ในเดือนกรกฎาคมนี้มีผลงานที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เราเลยอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ฟังผลงานที่น่าสนใจในรูปแบบที่หลากหลายมีทั้งผลงานของศิลปินระดับตำนานที่ยังมีลมหายใจและแรงพลังในการขับขานผลงานของตนเอง ศิลปินรุ่นเก๋าที่กลับมาออกผลงานใหม่ให้เราได้ตื่นเต้น ศิลปินเอเชียที่น่าจับตามองกับผลงานเพลงเพราะ ๆ ที่ฟังแล้วไม่ผิดหวัง ศิลปิน K-pop สุดปังขวัญใจของใครหลาย ๆ คน หรืออัลบั้มเพลงประกอบหนังที่มาทั้งในแบบของเพลงประกอบและดนตรีประกอบ ลองมาอ่านรีวิวและไปฟังกันให้เพลิดเพลินได้เลยครับ

Joni Mitchell – Joni Mitchell at Newport

‘Joni Mitchell at Newport’ เป็นอัลบั้มแสดงสดของนักร้องนักแต่งเพลงหญิงระดับตำนาน โจนี มิตเชลล์ (Joni Mitchell) ที่ปัจจุบันนี้มีอายุ 79 ปีแล้ว อัลบั้มนี้ประกอบด้วยการแสดงทั้งหมดของเธอที่งาน Newport Folk Festival เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2022 มิตเชลล์มาพร้อมวงดนตรีของเธอที่รวบรวมนักดนตรีมากมายมาบรรเลงบทเพลงร่วมกันไม่ว่าจะเป็น แบรนดี คาร์ไลล์ (Brandi Carlile), วินนอนนา จัดด์ (Wynonna Judd) และมาร์คัส มัมฟอร์ด (Marcus Mumford) จากวง Mumford & Sons นับเป็นการแสดงสดต่อสาธารณะครั้งแรกของเธอนับตั้งแต่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดโป่งพองในปี 2015

นอกเหนือจากการได้ฟังเสียงของมิตเชลล์อีกครั้ง การได้ฟังหลากบทเพลงที่เธอแต่งไว้ในวัยแรกรุ่น ผ่านเสียงร้องของหญิงที่ผ่านประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตต่าง ๆ มามากมายกลายเป็นเสน่ห์ที่งดงามของอัลบั้มชุดนี้  บทเพลงเอกของเธออย่าง “Both Sides Now” ที่ทั้งงดงามและลุ่มลึก แฝงคมความคิดอันลึกซึ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งที่เธอสามารถแต่งบทเพลงเช่นนี้ได้ในวัย 23 ปี ถูกถ่ายทอดผ่านเสียงของหญิงวัย 79 ที่ผ่านร้อนหนาวมามากมาย ได้มอบชีวิตใหม่ให้กับบทเพลงนี้อย่างงดงาม ส่วนเพลงฮิตเพลงอื่น ๆ ของเธออย่าง “Big Yellow Taxi” หรือ “The Circle Game” ก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันเมื่อคืนวันที่ผันผ่านและประสบการณ์ได้แปรเปลี่ยนสารของบทเพลงผ่านเสียงร้องของเธอได้อย่างลุ่มลึก นอกจากนี้ยังมี  “Summertime” ผลงานคลาสสิกระดับตำนานของ จอร์จ เกิร์ชวิน (George Gershwin) ที่เป็นเพลงเดียวจากอัลบั้มนี้ที่ไม่ได้เป็นผลงานของมิตเชลล์ ซึ่งพอมิตเชลล์ได้เอาบทเพลงนี้มาร้องเธอก็ได้มอบชีวิตใหม่และสัมผัสที่น่าประทับใจให้กับผลงานเพลงชิ้นนี้  นับว่า ‘Joni Mitchell at Newport’ คือหนึ่งในผลงานอันเปี่ยมคุณค่าของมิตเชลล์และแฟนเพลงของเธอที่ติดตามผลงานของเธอมาอย่างยาวนาน

Blur – The Ballad of Darren

การกลับมาในรอบ 8 ปีของตำนานบริตป๊อป ‘Blur’ กับสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 9 ของวง เพลงของอัลบั้มนี้แต่งโดยฟรอนต์แมน เดมอน อัลบาร์น (Damon Albarn) ในปี 2022 ขณะออกทัวร์กับวง Gorillaz และเรียบเรียงดนตรีโดยอัลบาร์นและเพื่อน ๆ ร่วมวง โปรดิวซ์โดย เจมส์ ฟอร์ด (James Ford) บันทึกเสียงที่ Studio 13 ในลอนดอนและเดวอน อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรกของ Blur นับตั้งแต่ออก The Magic Whip มาในปี 2015 และเป็นอัลบั้มที่สั้นที่สุดโดยมีรันไทม์ไม่เกิน 50 นาที อาร์ตเวิร์กของอัลบั้มเป็นภาพถ่ายปี 2004 ของชายคนหนึ่งที่ว่ายน้ำคนเดียวใน Gourock Outdoor Pool ในเมือง Gourock ประเทศสกอตแลนด์ ถ่ายโดย มาร์ติน พาร์ (Martin Parr) ส่วนชื่อของ ดาร์เรน (Darren) ที่ปรากฏอยู่ในชื่ออัลบั้มนั้นหมายถึง ดาร์เรน “สโมกกี” อีแวนส์ (Darren “Smoggy” Evans) อดีตบอดี้การ์ดของวงซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับอัลบาร์น ในปกในของอัลบั้มชุดนี้จะมีภาพของดาร์เรนอยู่ ที่เอาไว้ด้านในแทนที่จะเอาไว้ที่ปกหน้าก็เพราะอัลบาร์นคิดว่าดาร์เรนไม่อยากจะเป็นเป้าความสนใจในแบบนั้น

ดนตรีของอัลบั้มชุดนี้มีองค์ประกอบของเลานจ์ป๊อปและอัลเทอร์เนทีฟป๊อปยุค 70s อัลบั้มนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของ Lou Reed, John Cale อัลบั้ม ‘A Moon Shaped Pool’ ของ Radiohead และ ‘Think Tank’ ของ Blur ส่วนสไตล์การร้องของอัลบาร์นในอัลบั้มนี้ มีวิธีการร้องที่ได้รับอิทธิพลมาจาก อเล็กซ์ เทิร์นเนอร์ (Alex Turner) ฟรอนท์แมนของ Arctic Monkeys (รู้สึกได้ชัด ๆ เลยในเพลง “Avalon”)

เพลงในอัลบั้มมีการผสมผสานในสัดส่วนที่เป็นเพลงบัลลาดในอารมณ์เหงาเศร้าซะเยอะ แต่ก็มีเพลงที่มีจังหวะอยู่บ้างอย่างเช่น “Barbaric” และ “The Narcissist” หรือเพลงที่พาเราย้อนกลับไปในบรรยากาศของยุคบริตป๊อปอันรุ่งเรืองในเพลง “St. Charles Sqaure” เพลงบัลลาดทุกเพลงในอัลบั้มมีสไตล์เฉพาะตัว อัลบาร์นสะท้อนเนื้อหาที่เป็นผู้ใหญ่ในทุก ๆ ด้าน เนื้อเพลงยอดเยี่ยม โทนอารมณ์ทำได้ดี โดยรวมแล้วนับว่า ‘The Ballad of Darren’ เป็นอัลบั้มที่น่าฟัง ดีงามทั้งทำนองและเนื้อร้องซึ่งเห็นได้ชัดถึงความเติบโตที่มี โทนของอัลบั้มมีความแตกต่างจากอัลบั้มอื่น ๆ ของ Blur โดยเฉพาะการที่โทนออกไปทางเศร้าเหงาลึก หากใครคิดถึงความโจ๊ะ ๆ เร้าใจอาจไม่ถูกใจนัก แต่ถ้าชอบความนุ่มลึกและไพเราะ นี่แหละคือ Blur เวอร์ชันใหม่ที่คุณต้องการ

New Jeans – Get Up

อีพีอัลบั้มชุดที่ 2 ของ 5 สาว NewJeans ‘มินจี, ฮันนิ, แฮริน, ดาเนียล และฮเยอิน’ เกิร์ลกรุ๊ปจากเกาหลีใต้ที่กำลังมาแรงแซงทุกโค้ง อีพีนี้ประกอบด้วย 6 เพลงซึ่งไม่ต้องบอกสรรพคุณอะไรให้มากนัก เพราะทั้งตัวเพลงและศิลปินได้ไปนั่งอยู่ในใจของผู้ฟังทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หากไม่พูดถึงความว้าวของมิวสิกวิดีโอจากเพลงทั้งหลายในอีพีที่ปล่อยออกมาทั้งหมดแล้ว [ไม่ว่าจะเป็น “New Jeans” ที่เป็นการร่วมงานกันกับ ‘The Powerpuff Girls’ “Super Shy” ที่สาว ๆ NewJeans มาในลุคเชียร์ลีดเดอร์สุดน่ารักที่เข้าไปเต้นในที่ต่าง ๆ  ทั้งเมือง ตลาดสดหรือว่ารถเมล์, “ETA” ที่ถ่ายทำด้วย iPhone 14 Pro ทั้งหมด และ “Cool with You” / “Get Up” มิวสิกวิดีโอคู่ที่มี side A / side B และได้นักแสดงชื่อดังอย่าง ‘จองโฮยอน’ และ ‘เหลียงเฉาเหว่ย’ มาเซอร์ไพรส์ร่วมแสดงด้วย และล่าสุดกับ “ASAP” ที่พาเราเข้าสู่ดินแดนแห่งจินตนาการของสาว ๆ NewJeans ที่เปรียบเสมือนเรื่องราวของ Alice in Wonderland] แล้วมาพูดถึงตัวเพลงล้วน ๆ ก็นับว่าผลงานของ NewJeans เป็นเพลงคุณภาพอย่างมิอาจปฏิเสธได้จากองค์ประกอบที่ลงตัวทั้งเสียงร้อง ท่วงทำนอง และการเรียบเรียงดนตรีที่มีสีสันและมีความร่วมสมัยโดนใจผู้ฟัง

‘Get Up’ มีความยาวโดยรวมประมาณ 12 นาที ซึ่งตั้งใจให้เป็นตัวแทนของ “ฤดูร้อนของ NewJeans” ซึ่งครอบคลุมอารมณ์และเรื่องราวที่หลากหลายเกี่ยวกับความรัก แต่ละบทเพลงมีการหยิบจับเอาเสน่ห์ของดนตรีในแนวต่าง ๆ เข้ามาผสมผสานได้อย่างสดใหม่และน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น UK garage และ Jersey club ใน “New Jeans” bubblegum, liquid drum’n’bass และ Jersey club ใน “Super Shy” ท่วงทำนองที่กลมกล่อมซึ่งรวมเอากลองเบรกฟังกี้แบบ Think break เสียงซินธ์ และ air horn ในเพลง “ETA” และมา UK garage  อีกครั้งในเพลง “Cool with You” แต่เพลงนี้จะมีลูกเล่นในการร้องที่หลากหลาย มีลูกเล่นลีลาที่น่าสนใจและการผสมชั้นของเสียงที่กลมกล่อม ส่วนเพลงไตเติลแทร็ก “Get Up” ก็มาในแนว R&B ballad และเพลงสุดท้าย “ASAP” ก็มาในอารมณ์ป๊อปน่ารัก ๆ  ที่มาพร้อมจังหวะติ๊กต็อก ๆ น่าสนใจ

นาทีนี้ต้องบอกเลยว่า NewJeans คือวง K-pop รุ่นใหม่ที่ไม่ได้แค่น่าจับตามอง แต่ยังจับใจแบบถอนตัวไม่ขึ้นอีกด้วย เชื่อได้เลยว่าพวกเธอยังคงมีผลงานชั้นเยี่ยมรอให้เราได้เซอร์ไพรส์กันอีกอย่างแน่นอน

Dru Chen – ‘Slower Life’

ผลงานอัลบั้มชุดที่ 3 ของดรูเฉิน (Dru Chen) นักร้องนักแต่งเพลงป๊อปโซลชาวออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์  เขาเคยได้ทำทั้งการบันทึกเสียง โปรดิวซ์และแต่งเพลงให้กับ Universal Music Publishing, Warner, League of Legends และ Citibank อีกทั้งยังเคยขึ้นแสดงบนเวทีเดียวกันกับ D’Angelo, Babyface, Gentle Bones และ Charlie Lim ที่เทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International Jazz Festival) เทศกาลดนตรีโมเสก (Mosaic Music Festival) และโซลเฟสต์ (Soulfest) เป็นต้น อัลบั้มชุดก่อนของเขาคือ ‘Slow Life’ มียอดสตรีมมากกว่า 1 ล้านครั้งบน Spotify  ในขณะที่ปี 2019 อัลบั้ม ‘Mirror Work’ คว้า 10 อัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีของ Freshmusic Award ของไต้หวัน ปัจจุบันนอกจากงานดนตรีแล้วเขายังเป็นอาจารย์ใน School of Technology for the Arts ที่ Republic Polytechnic

ความรู้สึกโหยหาวันธรรมดา ๆ ที่จะได้มาพูดคุยกับตัวเอง ได้สนุกกับตัวเองจริง ๆ ซักครั้ง และความคิดว่าชีวิตนั้นหากค่อย ๆ ใช้ชีวิตอย่างช้า ๆ ดูบ้าง ก็ไม่เป็นอะไรนะ ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้วางความคิดและใช้ชีวิตช้า ๆ สบาย ๆ ดูบ้าง คือแนวคิดที่เป็นที่มาของงานเพลงในอัลบั้ม ‘Slower Life’ ที่มาพร้อมมุมมองและท่วงทำนองที่จะทำให้เราสดชื่น สบายใจ กับงานเพลงคุณภาพในรสชาติที่หลากหลาย ฟังได้ติดหูแบบสบาย ๆ จากฝีไม้ลายมือของดรูเฉินและเพื่อนศิลปินมากมายที่มาร่วมกันสร้างสีสันทั้ง Shye, Rangga Jones, Gentle Bones, Charlie Lim และ Calvert Tay

ในอัลบั้มนี้เต็มไปด้วยบทเพลงเพราะ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น “Utopia Reimagined: If You Knew” บทเพลงที่สะท้อนมุมมองอันงดงาม ผ่านถ้อยคำของพ่อที่พูดกับลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก เพื่อบอกให้เขารักษามุมมองที่บริสุทธิ์ในการอยู่บนโลกใบนี้ “I’ll Be Honest” บทเพลงเปี่ยมพลังแห่งการปลดปล่อยที่ได้เสียงร้องเพราะ ๆ ของ  Shye มาร่วมด้วย “Connect The Dots” บทเพลงที่เป็นแกนกลางสำคัญของอารมณ์ในอัลบั้มนี้  และ “Mess In Me” ที่ผสมผสานความคลาสสิกด้วยกีตาร์และการเรียบเรียงที่มีความสากล พร้อมกับ 2 ศิลปินที่มาร่วมงานด้วยอย่าง Rangga Jones และ Gentle Bones ที่ทำให้เพลงนี้มีความสมบูรณ์แบบและไพเราะลงตัว

หากใครฟังอัลบั้มนี้ผ่านทางบริการสตรีมมิง ใน Apple Music เราจะได้ฟังอัลบั้มในแบบระบบเสียง Spatial Audio ที่มิกซ์ในระบบ Dolby Atmos ส่วนใน Spotify จะมีโบนัสแทร็ก “Mess In Me/Summertime (Acoustic)” ให้ฟังกันด้วย

หากอยากรู้จักดรูเฉินและงานเพลงในอัลบั้ม ‘Slower Life’ อ่านบทสัมภาษณ์ของเขาได้ที่นี่

Various Artist – Barbie The Album

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมแห่งปี 2023 ‘Barbie’ ผลงานการกำกับของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ที่กำลังสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอยู่ในโรงภาพยนตร์ ณ ขณะนี้ นอกเหนือจากตัวหนังที่ดีงามสุด ๆ แล้วเพลงประกอบนับว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้จากหนังเรื่องนี้ อัลบั้มโปรดิวซ์โดย มาร์ก รอนสัน (Mark Ronson) และทัพศิลปินที่มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพลงโดน ๆ ให้กับหนังเรื่องนี้ที่มาแบบหลากแนวหลายสไตล์เลยได้แก่ Ava Max, Charli XCX, Billie Eilish, Dominic Fike, Fifty Fifty, Gayle, Haim, Ice Spice, Kaliii, Karol G, Khalid, the Kid Laroi, Lizzo, Nicki Minaj, PinkPantheress, Sam Smith, Tame Impala, และ Dua Lipa ที่มาร่วมแสดงรับเชิญในหนัง และแม้แต่หนุ่มเคน ไรอัน กอสลิง (Ryan Gosling) ก็มีผลงานเพลงในอัลบั้มนี้ด้วยเหมือนกัน

และนั่นทำให้ Barbie the Album จะต้องมีบางสิ่งที่โดนใจใครหลาย ๆ คน ถ้าไม่นับว่าแต่ละเพลงนั้นต่างมีบทบาทสำคัญในแต่ละฉากของหนัง ที่หากใครดูหนังแล้วก็จะเข้าใจและรู้สึกไปกับมันได้ดี การเลือกฟังเพลงล้วน ๆ โดยไม่อิงกับหนังเลยก็นับว่าเพลงในอัลบั้มนี้จะต้องมีสักเพลงที่ถูกจริตแน่ ๆ  ไม่ว่าจะเป็น “Pink” ของ Lizzo บทเพลงสดใสในโลกสดสวยที่ฟังแล้วเบิกบานชื่นใจ “Dance The Night” ของ Dua Lipa ที่ฟังแล้วต้องแดนซ์กับเพื่อนสาวสักหน่อย หากใครมาสายเท่ในสไตล์แบบ Synthwave หรือ Space Disco ต้อง “Journey To The Real World” ของ Tame Impala เลย หรือจะเป็น “I’m Just Ken” ของหนุ่มเคน ไรอัน กอสลิง ที่สุดจะ epic มาในสไตล์ของ Power Ballad / Rock Opera / Rock Musical สุดเร้าใจ และอีกเพลงไฮไลท์ทั้งของอัลบั้มและของหนังเพราะว่าเป็นบทเพลงที่ถ่ายทอดหัวใจของหนังไว้ได้อย่างงดงามนั่นคือ “What Was I Made For?” ของ บิลลี ไอลิช (Billie Eilish)

และนี่คือหนึ่งในอัลบั้มน่าฟังของเดือนนี้และปีนี้ไม่ว่าคุณจะดูหนังเรื่องนี้แล้วหรือไม่ก็ตาม (แต่หากดูแล้วจะเพิ่มอรรถรสในการฟังมากยิ่งขึ้น)

Ludwig Göransson – Oppenheimer

ขอแนะนำอัลบั้มเพลงประกอบหนังอีกสักเรื่อง แต่ว่าคราวนี้มาในรูปแบบของสกอร์หรือดนตรีประกอบ ผลงานของ ลุดวิก โกแรนส์สัน (Ludwig Göransson) นักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ชาวสวีดิชที่เคยร่วมงานกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) มาแล้วในเรื่อง ‘Tenet’

มาคราวนี้โกแรนส์สันได้จับมือกับโนแลนอีกครั้งในผลงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ “Oppenheimer” มหากาพย์ประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของบิดาแห่งระเบิดปรมาณูนาม ‘เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์’ (J. Robert Oppenheimer) งานดนตรีประกอบหนังเรื่องนี้นับว่าเป็นทั้งความทะเยอทะยานของทั้งผู้กำกับโนแลน และคนทำเพลงโกแรนส์สันที่จัดเต็มไอเดียกันแบบล้ำ  ๆ

ดังนั้นอัลบั้มจึงเต็มไปด้วยบทเพลงเปี่ยมพลังงานในระดับปรมาณู และมีอะไรให้น่าทึ่งอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเพลง “Oppenheimer” ที่สะท้อนมุมมองภายในของตัวละครออปเพนไฮเมอร์ ที่บรรเลงด้วยไวโอลินผสานไปกับซาวด์อิเล็กทรอนิกส์สร้างบรรยากาศและห้วงอารมณ์ที่ทั้งโรแมนติก เศร้าสร้อย ลึกลับและสยองขวัญไปในเวลาเดียวกัน หรือจะเป็น “Can You Hear the Music” บทเพลงสั้น ๆ แค่ไม่ถึง 2 นาทีแต่มีการเปลี่ยนจังหวะถึง 21 ครั้งและบันทึกเสียงสดโดยวงออร์เคสตร้า เป็นเพลงที่เปี่ยมไปด้วยพลังงานขั้นสุดเลย

บทเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มนี้จะมีไวโอลินเป็นพระเอก เพราะโนแลนมองว่าไวโอลินมีเสียงที่ตึงเครียดในแบบที่เข้ากับสติปัญญาและอารมณ์ของ โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเราจึงได้ฟังเสียงไวโอลินในบรรยากาศที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศลึกลับที่ไวโอลินผสานกับซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ใน “Fission”  รวดเร็วและร้อนแรงใน “Trinity” หรือกรีดอารมณ์และเศร้าสร้อยใน “What We Have Done” นับว่านี่คือหนึ่งในอัลบั้มเพลงประกอบหนังที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยานและสร้างสรรค์ สะท้อนอารมณ์และหัวใจของหนังและตัวละครเอกของเรื่องได้อย่างลึกซึ้งและน่าทึ่งเลยทีเดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส