ภาพยนตร์และดนตรีเป็นศิลปะที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในภาพยนตร์ เสียงดนตรีและบทเพลงคือเครื่องขับกล่อมทางอารมณ์ เติมเต็มช่องว่างทางความรู้สึกของตัวละครให้ผู้ชมได้รับรู้ ขยายขอบเขตของอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละฉากช่วงของเรื่องราว นอกจากนี้บทเพลงและศิลปินเพลงอาจเป็นแรงบันดาลให้เกิดภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ ได้ เช่น Yesterday หรือ Across The Universe แรงบันดาลใจจาก The Beatles รวมไปถึงภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของนักดนตรี หรือ คนที่มีใจรักในเสียงดนตรี เช่น ภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องจาก จอห์น คาร์นีย์ Once, Begin Again และ Sing Street หรือภาพยนตร์ของเดเมียน ชาเซลล์ อย่าง Whiplash หรือ La La Land รวมไปถึงซีรีส์เรื่อง The Eddy ที่ออนแอร์อยู่ทาง Netflixก็ล้วนแล้วแต่มีดนตรีเป็นแกนหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องราวอันน่าประทับใจเหล่านี้ ในทางตรงกันข้าม ภาพยนตร์เองก็อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทเพลงต่าง ๆ ขึ้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน นักแต่งเพลงและศิลปินทั้งหลายต่างก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวที่น่าประทับใจในภาพยนตร์จนกลั่นมันออกมาผ่านเสียงดนตรีของเพลงเขา ลองไปสัมผัส 10 บทเพลงเหล่านี้ ที่อาจจะมาจากหนังเรื่องโปรดของคุณ หรือ หากมันมาจากหนังที่คุณยังไม่เคยได้ชม หลังจากฟังเพลงเหล่านี้แล้วก็อาจลองไปหาหนังที่เป็นแรงบันดาลใจของเพลงเหล่านี้ดูต่อเลยก็ได้ครับ !!

“Debaser” – Pixies

จากภาพยนตร์เรื่อง Un Chien Andalou (1929)

ผลงานจากอัลบั้ม ‘Doolittle’ ในปี 1989 จากวงอเมริกันอัลเทอร์เนทีฟร็อกนาม ‘Pixies’ เนื้อหาของเพลงนี้มีที่มาจากหนังสุดเซอร์ระดับคลาสสิกเรื่อง Un Chien Andalou (1929) (ชื่อหนังเป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘สุนัขแห่งอันดาลูเชีย’) ภาพยนตร์ในแนวเซอร์เรียลลิสต์จากผู้กำกับสุดติสต์ หลุยส์ บุนนูเอล (Luis Buñuel) และ เจ้าพ่อเซอร์เรียลลิสต์ ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากความฝันของทั้งคู่ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่ทั้งชวนเหวอ ชวนหลอน และไร้ซึ่งตรรกะใด ๆ ไม่แปลกอะไรหากเราจะดูหนังเรื่องนี้ไม่รู้เรื่อง แต่ถึงแม้จะไม่รู้เรื่องแต่รับประกันเลยว่ามันจะอยู่ในใจเราไปตราบนานเท่านาน 

เนื้อเพลงในท่อนที่ร้องว่า “Slicin’ up eyeballs/I want you to know.” นั้นอ้างอิงมาจากฉากเด็ดของหนังเรื่องนี้ที่เป็นภาพใบมีดโกนปาดพาดผ่านดวงตาของหญิงสาว ส่วนท่อนที่ร้องว่า “I am un chien andalusia” นั้นก็มาจากชื่อเรื่องของหนังเรื่องนี้ที่ไม่ได้มีสิ่งใดเชื่อมโยงอะไรกับเรื่องราวในหนังเลย แต่เดิมท่อนนี้จะร้องว่า “Shed, Apollonia!” ซึ่งอ้างอิงมาจากฉากหนึ่งในหนังเรื่อง Purple Rain ของ Prince ส่วนเหตุผลที่ตั้งชื่อเพลงนี้ว่า “Debaser” นั้นอ้างอิงมาจากประเด็นที่ Un Chien Andalou ถูกกล่าวหาว่าเป็นหนังที่ลดทอนศีลธรรมและมาตราฐานของงานศิลปะนั่นเอง

ฉากปาดตาในตำนาน

“Matilda” – alt-J

จากภาพยนตร์เรื่อง Léon: The Professional (1994)

ผลงานจากอัลบั้มเดบิวต์ระดับรางวัล Mercury Prize “An Awesome Wave” ในปี 2012 จากวงอินดี้ร็อกจากอังกฤษ ‘alt-J’  reference เพลงนี้น่าจะเห็นได้ชัดเลยตั้งแต่ชื่อเพลง เพราะชื่อ ‘มาทิลดา’ นั้นเป็นชื่อตัวละครนางเอกของหนังเรื่องนี้ที่รับบทโดย นาตาลี พอร์ตแมน นั่นเอง สำหรับ Léon: The Professional หรือ ลีออง เพชฌฆาตมหากาฬ นั้น เป็นภาพยนตร์แนวดรามาแอ็กชันผลงานการกำกับของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ลุก แบซง (Luc Besson) ที่สร้างผลงานในสไตล์แอ็กชัน ทริลเลอร์ และไซไฟเอาไว้มากมาย อาทิ Nikita, The Fifth Element และ Lucy เป็นต้น เล่าเรื่องราวของ ‘ลีออง’ (รับบทโดย ฌอง เรโน) นักฆ่าหน้าโหดที่โหดแต่ภายนอกแต่ข้างในนั้นมีจิตใจที่อ่อนโยน เขาคือนักฆ่าฝีมือดีที่ทำงานไม่เคยพลาด วันหนึ่งเขาได้ช่วยชีวิต ‘มาทิลดา’ (นาตาลี พอร์ตแมน) เด็กสาววัย 12 ที่ครอบครัวเธอถูกสังหารทั้งหมด ทำให้ลีอองต้องเก็บเธอมาดูแลและพาเธอไปสู่โลกอีกใบที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำให้เราประทับใจก็คือความสัมพันธ์อันงอกงามระหว่างลีอองกับมาทิลดานี่ล่ะ และแน่นอนว่าบทเพลง “Matilda” นี่ก็เขียนขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศแด่ความสัมพันธ์ของสองตัวละครนำในหนังเรื่องนี้นั่นเอง (ซึ่งก่อนหน้าที่จะออกอัลบั้มนี้ alt-J ก็เคยปล่อยเพลงที่ชื่อว่า Leon ออกมาก่อนหน้านี้ด้วย)

ซีนอารมณ์ระหว่างลีอองและมาทิลดา

“Only” – Nine Inch Nails

จากภาพยนตร์เรื่อง Fight Club (1999)

ผลงานจากอัลบั้ม “With Teeth” ในปี 2005 จากวงอเมริกันอินดัสเทรียลร็อก ‘Nine Inch Nails’ เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังเรื่อง ‘Fight Club’ ดิบดวลดิบ ของ เดวิด ฟินเชอร์ ( David Fincher) ผู้กำกับสายโหดเจ้าของผลงานทริลเลอร์เรื่องเยี่ยมอาทิ Se7en , Gone Girl รวมไปถึงหนังดรามาสุดหม่นปนระทึก “The Social Network” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กนั่นเอง

‘Fight Club’  เล่าเรื่องของชายหนุ่มพนักงานออฟฟิศผู้เบื่อชีวิตและหมดอาลัยตายอยาก (รับบทโดย เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) ซึ่งได้มาพบกับ ไทเลอร์ เดอร์เดน (รับบทโดย แบรด พิตต์) ชายหนุ่มสุดเท่ที่หามีกฏเกณฑ์ใดที่จะเหนี่ยวรั้งเขาจากการใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงได้ และเดอร์เดน ผู้นี้แหละที่พาเขาไปรู้จักกับด้านมืดของชีวิตโดยมี Fight Club ชมรมมวยใต้ดินเป็นแหล่งระบายความอัดอั้นใจในชีวิต หนังเรื่องนี้มีประเด็นทางจิตวิทยาที่น่าสนใจและลุ่มลึก สะท้อนความรู้สึกสับสนของคนได้ดียิ่ง ในเนื้อเพลงมีท่อนที่ร้องว่า “You were never really real to begin with, I just made you up to hurt myself” ซึ่งสื่อถึงประเด็นสำคัญของหนังได้เป็นอย่างดี 

กฎข้อแรกของไฟต์คลับคือ “ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดพูดถึงเรื่องไฟต์คลับ” กฎข้อสองของไฟต์คลับคือ “ห้ามผู้หนึ่งผู้ใดพูดถึงเรื่องไฟต์คลับ” กฎข้อสามของไฟต์คลับคือ “ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดขอให้หยุด ปวกเปียก หมดแรง ให้ถือว่าการต่อสู้สิ้นสุด”

“Build God, Then We’ll Talk” — Panic! At The Disco

จากภาพยนตร์เรื่องง The Sound Of Music (1965)

แทร็กสุดท้ายจากอัลบั้มเดบิวต์ ‘A Fever You Can’t Sweat Out’ ของ Panic! at the Disco เราจะเห็น reference ได้ชัดเจนในท่อน bridge ของเพลงที่ถอดเมโลดี้มาจากท่อน chorus ของเพลง ‘My Favorite Things’ จากหนังออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 1965 ‘The Sound of Music’ มนต์รักเพลงสวรรค์ นอกจากนี้เนื้อเพลงในท่อนนี้ยังยั่วล้อกับเนื้อเพลง ‘My Favorite Things’ ด้วย

เนื้อจากท่อน bridge ของ ‘Build God, Then We’ll Talk’

There are no… raindrops on roses and girls in white dresses

It’s sleeping with roaches and taking best guesses

At the shade of the sheets and before all the stains

And a few more of your least favorite things

เนื้อจากท่อนแรกของ ‘My Favorite Things’

Raindrops on roses and whiskers on kittens

Bright copper kettles and warm woolen mittens

Brown paper packages tied up with strings

These are a few of my favorite things

ซีนน่ารัก ๆ กับบทเพลง ‘My Favorite Things’

“Death Of An Interior Decorator” — Death Cab For Cutie

จากภาพยนตร์เรื่อง Interiors (1978)

ผลงานสุดแจ่มจากวงอเมริกันอัลเทอร์เนทีฟร็อก Death Cab For Cutie ในอัลบั้ม Transatlanticism (2003) เนื้อหาของเพลงนี้อ้างอิงมาจากเรื่องราวใน Interiors (1978) ภาพยนตร์แนวดรามาเต็มรูปแบบเรื่องแรกจาก ‘วูดดี้ อัลเลน’ ผู้กำกับระดับตำนานของฮอลลีวู้ดผู้มีลีลาเสียดสีอันคมคาย ที่มาพร้อมทัพนักแสดงคุณภาพ Kristin Griffith, Mary Beth Hurt, Richard Jordan, Diane Keaton, E. G. Marshall, Geraldine Page, Maureen Stapleton และ Sam Waterston ตัวหนังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 4 สาขาด้วยกันคือบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม กำกับการแสดงยอดเยี่ยม สมทบหญิงยอดเยี่ยม (Maureen Stapleton) และ กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ Geraldine Page ยังได้รับรางวัลนักแสดงสมบทหญิงยอดเยี่ยมจาก BAFTA อีกด้วย เพลงนี้เปิดด้วยประโยคแรกของเพลงที่ร้องว่า ‘You were the mother of three girls so sweet’ ซึ่ง ‘three girls’ ที่ว่าก็คือตัวละคร 3 ศรีพี่น้องในหนังเรื่องนี้คือ Renata (Diane Keaton), Flyn (Kristin Griffith), และ Joey (Mary Beth Hurt) นั่นเอง

ฉากเปิดเรื่อง Interiors

“Freddy Kruger” –  S.O.D.

จากภาพยนตร์เรื่อง A Nightmare on Elm Street (1984)

มาทางฝั่งเพลงเมทัลกับหนังสยองขวัญกันบ้าง กับบทเพลง ‘Freddy Krueger’ ของวง Stormtroopers of Death หรือ S.O.D. ที่ชื่อเพลงก็บอกอยู่แล้วว่ามาจาก นิ้วเขมือบสุดสยองตำนานปีศาจแห่งฝันร้าย ‘เฟรดดี้ ครูเกอร์’ จาก A Nightmare on Elm Street ซึ่งทั้งตัวดนตรีและเนื้อหาเพลงก็เข้ากันได้ดีกับความหลอนของปีศาจฆาตกรตัวนี้จริง ๆ อย่างเนื้อเพลงในท่อนนี้ก็บรรยายตัวเฟรดดี้ได้แบบใช่เลยจริง ๆ

“His teeth are black

Flex metal knuckles with a crack

Maggots crawling all throughout his skin

He’ll get them all

Everyone will hear his call

When the razors grip beneath their chin”

ฉากสยอง (แบบเบาะ ๆ) จาก A Nightmare on Elm Street

https://www.youtube.com/watch?v=7FPPZRR1qs8

“Red Rum” – Lizzy Borden 

จากภาพยนตร์เรื่อง The Shining (1980)

งานเพลงฮาร์ดร็อกอันเร้าใจกับเนื้อหาของเพลงที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “The Shining” หนังสยองขวัญสุดคลาสสิกของสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ที่แจ็ก นิโคลสัน ได้ฝากการแสดงสุดหลอนระทึกเอาไว้ เนื้อหาในท่อนแรกของเพลงที่ร้องว่า “All work and no pay / Makes Jack a dull boy” นั้นอ้างอิงมาจากประโยคคลาสสิกที่ตัวละคร แจ็ก ทอร์เรนซ์ (รับบทโดย แจ็ก นิโคลสัน) เวอร์ชันที่เสียสติแล้วนั่งพิมพ์ดีดประโยคนี้ซ้ำไปมาบนกระดาษ ส่วนชื่อเพลง “Red Rum” และท่อน “Red rum – in two thirty seven / Red rum – a drink for your soul” ก็มาจากฉากที่ตัวละครลูกซึ่งมีพลังพิเศษนั้นเหมือนถูกผีสิงแล้วหยิบลิปสติกแม่ไปเขียนคำว่า “REDRUM” เอาไว้ที่ประตูห้องซึ่งมันก็คือคำว่า “MURDER” ที่เขียนย้อนหลังมาหน้านั่นเอง ส่วน ‘237’ ก็คือเลขห้องสำคัญในหนังเรื่องนี้นั่นเอง (แต่เดิมในนิยายเป็นห้องเบอร์ 217 แต่ โรงแรม Timberline Lodge สถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ไม่ยอมให้ คูบริกใช้ห้อง 217 ตามในหนังสือ เพราะกลัวว่าแขกจะหลอนและไม่กล้ามาพัก ก็เลยเปลี่ยนเป็นห้อง 237 ซึ่งสมมติขึ้นมาเองเพราะที่โรงแรมไม่มีห้องเบอร์นี้)

ฉาก REDRUM

“Fidelity” – Regina Spektor

จากภาพยนตร์เรื่อง High Fidelity (2000)

“Fidelity” บทเพลงจากนักร้องสาว เรจินา สเป็กเตอร์ (Regina Spektor) ที่สำรวจความเข้าใจในห้วงอารมณ์ของการตกหลุมรักและความกังวลเกี่ยวกับความปวดใจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันอาจเกิดขึ้นจากการที่เรายอมมอบใจให้กับใครสักคน เพลงนี้สเป็กเตอร์เขียนขึ้นมาหลังจากได้ชมหนังเรื่อง High Fidelity (2000) ‘รักตกร่อง’ หนังโรแมนติกคอมเมดี้ของคนรักดนตรี อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ร็อบ กอร์ดอน’ เจ้าของร้านขายแผ่นเสียง ( รับบทโดย จอห์น คูแซ็ก) ที่อกหักซ้ำซาก จนมาที่ ‘ลอร่า’ สาวคนล่าสุดซึ่งร็อบไม่อาจเอาเธอออกไปจากใจได้เลย จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่องอนง้อขอให้เธอกลับมาเหมือนเก่า มีความบรรเจิดอันน่าประทับใจอย่างหนึ่งในตัวละครร็อบก็คือความบ้าจัดอันดับของเขาถึงขนาดมีการจัดอันอับ 5 สาวที่หักอกเขา และ 5 บทเพลงรักในยามอกหัก !! บอกเลยว่านี่เป็นหนังที่คอเพลงไม่ควรพลาด หากได้ดูหนังเรื่องนี้จะต้องตกหลุมรักแน่นอน

ฉาก ‘บทเพลงที่หนึ่ง แห่ง Top 5 บทเพลงรักร้าวรานตลอดกาล’

“The Seventh Seal” – Scott Walker

จากภาพยนตร์เรื่อง The Seventh Seal (1957)

ในฐานะหนึ่งในสมาชิกของ The Walker Brothers สก็อตต์ วอล์คเกอร์ คือพอปไอดอลตัวจริงแห่งทศวรรษที่ 60s แต่ถึงอย่างนั้นซิงเกิลในปี 1965 อย่าง ‘The Sun Ain’t Gonna Shine Anymore ‘ ก็ได้ฉายให้เห็นถึงความดาร์กบางประการในงานเพลงของพวกเขา จนเมื่อสก็อตต์ได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นศิลปินเดี่ยวเราก็ได้เห็นถึงสิ่งที่น่าตื่นเต้น ท้าทาย และมีชั้นเชิงทางศิลปะในงานเพลงของเขา ซึ่งบทเพลง ‘The Seventh Seal’ เพลงเปิดจากอัลบั้มเดี่ยวชุดที่สี่ ‘Scott 4’ (1969) ก็เป็นตัวอย่างอันดีของผลงานคุณภาพจาก สก็อตต์ วอล์คเกอร์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เชิงปรัชญาสุดคลาสสิกระดับตำนาน ‘The Seventh Seal’ ของผู้กำกับบรมครูชาวสวีเดน ‘อิงมาร์ เบิร์กแมน’ (Ingmar Bergman) ว่าด้วยเรื่องราวการเดิมพัน “ความตาย” ด้วยกระดานหมากรุกของอัศวินและยมทูต ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลขวัญใจกรรมการจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ รวมทั้งเป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงและเป็นแรงบันดาลใจต่อหนังมากมายในยุคต่อ ๆ มา

“Red Angel Dragnet” – The Clash

จากภาพยนตร์เรื่อง Taxi Driver (1976)

ผลงานจากอัลบั้ม ‘Combat Rock’ ในปี 1982 อัลบั้มยุคคลาสสิกชุดสุดท้ายของวงพังก์ร็อกจากลอนดอน  ‘The Clash’ (หลังจากนั้นมือกลอง Topper Headon ก็ถูกไล่ออกและมือกีตาร์ Mick Jones ก็โดนไล่ออกเป็นรายต่อมา) / (ปกอัลบั้มนี้ถ่ายที่ทางรถไฟในประเทศไทยด้วย) เพลง ‘Red Angel Dragnet’ นี้ถึงแม้จะได้รับแรงบันดาลใจจากคดีฆาตกรรมใน Newark รัฐนิวเจอร์ซีย์ แต่เนื้อเพลงก็มีการอ้างอิงถึงคนขับรถแท็กซี่อารมณ์เปลี่ยวแห่งมหานครนิวยอร์ก ‘ทราวิส บิคเคิล’ ตัวละครเอกจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Taxi Driver’ อย่างชัดเจน  “Tonight it’s raining on the city/Who could have prophesised these people/Only Travis.”

ภาพยนตร์เรื่อง ‘Taxi Driver’ เป็นผลงานการกำกับระดับมาสเตอร์พีซของปู่มาร์ติน  สกอร์เซซี ยอดผู้กำกับระดับตำนานของวงการฮอลลีวูดที่เพิ่งฝากผลงานชิ้นล่าสุด ‘The Irish Man’ ไว้ใน Netflix ‘Taxi Driver’ เป็นเรื่องราวของ ทราวิส บิคเคิล (รับบทโดย โรเบิร์ต เดอร์นิโร) อดีตทหารเรือผู้เพิ่งกลับมาจากสงครามเวียดนามและเป็นโรคนอนไม่หลับ จึงไปสมัครทำงานเป็นคนขับแท็กซี่ยามค่ำคืน จนพบกับความฟอนเฟะตามท้องถนนในมหานครนิวยอร์ก เมื่อได้พบกับ ไอริส ( รับบทโดย โจดี ฟอสเตอร์ ในวัยเด็กน้อย) โสเภณีเด็ก เธอจึงกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรงจัดการกับ “ความสกปรก” ในสังคม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ด้วย

ฉาก ‘You Talkin’ to Me?’ สุดคลาสสิก

Source

shortlist

altpress

metalsucks

Genius.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส