ปีเตอร์ กรีน (Peter Green) เป็นมือกีตาร์ นักร้อง นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ และผู้ก่อตั้งวงบลูส์ร็อกระดับตำนาน Fleetwood Mac ได้เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 73 ปี สาเหตุการเสียชีวิตนั้นยังไม่ได้ระบุ แต่จากแถลงการณ์ที่ทางครอบครัวได้ออกมาเปิดเผยระบุว่า กรีนนั้นได้จากไปอย่างสงบในขณะที่กำลังนอนหลับอยู่

ปีเตอร์ กรีน

ปีเตอร์ กรีน เป็นหนึ่งในมือกีตาร์บลูส์ร็อกที่มีอิทธิพลต่อวงการดนตรีเป็นอย่างยิ่ง น้ำเสียงของเขาและบทเพลงที่เขาได้เขียนขึ้นนั้นมีห้วงอารมณ์ที่ออกไปในทางหม่นเศร้าและมักพูดถึงห้วงความคิดที่มีปัญหา โดยเอกลักษณ์ในการเล่นกีตาร์ของกรีนมักจะเน้นไปที่การเล่นโน้ตชัด ๆ ยาว ๆ มากกว่าที่จะเล่นด้วยความเร็ว

“ผมชอบที่จะเล่นให้ช้าและรู้สึกไปกับทุกตัวโน้ต”

กรีนได้ลาออกจากวง Fleetwood Mac หลังจากอยู่กับวงได้ไม่ถึง 3 ปีในช่วงปี 1967-1970 ก่อนหน้าที่วงจะกลายเป็นหนึ่งในวงยอดนิยมระดับโลกและมีเพลงฮิตมากมายในทศวรรษที่ 70s แต่ถึงอย่างนั้นกระแสความนิยมก็เริ่มเกิดขึ้นในอังกฤษมาตั้งแต่ช่วงที่กรีนอยู่แล้ว  โดยมีซิงเกิลฮิตอันดับ 1 ในปี 1968 คือเพลงบรรเลงที่มีชื่อว่า ‘Albatross’ ซึ่งเป็นฝีมือการเขียนของกรีนเอง

https://www.youtube.com/watch?v=YEYrtjAmAik

เพลงส่วนใหญ่ในยุคแรกของ Fleetwood Mac ต่างถูกเขียนขึ้นโดยกรีน รวมถึง ‘Black Magic Woman’ ที่ต่อมาได้กลายเป็นเพลงฮิตจากเวอร์ชันของซานตานานั่นเอง

บี.บี.คิง ราชากีตาร์บลูส์แรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ของกรีน ได้เคยกล่าวถึงเขาเอาไว้ว่า “เขามีสำเนียงการเล่นกีตาร์ที่หวานที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา” และเสริมอีกว่า “เขาเป็นมือกีตาร์เพียงคนเดียวที่ทำให้ผมเย็นสันหลังวาบ”

ปีเตอร์ กรีนมีชื่อเต็ม ๆ ว่า ปีเตอร์ อัลเลน กรีนบอม (Peter Allen Greenbaum) เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 1946 ในลอนดอน เริ่มเล่นกีตาร์มาตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ในช่วงวัยรุ่นกรีนได้ร่วมเล่นในวงดนตรีหลายวงอาทิ Shotgun Express วงโซลในสไตล์โมทาวน์ซึ่งมี ร็อด สจ๊วตในวัยหนุ่มเป็นสมาชิกวง จากนั้นกรีนก็ได้ร่วมเล่นกับ John Mayall & The Bluesbreakers โดยมารับช่วงต่อในตำแหน่งมือลีดส์กีตาร์ต่อจาก อีริก แคลปตัน ฝีมือการเล่นของกรีนเป็นที่ถูกตาต้องใจถึงขนาด จอห์น มายาลล์เคยออกปากชมว่า ถึงแม้เขาจะไม่ได้ดีไปกว่าแคลปตัน แต่คอยดูเถอะ ต่อไปเขาจะเป็นนักดนตรีที่เก่งที่สุดอย่างแน่นอน และกรีนได้ฝากฝีไม้ลายมือเอาไว้ให้กับ John Mayall & The Bluesbreakers ในอัลบั้ม “A Hard Road” ในปี 1967

ในช่วงเวลานั้นมายาลล์ได้มอบของขวัญวันเกิดให้กับกรีนในปี 1966 ด้วยการให้ใช้ห้องบันทึกเสียงในสตูดิโอ  กรีนได้ตั้งวงขึ้นมากับทีมริทึ่มของ The Bluesbreakers ซึ่งมี มิก ฟลีตวูด เล่นกลอง และ จอห์น แม็กวีเล่นเบส การบันทึกเสียงครั้งนั้นมีเพลงบรรเลงที่มีชื่อว่า Fleetwood Macด้วย ซึ่งที่มาของชื่อเพลง (และต่อมากลายเป็นชื่อวง) Fleetwood Mac ที่กรีนเป็นคนตั้งก็มาจากการรวมนามสกุลของมือกลองและมือเบสนั่นเอง

ต่อมากรีนได้ลาออกจาก The Bluesbreakers และตั้งวงบลูส์ของตัวเองในปี 1967 กับ มิก ฟลีตวูด , จอห์น แม็กวี และ เจเรมี สเปนเซอร์ ในตำแหน่งมือกีตาร์  เปิดตัวด้วยอัลบั้มแรกในปี 1968 ชื่อว่า  “Peter Green’s Fleetwood Mac” ในอังกฤษ และ “Fleetwood Mac” ในอเมริกาและได้กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มอันทรงคุณค่าแห่งวงการดนตรีบลูส์ตั้งแต่นั้นมา

ปีเตอร์ กรีน (คนที่สองจากซ้าย) และ Fleetwood Mac ยุคก่อตั้ง
อัลบั้มชุดแรก ‘Fleetwood Mac’

ในเดือนมกราคม 1969  Fleetwood Mac ได้เดินทางไปเยือนสตูดิโอ Chess Records ในชิคาโกเพื่อบันทึกเสียงร่วมกับนักดนตรีบลูส์ชื่อดังหลายคนไม่ว่าจะเป็น โอติส สแปนน์ , วิลลี ดิกซัน, บัดดี กาย และอีกมากมายออกเป็นผลงานที่มีชื่อว่า “Fleetwood Mac in Chicago” และ “Blues Jam at Chess” นอกจากนี้ Fleetwood Mac ยังออกผลงานรวมกับโอติส สแปนน์ในชื่อ “The Biggest Thing Since Colossus”

เพื่อไม่ให้คำว่า ‘บลูส์’ จำกัดแนวทางดนตรีของวง กรีนได้สร้างผลงานเพลงบรรเลงสไตล์บัลลาดนุ่มลึกละมุนละไมที่มีชื่อว่า “Albatross” และ  “Oh Well (Part 2)” และได้ทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานเอาไว้ใน “Then Play On” อัลบั้มชุดสุดท้ายที่กรีนทำกับ Fleetwood Mac

“เพลงบลูส์ไม่จำเป็นจะต้องเล่นอยู่บนรูปแบบบลูส์ 12 ห้องเท่านั้น”

กรีนได้กล่าวไว้ในปี 1968

“มันสามารถใส่รูปแบบและทางเดินคอร์ดใด ๆ ก็ได้ สำหรับผมบลูส์เป็นเรื่องของอารมณ์ ถ้าเพลงมีอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกต้องแล้ว ผมถึงจะยอมรับว่านั่นคือบลูส์”

กรีนได้ให้เหตุผลต่อการขอลาออกจากวง Fleetwood Mac ในปี 1970 ไว้ว่า

​”ผมอยากจะเปลี่ยนทั้งชีวิตของผม เพราะผมไม่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในโลกที่เต็มไปด้วยเงื่อนไข และผมพยายามจะออกห่างจากมันให้มากที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้”

ก่อนจากกันไปกรีนได้ทิ้งทวนกับ Fleetwood Mac เอาไว้ด้วยผลงานชั้นยอดอีกชิ้นคือบทเพลงที่มีชื่อว่าThe Green Manalishi (With the Two Prong Crown)

และในปีเดียวกันนี้กรีนได้ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกที่มีชื่อว่า “The End of the Game” ซึ่งตัดออกมาจากการแจมกันในสไตล์ฟรีฟอร์มแจ๊สร็อก

“ผมพยายามที่จะไปให้ถึงในจุดผมไม่เคยทำได้มาก่อนแต่ผมเคยมีประสบการณ์แบบนั้นมาแล้วด้วยแอลเอสดีกับยาเมสคะลิน”

ต่อมากรีนพบว่าตนเองกำลังประสบปัญหาจากภาวะของโรคจิตเภทอันเป็นผลจากการใช้สารเสพย์ติดอย่างหนัก  ตลอดช่วงทศวรรษที่ 70s กรีนต้องคอยเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลจิตเวชเป็นว่าเล่นและเข้ารับการบำบัด จนในที่สุดได้กลับมาเล่นดนตรีอีกครั้งกับวงใหม่ที่ใช้ชื่อว่า Splinter Group ในปี 1996 ซึ่งส่วนใหญ่เล่นเพลงในสไตล์บลูส์แบบดั้งเดิม โดยเพลงส่วนใหญ่ของวงแต่งโดยมือกีตาร์อีกคนคือ ไนเจล วัตสัน และออกผลงานทั้งหมด 8 อัลบั้ม จนแยกวงกันในปี 2004 และกลับมาออกทัวร์คอนเสิร์ตอีกครั้งในปี 2009 ภายใต้ชื่อ Peter Green and Friends

ในปี 1998 กรีนได้ถูกบรรจุชื่อไว้ใน Rock & Roll Hall of Fame ร่วมกับวง Fleetwood Mac และในปีเดียวกันนี้ คาร์ลอส ซานตานา ผู้นำเอาบทเพลง ‘Black Magic Woman’ ของวงไปเล่นจนโด่งดังก็ได้รับการบรรจุชื่อด้วยเช่นกันทำให้ในปีนั้นซาตานาและกรีนได้มีโอกาสมาแจมกันในเพลง ‘Black Magic Woman’

หากพูดถึงเรื่องเครื่องดนตรีคู่ใจของกรีนแล้ว คงไม่พ้นกีตาร์ Les Paul Standard ปี 1959 ที่กรีนขนานนามมันว่า ‘Greeny’ ที่มีเอกลักษณ์คือติดตั้งพิกอัพที่วางกลับด้านทำให้เกิดโทนเสียงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่หลังจากออกจาก Fleetwood Mac กรีนได้ขายกีตาร์ตัวนี้ให้กับแกรี มัวร์ ต่อมาในปี 1995 มัวร์ได้ออกอัลบั้มเพื่อเป็นการคารวะต่อกรีนด้วยการนำเอาบทเพลงของกรีนมาทำใหม่โดยใช้ชื่อว่า “Blues for Greeny” ปัจจุบันบุคคลผู้ครอบครองกีตาร์ตัวนี้คือ เคิร์ก แฮมเม็ตต์ มือกีตาร์สายเดือดแห่งวง ‘Metallica’ นั่นเอง

กรีน,มัวร์ และ แฮมเม็ต กับเจ้า Greeny

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มิก ฟลีตวูดได้จัดงานคอนเสิร์ตทริบิวต์กรีนที่ลอนดอน พัลลาเดียม โดยเชิญนักดนตรีที่เลื่อมใสในตัวของกรีนมาร่วมงานมากมายไม่ว่าจะเป็น พีท ทาวน์เซนด์, บิลลี กิบบอนส์, สตีเวน ไทย์เลอร์ , เดวิด กิลมอร์ , บิล ไวย์แมน , โนล กัลลาเกอร์ และ เคิร์ก แฮมเม็ตต์ ที่แน่นอนต้องพกเจ้า ‘Greeny’ ขึ้นมาเล่นบนเวทีด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=FpiK8a6gb5c

ปีเตอร์ กรีน เป็นคนดนตรีที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการดนตรีโลกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะดนตรีบลูส์ร็อกที่กรีนได้ทิ้งผลงานระดับมาสเตอร์พีซเอาไว้มากมาย การจากไปในครั้งนี้ของเขาได้ทำให้เรามีโอกาสย้อนกลับไปฟังผลงานอันทรงคุณค่าเหล่านั้นอีกครั้งและพบว่าทั้งชื่อเสียงของเขาและผลงานเหล่านี้จะยังคงอยู่คู่วงการดนตรีไปตลอดกาล

RIP. Peter Green (1946-2020)

Source

NYTIMES

BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส