาร์ดดิง’ เวิลด์ (Wizarding World)

บทความนี้จึงขอพาทุกท่านย้อนไปสำรวจทุนสร้าง รายได้ คำวิจารณ์ ภาพยนตร์จากจักรวาล ‘Wizarding World’ ทั้ง 11 เรื่อง และวิเคราะห์แนวโน้มต่อไปว่า ‘Fantastic Beasts’ รายได้และเสียงวิจารณ์จากทั้ง 3 ภาคแรก จะส่งผลให้มีการสร้างภาคที่ 4 และ 5 ต่อไปในอนาคตหรือไม่ หรือคาถาผู้พิทักษ์ของพ่อมดน้อยที่สั่งสมมายาวนานกว่า 20 ปี อาจกำลังจะเสื่อมถอยเสียแล้ว ?


“เอกซ์เปกโต พาโตรนุม” : วัดพลัง “ทุนสร้าง” – “รายได้” ภาพยนตร์ทุกเรื่องในจักรวาล ‘Wizarding World’

(หมายเหตุ : เรียงตามรายได้รวมทั่วโลกจากมากไปน้อย)

Harry Potter

(อันดับที่ 1)
‘Harry Potter and the Deathly Hallows Part 2’ (2011) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 7 ตอนที่ 2)
วันที่ฉาย : 15 กรกฏาคม 2011
ทุนสร้าง : 125 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 1,342 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 96%

Harry Potter

(อันดับที่ 2)
‘Harry Potter and the Philosopher’s Stone’ (2001) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 1)
วันที่ฉาย : 16 พฤศจิกายน 2001
ทุนสร้าง : 125 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 1,017 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 81%

Harry Potter

(อันดับที่ 3)
‘Harry Potter and the Deathly Hallows Part 1’ (2010) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 7 ตอนที่ 1)
วันที่ฉาย : 19 พฤศจิกายน 2010
ทุนสร้าง : 125 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 977 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 77%

Harry Potter

(อันดับที่ 4)
‘Harry Potter and the Order of the Phoenix’ (2007) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 5)
วันที่ฉาย : 11 กรกฏาคม 2007
ทุนสร้าง : 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 942 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 78%

Harry Potter

(อันดับที่ 5)
‘Harry Potter and the Half-Blood Prince’ (2009) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 6)
วันที่ฉาย : 15 กรกฏาคม 2009
ทุนสร้าง : 250 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 934 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 83%

Harry Potter

(อันดับที่ 6)
‘Harry Potter and the Goblet of Fire’ (2005) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 4)
วันที่ฉาย : 18 พฤศจิกายน 2005
ทุนสร้าง : 150 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 896 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 88%

Harry Potter

(อันดับที่ 7)
‘Harry Potter and the Chamber of Secrets’ (2002) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 2)
วันที่ฉาย : 15 พฤศจิกายน 2002
ทุนสร้าง : 100 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 879 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 83%

Fantastic Beasts

(อันดับที่ 8)
‘Fantastic Beasts and Where to Find Them’ (2016) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 1)
วันที่ฉาย : 18 พฤศจิกายน 2016
ทุนสร้าง : 175 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 814 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 74%

Harry Potter

(อันดับที่ 9)
‘Harry Potter and the Prisoner of Azkaban’ (2004) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 3)
วันที่ฉาย : 4 มิถุนายน 2004
ทุนสร้าง : 130 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 797 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 90%

Fantastic Beasts

(อันดับที่ 10)
‘Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald’ (2018) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 2)
วันที่ฉาย : 16 พฤศจิกายน 2018
ทุนสร้าง : 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 654 ล้านเหรียญสหรัฐ
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 36%

Fantastic Beasts : The Secrets of Dumbledore

(อันดับที่ 11)
‘Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore’ (2022) (ภาพยนตร์ลำดับที่ 3)
วันที่ฉาย : 15 เมษายน 2022
ทุนสร้าง : 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
รายได้รวมทั่วโลก : 193 ล้านเหรียญสหรัฐ (ณ วันที่ 18 เมษายน 2565)
คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes : 49%

“วิงการ์เดียม เลวีโอซา” : ภาคไหนรายได้ลอยลำ ภาตไหนรายได้ต่ำเตี้ย

หากรวมรายได้ Box office จากภาพยนตร์ทั้งหมด 11 เรื่องในจักรวาล ‘Wizarding World’ ทั้งแฟรนไชส์ ‘Harry Potter’ และ ‘Fantastic Beasts’ จะมีรายได้รวมกันทั้งหมด 9,450 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้จักรวาล Wizarding World เป็นจักรวาลภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากจักรวาลมาร์เวล (Marvel Cinematic Universe – MCU) จักรวาลสตาร์ วอร์ส (Star Wars) และจักรวาลสไปเดอร์-แมน (Spider-Man)

Harry Potter

แต่หากแยกรายได้แต่ละแฟรนไชส์ออกจากกัน พบว่า แฟรนไชส์ Harry Potter ทั้ง 8 ภาค สามารถทำรายได้รวม 7,787 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาคที่ทำรายได้มากที่สุดคือ ‘Harry Potter and the Deathly Hallows Part 2’ (2011) ภาพยนตร์ลำดับสุดท้ายของแฟรนไชส์พ่อมดน้อย ซึ่งเป็นภาคเดียวที่ทำรายได้แตะหลักพันล้านเหรียญ (1,342 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ) จากทุนสร้าง 125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนภาคที่ทำรายได้น้อยที่สุดคือ ‘Harry Potter and the Prisoner of Azkaban’ (2004) ภาพยนตร์ลำดับที่ 3 ที่แม้จะใช้ทุนมากกว่าถึง 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯแต่กลับทำรายได้ไปเพียง 797 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Harry Potter

ส่วนแฟรนไชส์ ‘Fantastic Beasts’ ทั้ง 3 ภาค ทำรายได้รวม 1,662 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภาคที่ทำรายได้มากที่สุดในขณะนี้ก็คือ ‘Fantastic Beasts and Where to Find Them’ (2016) ภาคแรกของจักรวาลสัตว์วิเศษ ที่ทำรายได้ทั่วโลกมากที่สุด 814 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทุนสร้าง 175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อีกสองภาค ทั้ง ‘Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald’ (2018) และ ‘Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore’ (2022) กลายเป็น 2 อันดับภาพยนตร์ในจักรวาลที่ทำรายได้น้อยที่สุด

Harry Potter

และหากเทียบในแง่ของทุนสร้าง ภาพยนตร์ทั้ง 11 เรื่อง ใช้ทุนสร้างรวมทั้งสิ้น 1,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดย ‘Harry Potter and the Half-Blood Prince’ (2009) พ่อมดน้อยภาคที่ 5 เป็นภาพยนตร์ใช้ทุนสร้างมากที่สุดถึง 250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนภาค 2 ‘Harry Potter and the Chamber of Secrets’ (2002) ใช้ทุนสร้างเพียง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นภาพยนตร์ที่ใช้ทุนสร้างน้อยที่สุด

ในขณะที่ ‘Fantastic Beasts and Where to Find Them’ (2016) แม้จะใช้ทุนสร้างน้อยที่สุดของแฟรนไชส์ที่ 175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่กลับเป็นภาคที่ทำรายได้มากที่สุด 814 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ ‘Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald’ (2018) ที่ใช้ทุนมากกว่าที่ 200 ล้านเหรียญ แต่กลับทำรายได้เพียง 654 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

Fantastic Beasts

และ ‘Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore‘ (2022) สามารถทำรายได้รวมทั่วโลก (ณ วันที่ 18 เมษายน 2565) ทั้งหมด 193 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่ากับภาคที่แล้ว แต่กลับเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ตอนเปิดตัวเฉพาะการฉายในสหรัฐอเมริกาได้เพียงแค่ 43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น นับเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ช่วงเปิดตัวต่ำที่สุดในจักรวาล Wizarding World

Harry Potter

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ภาคนี้ทำรายได้ไม่ตามเป้าที่วางไว้ (ที่อย่างน้อยควรจะได้สักประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป จึงจะถือว่าคุ้มทุนแบบหืดขึ้นคอ) ก็มีหลายประการ นอกจากกระแสคนดูและนักวิจารณ์ที่ค่อนไปในทางลบ (คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes อยู่ที่ 49% ได้อันดับรองท้ายจากทุกเรื่อง) รวมทั้งประเทศจีน ที่มีตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็กำลังประสบปัญหาโควิดระบาดระลอกใหม่ ทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์ และปิดโรงภาพยนตร์จนไม่สามารถทำรายได้ตามเป้า ทั้ง ๆ ที่จีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้ฉายก่อนหลาย ๆ ประเทศในโลก

Fantastic Beasts

แน่นอนว่า ขณะนี้ ตัวเลขรายได้ของ ‘Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore‘ อาจจะยังไม่นิ่ง เนื่องจากยังไม่ออกจากโรง จึงยังไม่อาจสรุปรายได้ที่แท้จริงว่าจะได้เท่าไรกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ คือ หากตัวหนังในภาคที่ 3 นี้ทำรายได้ได้ไม่ตามเป้าตามที่ตั้งไว้ ก็อาจส่งผลทำให้วอร์เนอร์ บราเธอร์ส พิกเจอร์ส (Warner Bros. Pictures) พิจารณาตัดสินใจทำ “อะไรบางอย่าง” กับแฟรนไชส์นี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกมายืนยันว่าจะเดินหน้าสร้างภาคที่ 4 และ 5 ต่อไปในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากต้องรอดูรายได้จากภาคที่กำลังฉายอยู่นี้เป็นตัวตัดสิน

Fantastic Beasts

อะไรบางอย่างที่วอร์เนอร์สกำลังทำ อาจเป็นไปได้ทั้งการอนุมัติให้ทำต่อไป พร้อมกับการปรับรื้อแผนครั้งใหญ่ ให้ตัวหนังออกมาถูกใจคนส่วนใหญ่มากขึ้น อาจเก็บสัตว์วิเศษเข้ากระเป๋า (พับแผนโปรเจกต์เพื่อเว้นวรรค) ไปชั่วคราว หรือไม่ Warner Bros. ก็อาจร่ายมนต์ “คาถากรีดแทง” ล้มแผนสร้างภาค 4-5 ไปเลยกลางคัน

หรือไม่ ก็อาจหาทางแปลงเรื่องราวไปเล่าในรูปแบบซีรีส์ไปเสียเลย เพราะ Warner Bros. เองก็มีแพลตฟอร์มสตรีมมิง เช่น HBO Max และ Discovery+ ที่เพิ่งซื้อมาหมาด ๆ และด้วยรูปแบบของซีรีส์ ก็น่าจะสามารถเล่าเรื่องทุกอย่าง โดยเฉพาะการเล่าเส้นเรื่องที่ละเอียดยุ่บยั่บของแฟรนไชส์นี้ได้ละเอียดและละเลียดมากกว่าที่ภาพยนตร์ความยาวเพียง 2 ชั่วโมงครึ่งจะทำได้

(คลิกอ่านต่อที่หน้า 2)

“อะวาดาเคดาฟรา” : เมื่อสัตว์วิเศษไม่อาจแผลงฤทธิ์สู้พ่อมดน้อย

Harry Potter

แม้แฟรนไชส์ ‘Harry Potter’ ทั้ง 8 ภาค อาจพบอุปสรรคบ้างในแง่ที่มีการเปลี่ยนมือผู้กำกับถึง 4 ครั้ง จนทำให้แฟนคลับบางส่วนรู้สึกถึงความไม่ปะติดปะต่อ และการตีความเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปตามวิสัยทัศน์ของผู้กำกับแต่ละคน รวมทั้งบทบาทศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจาก ‘ริชาร์ด แฮร์ริส’ (Richard Harris) ที่เสียชีวิตกะทันหัน เป็น ‘ไมเคิล แกมบอน’ (Michael Gambon) ทำให้การตีความบทบาทอาจารย์ใหญ่แห่งโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์ก็เปลี่ยนไป

รวมทั้งความคิดเห็นของผู้ชมแฟรนไชส์พ่อมดน้อยที่มีความแตกต่างกันออกไป บ้างก็ชื่นชอบ 2 ภาคแรกในฐานะที่ตัวภาพยนตร์ค่อนข้างเคารพเนื้อหาจากหนังสือต้นฉบับ ในขณะที่แฟนบางส่วนกลับชอบเรื่องราวที่เข้มข้น ซับซ้อน และเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในภาคท้าย ๆ ที่ทำให้แฟรนไชส์นี้มีพัฒนาการและเติบโตไปพร้อมกับวัยของตัวละคร และแฟนหนังที่ติดตามมาอย่างยาวนานตลอดระยะเวลา 10 ปีของแฟรนไชส์

Fantastic Beasts

แต่โดยรวมแล้ว ทุกภาคในแฟรนไชส์นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ ทั้ง 8 ภาคต่างได้รับคะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ไม่ต่ำกว่า 70% ทั้งสิ้น โดยภาคสุดท้าย ‘Harry Potter and the Deathly Hallows Part 2’ (2011) เป็นภาคที่ได้รับคะแนนสูงสุดที่ 96%

ในขณะที่แฟรนไชส์ ‘Fantastic Beasts’ เอง นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ภาคขยายที่ต้องรับไม้ต่อความสำเร็จจากแฟรนไชส์พ่อมดน้อยในช่วง 10 ปีหลัง และทำหน้าที่เป็น Prequel สานต่อเรื่องราวเกี่ยวกับโลกเวทมนตร์ยุคโบราณ ที่เกิดขึ้นก่อนยุคสมัยของแฮร์รี่ พอตเตอร์แล้ว

Harry Potter

แฟรนไชส์นี้ยังถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำหน้าที่เปิดจักรวาล Wizarding World อย่างเป็นทางการ ที่จะเป็นการปูทางไปสู่การสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ภาคขยาย (Spin-Off) เกี่ยวกับโลกเวทมนตร์ต่อไปในอนาคตภายภาคหน้าได้อีกด้วย ทำให้แฟรนไชส์ Fantastic Beasts กลายเป็นแฟรนไชส์ที่ถูกจับตามอง (และกดดัน) ทั้งจากนักวิจารณ์และคนดู โดยเฉพาะแฟน ๆ แฮรรี พอตเตอร์ทั่วโลกที่รอติดตามด้วยใจระทึก

แม้ใน ‘Fantastic Beasts and Where to Find Them’ (2016) ภาพยนตร์ภาคแรกของแฟรนไชส์ จะถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำวิจารณ์ อันเนื่องจากเรื่องราวการผจญภัยในการตามหาสัตว์วิเศษของ ‘นิวท์ สคามันเดอร์’ (Newt Scamander) ที่สนุกสนาน เซตติงโลกเวทมนตร์ยุคโบราณที่ทำออกมาได้น่าตื่นตาตื่นใจ และเชื่อมต่อเรื่องราวจากแฮร์รี พอตเตอร์ได้ดี จนทำให้ได้คะแนนวิจารณ์จากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ไปมากถึง 74% และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกจากโลกเวทมนตร์ที่คว้ารางวัลออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม จากเวทีออสการ์ ปี 2017 ไปครองอีกด้วย

Harry Potter

แต่ในภาคต่อ ๆ มา ทั้ง ‘Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald’ (2018) และภาคล่าสุด ‘Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore’ (2022) กลับประสบปัญหาในแง่ที่ตัวแกนเรื่องหลัก เริ่มถอยห่างจากการผจญภัยเกี่ยวกับสัตว์วิเศษ และมุ่งเน้นเรื่องราวความขัดแย้งและความสัมพันธ์ลับ ๆ ของ ‘อัลบัส ดัมเบิลดอร์’ (Albus Dumbledore) และ ‘เกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์’ (Gellert Grindelwald) เป็นหลัก รวมทั้งปัญหาเส้นเรื่องและตัวละครมากมายจนทำให้ตัวเรื่องโดยรวมออกมายุ่งเหยิงไปหมด ทำให้คะแนนวิจารณ์ใน 2 ภาคล่าสุดจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ได้คะแนนต่ำกว่า 50% ทั้งสองภาค และได้คะแนนต่ำที่สุดในจักรวาล Wizarding World

Fantastic Beasts

“ครูซิโอ!” : แฟรนไชส์สัตว์วิเศษ จะโดน “คาถากรีดแทง’ จนจบแค่ 3 ภาคหรือไม่ ?

ความล้มเหลวด้านรายได้และคำวิจารณ์ และปัญหาด้านโรคโควิด-19 ที่ยังคลุมเครือ และอีกหลาย ๆ ปัจจัย อาจส่งผลให้ Warner Bros. Pictures ที่กำลังเฝ้าดูรายได้ของแฟรนไชส์นี้แบบภาคต่อภาค อาจเลือกที่จะตัดสินใจหยุดพักแฟรนไชส์ไปก่อน หรือไม่ก็อาจใช้คาถากรีดแทง จบชีวิตแฟรนไชส์ลงที่ภาค 3 ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่หาก Warner Bros. ยังคงใจแข็ง เลือกที่จะสู้ชีวิตกันแฟรนไชส์นี้กันต่อ ก็อาจจะต้องไล่ถอนพิษคำสาปที่ค่ายกำลังเผชิญออกไปให้หมดก่อน

Spoiler Alert! : บทวิเคราะห์นี้มีการเปิดเผยเรื่องราวและบทสรุปของ ‘Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore‘ (2022) สามารถคลิกอ่านรีวิวเต็ม ๆ แบบไม่สปอยล์ได้ที่นี่

  1. บทสรุปในภาค 3 ที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง

Spoiler Alert! : แม้บทสรุปของตัวหนังในภาค 3 ที่ดำเนินมาถึงจุดกึ่งกลางเรื่องราวทั้งหมด จะยังคงมีปมบางอย่างที่ยังค้างคาและรอให้สะสางในภาคต่อ ๆ ไป เช่น ตัวของ ‘เกลเลิร์ต กรินเดลวัลด์’ (Gellert Grindelwald) ที่ฉวยโอกาสหนีไปได้อีกครั้ง การที่อัลบัส ดัมเบิลดอร์ สามารถทำลายสัญญาเลือดที่ทำระหว่างกันลงได้แล้ว (ตัดความสัมพันธ์-ตัดเงื่อนไขที่ทำให้ต่อสู้กันไม่ได้)

รวมทั้งการลดบทบาทบางตัวละคร เช่น ‘ครีเดนซ์ แบร์โบน’ (Credence Barebone) และ ‘ทีนา โกลสตีน’ (Tina Goldstein) ทำให้ในภาคนี้ ทั้งคู่ไม่มีความคืบหน้าในแง่ของบทบาทเอาซะเลย และการที่มักเกิล ‘เจคอบ โควาลสกี’ (Jacob Kowalski) กับแม่มด ‘ควีนนี โกลสตีน’ (Queenie Goldstein) ได้ลงเอยแต่งงานกันในตอนจบ รวมทั้งการคลายปมต่าง ๆ ที่ทิ้งไว้ใน 2 ภาคแรกไปพอสมควร ทำให้บทสรุปเรื่องราวในภาคนี้ ดูคล้ายจะเป็นบทสรุปของทั้งเรื่องอยู่กลาย ๆ หรือไม่อย่างไร

Fantastic Beasts
  1. บทบาท ‘ครีเดนซ์ แบร์โบน’ อาจถูกตัดหายไปหรือไม่ ?

Spoiler Alert! : แม้ ‘ครีเดนซ์ แบร์โบน’ (Credence Barebone) ที่เฉลยออกมาแล้วว่าเป็นลูกชายแท้ ๆ ของ ‘อัลเบอร์ฟอร์ธ ดัมเบิลดอร์’ (Aberforth Dumbledore) หลานลุงของอัลบัส ดัมเบิลดอร์ แต่ด้วยความที่ในภาค 3 ตัวของเขาเองก็ไม่ได้มีบทบาทเด่นชัดนัก เป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ถูกออบสคูรัส (Obscurus) เข้าสิง และแปรพักตร์ไปอยู่ข้างกรินเดลวัลด์เท่านั้นเอง

ประกอบกับเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ‘เอซรา มิลเลอร์’ (Ezra Miller) ผู้รับบทครีเดนซ์ ถูกตำรวจจับที่เกาะฮาวาย โทษฐานก่อเหตุทะเลาะวิวาทและสร้างความวุ่นวายในบาร์คาราโอเกะ ซึ่งทาง Warner Bros. ได้สั่งพักทุกโปรเจกต์ที่มิลเลอร์รับบท ทั้งใน ‘The Flash’ และ ‘Fantastic Beast’ ลง นั่นจึงมีความเป็นไปได้ที่บทบาทครีเดนซ์ (ที่แทบจะไม่ค่อยมีบทบาทในเรื่องอยู่แล้ว) อาจโดนปลดออกจากภาค 4 และ 5 กลางอากาศ (หรือไม่ คนเขียนบทก็อาจจะหาทางลงให้บทนี้หายไปอย่างมีเหตุผล) ก็เป็นไปได้เช่นกัน

Fantastic Beasts
  1. ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องเปลี่ยนมือคนเขียนบท

แม้แฟรนไชส์ Fantastic Beast จะมีจุดแข็งอยู่ที่ได้ทีมอันแข็งแกร่งจากแฟรนไชส์แฮร์รี พอตเตอร์ ตั้งแต่เจ้าของโครงเรื่องอย่าง ‘เจ.เค.โรว์ลิง’ (J.K.Rowling) ที่เข้ามารับหน้าที่เขียนบทด้วยตัวเอง และได้ ‘เดวิด เยตส์’ (David Yates) ผู้กำกับจากทั้งสองภาคแรก (และผู้กำกับจากภาพยนตร์แฮร์รี พอตเตอร์ ภาค 4-7.2) มารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ทั้ง 3 ภาค

แต่อย่างที่ทราบกันว่า ปัญหาที่แท้จริงกลับอยู่ที่ตัวบทที่ ‘เจ.เค.โรว์ลิง’ (J.K.Rowling) เขียนนั้น ก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังขึ้นกับตัวหนังทั้ง 3 ภาค ตั้งแต่การใช้กลวิธีการเขียนวรรณกรรมมาเขียนบท ทำให้ตัวหนังมีเส้นเรื่องและเรื่องราวที่ไม่จำเป็นอยู่มาก การหลุดจากโฟกัสเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์วิเศษ การเพิ่ม Easter Egg จากแฮร์รี พอตเตอร์เข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก (ที่แฟน ๆ ชอบ แต่มักเกิลบางคนอาจงง) ทำให้ตัวเรื่อง 2 ภาคแรกได้รับเสียงวิจารณ์ในทางลบค่อนข้างมาก

แม้ในภาคนี้ จะได้ ‘สตีฟ โคลฟส์’ (Steve Kloves) ผู้เขียนบทแฮร์รี พอตเตอร์ทั้ง 7 ภาค มาช่วยปรับทรงให้เข้าที่เข้าทางและดูสนุกมากขึ้นกว่าสองภาคแรก แต่ตัวบทในภาคนี้ก็ยังคงมีปัญหาเรื้อรังอยู่ หากทีมสร้างยังคงตั้งใจเข็นภาค 4-5 ออกมา อาจต้องใช้วิธีให้เจ.เค.โรว์ลิง เขียนเรื่องราวเป็นโครงคร่าว ๆ และให้นักเขียนบทมืออาชีพเข้ามาจัดการเขียนบทที่ ‘Based on original Story & Charactors’ (สร้างจากบทประพันธ์และตัวละครดั้งเดิม) แทนไปเลยอาจจะเข้าท่ากว่า

Fantastic Beasts
  1. หรือเรื่องราวของ ‘Fantastic Beast’ อาจติดกระดุมผิดมาตั้งแต่แรก ?

แม้เรื่องราวหลัก ๆ ของ ‘Fantastic Beast’ จะว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับตำนานสัตว์วิเศษ และนักสัตว์วิเศษวิทยานามว่า ‘นิวท์ สคามันเดอร์’ (Newt Scamander) ที่ออกตามหาสัตว์วิเศษ และเขียนคู่มือสัตว์วิเศษวิทยาที่ภายหลังถูกนำมาใช้เป็นตำราสอนนักเรียนในโรงเรียนเวทมนตร์ฮอกวอตส์

แต่เห็นได้ชัดว่า โฟกัสของเรื่องกลับเริ่มเปลี่ยนเส้นทาง และมุ่งตรงมาที่การเล่าเรื่องเกี่ยวกับการยึดครองโลกเวทมนตร์ และประกาศสงครามกับมักเกิลของกรินเดลวัลด์ (และความสัมพันธ์ลับ ๆ กับดัมเบิลดอร์) แทน แม้ตัวเรื่องจะใหญ่มากเพียงพอที่จะรองรับการเล่าเรื่องในระดับมหากาพย์ และลากเรื่องราวไปจนครบ 5 ภาคได้ แต่นั่นก็อาจทำให้แฟน ๆ ที่คิดถึงความสนุกแบบเรียบง่ายในภาคแรก อาจรู้สึกเสียดายเรื่องราวที่ถูกหลงลืมไป และเสียดายตัวละครหลักอย่างนิวต์ ที่ตอนนี้แทบจะกลายเป็นตัวละครสมทบไปแล้ว

นั่นจึงเป็นจุดสังเกตที่นักวิจารณ์และแฟนหนัง (ทั้งพอตเตอร์เฮดและมักเกิล) ต่างลงความเห็นว่า ตัวหนังที่ดำเนินมาถึงภาค 3 ที่เน้นเล่าเรื่องการทำสงครามการปกป้องโลกเวทมนต์จากการยึดครองของกรินเดลวัลด์ อาจเป็นกระดุมที่ติดผิดจุดมาตั้งแต่แรก จนไม่สามารถย้อนกลับไปเล่าเรื่องสัตว์วิเศษสุดน่ารัก ในแบบที่แฟนคลับอยากจะให้เป็นได้อีกต่อไป


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง


เชิงอรรถ (อธิบายคาถาที่ใช้เป็นหัวเรื่อง)

‘Expecto Patronum’ (เอ็กซ์เปกโต พาโตรนุม) – คาถาผู้พิทักษ์ เรียกผู้พิทักษ์มาคุ้มครองแก้ผู้ร่ายคาถา
‘Wingadium Leviosa’ (วิงการ์เดียม เลวีโอซา) – คาถาเสกให้วัตถุลอยขึ้น
‘Avada Kedavra’ (อะวาดา เคดาฟรา) – คาถาทำให้ผู้ต้องสาปตายโดยไร้ความเจ็บปวด
‘Crucio’ (ครูซิโอ) – คาถากรีดแทง สร้างความเจ็บปวดทรมานแก่ผู้ต้องคำสาป


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส