ก่อนจะหมดเดือนกรกฎาคมที่เป็นเดือนแห่งการครบรอบ 35 ปีการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของ Back to the Future ภาคแรก ก็มาต่อกันที่ “รวมเรื่องที่เราขอท้าว่า คุณพลาดไปแน่ ๆ ตอนที่ 2” ซึ่ง What the Fact ได้เคยนำเสนอตอนแรกไปแล้ว ย้อนกลับไปอ่านกันได้ และในตอนนี้ทั้ง Netflix และฟรีทีวีก็มีการนำไตรภาคนี้กลับมาฉายอีก สำหรับผู้มีอายุต่ำกว่าเลข 4 ลงมาที่เกิดไม่ทัน ก็น่าจะมีโอกาสได้ชมหนังสนุก ๆ เรื่องนี้ของรุ่นพี่รุ่นพ่อ ที่แม้ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน หนังก็ยังดูสนุกอยู่เสมอ
- ชวนอ่าน “ยิ่งเก่ายิ่งดี! รำลึก 35 ปี Back to the Future ทำไมผ่านมาจนวันนี้…หนังก็ยังฮิตตลอดกาล“
- ชวนอ่าน “ชวนย้อนอดีตยุค 80s ชี้เป้าจุดสำคัญใน Back To The Future ที่หลายคนอาจไม่สังเกตเห็น“
- ชวนอ่าน “ผู้กำกับ เจมส์ กันน์ ชี้ช่องโหว่ในหนัง Back to the Future ร้อนถึง บ็อบ เกล ผู้เขียนบทต้องออกมาอธิบาย“
Marty ได้เจอกับ Mr. Peabody and Sherman การ์ตูนคู่หูนักท่องเวลา
แม้ในหนังจะไม่ได้เอ่ยชื่อออกมาชัด ๆ แต่ตอนที่ Marty McFly เดินทางย้อนเวลากลับไปปี 1955 และไปโผล่ในไร่ของตาแก่ Peabody เจ้าของที่ตั้งห้าง Twin Pines Mall ลูกชายของ Peabody ในเรื่องนั้นมีชื่อว่า Sherman โดยหนังต้องการจะโยงไปที่ตัวละครคู่หูสุดฮิต Mr. Peabody and Sherman ในการ์ตูนชุดที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับการย้อนเวลาเหมือนกันอย่าง The Adventures of Rocky and Bullwinkle ที่ออกฉายทางโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อปี 1959
Sherman เป็นแฟนหนังสือการ์ตูนวิทยาศาสตร์ยุคคลาสสิก

เด็กชาย Sherman ที่ตกใจเมื่อเห็น Marty โผล่มากลางไร่ของครอบครัวตัวเอง เขาคว้าหนังสือ Tale from the Space ขึ้นมาเพื่อจะบอกพ่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นช่างเหมือนในหนังสือที่เขาอ่านอยู่ ในฉากนี้จะเห็นโลโก้ของค่ายหนังสือการ์ตูนในตำนานอย่าง EC Comics ที่ตีพิมพ์การ์ตูนแนวไซไฟวิทยาศาสตร์มากมาย รวมถึง Tales from the Crypt ที่หนังแสดงการคารวะด้วยการใส่ชื่อคล้าย ๆ กันนี้ในหนังสือเล่มที่ว่าด้วย นอกจากนั้น Tale from the Space ยังอ้างอิงไปถึงชื่อตอนหนึ่งของหนังดังในอดีตที่สร้างมาจากละครวิทยุเสียเหมือนจริง ผู้คนเชื่อว่ามีเอเลียนบุกโลกจริง ๆ อย่าง The War of the Worlds (1953) โดยละครวิทยุและหนังสร้างมาจากนิยายของ H.G. Wells อีกที
อัลบั้มเพลงในร้าน Roy’s Records ก็ย้อนเวลามาเหมือนกัน

ข้อนี้เป็นการแซวเล่นในความ “หลุด” ของทีมงานสร้างหนังมากกว่า โดยในฉากที่ Marty เพิ่งกลับไปยังกลางเมือง Hill Valley ปี 1955 ใหม่ ๆ นั่น เขาได้เดินผ่านร้านแผ่นเสียง Roy’s Records ที่โชว์ 4 อัลบั้มตั้งไว้ริมกระจกหน้าร้าน จริง ๆ แล้ว ใน 4 อัลบั้มนั้นมีแค่อัลบั้มเดียวที่ออกวางขายแล้วในปี 1955 นั้นคือ Nat King Cole’s “Unforgettable” ที่วางขายปี 1954 นอกจากนั้นอีก 3 อัลบั้มคือ “In the Land of Hi-Fi” ของ Patti Page วางขายปี 1956, “Eydie in Dixieland” ของ Eydie Gorme และ The Chordettes’s self-titled compilation วางขายปี 1959 ทั้งสองอัลบั้ม ซึ่งหมายถึงตอนปี 1955 ยังไม่มีการวางขายนั่นเอง
สมุดหน้าเหลืองของ Hill Valley เขียนนามสกุล Doc ผิด

ฉากนี้ก็เป็นบททดสอบความตาดีของแฟนหนังอีกเช่นกัน เพราะทีมงานฝ่ายศิลป์น่าจะใส่รายละเอียดนามสกุลของ Doc ในสมุดโทรศัพท์ผิดไป ฉากนี้เป็นฉากที่ Marty พยายามจะหาที่อยู่ของ Doc ตอนย้อนกลับมาในปี 1955 เขาเดินไปขอโทรศัพท์หลังร้านอาหาร สิ่งที่ผิดไปก็คือชื่อของ Emmet Brown โดยชื่อของ Doc ตกตัว T ไปหนึ่งตัวนั่นเอง เพราะจริง ๆ แล้วต้องเขียนว่า Emmett Brown (หรือหนังจะสื่อว่าเป็นคนละ Emmett Brown คนละไทม์ไลน์กันก็ไม่แน่ใจนะ)
บ้านของ Doc เป็นบ้านของบุคคลสำคัญ และเป็นอาคารศิลปะชื่อดัง

บ้านของ Doc ในปี 1955 เลขที่ 1640 Riverside Drive หรือ John F. Kennedy Drive จริง ๆ แล้วเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ชื่อว่า Pasadena หรือที่ชาวแคลิฟอร์เนียเรียกว่า The Gamble House ออกแบบโดย 2 สถาปนิก Charles และ Henry Greene ที่สร้างให้กับ James Gamble เห็นชื่อแบบนี้ เขาไม่ใช่นักพนันแต่อย่างใด แต่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Procter & Gamble หรือ P&G บริษัทเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุปโภคด้านความสะอาด (สบู่ แชมพู ยาสีฟัน) James Gamble ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1803-1891 และบ้าน Pasadena หลังนี้ก็กลายเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปะที่โด่งดังมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว

(อ่านต่อหน้าถัดไป)