[รีวิว] Isle of Dogs : ความบันเทิงบนที่สุดของความอุตสาหะ
Our score
8.0

isle of dogs : เกาะเซ็ตซีโร่หมา

จุดเด่น

  1. เห็นชัดถึงความตั้งใจของทีมงาน
  2. ถ่ายทอดภาพลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่นออกมาได้เด่นชัด สวยงาม
  3. มุกตลกกวน ๆ ประชดประชัน
  4. พัฒนาการของตัวละครดีเยี่ยม
  5. ออกแบบสีหน้า เอกลักษณ์ของบรรดาหมาได้ดี

จุดสังเกต

  1. ช่วงท้ายที่อัดแน่นสาระมาเต็ม อาจจะหนืดไปหน่อย
  2. อาจจะไม่เหมาะกับคนที่ไม่คุ้นเคยงานสต็อปโมชั่น
  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • เนื้อหา ตรรกะ ความสมบูรณ์ของบท

    8.0

  • ความแปลกใหม่

    9.0

  • ความสนุก

    7.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    7.0

ผลงานสต็อปโมชั่นเรื่องที่ 2 ของ เวส แอนเดอร์สัน ต่อจาก Fantastic Mr.fox (2009) จึงทำให้ทั้งเจ้าตัวและทีมงาน มีความถนัดกับงานสต็อปโมชั่นมากขึ้น เห็นถึงความสนุกกับงานและใส่ลูกเล่นได้มากขึ้น แต่ก็ยังคงสไตล์กวน ๆ และบรรดามุกตลกร้ายอันเป็นลายเซ็นของเวส แอนเดอร์สัน ไว้ได้ครบถ้วน

ด้วยความชื่นชอบในผลงานของปรมาจารย์อากิระ คูโรซาวา และแรงบันดาลใจจากงานสต็อปโมชั่นในยุค 60s ของอาร์เธอร์ แรงค์กิน และ จูลส์ แบส ทำให้เวส แอนเดอร์สัน สรรค์สร้างผลงาน Isle Of Dogs ออกมาเป็นเรื่องราวที่เกิดในญี่ปุ่น ตัวละครและเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในญี่ปุ่น แถมยังเขียนตำนานสมมติจากอดีตกาลที่ตระกูลซามูไรโคบายาชิกับเผ่าพันธุ์หมามีความแค้นกันมาช้านาน และฝังรากสืบต่อมาถึงวันนี้ เชื้อสายโคบายาชิกกลายเป็นนายกเทศมนตรีจึงออกกฏหมายให้ขับไล่หมาทุกตัวออกรวมถึงหมาเลี้ยงในครอบครัวส่งไปอยู่รวมกันบนเกาะขยะ โดยอ้างเหตุว่าหมาเป็นพาหะนำหลายโรคร้ายมาติดต่อมนุษย์ ด้วยการเป็นผู้นำโคบายาชิจึงส่ง สปอตต์ หมาของครอบครัวเขาเองส่งเป็นตัวอย่างไปตัวแรก แต่เจ้าของจริง ๆ ของสปอตต์ก็คืออากิระ หลานชายวัย 12 ขวบ ของโคบายาชิ หลังสปอตต์ถูกส่งมาทิ้งได้ 3 ปี อากิระตัดสินใจขับเครื่องบินเล็กไปตามหาสปอตต์ที่เกาะขยะ อากิระได้รับความช่วยเหลือจากแก๊งหมา 5 เกลอ ที่อยู่บนเกาะกลายเป็นการผจญภัยของอากิระกับแก๊ง 5 หมา ที่ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย

สำหรับคนไม่คุ้นเคยกับงานสต็อปโมชั่น อาจจะรู้สึกสะดุดสักหน่อยกับงานภาพแบบสต็อปโมชั่น ที่ใช้หุ่นปั้นขยับทีละนิด ๆ ภาพจึงไม่ลืนไหลนุ่มนวลเหมือนงานแอนิเมชั่น แล้วงานของเวส แอนเดอร์สัน ก็มีสไตล์ส่วนตัวไม่ได้เน้นสวยงามเหมือนทิม เบอร์ตัน ดูเผิน ๆ เหมือนกับว่างานจะหยาบ ที่จริงแล้วนั่นคือสไตล์การนำเสนอและความจงใจของเวส แอนเดอร์สัน ที่หลาย ๆ ฉากตั้งใจให้ออกมาดูมีความเป็นการ์ตูน อย่างเช่นภาพแทนพวกหมอกควัน และระเบิด ก็ทำออกมาดูตลก ๆ ดี หรือฉากตะลุมบอนก็จงใจให้ออกมาดูเป็นการ์ตูนเลยล่ะ แต่งานที่ดูเผิน ๆ เหมือนจะง่ายนี้ก็ผ่านขั้นตอนการผลิตที่ทีมงานตั้งใจและทุ่มเทอย่างมากเกินคาด อ่านเบื้องหลังแล้วน่าทึ่งมาก ไว้จะลงให้อ่านในช่วงท้ายครับ

หนัง Isle of Dogs ได้เรต Pg-13 ด้วยเนื้อหาที่ปราศจากพิษภัยและไร้คำหยาบ ออกมาเป็นหนังที่ดูสนุกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ด้วยฝีมือการเขียนบทภาพยนตร์ของเวส แอนเดอร์สันเอง และเจสัน ชวาร์ตแมน ดาราขาประจำของเวส และเคยเขียนบทร่วมกับเวส ใน Darjeeling Limited (2007) บทของ Isle Of Dogs ออกมาในสไตล์นิยาย มีบทนำ และต่อด้วยบทที่ 1 บทที่ 2 แต่ก็ยังเป็นหนังที่มีเสียงหัวเราะคลอไปตลอดทั้งเรื่อง

ส่วนใหญ่มักจะเป็นมุกกวน ๆ และประชดประชันถ้าใครเคยติดตามผลงานของเวส น่าจะนึกออกกันล่ะ และในความที่เป็นหนังคอมมีดี้-ผจญภัย เวส ก็ยังสอดแทรกดราม่าเล็ก ๆ พัฒนาการของตัวละครหลักอย่างอากิระ และ ชีฟ ที่ปรับเปลี่ยนเข้าหากันอย่างน่ารัก จากหมาจรจัดใจแคบที่เกลียดเด็กและไม่อยากมีเจ้าของกลับต้องใจอ่อนกับความบริสุทธิ์จริงใจของอากิระ หนังยังสอดแทรกความกวนของเวส ไว้แทบทุกนาทีของหนัง ทั้งในบทสนทนา การเลือกที่จะให้หมาพูดภาษาอังกฤษและมีซับไตเติ้ลโดยให้เหตุผลว่าทั้งหมดนี้แปลจากเสียงเห่า ส่วนตัวละครที่เป็นมนุษย์และพูดภาษาญี่ปุ่นก็ปล่อยไปงั้นให้คนดูงงเล่น ๆ กันไป

อีกส่วนที่เรียกเสียงฮาได้มากพอดู ก็คือการสร้างคาแรกเตอร์ของบรรดาหมา ๆ ได้ออกมาเด่นชัด โดยเฉพาะแก๊ง 5 หมา ที่ดีไซน์เอกลัษณ์แต่ละตัวได้เด่นชัดและการแสดงออกทางสีหน้าได้ฮาดี แม้ไม่ต้องพูดอะไร ที่น่าชื่นชมคือตัวอากิระ เด็กน้อยตัวหลักของเรื่อง ที่มีส่วนผสมทั้งความไร้เดียงสาของเด็กน้อยที่ยังตื่นเต้นกับบรรดาเครื่องเล่นสำหรับเด็กบนเกาะ และขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นแบบผู้ใหญ่ที่จะเป็นปากเส่ียงแทนเหล่าหมาล้มล้างกฏหมายกำจัดหมาของคุณลุง

อีกจุดที่น่าชื่นชมมากคือความตั้งใจในการสร้างภาพของหนังให้ออกมาดูมีความเป็นญี่ปุ่น คือถ้ามาดูโดยไม่รู้เบื้องหลังมาก่อนก็เชื่อล่ะว่านี่คือหนังญี่ปุ่น และเป็นการสื่อความเป็นญี่ปุ่นออกมาด้วยความเคารพ เห็นได้ว่าผ่านการทำการบ้าน ศึกษาค้นคว้า ถ่ายทอดออกมาอย่างละเมียดตั้งใจและได้ภาพที่สวยงามมาก โดยเฉพาะการสอดแทรกศิลปะสไตล์ญี่ปุ่นโบราณออกมาทั้งในภาพนิ่งและงานแอนิเมชั่นที่แทรกอยู่หลาย ๆ ตอนในเรื่อง

งานเบื้องหลังที่ต้องพูดถึงเพราะเป็นเรื่องที่น่าเซอร์ไพรส์มากคือทัพนักแสดงที่มาพากย์เสียง Isle of Dogs น่าจะเป็นหนังกลุ่มแอนิเมชั่นที่ได้นักแสดงมีชื่อเสียงมาพากย์เสียงมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาแล้ว ไบรอัน แครนสตัน , เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน , บิลล์ เมอร์เรย์ , สคาร์เล็ต โจแฮนสัน , ลีฟ ชโรเบอร์ , เจฟฟ์ โกลด์บลูม , ฮาร์วีย์ ไคเทล , ฟรานเซส แม็คดอร์แมนด์ , เกรตา เกอร์วิก และแม้กระทั่งโยโกะ โอโนะ ภรรยาของจอห์น เลนนอน ก็มาพากย์กับเขาด้วย อ่านเบื้องหลังถึงได้ทราบว่าค่าตัวส่วนหนึ่งจากการพากย์ เวส จะหักเข้าองค์กรไม่หวังผลกำไรเพื่อการเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ทั่วโลก ที่ก่อตั้งโดยมาร์ติน สกอร์เซซี และนีคือจุดที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันดีของนักแสดงทุกคนที่มีส่วนร่วมในหนังเรื่องนี้ครับ

Isle of Dogs ความยาวที่ 100 นาที ก็พอดีสำหรับหนังสไตล์แอนิเมชั่น ที่ดูได้เพลิน ๆ และจบด้วยรอยยิ้ม หนังเข้าฉายที่อเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว ทำเงินทั่วโลกไป 63 ล้านเหรียญ ดูแล้วอาจจะพอแค่ได้ทุนคืน แต่ไม่น่าจะเหลือกำไรให้สตูดิโอเจ้าของหนังได้พอยิ้มออก ในทางตรงกันข้าม หนังได้เสียงตอบรับอย่างดีมากจากทุก ๆ เว็บไซต์ สมควรกับคุณค่าของหนังที่ทีมงานทุ่มเทตั้งใจและให้รอยยิ้มกับคนดู

เกร็ดเบื้องหลังงานสร้างที่น่าสนใจ
1 เริ่มต้นการออกแบบหุ่นในเดือนมิถุนายน 2015

2 เริ่มขั้นตอนก่อนการถ่ายทำที่ 3 Mills ในเดือนสิงหาคม 2015

3 เริ่มการถ่ายทำหลักในเดือนมีนาคม 2016

4 การถ่ายทำใช้เวลารวมทั้งสิ้น 445 วัน

5 ใช้ทีมงานรวม 670 คนตลอดโครงการ โดยแบ่งเป็นแผนกต่างๆ เช่น

  • ทีมงานสร้างหุ่น 70 คน อันประกอบด้วยฝ่ายปั้น ฝ่ายหล่อ ฝ่ายขึ้นโครง ฝ่ายวิกและผม ฝ่ายขน ฝ่ายลงสี ฝ่ายบำรุงรักษา.

  • ทีมนักสร้างแอนิเมชัน 38 คน (รวมผู้ช่วย)

  • ทีมศิลปินวิชวลเอฟเฟ็กต์ 30 คน

6 การสร้างภาพยนตร์ใช้ทีมถ่ายทำ 44 ทีม ในโรงถ่ายห้าโรงคิดเป็นจำนวนพื้นที่รวมกว่า 5,000 ตารางเมตรหรือ 54,000 ตารางฟุตโดยรวมพื้นที่สำนักงานด้วย

7 หนังเรื่องนี้มีช็อตรวม 850 ช็อต โดยนอกจากงานสต็อปโมชันแล้วยังมีช็อตแอนิเมชันสองมิติอยู่ 76 ช็อต

8 ใช้ช็อตภาพนิ่ง 144,400 ช็อตเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ความยาว 100 นาที

9 เซิร์ฟเวอร์ของเราเก็บข้อมูลไฟล์ดิบไว้รวม 34 เทราไบต์ และไฟล์ที่เรนเดอร์แล้วรวม 41 เทราไบต์

10 เวสเพิ่มโน้ตลงในฐานข้อมูลของเรารวม 12,920 ข้อความ

11 ช็อตที่ยาวที่สุดในหนังคือฉากพูดเดี่ยวของชีฟในสนามกอล์ฟซึ่งมีความยาว 80 วินาที (1929 เฟรม)

12 ช็อตที่ใช้เวลาสร้างแอนิเมชันยาวนานที่สุด ใช้เวลาไป 15 สัปดาห์ (107 วัน) โดยเป็นผลงานนักสร้างแอนิเมชันสามคนและผู้ควบคุมแอนิเมชันรับเชิญ แบรด ชิฟฟ์

13 ฉากที่ยาวที่สุดมีความยาว 9 เมตรและฉากที่เล็กที่สุดนั้นเล็กกว่าขนาดของไอโฟน

14 จำนวนหุ่นที่สร้างขึ้นมาทั้งสิ้น 1097 ตัว เป็นหุ่นมนุษย์และหุ่นสุนัขอย่างละมากกว่า 500 ตัว

15 ชิ้นส่วนหุ่นที่ใหญ่ที่สุดคือส่วนปากขนาดใหญ่สุดของสป็อตส์ซึ่งมีความยาว 3.5 ฟุต หุ่นขนาดเล็กที่สุดมีขนาด 15 มม. ตัวละครขนาดใหญ่ที่สุดคือผู้พันโดโมะซึ่งมีความสูง 22.7 นิ้ว

16 ผมของอาตาริร้อยด้วยมือและการร้อยผมให้เต็มศีรษะต้องใช้เวลาสองวัน ขนคิ้วของเขาติดโดยใช้แหนบคีบด้วยมือทีละเส้น

17 หุ่นฮีโร่ (หุ่นตัวหลัก) แต่ละตัวใช้เวลาสร้างราว 16 สัปดาห์ เฉพาะหุ่นนัตเม็กตัวเดียวใช้เวลานานหกเดือน

18 ตัวละครมนุษย์มีใบหน้าที่ปั้นขึ้นมา 53 แบบเพื่อแสดงสีหน้าแบบต่างๆ แต่ละตัวมีปากให้เปลี่ยนได้ 48 แบบสำหรับการออกเสียงต่างๆ กัน โดยแต่ละแบบได้รับการปั้นและลงสีด้วยมือทีละชิ้น มีการสร้างชิ้นส่วนใบหน้าและปากกว่า 3000 ชิ้นเพื่อ
ใช้ในหนังเรื่องนี้

19 ใบหน้าของเทรซีมีรอยตกกระ 321 รอย รอยเหล่านี้เกิดจากการลงสีด้วยมือโดยมองเทียบกับใบหน้าตัวต้นแบบ เมื่อรวมรอยตกกระของตัวละครเทรซีซึ่งอยู่ในหุ่นขนาดต่างๆ และใบหน้าแบบต่างๆ ทั้งหมด เท่ากับว่าทีมลงสีต้องลงสีรอยตกกระ
ไปถึง 40,000 รอย

20 มีการออกแบบและสร้างฉากรวม 240 ฉาก

Play video