เชื่อว่าหลายคนคงได้ดู ‘Dahmer – Monster: The Jeffrey Dahmer Story’ ที่หยิบเอาเรื่องจริงของฆาตกรต่อเนื่องสุดโหด เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ (Jeffrey Dahmer) มาเล่าในรูปแบบลิมิเต็ดซีรีส์ แต่เชื่อไหมว่าถึงจะบอกว่าสร้างจากเรื่องจริงขนาดไหน แต่มันก็ยังมีฉากชวนสงสัยอยู่ด้วย วันนี้เลยจะพาทุกคนไปดู 7 ฉากชวนสงสัยว่านี่คือเรื่องจริงหรือแต่งเติม เพื่อไขข้อสงสัยที่เกิดขึ้นหลังดูซีรีส์จบ

คำเตือน: เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในซีรีส์

Glenda Cleveland เพื่อนข้างห้องที่ไม่ได้อยู่ตึกเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าตัวละคร เกล็นด้า คลีฟแลนด์ (Glenda Cleveland) เพื่อนบ้านผิวดำจะค่อนข้างมีบทบาทสำคัญในซีรีส์อย่างมาก ทั้งการเผชิญหน้าโดยตรงกับดาห์เมอร์ การโทรแจ้งตำรวจอย่างไม่ละความพยายาม หรือแม้แต่การช่วยเหลือหนึ่งในเหยื่อของดาห์เมอร์ก็ตาม

แต่เชื่อหรือไม่ว่าในความเป็นจริงนั้นคลีฟแลนด์ไม่ได้อาศัยอยู่ในอ็อกซ์ฟอร์ดอะพาร์ตเมนต์ แต่เธออาศัยอยู่ที่ตึกข้าง ๆ และค่อยแจ้งตำรวจและ FBI เกี่ยวกับพฤติกรรมอันน่าสงสัยของดาห์เมอร์จริง ๆ ส่วนเพื่อนบ้านตัวจริงของดาห์เมอร์จะมีชื่อว่า พาเมลา แบส (Pamela Bass) และเธอก็ไม่เคยสงสัยในตัวของดาห์เมอร์เลยสักนิดเดียว

แซนด์วิช (เนื้อคน) จากดาห์เมอร์

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าเพื่อบ้านจริง ๆ กับในซีรีส์ไม่ใช่คนเดียวกัน แล้วแซนด์วิชที่เห็นในซีรีส์ เพื่อนบ้านตัวจริงอย่างพาเมลา แบสได้กินมันจริง ๆ ไหม และคำตอบคือ ‘ใช่’

แบสเคยเล่าในสารคดี ‘The Jeffrey Dahmer Files’ เมื่อปี 2013 ว่า ดาห์เมอร์ชอบทำแซนด์วิชแจกเพื่อนบ้าน รวมทั้งตัวเธอก็ได้รับมันเช่นกัน แถมเธอยังกินมันไปจริง ๆ ต่างจากเพื่อนบ้านในซีรีส์ที่เธอปฏิเสธการกินแซนด์วิชชิ้นนั้น แบสไม่ได้บรรยายถึงรสชาติของมันแต่เธอพูดแค่ว่า “ฉันคงกินอวัยวะของใครบางคนไปแล้วแหละ”

Jeffrey Dahmer กินเลือดที่ขโมยมา

ในตอนที่ 4 ของซีรีส์ หลังจากที่ดาห์เมอร์ได้รับการว่าจ้างให้เป็นนักโลหิตวิทยาประจำศูนย์ Milwaukee Blood Plasma Center ได้เพียงไม่นาน เขาก็ขโมยเลือดออกมาจากศูนย์แล้วดื่มมันเข้าไป

ตามรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดาห์เมอร์ขโมยเลือดออกมาจริง ๆ แต่เขาไม่ได้ไปไหนไกลจากศูนย์ที่ทำงานอยู่เลย เขาแค่ขึ้นไปบนหลังคาแล้วพยายามดื่มเลือดที่ขโมยมา แต่ไม่ว่าจะด้วยรสชาติหรืออะไรก็ตาม สุดท้ายดาห์เมอร์ก็ถ่มมันทิ้งอยู่ดี

รูปถ่ายของเหยื่อและฉายามนุษย์กินคน

มีเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นที่ซีรีส์สื่อให้เห็นว่าดาห์เมอร์ได้กินเนื้อของเหยื่อที่เขาล่อลวงมา แต่ความเป็นจริง ในวันที่มีการบุกค้นห้องของดาห์เมอร์ เจ้าหน้าที่กลับพบอัลบั้มภาพสุดสยองที่มีแต่ภาพเหยื่อ ซากศพ และชิ้นส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ในตู้เย็นของดาห์เมอร์ยังเต็มไปด้วย หัวคน เนื้อ อวัยวะส่วนอื่น ๆ มากมายแช่อยู่ในนั้น

ไม่รู้ว่าเขาเริ่มทำแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ภาพถ่ายเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่า ดาห์เมอร์คือฆาตกรที่โหดเหี้ยมและสนุกสนานไปกับการชำแหละชิ้นส่วนต่าง ๆ ขนาดไหน

Club 219

ในอดีตคลับแห่งนี้เคยมีอยู่จริง ๆ และเริ่มเปิดให้ชาวเกย์ที่ชื่นชอบในแสงสีได้มาใช้บริการในปี 1981 จนกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างรวดเร็วในนามของหนึ่งในบาร์เกย์ที่ดีที่สุดในพื้นที่

อย่างไรก็ตามคลับแห่งนี้ได้ปิดตัวลงเพราะการเสื่อมความนิยมตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และเริ่มมีคู่แข่งเป็นบาร์เปิดใหม่ในพื้นที่

ตำรวจส่งคืนเหยื่อถึงมือฆาตกร

ในซีรีส์ดาห์เมอร์ได้ล่อลวง กรณรักษ์ สินธสมพร (Konerak Sinthasomphone) ที่มีอายุเพียง 14 ปี มาที่ห้องด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับเป็นโชคดีที่เด็กหนุ่มสามารถออกมาจากห้องของดาห์เมอร์ได้ แต่ก็โชคร้ายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในตอนนั้นไม่ได้ใส่ใจที่จะสอบสวนเพิ่มเติม แค่เพราะคำกล่าวอ้างของดาห์เมอร์ว่าพวกเขาเป็นเกย์

ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ต่างไปจากในซีรีส์เท่าไหร่นัก เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธที่จะให้ทีมพยาบาลตรวจเด็กหนุ่ม และไม่มีการระบุถึงตัวดาห์เมอร์ เพราะหากเจ้าหน้าที่ใส่ใจเรื่องนี้อีกสักหน่อย ดาห์เมอร์คงถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดและทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่ถึง 18 ปีไปตั้งนานแล้ว

ดูหนัง ‘The Exorcist 3’ ก่อนลงมือ

คำพูดของดาห์เมอร์ที่บอกกับเหยื่อในตอนแรกว่าเขาชอบดูหนังเรื่อง ‘The Exorcist 3’ มาก ดูเหมือนจะเป็นความจริง ในการให้สัมภาษณ์กับ Inside Edition ดาห์เมอร์ยืนยันว่าเขาชวนเหยื่อดูหนังเรื่องนี้จริง และหนังเรื่องนี้มันทำให้ดาห์เมอร์รู้สึกมีอารมณ์อยากก่ออาชญากรรม

ซึ่ง ‘The Exorcist 3’ เป็นหนังที่ผสมไสยศาสตร์กับการสอบสวนที่อบอวลไปด้วยบรรยากาศของศาสนาคริสต์ ที่มีสารวัตรตำรวจดันไปสงสัยผู้ป่วยจิตเวชไร้ประวัติว่าอาจจะเป็นผู้ก่อคดีสุดโหด พร้อมกันนั้นเขาก็ต้องสืบหาความเชื่อมโยงว่าเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีก่อนมีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร

หากใครยังอยากรู้เรื่องราวของฆาตกรคนนี้เพิ่มเติมก็ขอแนะนำให้ไปดู ‘Conversations With a Killer: The Jeffrey Dahmer Tapes’ ใน Netflix

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส