Play video

The last Emperor หรือ จักรพรรดิโลกไม่ลืม คือหนังชีวประวัติของจักพรรดิ์องค์สุดท้ายของจีน ที่เรารู้จักกันดีในนาม ผู่อี๋ หรือบ้านเราน่าจะคุ้นในนาม ปูยี ทั้งยังเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของผู้กำกับระดับครูหนังที่เพิ่งถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมาอย่าง เบอร์นาร์โด แบร์โตลุชชี ผู้กำกับชาวอิตาลี  หนังเรื่องนี้ยังเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์ถึง 9 รางวัล โดยชนะทุกรางวัลที่เข้าชิงทั้งยังมีรางวัลใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และกำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย และเช่นกันหนังยังชนะรางวัลใหญ่ในฝั่งเวทีลูกโลกทองคำในปีเดียวกันด้วยถึง 3 รางวัล ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่าด้วย จึงเป็นการันตีที่อาจไม่ต้องชื่นชมใด ๆ มากไปกว่านี้ก็ควรแค่แก่การเสาะแสวงหามารับชมแล้ว

ผกก. แบร์โตลุชชี่ ครั้งกำกับหนังเรื่องนี้

อย่างที่บอกว่าหนังเล่าเรื่องจักรพรรดิ์ปูยี ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายก่อนจีนเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐใต้ระบบคอมมิวนิสต์เต็มตัว สำหรับคนที่ไม่เคยดูมาก่อน แม้ตัวหนังจะมีอายุอานามกว่า 31 ปีแล้วแต่การเล่าเรื่องนับว่าไร้กาลเวลาอย่างมาก ดูได้ทุกยุคทุกสมัย ไม่รู้สึกว่าเก่าหรือเชยแต่อย่างใด

โดยหนังเล่าสลับ 2 ช่วงเวลาคือเปิดเรื่องด้วย ผู่อี๋ ในฐานะอาชญากรสงครามโลกที่ต้องเข้ารับการตัดสินโทษและชดใช้กรรมเฉกเช่นคนธรรมดาในเรือนจำของรัฐ และอีกช่วงเวลาที่เล่าสลับล้อกันไปคือช่วงเวลาตั้งแต่ ผู่อี๋ อยู่ในวัย 5 ขวบและถูกพรากจากบ้านเกิดเข้ารับตำแหน่งจักรพรรดิ์จีนอย่างไม่รู้ตัว เขาเติบโตอย่างดอกไม้งามที่ผิดรูปในพระราชวังต้องห้ามที่เป็นดั่งกระถางที่เข้มงวดในจารีตโดยไม่เคยได้ออกเห็นโลกภายนอกอีกเลย และส่วนสำคัญคือเขาเป็นประมุขของประเทศแต่ขาดสิทธิิ์แทบทุกอย่างภายใต้กฎมณเฑียรบาลของกษัตริย์ แม้แต่สิทธิ์ในการอยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริง ซึ่งความผิดแผกจากผู้อื่นนี้เขาไม่เคยได้เลือกเองแต่อย่างใดดั่งมีคนขีดวางทุกอย่างไว้เพียงเขาห้ามนอกลู่ทางก็เพียงพอ ซึ่งมันได้สะท้อนผ่านการเติบโตของผู่อี๋ในแต่ละช่วงวัยที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อด้านอารมณ์จากเด็กสู่หนุ่ม ทั้งยังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองโลกและการเมืองจีนด้วย เราจึงได้เห็นว่าจักรพรรดิ์ผู้นี้ตกต่ำลงจนเป็นนักโทษในอีกช่วงเวลาได้เช่นไร จะตัดสินเขาในฐานะใดหรือไม่นั้น หนังก็เปิดทางไว้ตรงกลางอย่างไม่มีอคติ ซึ่งน่าชื่นชมมาก

หนังเล่าผ่านสายตาของผู่อี๋ ทั้งยังเป็นความตั้งใจของแบร์โตลุชชี่ที่จะให้ใช้มุมภาพที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ของผู่อี๋ โดยไม่ต้องแสดงความยิ่งใหญ่อลังการให้ผิดรูป ผู้ชมจึงได้รับประสบการณ์เช่นเดียวกับที่ผู่อี๋เผชิญ กำแพงวังกั้นกลางผู่อี๋กับโลกภายนอกเช่นใด ผู้ชมก็ไม่ได้รับการอธิบายถึงเหตุการณ์ภายนอกเฉกนั้น มันจึงเป็นหนังที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่งวยงงสำหรับผู้ที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ยุคเปลี่ยนผ่านของจีนอันแสนวุ่นวาย ซึ่งก็คือความรู้สึกของผู่อี๋เช่นเดียวกัน และเชื่อว่าหลังหนังจบจะเชื้อเชิญผู้ชมให้ลองศึกษาบทเรียนทางประวัติศาสตร์จีนนี้เพื่อตอบข้อข้องใจและเข้าใจในสภาพของผู่อี๋ในแต่ละช่วงวัยมากขึ้นอย่างแน่นอน

และสำหรับคนที่เคยดูมาก่อน ก็ต้องยอมรับว่าคนที่ได้ดูในโรงเมื่อตอนหนังออกฉายใหม่คงมีไม่มาก ส่วนใหญ่เราคงได้ดูผ่านจอทีวีผ่านสื่อวิดีโอกันทั้งนั้น และส่วนใหญ่ก็มักได้ชมเวอร์ชั่น 3 ชั่วโมงที่ตัดเพิ่มสำหรับฉายทีวีกันด้วย แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ชมหนังฉบับดั้งเดิมที่ความยาว 163 นาทีซึ่งเป็นฉบับที่แบร์โตลุชชี่คิดว่าสมบูรณ์ที่สุด และที่สำคัญการทำไฟล์มาฉายนั้นสมบูรณ์มากทั้งภาพและเสียง ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รางวัลออสการ์มาแล้วทั้งคู่ โดยเฉพาะเพลงประกอบนั้นได้ ซากาโมโตะ เรียวอิจิ มาแสดงสมทบและทำเพลงให้ด้วย เรายังจะได้เห็นรายละเอียดความเป็นหนังถ่ายฟิล์มที่เก็บรายละเอียดแสงเงา เม็ดเกรนแบบคลาสสิก และความคมชัดที่ไม่ได้ถูกลดทอนเลย มันเป็นงานที่สมชื่อการเป็นหนังครูที่จะใช้ศึกษาทั้งโปรดักชั่น และวิธีการเล่า ดูกี่ครั้งก็ยังงดงาม จึงเป็นความสำคัญว่าควรได้ดูในระบบเสียงและระบบการฉายที่ออกแบบมาให้ชมอย่างเต็มอรรถรสเช่นนี้

โดยส่วนตัวความรู้สึกเทียบตอนดูในจอทีวีกับในโรงนั้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงเลย ทั้งรายละเอียดศิลป์ และรายละเอียดการแสดง ที่จะติติงมีบ้างคือ จอมันใหญ่เสียจนเห็นตัวประกอบสายตาหลุดมองกล้องได้บ่อยเลย ตลกดีครับ 555

หนังฉายตั้งแต่ 31 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์นี้ วันละ 1 รอบที่ SF Central World และ SF Maya ChiangMai  วันธรรมดา รอบ 18.45 น. และ เสาร์อาทิตย์รอบ 16.00 น.
ดูรอบจองตั๋วได้ที่ https://www.sfcinemacity.com/showtime/movie/HO00000417

และตั้งแต่วันที่ 7 – 16 กุมภาพันธ์ ที่ Bangkok Screening Room
สามารถเช็ครอบและจองได้ที่ https://bkksr.com/th/movies/the-last-emperor