Predator Prey

รวม Easter Eggs จากแฟรนไชส์ ‘Predator’ ในภาพยนตร์ ‘Prey’ (และอันที่ไม่ได้ใช้)

ความน่าสนใจ น่าติดตาม และของภาพยนตร์ ‘Prey’ นอกจากความสนุกจากเรื่องราวของ ‘นารู’ (Naru) หญิงสาวแห่งโคแมนชี (Comanche) ชนเผ่าพื้นเมืองของอเมริกาในศตวรรษที่ 17 ที่มีอาวุธเพียงแค่มีด ธนู หอก ขวาน และจิตใจแห่งความเป็นนักล่า ที่ต้องรับมือกับภัยคุกคามจากนอกโลกอย่างพรีเดเตอร์ สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเผ่าพันธ์ุ ‘ยวตจา’ (ํYautja) ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและอาวุธล้ำสมัยแล้ว

อีกความน่าสนใจ ก็คงหนีไม่พ้นการที่ตัวมันเองเป็นหนังภาพยนตร์พรีเควล (Prequel) จากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ไซไฟแอ็กชัน ‘พรีเดเตอร์’ (Predator) ที่อิงมาจากตำนานของเหล่ายวตจาที่ถูกเล่าขานว่า พวกมันเคยมาเยือนโลกตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตกาลแล้ว ทำให้ตัวเนื้อเรื่องตามไทม์ไลน์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการบุกของพรีเดเตอร์กลางป่าในภาพยนตร์ ‘Predator’ (1987) ที่นำแสดงโดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) มากถึง 300 ปี

Predator Prey
‘Prey’ (2022)

ด้วยความสำเร็จของภาคแรก จึงทำให้มีการสร้างภาพยนตร์ภาคอื่น ๆ ต่อมาอีกหลายภาค และ ‘Prey’ ก็ได้เลือกที่จะใช้ความคุ้นเคยจากแฟรนไชส์พรีเดเตอร์ ด้วยการหยิบเอา Easter Egg หรือจุดสังเกตจากหนังภาคก่อน ๆ เอามาผสานกับเรื่องราวจากโลกยุคโบราณได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญคือ ไม่หลุดโทนจากการเล่าเรื่องและยุคสมัย ทำให้หนังเรื่องนี้นอกจากจะผสานเรื่องราวที่ดูง่ายสำหรับทุกคนแล้ว ก็ยังมี Easter Egg ที่ชวนให้แฟน ๆ ได้ร้องอ๋อและกรี๊ดกันอย่างไม่ขัดเขิน


SPOILER ALERT! – เนื้อหาในบทความนี้ มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ ‘Prey’ (2022) และอาจมีการเปิดเผยเรื่องราวภาพยนตร์จากแฟรนไชส์พรีเดเตอร์ ได้แก่ ‘Predator’ (1987), ‘Predator 2’ (1990), ‘Predators’ (2010), ‘The Predator’ (2018), ‘Alien vs. Predator’ (2004) และ ‘Aliens vs. Predator: Requiem’ (2007)


รูปลักษณ์ของพรีเดเตอร์

Predator Prey

แม้รูปร่างของพรีเดเตอร์จะปรากฏแบบเต็ม ๆ ก็ปาเข้าไปกลาง ๆ เรื่องแล้ว (เพราะตอนแรกมักจะปรากฏตัวในโหมดล่องหนเสียเป็นส่วนใหญ่) แต่ถ้าสังเกตดูดี ๆ จะพบว่า แม้ภาพลักษณ์ของพรีเดเตอร์ในเรื่องนี้จะยังคงมีความคล้ายคลึงพรีเดเตอร์ภาคภาคก่อน ๆ ทั้งใน ‘Predator’ (1987) และ ‘Predator 2’ (1990) แต่ก็มีการปรับแปลงในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะความดุดันและว่องไวที่มากขึ้น

แดน แทชแทนเบิร์ก (Dan Trachtenberg) ผู้กำกับภาพยนตร์ได้เปิดเผยเกี่ยวกับดีไซน์และการออกแบบของพรีเดเตอร์ใน Prey ว่า “สำหรับเวอร์ชันนี้ ผมอยากทำให้พรีเดเตอร์เป็นเวอร์ชันที่มีความดุมากขึ้น ดูมีความเป็นสัตว์ที่ดุร้ายกว่าเวอร์ชันที่เคยเห็นมาก่อน มันฉลาดและมีเทคโนโลยีทันสมัยจนยากที่จะมีคนมาเอาชนะมันได้”

“แต่ด้วยความที่หนังนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อนในอดีต เทคโนโลยีพวกนั้นเลยต้องทำให้มีความรู้สึกเก่ากว่าสิ่งที่เราเคยเห็นกัน แต่ก็ยังคงล้ำสมัยกว่าสิ่งที่เราคิดว่ามนุษย์จะรับมือมันได้ ผมอยากให้พรีเดเตอร์เวอร์ชันนี้มีส่วนหัวที่ได้สัดส่วนกับร่างกายมากขึ้น มีความเพรียวมากขึ้น และมีเกราะน้อยชิ้นกว่าเวอร์ชันก่อน ๆ มีความเป็นสัตว์ประหลาดที่ตัวใหญ่และดุร้าย”


พรีเดเตอร์อาบเลือด

Predator Prey

นารูพบกับพรีเดเตอร์ (แสดงโดย เดน ดิลิเอโกร (Dane DiLiegro)) ตัวเป็น ๆ ครั้งแรกตอนที่เธอหนีการไล่ล่าของหมีกรีซลีตัวใหญ่ที่กำลังกินกวางอยู่ริมแม่น้ำ ‘นารู’ (นำแสดงโดย แอมเบอร์ มิดธันเดอร์ (Amber Midthunder)) และสุนัขของเธอที่ชื่อว่า ซารี (Sari) แอบซุ่มอยู่ไม่ไกล นารูจึงตัดสินใจใช้ธนูยิงหมี แต่สายธนูกลับขาด ทำให้หมีกลับพบเห็นเธอเข้า นารูจึงต้องวิ่งหนีหมีเข้าไปแอบซ่อนในกองซากไม้ซึ่งเป็นรังของตัวบีเวอร์ใกล้ ๆ บึงน้ำ

แต่กลายเป็นว่า หมีตัวยักษ์นั้นกลับโดนพรีเดเตอร์ (โหมดล่องหน) บุกเข้ามาฆ่าหมีด้วยมือเปล่า และแบกยกขึ้นเหนือหัว ในขณะที่เลือดของหมีกำลังไหลอาบทั่วร่างกาย ทำให้นารูได้มีโอกาสเห็นร่างของพรีเดเตอร์ที่ปรากฏตัวขึ้นมาเป็นครั้งแรก ฉากนี้สามารถอ้างอิงไปถึงฉากที่พรีเดเตอร์ปรากฏตัวอย่างน่าสยดสยองเป็นครั้งแรก หลังจากที่มันถูกเลือดมนุษย์อาบร่างใน ‘The Predator’ (2018)


ว่ายหนีตายลงน้ำตก

Predator Prey

หลังจากที่นารูได้พบพรีเดเตอร์ที่กำลังสังหารหมีกรีซลี นารูจึงกระโดดลงไปยังแม่น้ำเพื่อว่ายน้ำหลบหนี แต่แล้วพรีเดเตอร์ก็สแกนพบคลื่นความร้อนของเธอจนได้ เธอพยายามว่ายตามกระแสน้ำไปยังลำธารที่เป็นน้ำตกก่อนจะขึ้นฝั่งได้สำเร็จ ซึ่งฉากน้ำตกนี้ สามารถอ้างอิงถึงฉากที่ผู้พันดัตช์หลบหนีด้วยการกระโดดลงไปในน้ำตก ที่ปรากฏครั้งแรกใน ‘Predator’ (1987) และฉากที่ตัวละครหลัก ๆ กระโดดหนีลงน้ำตกอีกครั้งใน ‘Predators’ (2010)


พรางตัวด้วยโคลน

Predator Prey

ในฉากหนึ่ง นารูที่กำลังตามล่าหาพรีเดเตอร์ในป่า ได้เดินพลัดหลงเข้าไปในพื้นที่ปกคลุมด้วยหญ้า แต่กลับกลายเป็นว่าใต้พื้นหญ้านั้นมีบึงโคลนอยู่ เธอเกือบโดนบึงโคลนดูดจนเกือบจมน้ำ จึงได้ใช้ขวานที่ผูกเชือกโยนเข้ากับซากไม้เพื่อดึงตัวเองออกมา

ซึ่งฉากนี้สามารถอ้างอิงไปถึงฉากของ ‘พันตรีอลัน “ดัตช์” เชฟเฟอร์’ (Alan “Dutch” Schaefer) ใน ‘Predator’ (1987) ที่ว่ายน้ำหนีออกมาจากน้ำตก ตัวของเขาเต็มไปด้วยโคลน ก่อนที่จะขึ้นฝั่งมาหลบอยู่ที่ซากต้นไม้ แต่พรีเดเตอร์กลับมองไม่เห็นเขา ดัตช์จึงได้ค้นพบว่า โคลนที่มีความเย็น สามารถใช้ปกปิดร่างกายเพื่อพรางตัวจากตัวตรวจจับคลื่นความร้อนของพรีเดเตอร์ได้


รอยกรีดของทาเบ

Predator Prey

ในภาพยนตร์ ‘Prey’ ขณะที่นารูกำลังหลบหนีการตามไล่ล่าของผู้รุกรานชาวยุโรป (ที่โดนพรีเดเตอร์ไล่ล่าอีกที) เธอพบว่า ผู้รุกรานได้จับตัว ‘ทาเบ’ (Taabe) (นำแสดงโดย ดาโกตา บีเวอร์ส (Dakota Beavers)) พี่ชายของเธอเอาไว้ พวกเขาบังคับให้เธอพูดทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอรู้เกี่ยวกับพรีเดเตอร์ เธอปฏิเสธ ผู้รุกรานจึงได้ใช้มีดกรีดที่หน้าอกของทาเบตามแนวทแยงจนเกิดบาดแผล

แฟน ๆ พรีเดเตอร์ที่เห็นการกรีดนี้ น่าจะจำได้ว่า ใน ‘Predator’ (1987) ก็มีการกรีดในรูปแบบเดียวกัน โดยตัวละครอย่าง ‘บิลลี’ (Billy) (นำแสดงโดย ซันนี แลนดัม (Sonny Landham)) หนึ่งในทีมผู้ติดตามของผู้พันดัตช์ ที่ตัดสินใจใช้มีดกรีดหน้าอกตัวเองเป็นแนวทแยง เพื่อเอาตัวเองเป็นเหยื่อล่อพรีเดเตอร์ ซึ่งผู้กำกับอย่างแทชแทนเบิร์กเผยว่า เขาประทับใจกับตัวละครของบิลลีเป็นพิเศษ เลยใส่เข้ามาเป็น Easter Egg เล็ก ๆ


“ถ้าเลือดมันไหลได้ เราก็ฆ่ามันได้”

Predator Prey

อีกหนึ่ง Easter Egg ใน ‘Predator’ (1987) ที่ถูกหยิบเอามาใส่ใน ‘Prey’ ก็คือประโยคที่ทาเบ ได้พูดกับนารู ตอนที่ทั้งคู่ถูกผู้รุกรานชาวยุโรปจับผูกติดกับต้นไม้เพื่อใช้เป็นเหยื่อล่อพรีเดเตอร์ ในตอนนั้น นารูได้ระบายกับพี่ชายของเธอว่า เธอไม่รู้ว่าจะต่อสู้กับพรีเดเตอร์อย่างไร ทาเบจึงตอบกลับเธอว่า “ถ้าเลือดมันไหล เราก็ฆ่ามันได้”

ประโยคนี้เป็นประโยคดัง (และแน่นอนว่ากลายเป็นมีม) ที่อ้างอิงมาจากภาพยนตร์ ‘Predator’ ภาคแรก หลังจากที่ผู้พันดัตช์ได้เห็นเลือดสีเขียวของพรีเดเตอร์กระจายเลอะตามใบไม้ ต้นไม้ในบริเวณป่า

เขาตระหนักได้ว่า พรีเดเตอร์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งที่สามารถบาดเจ็บได้เหมือนกัน ไม่ใช่เทพเจ้าหรือสิ่งมีชีวิตที่ทรงอำนาจเก่งกาจจนไม่อาจจะต่อกรได้ เขาจึงพูดประโยคนี้เพื่อปลุกใจแก่ทีมของเขาว่า “ถ้าเลือดมันไหลได้ เราก็ฆ่ามันได้” (“If It Bleeds, We Can Kill It”)


กะโหลกที่ระลึก

Predator Prey

ตามธรรมเนียมของพรีเดเตอร์ หรือนักล่าแห่งเผ่ายวตจา เมื่อทำการล่าสังหารสิ่งมีชีวิตแล้ว ก็มักจะเก็บกะโหลกของสิ่งมีชีวิตที่มันล่าได้ไว้เสมือนเป็นรางวัลหรือของที่ระลึก ใน ‘Prey’ เราจะได้เห็นพรีเดเตอร์ที่สังหารสุนัขป่าอย่างโหดเหี้ยมด้วยการเฉือนร่างกายจนเหลือแต่กระโหลกและกระดูกสันหลัง พรีเดเตอร์นำเอาหัวของสุนัขป่าตัวนั้นมาฉีดด้วยสารบางอย่างที่มีลักษณะเป็นละอองเพื่อละลายเนื้อ หนัง ไขมันออกไปจนเหลือแต่เพียงกะโหลก ก่อนที่พรีเดเตอร์จะเอากะโหลกนั้นมาแขวนประดับไว้กับตัว

ในธรรมเนียมนี้ก็มีปรากฏในภาพยนตร์ ‘Predator 2’ (1990) ด้วยเช่นกัน บนยานของพรีเดเตอร์ เราจะได้เห็นกะโหลกของสิ่งมีชีวิตที่ถูกประดับประดาเอาไว้ รวมถึงกะโหลกมนุษย์ (ถ้าสังเกตดี ๆ จะมีกะโหลกเอเลียนด้วย) ใน ‘Prey’ จะเห็นได้ว่า กะโหลกของสุนัขป่าตัวนั้นไม่ได้รับการทำความสะอาดและตกแต่งอย่างเงางามมากนัก ต่างจากกับกะโหลกมนุษย์ใน ‘Predator 2’ ที่ดูสะอาดเงางามกว่ามาก ซึ่งก็มีความสมเหตุสมผลที่พรีเดเตอร์ในยุคนั้น อาจจะเพิ่งเรียนรู้การสะสมกะโหลกของเหยื่อไว้เป็นรางวัล และยังไม่ได้มีเทคโนโลยีหรือภูมิปัญญาในการขัดตกแต่งกะโหลกให้สะอาดเงางามมากขึ้นได้เหมือนกับคอลเล็กชันกะโหลกใน ‘Predator 2’


(อ่านต่อได้ที่หน้า 2)