ได้เข้าฉายในที่สุดสำหรับภาพยนตร์ Disney Live Action ประจำปี 2020 ที่เป็นหนังฟอร์มยักษ์ระดับทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญฯ Disney คาดหวังว่าจะเป็นความสำเร็จที่ “ห้ามล้มเหลวเป็นอันขาด” สำหรับการนำภาพยนตร์แอนิเมชัน 2 มิติสุดฮิตจากปี 1998 เรื่อง Mulan กลับมาปัดฝุ่นทำใหม่ แต่อุปสรรคใหญ่หลวงเกินคาดคิดก็คือ การมาถึงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หนังต้องเลื่อนฉายจากกำหนดเดือนมีนาคมมาไกลถึงเดือนกันยายน และส่งผลให้อาจจะทำให้หนังไม่ได้กำไรกลับคืน
หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มสร้างจนถึงวันที่ได้ฉายโรง (สำหรับในบ้านเรา) หนัง Mulan เองก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในกระบวนการสร้าง รวมถึงดราม่าที่เกี่ยวกับตัวนักแสดง ซึ่งถ้าหากมองปัญหาแค่เฉพาะที่เบื้องหลังแล้วก็อาจจะสร้างขึ้นมาเป็นหนังได้อีกเรื่องหนึ่งทีเดียว วันนี้ What the Fact รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเบื้องหน้าและเบื้องหลังทั้งหมดที่เกิดขึ้นของ Mulan มาชวนอ่าน-ชวนวิเคราะห์เพื่อให้ไปดูหนังอย่างมีอะไรและดูให้สนุกขึ้นได้
ที่มาที่ไปของ “มู่หลาน” ตามตำนานจีน
สำหรับมู่หลาน (木蘭) หลายคนในจีนก็ยังเข้าใจว่า เป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีน ในขณะที่อีกกลุ่มก็ให้ความเป็นว่า เป็นเพียงเรื่องแต่ง มู่หลานถูกกล่าวถึงในบทกลอนเก่าที่สุดคือ “มู่หลานฉือ” (木蘭辭) หรือ “ลำนำมู่หลาน” (Ballad of Mulan) ซึ่งถูกรวบรวมอยู่ในบันทึกรวมเพลงโบราณที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ราวปลายสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) หรือต้นราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โดยถือกันว่า ตำราชุดนี้ได้สูญสลายไปตามกาลเวลาและไม่สามารถหาตัวอย่างหรือต้นฉบับได้แล้ว แต่ว่าในราวศตวรรษที่ 11 สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1127) กวีนามว่า “กัวเม่าเฉียน” (郭茂倩) (มีชีวิตในปี ค.ศ. 1041-1099) ได้เขียนตำราชื่อ เยี่ยฝูชี (樂府詩) เพื่อรวบรวมเพลงและร้อยกรองต่าง ๆ โดยอ้างว่าได้นำเรื่องลำนำมู่หลานมาจากตำรากู่จินเยี่ยลู่อีกที เนื้อความในลำนำมู่หลานที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้จึงมาจากฉบับที่กัวเม่าเฉียนเขียนอ้างอิงอีกที

“ลำนำมู่หลาน” เดิมน่าจะเป็นเพียงเพลงร้องที่ชาวบ้านในศตวรรษที่ 4-5 ร้องกัน เพื่อปลุกเร้าความกล้าหาญว่า ถึงจะเป็นผู้หญิงอ่อนแอก็อาสาช่วยรบกับผู้ชายเพื่อปกป้องบ้านเมืองได้ เพราะในช่วงนั้นจีนต้องรบรากับพวกกลุ่มอานารยชนภายนอกบ่อยครั้ง โดยในช่วงแรกเข้าใจว่าเรื่องราวมู่หลานอาจอิงกับแนวคิดแบบชนเผ่าและความเสียสละเพื่อชนเผ่ามากกว่าความกตัญญู โดยเล่าถึงวีรกรรมของสตรีชนเผ่านางหนึ่ง มีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ค.ศ. 420-589)
เธออาสาปลอมเป็นชายไปรบแทนพ่อที่ชราและน้องชายที่ยังเล็ก ออกเดินทางข้ามแม่น้ำและภูเขากว่าพันลี้เพื่อเข้าร่วมกองทัพของข่านแห่งราชวงศ์เว่ยเหนือ สงครามดำเนินไปถึงสิบกว่าปีจึงสิ้นสุด สร้างความดีความชอบไว้มากมาย ข่านต้องการมอบตำแหน่งเลขาธิการกองทัพให้ แต่เธอกลับขอเพียงม้าตัวหนึ่งเพื่อขี่กลับบ้าน เมื่อถึงบ้านจึงได้จัดแจงแต่งกายคืนตามเพศจริง เพื่อนทหารหนุ่มที่ตามมาส่งต่างตกใจว่า รบร่วมกัน 12 ปี กลับไม่รู้ว่ามู่หลานคือสตรี (อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ “สตรีที่ออกรบแทนบิดา จนถึงสตรีที่ฆ่าตัวตายเพราะไม่อยากเป็นสนม “มู่หลาน” กับเรื่องเล่าสุดอลหม่านก่อนจะมาถึงฉบับหนังดิสนีย์“)
การปรากฏตัวของ “มู่หลาน” ในฉบับภาพยนตร์
มู่หลานปรากฏตัวครั้งแรกบนแผ่นฟิล์มเป็นลักษณะการเล่นงิ้วหน้ากล้องในหนังชื่อ Hua Mulan cong jun (1927) แล้วก็ถูกผลิตซ้ำอยู่อีกหลายหน เปลี่ยนนักแสดงไปอีกหลายฉบับ


จนกระทั่งฉบับที่คนทั่วโลกได้รู้จักตัวละครนี้จริง ๆ ก็ตอนที่ Disney ได้นำมาผลิตเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสองมิติในปี 1998 และทำให้มู่หลานถูกนับเป็นหนึ่งในเจ้าหญิง Disney ไปด้วย (ถูกบันทึกให้เป็นเจ้าหญิงลำดับที่ 8 ในลิสต์รายชื่อของเจ้าหญิง Disney) ทั้งที่ไม่ได้ครองคู่กับเจ้าชายเหมือนเรื่องอื่น ๆ แต่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากจักรพรรดิ
หนังทำรายได้รวมทั่วโลกไป 304 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 90 ล้านเหรียญฯ และได้เข้าชิงออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ซึ่งหลายคนก็คงคุ้นกันดีกับเพลง Reflection ที่ร้องโดย Lea Salonga แต่ดราม่าของฉบับนี้ในปี 1998 นั้นคือการไม่ถูกยอมรับเลยจากประเทศจีน เพราะหนังไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในปี 1998 จนได้ฉายในปีถัดไป ซึ่งในเวลานั้นการแพร่ระบาดของแผ่นก๊อปละเมิดลิขสิทธิ์กำลังเฟื่องฟู พอหนังฉายจริง ๆ ชาวจีนส่วนใหญ่ก็ได้ดูจากแผ่นก๊อปไปแล้วเรียบร้อย นอกจากนั้นหนังก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในช่วงเทศกาลตรุษจีนตามที่ Disney หวังไว้ เพราะทางการจีนสงวนช่วงเวลาทองอย่างตรุษจีนไว้ให้กับเฉพาะหนังจีนเท่านั้น
สำหรับภาพยนตร์ที่นำเรื่องของมู่หลานมาเป็นวัตถุดิบนั้น เคยถูกนำเสนอในเวอร์ชันหนังจีนนำแสดงโดย “เจ้าเหว่ย” (Viki Zhao) ผู้เคยโด่งดังจากซีรีส์ “องค์หญิงกำมะลอ”
ก่อนหน้านี้ในปี 2010 ก่อนที่ Disney จะหันมาเอาจริงเอาจังกับการดัดแปลงภาพยนตร์การ์ตูนในอดีตของตัวเองให้มาเป็นหนัง Live Action อย่างทุกวันนี้ ก็เคยมีแผนจะให้ “จางซิยี่” หรือ Ziyi Zhang จาก Memoirs of a Geisha (2005) มาเล่นภายใต้การกำกับของ Chuck Russell จากหนังหน้ากากเทวดา The Mask (1994) ที่ฟัง ๆ แล้วดูไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะเอาเสียเลย ต่อมา Disney ก็เคยหมายมั่นจะให้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง Ang Lee หรือหลี่อัน จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) และ Life of Pi (2012) มากำกับ Mulan ฉบับคนแสดงแต่เขาปฏิเสธ


รวมถึงเคยมีข่าวออกมาในปี 2017 ว่า นอกจาก Disney แล้ว ค่าย Sony ก็เคยอยากจะคิดสร้างหนังจากตำนานเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ถอยฉากไป และในปี 2020 นี้ ในจีนเองก็จะมีภาพยนตร์ Mulan สำหรับฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงของตัวเองด้วยเช่นกัน
ฉบับใหม่ระดมทีมนักแสดงทั่วฟ้าเมืองจีน
บทมู่หลานในฉบับนี้ ตกเป็นของนักแสดงเชื่อสายจีน (แต่ถือสัญชาติอเมริกัน) “หลิวอี้เฟย” ที่โด่งดังจากหนังฮอลลีวูดเรื่อง The Forbidden Kingdom (2008) ที่เป็นหนังล้อเรื่องราวในไซอิ๋วประกบเฉินหลงและเจ็ตลี นอกจากนั้นยังมีนักแสดงจีนอีกมากมายมาร่วมสมทบทั้ง “ดอนนี่ เยน” (Donnie Yen) จากหนังเรื่องราวอาจารย์ยิปมัน ปรมาจารย์มวยหยุ่งชนทั้ง 4 ภาคอย่าง Ip Man (2008-2019) และ Rogue One: A Star Wars Story (2016) ในบทขุนศึก, “กงลี่” (Li Gong) จากหนัง Farewell My Concubine (1993) และ Memoirs of a Geisha (2005) ในบทแม่มดที่เป็นตัวร้าย รวมถึง “เจ็ตลี” (Jet Li) จาก Hero (2002) และ The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor (2008) ในบทของจักพรรดิ




ส่วนผู้กำกับนั้น ตกเป็นของผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ Niki Caro ผู้เคยฝากผลงานเอาไว้อย่าง Whale Rider (2002), North Country (2005) ที่นำแสดงโดย Charlize Theron และ The Zookeeper’s Wife (2007) นำแสดงโดย Jessica Chastain ที่จะมาทำหน้าที่ตีความใหม่
ในที่แรกเธอก็เจอกระแสดราม่าพอสมควรเหมือนกันเพราะความ “ไม่ใช่คนจีน” และในยุคนี้การหาผู้กำกับจีนหรือเชื้อสายจีนมากำกับก็ไม่ใช่เรื่องยาก (อย่างเช่นตอนแรกที่ Disney อยากได้หลี่อันมากำกับเพื่อลดกระแสดราม่าแบบนี้) แต่ Caro ก็ได้โชว์วิสัยทัศน์และให้ความเชื่อมั่นกับ Disney ในการประสานวัฒนธรรมจีนเข้ากับวัฒนธรรมการเล่าหนังแบบดิสนีย์จนเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่ได้กำกับหนัง Disney ทุนสูงระดับ 200 ล้านเหรียญฯ
