อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ณ ตอนนี้ ไมเคิล เจ ฟอกซ์ (Michael J. Fox) นักแสดงชาวอเมริกัน-แคนาดา วัย 61 ปีเจ้าของบทหนุ่มน้อย มาร์ตี้ แม็กฟลาย (Marty McFly) จากหนังไซไฟไตรภาคชื่อดัง ‘Back to the Future’ ที่ถือเป็นหนังไอคอนแห่งยุค 80s ต้องเผชิญกับวิกฤติของชีวิตจากปัญหาโรคพาร์กินสันมาตั้งแต่ปี 1991 ซึ่งเขาเองก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคร้ายนี้มาอย่างยาวนาน ซึ่งเมื่อปี 2022 เขาได้มีโอกาสพบเจอกับเพื่อนนักแสดงจากเรื่องเดียวกันอย่าง คริสโตเฟอร์ ลอยด์ (Christopher Lloyd) นักแสดงเจ้าของบท “ด็อก” ดร.เอ็มเมตต์ บราวน์ (Dr. Emmett Brown) ในรอบหลายปี

Back to the Future

ที่ผ่านมา แม้เขาจะต้องเผชิญกับโรคพาร์กินสันที่ทำให้เขามีปัญหาด้านร่างกาย ใบหน้า การพูด รวมถึงการจดจำ แต่เขาเองก็ยังคงมีผลงานการแสดงในบทบาทสมทบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาพอจะทำได้ จนกระทั่งในปี 2020 เขาเองก็ได้เปิดเผยในหนังสือ ‘No Time Like the Future’ ของตัวเขาเองว่า ด้วยความที่เขาเริ่มมีปัญหาด้านการพูดและการท่องจำ ทำให้เขาท่องจำบทได้ลำบาก และการพูดตามบทไม่ได้ก็ถือเป็นสิ่งที่ทำลายอาชีพของนักแสดง เขาจึงตัดสินใจเกษียณตัวเองจากอาชีพนักแสดงเป็นครั้งที่ 2 ในชีวิต หลังจากที่เคยถอยการรับงานแสดงภาพยนตร์มาแล้วในปี 1995 หลังจากที่เขาได้รับการวินิจฉัยพบโรคร้าย

ล่าสุด ฟอกซ์ได้เปิดเผยเบื้องหลังของการตัดสินใจในครั้งนั้นกับนิตยสาร Empire ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจที่จะเกษียณตัวเองออกจากวงการฮอลลีวูดนั้น เขาเองเผยว่า ในขณะที่เขาได้ร่วมแสดงในทีวีซีรีส์ดราม่ากฏหมาย ‘The Good Fight’ (2020) ซีรีส์ Spin Off ของทีวีซีรีส์ ‘The Good Wife’ (2010–2016) นั้น เขาเองมีปัญหาอย่างมากในการท่องจำบทพูด

จนกระทั่งเขาได้ดูหนังเรื่อง ‘Once Upon a Time in Hollywood’ (2019) ผลงานหนังย้อนยุคฮอลลีวูดของผู้กำกับ เควนทิน ทารันทิโน (Quentin Tarantino) โดยเฉพาะฉากที่เป็นภาพจำจากในหนังเรื่องนี้ก็คือ ฉากที่ ริก ดาลตัน (Rick Dalton) นักแสดงฮอลลีวูดรุ่นใหญ่ตกอับ ที่แสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (Leonardo DiCaprio) ที่กำลังหัวฟัดหัวเหวี่ยงและเศร้าสร้อย ก่นด่าตัวเองอยู่ในรถบ้าน เนื่องจากมีปัญหาท่องจำบทไม่ได้เสียที ซึ่งฉากนั้นกลายเป็นฉากที่ทำให้ฟอกซ์รู้สึกสะเทือนใจ และเริ่มรู้ตัวเองว่า เขาควรจะเกษียณตัวเองจากอาชีพนักแสดงสักที

Quentin Tarantino

“ผมนึกถึงฉากหนึ่งใน ‘Once Upon a Time in Hollywood’ มีฉากหนึ่งที่ตัวละครที่เล่นโดย ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ ที่จำบทพูดของเขาไม่ได้อีกแล้ว เขากลับไปนั่งที่ห้องแต่งตัว และกรีดร้องกับตัวเองในกระจก มันบ้าไปแล้ว ผมก็มีช่วงเวลาที่ผมกำลังส่องกระจก และคิดว่า ‘ผมจำบทไม่ได้อีกแล้ว งั้นก็เลิกดีกว่า’ ง่าย ๆ เลย “

ฟอกซ์ได้เปิดเผยเรื่องราวของช่วงชีวิตที่เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสัน เมื่อตอนอายุ 30 ปี รวมทั้งการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคพาร์กินสัน โรคที่ทำให้สมองเสียหายไปทีละส่วน จนส่งผลต่อร่างกาย เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้า กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง การพูดและการคิดมีปัญหา ในสารคดีเรื่อง ‘STILL: A Michael J. Fox Movie’ กำกับโดย เดวิส กุกเกนไฮม์ (Davis Guggenheim) จากสารคดีโลกร้อนชื่อดัง ‘An Inconvenient Truth’ (2006) ที่ฉายเปิดตัวในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ และออกฉายทาง Apple TV+ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

หลังจากที่ฟอกซ์ออกจากบ้านไปเผชิญโชคที่ลอสแองเจลิสเพื่อตามความฝันในการเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 18 ปี ผ่านชีวิตยากลำบากจนถึงขั้นคุ้ยขยะหาอาหารเพราะไม่มีเงินก็ทำมาแล้ว ก่อนที่เขาจะเริ่มได้รับโอกาสในการแสดงในบทบาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนจะได้รับบทนำในซีรีส์ซิตคอม ‘Family Ties’ (1982–1989) ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัล Emmy Awards 3 ปีติดต่อกัน ก่อนจะมาโด่งดังเป็นพลุแตกในบท มาร์ตี้ แม็กฟลาย หนุ่มน้อยนักข้ามเวลา ใน ‘Back to the Future’ (1985)

ก่อนที่ในปี 1991 เขาเองจะเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายจากอาการนิ้วก้อยที่มือข้างซ้ายกระตุกสั่น จนกระทั่งในเวลาต่อมาเขาก็เริ่มมีอาการปวดและแข็งตึงตามร่างกาย แพทย์ได้วินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคพาร์กินสัน แต่ฟอกซ์ในเวลานั้นที่แต่งงานกับภรรยา เทรซี พอลแลน (Tracy Pollan) และมีลูกด้วยกันแล้ว ก็ยังคงรับงานแสดงเหมือนปกติต่อไป โดยเน้นไปที่หนังตลกเป็นส่วนใหญ่ ด้วยความวิตกกังวลด้านเวลาและภาระทางการเงิน และเลือกที่จะปิดบังอาการเจ็บป่วยไม่ให้ใครรู้

จนกระทั่งในปี 1995 อาการพาร์กินสันของเขาเริ่มส่งผลรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องตัดสินใจถอยห่างจากงานแสดงหนัง โดยหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาแสดงก่อนตัดสินใจเกษียณก็คือ ‘The Frighteners’ (1996) หนังตลกสยองขวัญของผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ็กสัน (Peter Jackson) และถอนตัวจากการแสดงทีวีซีรีส์ ‘Spin City’ (1996–2001) ในซีซันที่ 5 หลังจากที่เคยร่วมแสดงในซีซันที่ 3 และ 4 เนื่องจากอาการของเขาเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นต้องนั่ง หรือพิงกำแพงในระหว่างแสดง รวมทั้งใบหน้าที่เริ่มแข็งตึงจนขยับและพูดได้ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ

และในที่สุดเขาก็เปิดเผยความลับต่อผู้คนผ่านสื่อในปี 1998 รวมทั้งเขายังได้รับการผ่าตัดสมองอีกด้วย ซึ่งการผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี ทำให้เขาเริ่มกลับมารับงานแสดงเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกครั้งด้วยการรับบทสมทบในทีวีซีรีส์และในหนัง รวมทั้งยังได้เขียนหนังสือ 4 เล่ม และเริ่มก่อตั้ง มูลนิธิไมเคิล เจ ฟอกซ์ (Michael J. Fox Foundation) ในปี 2000 เพื่อระดมทุนสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ซึ่งมูลนิธินี้สามารถระดมทุนได้มากกว่า 1,500 ล้านเหรียญ

งานท้าย ๆ ของเขาในเวลานั้นก็คือ การไปร่วมแสดงเป็นครูล็อกฮาร์ต (Mr.Lockhart) ครูสอนวิทยาศาสตร์ ในหนังไซไฟ ‘See You Yesterday’ ของ Netflix ในปี 2019 ก่อนที่เขาจะตั้งใจเกษียณจากอาชีพนักแสดงเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2020 ด้วยการอุทิศตนเพื่อศึกษาวิจัยโรคพาร์กินสัน ทำให้ฟอกซ์ได้รับรางวัลมนุษยธรรม ฌีน เฮอร์โชลต์ (Jean Hersholt Humanitarian Award) รางวัลออสการ์สาขารางวัลกิติมศักดิ์ (Governors Awards) จากสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (The Academy of Motion Picture Arts and Sciences – AMPAS) ในปี 2023 ที่ผ่านมา

เขาได้เปิดเผยถึงความยากลำบากในการอยู่ร่วมกับโรคพาร์กินสัน ที่ค่อย ๆ กัดกินร่างกายเขาไปทีละน้อย ๆ ในบทสัมภาษณ์รายการ CBS Mornings เมื่อเดือนเมษายน และได้อัปเดตอาการหลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในกระดูกสันหลังในปี 2018 ด้วยว่า เขาเคยได้รับบาดเจ็บจนแขนหักทั้ง 2 ข้าง มือหัก และกระดูกบนใบหน้าหัก รวมทั้งอาการสำลักอาหาร และปอดบวม ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากการหกล้มเนื่องจากการทรงตัวร่างกายที่ไม่ดี

“ผมไม่โกหกนะ ผมแค่อยากบอกว่ามันเป็นอะไรที่มีแต่จะยากขึ้นทุกวัน มันเริ่มรุนแรงขึ้น ผมหมายความว่า ผมไม่ได้ตายด้วยโรคพาร์กินสันนะ แต่ผมตายเพราะโรคพาร์กินสัน ดังนั้นผมเลยคิดถึงการตายอยู่บ่อย ๆ ผมคิดว่าตัวผมเองคงมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 80 ปี”

“ผมอยู่กับโรคนี้มา 30 กว่าปีแล้ว ชีวิตของผมถูกกำหนดไว้แล้วว่า ผมจะได้พาเอาโรคพาร์กินสันไปกับตัวผมด้วย ผมรู้ว่ามันยากแค่ไหนสำหรับผู้คน สำหรับผม แต่ผมมีทักษะบางอย่างที่ช่วยให้ผมรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ นั่นก็คือการมองโลกในแง่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยั่งยืน และการตระหนักด้วยความรู้สึกขอบคุณ ถ้าคุณหาสิ่งที่คุณจะรู้สึกขอบคุณได้ คุณก็สามารถมองหาสิ่งที่จะตั้งตารอได้ แล้วคุณก็เดินหน้าต่อไป”

“โรคพาร์กินสันยังคงเล่นงานผม แน่นอนว่าผมจะไม่ชนะในเรื่องนี้ ผมอาจจะสูญเสีย แต่ก็จะมีคนอีกมากมายที่จะได้รับอะไรบางอย่างจากการสูญเสียนี้”


ที่มา: IndieWire, Variety, Variety(2), CNN

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส