หลังจากตระเวนไปนู่นมานี่ ในบทความ มาท่องพิภพ สยบอวกาศ แล้วนวยนาดในสุสานแดนอียิปต์ ผ่านระบบ VR กัน ! และแล้วเราก็ติดกับหลงเสน่ห์สุสานอียิปต์ซะได้ วันนี้เลยขอรีวิวสุสานเพิ่มไปเลยอีก 7 แห่งเป็นพิเศษ เอาใจคนชอบผจญภัยในแดนลี้ลับโดยเฉพาะ

สำหรับระบบนำชมเสมือนจริง (Virtual Tour; VR) นี้ รัฐบาลอียิปต์ได้ถ่ายทำมาเป็นอย่างดี ภาพมีความคมชัดสูงมากกกกก สามารถดูได้ทั้งผ่านแว่น VR และจอคอมพิวเตอร์ ระบบมีทั้งแบบพาชมคือ กดปุ่มเพลย์ที่มุมซ้ายล่างเพียงครั้งเดียว แล้วจะพาเดินและหยุดดูซ้ายทีขวาทีมาให้เสร็จสรรพ หรือเราจะเลือกเดินชมเองก็ได้ สามารถกดไล่ดูตามสัญลักษณ์วงกลมไปเรื่อย ๆ แล้วหยุดเลื่อนซูมดูเองได้ตามใจชอบ 

ระบบนำชมเสมือนจริง (VR) ในโหมดผ่านจอคอมพิวเตอร์ กลางภาพแสดงวิธีการชม ข้างล่างแสดงไฮไลต์ในแต่ละห้อง

 

แผนผังแสดงเส้นทางทั้งหมดที่สามารถชมได้ของสถานที่แห่งนั้น หากหลงทางสามารถปรับเปลี่ยนเป็นโหมดนี้เพื่อหาทางไปต่อได้

นอกจากนี้ ระบบ VR ยังทำให้เราได้ชมในจุดที่ปกติแล้วไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วย จะชมจุดไหนก็ไม่มีนักท่องเที่ยวคนอื่นมาบดบังหรือวนใจ เดินยังไงก็ไม่เหนื่อย ไม่เสี่ยงภัยอันตรายด้วย จะใส่หูฟังเล่นซาวนด์แทร็กหนังผจญภัย หรือดนตรีที่เข้ากันประกอบยามชมก็ย่อมได้ ข้อมูลก็มีให้อ่านเป็นระยะ ดังนั้นแล้ว การชมแบบนี้ จึงเก็บรายละเอียด และซึมซับบรรยากาศได้แบบสุด ๆ เล่ามาขนาดนี้คงพร้อมกันเต็มที่แล้ว งั้นเรามาเริ่มออกผจญภัยกันเลยดีกว่าครับ

 

Tomb of Khety 

เริ่มกันที่ สุสานอายุอานามราว 4,000 กว่าปี ของขุนนางชื่อ Khety จากราชวงศ์ที่ 11 ในยุคอาณาจักรกลาง (Middle Kingdom) ที่เมือง Beni Hassan หลายคนเข้าไปแล้วอาจคิดว่า เอ๊ะ ที่มันห้องสี่เหลี่ยมกว้าง ๆ ห้องหนึ่งเองไม่ใช่หรอ… มันไม่ใช่แค่นั้นหรอก ลองซูมดูรายละเอียดของภาพสิ 

ภาพต่าง ๆ ใน Tomb of Khety

นี่คือความเด็ดดวงของสุสานแห่งนี้ หากเราเคยผ่านตาภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับมัมมี่กันมาบ้าง ก็จะเห็นว่าภาพส่วนใหญ่ในเรื่องเป็นภาพเทพอียิปต์องค์นั้นบ้างองค์นี้บ้าง ไม่ก็เป็นพวกอักษรเฮียโรกลิฟฟิก (Hieroglyphics) หรือ อักษรภาพอียิปต์โบราณเต็มไปหมด ซึ่งนั่นก็เป็นลักษณะโดยทั่วไปของสุสานโบราณแห่งลุ่มแม่น้ำไนล์นั่นแหละ แต่ภาพภายในสุสานแห่งนี้กลับต่างออกไป เพราะเป็นเหมือนแหล่งรวมภาพเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน การทำมาหากิน ศิลปะการต่อสู้ ซึ่งอย่างหลังนี่แทบไม่ปรากฏให้เห็นในสุสานอื่นเลย รับรองความแปลกตาครับ

ตามไปชมแม่ไม้มวยชาวไอยคุปต์กันได้ที่ : Tomb of Khety

 

Pyramid of Djoser

จบจากสุสานขุนนาง เรามาดูสุสานฟาโรห์ของจริงกันบ้าง สุสานแห่งนี้ถือเป็นต้นแบบของพีระมิดทั้งมวล ทั้งยังเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ทำด้วยหินขนาดมโหฬารชิ้นแรกในประวัติศาสตร์โลก นั่นก็คือ พีระมิดขั้นบันไดของโจเซอร์ (Pyramid of Djoser) ที่ซัคคารา (Saqqara) อันโด่งดังนั่นเอง 

ระบบ VR ของที่แห่งนี้ครอบคลุมทั้งในส่วนที่เป็นเสาหินของสถานที่ที่เป็นส่วนประกอบพิธีด้านนอก และช่องทางเดินใต้ดินลึกลงไปใต้พีระมิด ทำให้เราได้เดินสำรวจ โผล่นู่นมุดนี่เสมือนได้ไปอยู่ในที่จริง และแม้ว่าพีระมิดแห่งนี้จะไม่มีภาพวาดให้เราชมเหมือนที่อื่น ๆ แต่ความอลังการของโครงสร้าง และร่องรอยหินตกแต่งที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดก็ทำให้เราจินตนาการถึงความสง่างามเมื่อครั้งอดีตได้ไม่ยากนัก

ปากทางเข้าใต้ฐานพีระมิดโจเซอร์ สามารถชมได้รอบให้ความรู้สึกเสมือนไปยืนตากแดดชมจริง ๆ เลยทีเดียว

 

ทางใต้ดินภายในพีระมิดโจเซอร์

พร้อมบุกรากเหง้าแห่งความอลังการ ตามไปยลกันได้เลยครับ :

ทางเดินเข้าไปยังพีระมิด : The Step Pyramid Complex of Djoser

ทางเดินใต้ดินภายในพีระมิด : Djoser Step Pyramid Southern Entrance

 

Tomb of Ramses VI 

ยังคงอยู่ที่สุสานของฟาโรห์ แต่มาที่อีกยุคหนึ่งกันบ้าง สุสานแห่งนี้ เป็นสุสานของฟาโรห์รามเสสที่ 6 (Ramses VI) สมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) ในหุบผากษัตริย์ที่เมืองลักซอร์ (Luxor) 

นอกจากทางเดินที่ทอดยาวแบบที่เราเคยเห็นในแผนผังพีระมิดแล้ว ที่แห่งนี้ยังอุดมไปด้วยผนังและเพดานที่อันแน่นไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางสู่โลกหลังความตาย บนเพดานคือ คัมภีร์ที่เรียกว่า “คัมภีร์ทิวาราตรี” (Book of Days and Nights) เล่าถึงวัฏจักรขึ้นลงของสุริยะเทพ ส่วนผนังฝั่งซ้ายมือคือ “คัมภีร์แห่งประตู” (Book of Gates) ด้านขวาคือ “คัมภีร์แห่งถ้ำ” (Book of Caverns) ส่วนห้องสุดท้ายยังมี “คัมภีร์แห่งผืนปฐพี” (Book of the Earth) อีกด้วย ซึ่งล้วนเป็นคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับโลกหลังความตายทั้งสิ้น

เรื่องราวจากนานาคัมภัร์ที่รายล้อมทุกด้าน ยิ่งตอกย้ำความอลังการของสุสานฟาโรห์แห่งนี้

 

สีบนผนังและเพดานที่ยังแจ่มชัดเหมือนใหม่ตระการตา

นอกจากนี้ยังมีรูปเทพเจ้าบนเสาใหญ่ยักษ์ที่สลักอย่างสวยงาม ซูมดูก็เห็นรายละเอียดชัดเจน น่าตื่นตาไม่หยอก ยิ่งห้องที่ตั้งโลงศพในสุด ภาพวาดบนเพดานยิ่งแจ่มชัดประหนึ่งเดินย้อนหลงไปอีกยุค มันช่างน่าทึ่งจริง ๆ สิพับผ่า !

พร้อมบุกสุสานฟาโรห์อันสวยสดงดงามกันแล้ว ก็จิ้มลิงก์นี้กันไปได้เลย : Tomb of Ramses VI

 

Tomb of Mehu

หนึ่งในสุสานยุคอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) ที่สวยและสมบูรณ์ที่สุดในซัคคารา (Saqqara) สุสานนี้เป็นสุสานฝังศพของตระกูล คือมีทั้งศพของ Mehu ลูกชาย Meryre และหลานชาย Hetepaka (หรืออาจะเป็นลูกชายอีกคน) Mehu เป็นขุนนางในช่วงต้นราชวงศ์ที่ 6 สมัยฟาโรห์เตติ (Teti) กับเปปิที่ 1 (Pepi I) 

นอกจากโดดเด่นด้วยภาพการใช้ชีวิต การทำเกษตร และล่าสัตว์ของคนสมัยนั้น ภายในสุสานแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “ประตูปลอม” (False Door) ที่สวยและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในอียิปต์ด้วย ตามความเชื่อของชาวไอยคุปต์ ประตูนี้คือ ทางผ่านให้ดวงวิญญาณสามารถเดินทางจากโลกคนเป็นไปสู่โลกคนตายได้ และมักจะประดับไว้บนผนังฝั่งทิศตะวันตกของสุสาน (หันหน้าออกไปทางตะวันออก) นั่นเอง

ประตูปลอมภายใน Tomb of Mehu

พร้อมวาบไปดูความงามของประตูแล้ว ไปที่ลิงก์นี้ได้เลยครับ : Tomb of Mehu

 

Tomb of Niankhkhnum and Khnumhotep 

สุสานของสองพี่น้องแห่ง Abu Ghurab ณ เมืองซัคคารา (Saqqara) สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ที่ 5 สองพี่น้องนี้เป็นนักบวชในวิหารของเทพรา (เทพแห่งดวงอาทิตย์) ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ Nyuserra เมื่อประมาณ 4,400 กว่าปีก่อน ภายในมีภาพที่สวยงามด้วยสีสันสดสวย มีภาพการเลี้ยงสัตว์ การนำสัตว์มาบูชายัญ การต่อสู้กัน ซึ่งมีรายละเอียดที่ค่อนข้างสมบูรณ์ 

ความน่าสนใจของสุสานแห่งนี้คือ การฝังพี่น้องร่วมกันซึ่งไม่ได้มีให้พบเห็นบ่อยนัก จึงเชื่อมโยงไปถึงความน่าสนใจอีกอย่างนั่นคือ หรือนี่จะเป็นสุสาน “คู่เกย์” มากกว่าจะเป็นพี่น้องอย่างคำบอกกันแน่ แถมยังมีภาพที่ชวนให้หลายคนจิ้นหรือคิดไปไกลอีกด้วย 

ทางเข้าสุสานของสองพี่น้อง

 

ภายใน Tomb of Niankhkhnum and Khnumhotep

ทว่า หากสังเกตดี ๆ จะพบกับรูป “ลูก” และ “ภรรยา”  ของทั้งคู่อยู่ด้วย เป็นอันจบข้อสันนิฐานข้างต้นไป แต่รูปนี้อาจจะเห็นยากสักหน่อย ผิดกับรูปชวนคิดไกล ต้องใส่ใจซูมเข้าออกกันพอดู

อยากรู้รูปไหนชวนให้คิดไกล และรูปไหนไขข้อข้องใจ ตามไปสำรวจรายละเอียดกันได้ ตามลิงก์นี้เลยครับ : Tomb of Niankhkhnum and Khnumhotep

 

Catacomb

เอาล่ะ พาชมความอลังการกันมาเยอะแล้ว คราวนี้ถึงทีสายหลอนกันบ้าง ไปสุสานทั้งทีมันก็ต้องมีโมเมนต์นี้กันบ้างแหละ 

ถ้าคุณชอบบรรยากาศมืดครึมอึมครึ้ม สไตล์เกมสยองแบบ Resident Evil หรือ Bio Hazard ก็ไม่ควรพลาด สุสาน Kom el-Shoqafa หรือ “คาตาคอมพ์” (Catacomb) เป็นอย่างยิ่ง ที่แห่งนี้เป็น “สุสานใต้ดิน” จากสมัยโรมันในเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) 

และด้วยความที่มันอยู่ใต้ดินบวกกับการจัดแสงที่สุดสลัวนี่แหละ พอบวกเข้ากับสองผนังข้างทางที่เป็นช่อง ๆ สี่เหลี่ยม ขนาดประมาณโลงพอดี ก็ชวนให้คิดว่าจะมี ‘อะไร’ โผล่มาเซอร์ไพรส์ได้ตลอดเวลา ส่วนทางเดินน่ะรึ ก็คับแคบชวนอึดอัดไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพดานที่ต่ำเตี้ยก็เสริมความรู้สึกบีบอัดเป็นระยะ ชวนให้หลอน ๆ วาบ ๆ ตลอดเส้นทาง แถมยังพาให้มึนหลงทางอีกต่างหาก นี่ขนาดชมผ่าน VR ยังขนาดนี้ ของจริงมันจะหลอนขนาดไหนกันเนี่ย 

ทางเดินอันวกวนในคาตาคอมพ์

ผนังและเพดานอันชวนให้รู้สึกอึดอัดใจ

ใครอยากไปสัมผัสโลกลี้ลับ เราขอท้าให้ไปเยือนสุสานแห่งนี้เป็นการด่วน ๆ เลยจ้า : Catacomb

 

Tomb of Wahty

แม้จะเพิ่งค้นพบเมื่อปลายปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา แต่ทางการอียิปต์ก็ออกสุสาน Wahty สุสานของนักบวชในนามเดียวกัน อายุราว 4,400 ปี จากสมัยราชวงศ์ที่ 5 ที่เมืองซัคคารา (Saqqara) ในรูปแบบ 3D มาให้ยลกันแล้ว

แม้พื้นที่ที่ชมได้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็อัดแน่นด้วยรูปสลักแบบนูนสูง และรายละเอียดของผนังที่ตระการตาจนน่าเหลือเชื่อ ประดับไปด้วยภาพสลักของ Wahty พร้อมด้วยอักขระเฮียโรกลิฟฟิคที่บอกเล่าเรื่องราวของเขาและครอบครัวเอาไว้ บางภาพยังแสดงถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานแกะสลัก หรืองานหลอมโลหะ ของชาวไอยคุปต์เอาไว้ด้วย 

ความสมบูรณ์ละลานตาของ Tomb of Wahty

นักอียิปต์วิทยากล่าวว่า สุสานของ Wahty นี้เป็นสุสานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แถมยังไม่เคยถูกรบกวนมาก่อน ความน่าสนใจอีกอย่างคือ ภายในสุสานนี้ยังมี “ปล่องฝังศพ” อีกถึง 4 ปล่องด้วยกัน แต่น่าเสียดายว่า เรายังไม่สามารถมุดลงไปสำรวจได้ เพราะยังอยู่ในระหว่างการขุดค้น 

ใครอยากไปสัมผัสสุสานสดใหม่ไร้การรบกวนแบบนี้ ตามไปที่ลิงก์นี้ได้เลยTomb of Wahty

 

เป็นยังไงกันบ้างครับ กับ 7 สุสานที่นำเสนอ หากอยากติดตามชมเพิ่มเติมหรือเพิ่มอรรถรสในการเที่ยวชม แนะนำให้กดติดตามเพจ Iyakoop Society – โบราณคดีอียิปต์และอารยธรรมโลก กันไว้ เพราะทางเพจยังมีการนำชมแบบไลฟ์สดด้วย สำหรับสุสานล่าสุดอย่าง “Tomb of Wahty” นี้ แอดมินเพจจะนำชมแบบไลฟ์สด ในคืนวันเสาร์ที่ 25 เมษายนนี้ รับรองครบเครื่องทั้งความตื่นตา และสาระความรู้กันเลยครับ 

อ้างอิง1

อ้างอิง2

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส