[รีวิว] Doctor Strange in the Multiverse of Madness – หมอแปลกฉบับคัลต์ กับมัลติเวิร์สสุดบ้าคลั่ง
Our score
7.6

Release Date

04/05/2022

แนว

ซูเปอร์ฮีโร / แอ็กชัน / ผจญภัย / สยองขวัญ

ความยาว

2.06 ชม. (126 นาที)

เรตผู้ชม

PG-13

ผู้กำกับ

แซม ไรมี (Sam Raimi)

[รีวิว] Doctor Strange in the Multiverse of Madness – หมอแปลกฉบับคัลต์ กับมัลติเวิร์สสุดบ้าคลั่ง
Our score
7.6

Doctor Strange in the Multiverse of Madness | จอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย

จุดเด่น

  1. เนื้อเรื่องผสมความสยองขวัญและความคัลต์ในแบบของแซม ไรมีได้แปลกใหม่และน่าสนใจ
  2. งานซีจียังคงตระการตาเหมือนภาคแรก แต่แตกต่างด้วยความสดใหม่
  3. นักแสดงเล่นกันได้ดีทุกคน แต่ยกให้ 'อลิซาเบธ โอลเซน' เป็น MVP
  4. 'โซชิตล์ โกเมซ' ในบท 'อเมริกา ชาเวส' ขึ้นกล้องมาก สวยยยยย มีอนาคตใน MCU แน่นอน

จุดสังเกต

  1. เดินเรื่องเป็นเส้นตรง เนื้อเรื่องไ่มได้ซับซ้อนมาก
  2. การกระทำ แรงจูงใจตัวละครบางตัวยังดูไม่เมกเซนส์
  3. แอบเสียดายเซอร์ไพรส์ รู้สึกว่าเสียของไปหน่อย
  • ความสมบูรณ์ของเนื้อหา

    7.7

  • คุณภาพงานสร้าง

    7.8

  • คุณภาพของบท / เนื้อเรื่อง

    6.7

  • การตัดต่อ / การลำดับ และการดำเนินเรื่อง

    7.9

  • ความคุ้มค่าเวลาในการรับชม

    7.8

สนับสนุนข้อมูลโดย Major Cineplex

หลังจากที่ Marvel Studios ได้พาเราไปท่องเที่ยวตามแนวคิดพหุจักรวาล (Multiverse) หรือที่เรียกว่ามัลติเวิร์ส ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์หลักของ MCU (Marvel Cinematic Universe) เฟสที่ 4 ในตอนนี้ สถานการณ์เริ่มทวีความวุ่นวายโกลาหลและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้เอง หมอแปลกจึงต้องขอกลับมาร่ายมนต์เพื่อแก้ไขความผิดพลาดเหล่านั้นใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ หรือ ‘จอมเวทย์มหากาฬ ในมัลติเวิร์สมหาภัย’

อย่างที่ทราบว่า หมอแปลกที่กลายมาเป็นจอมเวทใน ‘Doctor Strange’ (2016) และไปโผล่ในฐานะสมาชิกอเวนเจอร์ส (Avengers) ในภาพยนตร์หลายเรื่อง มาถึงตอนนี้ หนังเดี่ยวภาคที่ 2 ของหมอแปลกก็มาถึงเสียที พร้อม ๆ กับการจับธีมมัลติเวิร์สมาเล่ากันแบบเต็ม ๆ โดยไม่ต้องเล่าปูพื้นอะไรให้วุ่นวาย บวกกับธีมหนังสยองขวัญที่มาพร้อมกับเรื่องราวของตัวแปรของหมอแปลก และตัวละครอื่น ๆ ที่มาจากมิติเดียวกัน และจากต่างมิติ

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

นั่นก็เลยเป็นเหตุให้ทาง Marvel Studios เรียกใช้ทีมงานที่ถือว่า “โดนเส้น” อย่างแรง ทั้ง ‘แซม ไรมี’ (Sam Raimi) ที่เคยกำกับทั้งภาพยนตร์สยองขวัญ ทั้งไตรภาค ‘Evil Dead’, ‘Drag Me to Hell’ (2009) และกำกับหนังฮีโรไตรภาค ‘Spider-Man’ เวอร์ชัน ‘โทบีย์ แมกไกวร์’ (Tobey Maguire) มากำกับหนังเรื่องนี้ แถมได้ ‘ไมเคิล วอลดรอน’ (Michael Waldron) ผู้เขียนบท ‘Loki’ ที่ผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับมัลติเวิร์สมาก่อน มาเขียนบทให้อีกด้วย ไม่เรียกว่าโดนเส้นก็ไม่รู้ว่าจะเรียกยังไงแล้วล่ะ

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

จา่กเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงของหมอแปลก หลังกลายเป็นจอมเวทใน ‘Doctor Strange’ (2016) และหลังเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความผิดพลาดต่อมัลติเวิร์สใน ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) ในภาคนี้ หมอแปลกจึงต้องกลับไปแก้ไขเรื่องราวต่าง ๆ นานาที่ส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อมัลติเวิร์ส เมื่อคุณหมอแปลก ‘ดร. สตีเฟน สเตรนจ์ / ดอกเตอร์สเตรนจ์’ (Benedict Cumberbatch) ต้องทรมานจากชีวิตรัก เมื่อ ‘คริสติน พาลเมอร์’ (Rachel McAdams) กำลังจะแต่งงานใหม่กับใครบางคนที่ไม่ใช่เขา

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

แถมยังต้องทรมานซ้ำสองจากฝันร้าย ในฝันเขาได้เข้าช่วยเหลือ ‘อเมริกา ชาเวซ’ (Xochitl Gomez) สาวน้อยผู้มีพลังในการทะลุผ่านมัลติเวิร์ส ที่กำลังถูกปีศาจจากต่างมิติไล่ดูดพลัง หมอแปลกพบว่า แท้ที่จริงแล้วทั้งหมดเป็นแผนของ ‘วันด้า แมกซิมอฟฟ์ / สการ์เลต วิตช์’ (Elizabeth Olsen) ที่ต้องการดูดพลังของอเมริกา ชาเวซ เพื่อใช้เดินทางไปพบกับลูกแฝดของเธอ (ที่เธอเชื่อว่ามีอยู่) ในอีกมิติ

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

ทำให้ดอกเตอร์สเตรนจ์และอเมริกา ชาเวซ ทะลุไปยังลอนดอนที่อยู่ในมิติอื่น จนได้เจอกับตัวแปรของ ‘คาร์ล มอร์โด’ (Chiwetel Ejiofor) อดีตเพื่อนร่วมสำนักคาร์มาทาจ (Kamar-Taj) ที่ไม่น่าไว้วางใจ และตัวแปรของ ‘คริสติน พาลเมอร์’ ที่ทำให้หมอแปลกหวั่นไหว ส่วน ‘หว่อง’ (Benedict Wong) จอมเวทสูงสุด ก็ต้องรับหน้าที่ปราบแม่มดสการ์เลต วิตช์ ที่ตอนนี้สามารถร่ายมนต์เพื่อสร้างความปั่นป่วนได้ในระดับมัลติเวิร์ส เพราะเธอได้ครอบครองคัมภีร์ดาร์กโฮลด์ (Darkhold) คัมภีร์เวทมนตร์ด้านมืดที่มีความอันตรายอย่างมาก

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

ถ้า ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) และแอนิเมชันซีรีส์ ‘What If…?’ (2021) เปรียบเหมือนการซ้อมรับมือกับมัลติเวิร์ส ใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ ก็คือการลงสนามจริงแบบเต็มตัวล่ะครับ แถมยังเป็นการมาแบบเล่นใหญ่กันตั้งแต่เปิดเรื่องกันเลย เดินเรื่องแบบสายลุยไม่ต้องคุยให้เสียเวลา รวมทั้งสไตล์การกำกับจากไรมีที่ทำให้การดำเนินเรื่องในภาคนี้มีรสชาติที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปจากภาคแรกอยู่มากพอสมควร

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

ความแตกต่างที่ชัดเจนมาก ๆ ก็คือ การที่ Marvel Studios เองเริ่มจะเอานโยบายเดินเรื่องยาว ไม่เล่าปูมหลังย้อนความให้เสียเวลา ผลก็คือ ตัวหนังสามารถกระชับเรื่องราวและเล่าแบบเร็ว ๆ ได้เลย ด้วยเหตุนี้ ก็เลยทำให้หนังเรื่องนี้เดินเรื่องเร็วมาก แต่ข้อเสียก็คือ หนังเรื่องนี้อาจไม่เหมาะกับคนที่ยังไม่ได้ทำการบ้านด้วยการดูเรื่องอื่น ๆ หรืออ่านคอมิกมาก่อน หรือแค่อยากลองชิมลางหนัง Marvel เฉย ๆ เพราะอาจมีเหวอจนตามไม่ทันว่า ตัวละครแต่ละตัวมีปูมหลัง เชื่อมโยงกันยังไง อะไรที่เราควรจะรู้สึกเซอร์ไพรส์ ถ้าอยากดูจริง ๆ อย่างน้อยก็ต้องทำการบ้านมาในระดับหนึ่ง (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ท้ายบทความครับ)

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

รวมทั้งการเอาแซม ไรมี ผู้กำกับที่พอจะมีลายเซ็นชัด ทั้งจังหวะสยองขวัญ มุกกวน ๆ มุมกล้อง การตัดต่อ การวางองค์ประกอบภาพแบบที่แฟนหนังคุ้นเคย นำเสนอด้วยกลิ่นอายหนังสยองขวัญคลาสสิกที่ได้อิทธิพลมาจากผลงานเก่า ๆ ของเขาเอง ทั้งไตรภาค ‘Evil Dead’, ‘Drag Me to Hell’ (2009) บวกกลิ่นแฟนตาซีแบบ ‘Oz the Great and Powerful’ (2013) นิดหน่อย ผสมความกวนแบบไตรภาค ‘Spider-Man’ ทำให้โทนโดยรวมมีความเป็นหนังสยองขวัญแบบแซม ไรมี ที่มีความฮา เพี้ยน ระห่ำ (และฉากสยอง) แบบชนเพดานเรต PG-13 มากกว่าจะเป็นหนัง Marvel คลีน ๆ ดูได้ทั้งครอบครัวในแบบที่เราคุ้นเคย

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

ด้วยส่วนผสมทั้งหมดที่ว่ามา ทำให้ผู้เขียนรู้สึกได้ว่า ถ้าในอดีต ‘Evil Dead’ เคยถูกจัดเป็นหนังคัลต์ (Cult) ยังไง หนังเรื่องนี้ก็คือการหยิบเอาวิธีการแบบหนังคัลต์คลาสสิกมาใช้นั่นแหละ รวมทั้งพล็อต การดำเนินเรื่อง แรงจูงใจของตัวละครที่มีความคัลต์อยู่ในตัว ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังฮีโร Marvel ที่แตกต่างด้วยกลิ่นอายของหนังสยองขวัญ และมีความเป็นหนังคัลต์ที่มีครบทั้งความบ้าคลั่ง เพี้ยน กวนเบื้องล่าง แบบที่แฟนหนังแซม ไรมี จะกรี๊ดแน่นอน คือคงสู้หนังสยองขวัญจริง ๆ ไม่ได้หรอก แต่วิธีการนี้ก็ถือว่าโดนเส้น และไปด้วยกันกับเรื่องราวของหมอแปลกแห่ง Marvel ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

การดำเนินเรื่อง แม้ตัวหนังจะพยายามบิลต์ว่าเป็นการเล่าเรื่องเกี่ยวกับมัลติเวิร์สแบบเต็มตัวตามชื่อภาค แต่ผู้เขียนก็แอบรู้สึกว่าการนำเสนอเกี่ยวกับมัลติเวิร์สก็ยังดูกั๊ก ๆ ไปหน่อยนะ ส่วนตัวบท ก็ถือว่าเข้าใจง่าย เป็นเส้นตรง และเป็นสูตรสำเร็จอยู่พอสมควร ยังดีที่ตัวหนังเองยังมีเซอร์ไพรส์ และวิธีการดำเนินเรื่องแบบคัลต์ ๆ สยองขวัญที่มีความดาร์ก บ้า ฮา สยองมาช่วย ทำให้ตัวหนังที่ดูจะเดาง่าย และมีการกระทำบางอย่างของตัวละครที่ดูไม่เมกเซนส์ ยังมีความน่าสนใจอยู่ รวมถึงงานซีจีที่มีกลิ่นอายจากภาคที่แล้ว แต่เพิ่มเติมความแปลกใหม่เข้าไปโดยเฉพาะฉากทะลุมัลติเวิร์ส และฉากร่ายมนต์ที่ตื่นตาและดีงามมาก ๆ

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

อีกจุดที่ผู้เขียนรู้สึกชอบก็คือ การที่บทพยายามสอดแทรกแก่นเกี่ยวกับชีวิตของคนที่อยู่ต่างมิติ ต่างจักรวาล ซึ่งถือเป็น Conflict หลัก ๆ ของเรื่องเลย อย่างเช่นว่า บางครั้งตัวเราแม้อยู่ต่างมิติ ชีวิต ความคิด ความผิดพลาดก็อาจจะไม่ได้ต่างกันออกไป หรือบางครั้งชีวิตในอีกมิติของเราก็อาจจะไม่ได้ดีเด่กว่าตัวตนของเราที่อยู่ในปัจจุบันเท่าไหร่ หรือแม้แต่มุมมองของคนจากต่างมิติ ที่แม้ว่าจะเป็นคนคนเดียวกัน แต่ถ้าอยู่ในต่างมิติ ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีความรู้สึกนึกคิดแบบเดียวกัน ซึ่งตรงนี้บทสามารถแทรกเรื่องราวและเป็นบทสรุปของเรื่องได้โอเคเลย

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

ในแง่ของการแสดง โดยเฉพาะนักแสดงหลัก ถือว่าอวยยศได้ทั้งทีมแบบไม่ขัดเขินเลยครับ ไล่ตั้งแต่ ‘เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์’ (Benedict Cumberbatch) ที่ยังคงเป็นหมอแปลกได้หล่อเท่ มีความกวน รวมทั้งสามารถรับบทตัวแปรแบบต่าง ๆ ได้อย่างน่าทึ่งมาก คือเล่นได้แตกต่างกันแบบสุดขั้วจนแทบจะลืมไปว่าพี่เบนเขาเล่นเองนะเนี่ย รวมทั้ง ‘เบเนดิกต์ หว่อง’ (Benedict Wong) จอมเวทสูงสุดในภาคนี้ก็เท่และเก่งขึ้นเยอะมาก ๆ ส่วนน้อง ‘โซชิตล์ โกเมซ’ (Xochitl Gomez) ที่รับบทอเมริกา ชาเวซ ก็น่ารักมาก ๆ ขึ้นกล้องสุด ๆ มีบทบาทในหนังเยอะด้วย บอกเลยว่า มีอนาคตใน MCU ต่อไปในภายภาคหน้าแน่นอน (ต่อให้น้องจะโดนแบนหรือโดนด่าก็เถอะ)

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือวายร้ายหลักอย่างสกาเลต วิตช์ ที่รับบทโดย ‘อลิซาเบธ โอลเซน’ (Elizabeth Olsen) คือ MVP ของหนังเรื่องนี้เลยครับ เพราะบทบาทวันด้า แมกซิมอฟฟ์ ถือว่าเป็นบทที่มีความซับซ้อนอยู่พอตัวเลยแหละ เป็นแม่ที่รักลูกมาก ๆ จนพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่กับลูก แม้ว่ามันจะเป็นภัยร้ายต่อมัลติเวิร์สก็ตาม ซึ่งคุณเค้าสามารถรับบทนี้ได้อย่างเข้าถึง สานต่อและเติมเต็มเรื่องราวจากซีรีส์ ‘WandaVision’ (2021) ได้ดีมาก ๆ ชนิดที่ว่าจะรู้สึกโกรธ สกาเลต วิตช์ และเห็นใจ วันด้า แมกซิมอฟฟ์ ไปพร้อมกันได้ในเวลาเดียวเลยแหละ

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

โดยสรุป แม้ ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ อาจจะไม่ได้ Epic ฮือฮาน้ำตาไหล เซอร์ไพรส์จนร้องว้าวได้เท่ากับ ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) และความคัลต์สยองขวัญของหนังเรื่องนี้ อาจไม่โดนเส้น ไม่ถูกจริตสำหรับบางคน แต่ก็ยังถือว่าเป็นหนังที่สามารถร่ายมนต์ เปิดประตูสู่มัลติเวิร์สด้วยวิธีการและรสชาติใหม่ ๆ ที่ได้ทั้งเรื่องราวแบบฮีโร และจริตความคัลต์ที่เต็มไปด้วยความบ้าคลั่ง โหดสยอง และกวนเบื้องล่างตามแบบฉบับของ แซม ไรมี ที่น่าจะทำให้แฟน ๆ MCU โดนเส้นไปกับความบ้าคลั่งนี้ได้อย่างไม่ยากเย็นครับ


Doctor Strange in the Multiverse of Madness

หมายเหตุ – สวัสดีครับ ผู้เขียนจาก Earth-4563 นะครับ เป็นตัวแปรของอีตาคนเขียนรีวิวบนเว็บไซต์ beartai ที่อยู่ใน Earth-616 นี้อีกที พอดีว่าอีตาคนเขียนแกจะเขียนรีวิวหนังหมอแปลกพอดี เลยชวนผมมาให้หมายเหตุ ก็ไม่รู้ว่าทำไมไม่ยอมเขียนเอง แต่ก็…เขียนให้ก็ได้ เพราะที่ Earth-4563 เขาดูจนสปอยล์ให้เกลื่อนไปหมดแล้ว!

Doctor Strange in the Multiverse of Madness

หมายเหตุ 1 – ภาพยนตร์ที่ผู้เขียนจาก Earth-4563 ขอแนะนำให้ชาว Earth-616 ทำการบ้านก่อนดู ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’

  • ‘Doctor Strange’ (2016) อันนี้ยังไงก็ต้องดูอ่ะครับ เพื่อปูเรื่องราวและแรงจูงใจของหมอแปลก ที่มาของการเป็นจอมเวทย์ รวมทั้งเข้าใจนิสัย และเรื่องราวภายในใจของหมอแปลก ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเรื่องในหนังด้วย
  • ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่หมอแปลกทำกับมัลติเวิร์ส แม้เนื้อหาจะไม่ได้ต่อกันโดยตรง แต่เราจะได้เห็นว่า การร่ายมนต์ของหมอแปลกนั้นทำให้มัลติเวิร์สปั่นป่วนได้อย่างไรบ้าง
  • WandaVision (2021) ซีรีส์เรื่องนี้ก็ต้องดูครับ เพราะในหนัง จะเป็นผลของเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ วันด้า แมกซิมอฟฟ์โดยตรงเลย รวมทั้งที่มาของการที่เธอกลายเป็นแม่มดสการ์เลต วิตช์ การใช้คัมภีร์ดาร์กโฮลด์ และทำความรู้จักกับลูกแฝดของเธออีกด้วยนะ
  • ‘What If…?’ (2021) เแอนิเมชันซีรีส์ที่อาจจะไม่ถึงกับต้องดูหมดก็ได้ แต่ดูแล้วจะพอเข้าใจคอนเซปต์ของมัลติเวิร์สอย่างชัดเจน และรวมถึงเรื่องราวของหมอแปลก และตัวละครบางตัวที่อาจจะต้องรู้จักไว้ก่อนด้วย
  • ‘Loki’ (2021) เรื่องนี้แม้จะเกี่ยวกับโลกิ แต่การมีหน่วย TVA และแคงผู้พิชิต (Kang the Conqueror) และการแตกแขนงของเส้นเวลา จะทำให้เราเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น อ่ะ อย่างน้อย ดูถึงฉากที่มิสมินิต (Miss Minutes) อธิบายเรื่องการแตกแขนงเส้นเวลาให้โลกิฟังก็ยังดี
  • ‘Avengers: Age of Ultron’ (2015) เอาไว้ย้อนดู วันด้า แมกซิมอฟฟ์ตอนเปิดตัว ดูก็ได้ ไม่ดูก็ไม่เป็นไร
  • ‘Avengers: Infinity War’ (2018) และ ‘Avengers: End Game’ (2019) ย้อนดูการต่อสู้ของหมอแปลกในสงคราม Infinity Wars เพราะในหนังมีการพูดถึงอยู่เหมือนกัน จะไม่ดูก็ได้ แต่ดูแล้วจะเห็นภาพชัดมาก
  • หนังของ ‘แซม ไรมี’ อันนี้ดูหรือไม่ดูก็ได้ครับ แต่ดูแล้วก็จะดี จะได้เข้าใจลายเซ็นของเขาแบบชัด ๆ ถ้าเอาแบบเห็นภาพชัด ๆ แนะนำว่าดูไตรภาค ‘Evil Dead’ หรือไตรภาค ‘Spider-Man’ ก็ได้ครับ

หมายเหตุ 2 – มี End Credits 2 ตัวนะครับ โดยเฉพาะตัวที่ 2 นี่ต้องรอดูเลยนะครับ ย้ำว่าต้องรอดูห้ามกะพริบตาเด็ดขาดเลยนะครับ อิอิ

หมายเหตุ 3 – ในหนัง เราจะได้เห็นน้องอเมริกา ชาเวซ และปูมหลังของเธอที่ดัดแปลงมาจากคอมิกด้วย สามารถอ่านสรุปเรื่องราวของเธอได้ที่บทความนี้เลยครับ รู้จักกับ ‘อเมริกา ชาเวซ’ ฮีโรเลสเบียนคนแรกของ MCU ใน ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’

หมายเหตุ 4 – เซอร์ไพรส์ในหนังก็เจ๋งดีอยู่นะครับ แต่แอบเสียของไปหน่อย


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส