[รีวิว] Ryuichi Sakamoto: Coda ศิลปินผู้เปลี่ยนความตายเป็นดนตรี
Our score
9.7

RYUICHI SAKAMOTO: CODA ดนตรี คีตา

จุดเด่น

  1. ที่สุดแห่งสารคดีดนตรี ครบเครื่องทุกแง่มุม
  2. ได้ปรัชญา ข้อคิดเยอะมาก
  3. เสียงในหนังทรงพลังขั้นสุด ทุกตัวโน้ตคือละเมียดมาก

จุดสังเกต

  1. นึกไม่ออก
  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • เนื้อหา ตรรกะ ความสมบูรณ์ของการเล่า

    9.5

  • ความงดงามในการถ่ายทอดทางปรัชญาชีวิต

    10.0

  • เสียง พลังด้านดนตรี

    10.0

  • ความคุ้มค่าตั๋ว

    10.0

Play video

เรื่องย่อ

คอหนังคลาสสิกต้องร้องเมื่อได้ยินสกอร์ของ Merry Christmas, Mr. Lawrence…มันคือฝีมือการประพันธ์และบรรเลงของ ริวอิจิ ซากะโมโตะ คอมโพสเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์ซึ่งเก่งกาจและโด่งดังด้านการทดลองทางดนตรีด้วยวิธีพลิ้วไหวหลากหลาย หนังทำให้เราได้ซึมซาบความเป็นศิลปินที่ทั้งฉลาด ละเอียดอ่อน เปี่ยมอารมณ์ขัน และเต็มไปด้วยความเศร้าของเขา ผ่านลีลาการเล่าที่ไม่ยึดติดกับโครงสร้าง แล้วปล่อยให้คนดูค่อยๆ รู้จักผลงานอันยิ่งใหญ่ของศิลปินผู้นี้ด้วยตัวเอง

Coda (It. โคดา,’tail’) 

ความหมาย: ส่วนเพิ่มเติมในบทประพันธ์เพลงซึ่งเพิ่มเข้าไปตรงส่วนท้ายของบทเพลงหรือท่อนเพลงชิ้นหนึ่ง ๆ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าเพลงจบแล้วมาจากคำอิตาเลียนแปลว่า “หาง”

ว่ากันตามจริงนี่เป็นสารคดีที่ชวนให้นึกถึงสารคดีเมื่อปีก่อนอย่าง Walk With Me ก้าวเดินกับฉัน ซึ่ง Documentary Club นำเข้ามาฉายอยู่เหมือนกันนะ ไม่ใช่ในแง่ของวิธีการเล่า หรือสาระสำคัญ หากแต่เป็นการเชื้อเชิญให้พินิจเสียงภายในตัวเรา การรับฟังเสียงชีวิตและเสียงความตายไปพร้อมกัน หลายคนเกิดมาเพื่อพิสูจน์ว่า มนุษย์สุดท้ายคือสิ้นสุด และบางคนเกิดมาเพื่อพิสูจน์ว่า แต่สุดท้ายผลงานนั้นเป็นนิรันดร์

ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นมากกว่าสารคดีที่พูดถึงคนทำดนตรีทั่ว ๆ ไป อาจเพราะงานเพลงของ ซากะโมโตะ  ริวอิจิ นั้น มีพลังบางอย่างที่ไหลหรือผิวผ่านแทรกเข้าไปในห้วงความรู้สึกของผู้ฟังราวกับ ธรรมชาติแห่งอารมณ์ ซึ่งเราไม่อาจขัดขืนอย่างไรอย่างนั้นเลย หลายคนน่าจะรู้จักเขาจากดนตรีอมตะอย่าง Merry Christmas, Mr. Lawrence ซึ่งก็เป็นส่วนผิวเผินในการที่เราจะรู้จักตัวตน ความคิด และจิตวิญญาณของศิลปินผู้มากฝีมือท่านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้แง่มุมที่ยิ่งใหญ่ของศิลปินที่เผชิญหน้ากับความตาย ซึ่งตัวหนังเปิดหัวไว้เปรียบเปรยโดยไม่ให้จงใจกับเปียโนที่ถูกสึนามิพัดมา ว่าที่สุดแล้ววัสดุที่มนุษย์บรรจงดัดแปลงก็จะหาวิธีคืนสู่ธรรมชาติในที่สุด เช่นเดียวกับซากะโมโตะผู้ตระหนักต่อเวลาชีวิตที่ไม่แน่นอนของคนเป็นครั้งแรกเมื่อทราบว่าตนป่วยเป็นมะเร็ง แต่หนังก็แสดงให้เห็นว่าเขาจ่อมจมอยู่กับมันเพียงชั่วครู่ ก่อนเปลี่ยนชีวิตตนเองสู่ดนตรีอันเป็นสิ่งที่รัก และหนังหรือตัวเขาก็ไม่เคยพูดถึงความตายอีกเลย

ไม่มีอะไรคลาสสิกกับคำว่า ความงดงามแห่งชีวิต ไปมากกว่านี้แล้ว

Play video

หลังจากข่าวการขอพักจากการทำดนตรีเพื่อรักษาตัวจากโรคร้ายของซากะโมโตะ อันเป็นข่าวใหญ่ของแวดวงดนตรีโลก ผู้กำกับอย่าง สตีเฟน โนมุระ ชีเบิล ก็ได้เฝ้าติดตามชีวิตของซากะโมโตะ และถ่ายทอดความเป็นปรัชญาและนามธรรมเหล่านั้นออกมาได้อย่างน่าตรึงตาตรึงใจ และแน่นอนพูดถึงซากะโมโตะ ย่อมตรึงโสตด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เราจะได้เห็นแง่มุมของเขาหลากหลายเลื่อนผันตามกาลเวลาและวัย ตั้งแต่การเป็นเซเลบวงการดนตรีเทคโนป๊อปในวัย 20 ต้น ๆ กับวง Yellow Magic Orchestra ก่อนจะเข้าสู่วงการหนังและดนตรีประกอบหนังใน Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) และในอีกไม่กี่ปีก็เปลี่ยนสถานะสู่เจ้าของออสการ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากหนังดังระดับโลกอย่าง The Last Emperor (1986) และมีผลงานผ่านหนังดังเรื่อยมาจนถึงหนังออสการ์ยุคหลัง ดนตรีประกอบของซากะโมโตะก็ยังคงมีที่ทางและบทบาทสำคัญในฐานะนักเล่าอารมณ์เช่นเดิม

นอกจากนั้นเรายังจะได้พบชีวิตส่วนอื่นของเขา เขาคือคนที่ลุกขึ้นยืนเป็นผู้อยู่แถวหน้าในขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ภายหลังโศกนาฏกรรมในฟุกุชิมะที่ญี่ปุ่นในปี 2011 แล้วเหมือนโชคชะตาจะไม่อยากให้ทุกอย่างราบรื่นเกินไป เขาถูกทดสอบครั้งใหญ่ ในปี 2014 จากการคุกคามของโรคมะเร็งระยะที่ 3 เพื่อให้โลกพบว่าเขาเองเป็นนักสู้ หรืออาจเป็นศิลปินผู้กระหายการสร้างผลงานเป็นมรดกแก่โลกจนโรคภัยยังต้องยอมแพ้ เมื่อเขากลับจากการพักรักษาตัวเพื่อมาทำงานดนตรีสุดรัก ที่อาจจะเป็นลาสต์มาสเตอร์พีซในช่วงท้ายแห่งชีวิตตามที่เขาคาดหมาย ซึ่งเราเพิ่งได้ประจักษ์ในหนังออสการ์อย่าง The Revenant และล่าสุดกับ Call Me By Your Name นั่นเอง

Play video

ตรงนี้ยอมรับว่าไม่ได้คาดหวังว่าเราจะได้เห็นแง่มุมการทำดนตรีในช่วงที่ผ่านมามากนักด้วยหนังอาจจับจดอยู่กับช่วงเวลาหลังของซากะโมโตะ แต่เอาเข้าจริงเมื่อชีวิตของเขาคือดนตรี ชายที่อุทิศลมหายใจเป็นตัวโน้ตแล้ว มันคงยากที่จะเลี่ยงหลีกหัวใจแห่งการทำงานของเขา เราได้ฟังทัศนคติถึงเบื้องหลังงานแต่ละชิ้น แต่ก็ไม่ใช่ด้วยวิธีที่เราคุ้นเคย ซากะโมโตะมักเกริ่นถึงเรื่องราวทุกอย่างเพียงเล็กน้อย และด้วยถ้อยคำที่ล้วนสะดุดใจให้เราต้องคิดต้องฟังอย่างตั้งใจ แล้วปล่อยที่เหลือให้ผลงานของเขาอธิบาย ด้วยเพลงแต่ละบทเพลงที่ถูกใส่เข้ามาล้วนแต่เติมเต็มคำอธิบายความคิดและชีวิตของเขาได้อย่างมหัศจรรย์ เฉกเช่นดนตรีประกอบหนังที่ล้วนแต่งมาเพื่อเล่าหนังเรื่อง ซากะโมโตะ ริวอิจิ

เราจักทำเยี่ยงไรเมื่อความตายมาเยือนหน้าประตูบ้าน

สารคดีเรื่องนี้จึงสะท้อน ท่อนเพลงชิ้นสุดท้าย (โคดา) เพื่อเป็นบทสรุปของ บทเพลงเต็มอันก้องกังวานในใจผู้ฟังทั่วโลก ที่ชื่อ ริวอิจิ ซากะโมโตะ นี้เอง

หนังเข้าฉายจำกัดโรงตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนนี้ ในเครือ SF (ดูสาขาที่ฉายก่อนไปรับชมนะครับ )และยังมีที่โรงหนังทางเลือกอย่าง Bangkok Screening Room ด้วย ส่วนตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม ตัวหนังยังจะไปฉายเพิ่มที่ House RCA ลองดูที่สะดวกกับการรับชมนะครับ แต่คอนเฟิร์มว่าคอศิลปะโดยเฉพาะสายหนัง สายดนตรีนี่ห้ามพลาดเลย