ได้เข้าฉายในที่สุดสำหรับภาพยนตร์ Disney Live Action ประจำปี 2020 ที่เป็นหนังฟอร์มยักษ์ระดับทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญฯ Disney คาดหวังว่าจะเป็นความสำเร็จที่ “ห้ามล้มเหลวเป็นอันขาด” สำหรับการนำภาพยนตร์แอนิเมชัน 2 มิติสุดฮิตจากปี 1998 เรื่อง Mulan กลับมาปัดฝุ่นทำใหม่ แต่อุปสรรคใหญ่หลวงเกินคาดคิดก็คือ การมาถึงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้หนังต้องเลื่อนฉายจากกำหนดเดือนมีนาคมมาไกลถึงเดือนกันยายน และส่งผลให้อาจจะทำให้หนังไม่ได้กำไรกลับคืน

หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มสร้างจนถึงวันที่ได้ฉายโรง (สำหรับในบ้านเรา) หนัง Mulan เองก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในกระบวนการสร้าง รวมถึงดราม่าที่เกี่ยวกับตัวนักแสดง ซึ่งถ้าหากมองปัญหาแค่เฉพาะที่เบื้องหลังแล้วก็อาจจะสร้างขึ้นมาเป็นหนังได้อีกเรื่องหนึ่งทีเดียว วันนี้ What the Fact รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเบื้องหน้าและเบื้องหลังทั้งหมดที่เกิดขึ้นของ Mulan มาชวนอ่าน-ชวนวิเคราะห์เพื่อให้ไปดูหนังอย่างมีอะไรและดูให้สนุกขึ้นได้

ที่มาที่ไปของ “มู่หลาน” ตามตำนานจีน

สำหรับมู่หลาน (木蘭) หลายคนในจีนก็ยังเข้าใจว่า เป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีน ในขณะที่อีกกลุ่มก็ให้ความเป็นว่า เป็นเพียงเรื่องแต่ง มู่หลานถูกกล่าวถึงในบทกลอนเก่าที่สุดคือ “มู่หลานฉือ” (木蘭辭) หรือ “ลำนำมู่หลาน” (Ballad of Mulan) ซึ่งถูกรวบรวมอยู่ในบันทึกรวมเพลงโบราณที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ราวปลายสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) หรือต้นราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) โดยถือกันว่า ตำราชุดนี้ได้สูญสลายไปตามกาลเวลาและไม่สามารถหาตัวอย่างหรือต้นฉบับได้แล้ว แต่ว่าในราวศตวรรษที่ 11 สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960-1127) กวีนามว่า “กัวเม่าเฉียน” (郭茂倩) (มีชีวิตในปี ค.ศ. 1041-1099) ได้เขียนตำราชื่อ เยี่ยฝูชี (樂府詩) เพื่อรวบรวมเพลงและร้อยกรองต่าง ๆ โดยอ้างว่าได้นำเรื่องลำนำมู่หลานมาจากตำรากู่จินเยี่ยลู่อีกที เนื้อความในลำนำมู่หลานที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้จึงมาจากฉบับที่กัวเม่าเฉียนเขียนอ้างอิงอีกที

“ลำนำมู่หลาน” เดิมน่าจะเป็นเพียงเพลงร้องที่ชาวบ้านในศตวรรษที่ 4-5 ร้องกัน เพื่อปลุกเร้าความกล้าหาญว่า ถึงจะเป็นผู้หญิงอ่อนแอก็อาสาช่วยรบกับผู้ชายเพื่อปกป้องบ้านเมืองได้ เพราะในช่วงนั้นจีนต้องรบรากับพวกกลุ่มอานารยชนภายนอกบ่อยครั้ง โดยในช่วงแรกเข้าใจว่าเรื่องราวมู่หลานอาจอิงกับแนวคิดแบบชนเผ่าและความเสียสละเพื่อชนเผ่ามากกว่าความกตัญญู โดยเล่าถึงวีรกรรมของสตรีชนเผ่านางหนึ่ง มีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (ค.ศ. 420-589)

เธออาสาปลอมเป็นชายไปรบแทนพ่อที่ชราและน้องชายที่ยังเล็ก ออกเดินทางข้ามแม่น้ำและภูเขากว่าพันลี้เพื่อเข้าร่วมกองทัพของข่านแห่งราชวงศ์เว่ยเหนือ สงครามดำเนินไปถึงสิบกว่าปีจึงสิ้นสุด สร้างความดีความชอบไว้มากมาย ข่านต้องการมอบตำแหน่งเลขาธิการกองทัพให้ แต่เธอกลับขอเพียงม้าตัวหนึ่งเพื่อขี่กลับบ้าน เมื่อถึงบ้านจึงได้จัดแจงแต่งกายคืนตามเพศจริง เพื่อนทหารหนุ่มที่ตามมาส่งต่างตกใจว่า รบร่วมกัน 12 ปี กลับไม่รู้ว่ามู่หลานคือสตรี (อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ “สตรีที่ออกรบแทนบิดา จนถึงสตรีที่ฆ่าตัวตายเพราะไม่อยากเป็นสนม “มู่หลาน” กับเรื่องเล่าสุดอลหม่านก่อนจะมาถึงฉบับหนังดิสนีย์“)

การปรากฏตัวของ “มู่หลาน” ในฉบับภาพยนตร์

มู่หลานปรากฏตัวครั้งแรกบนแผ่นฟิล์มเป็นลักษณะการเล่นงิ้วหน้ากล้องในหนังชื่อ Hua Mulan cong jun (1927) แล้วก็ถูกผลิตซ้ำอยู่อีกหลายหน เปลี่ยนนักแสดงไปอีกหลายฉบับ

Hua Mulan cong jun (1927)

จนกระทั่งฉบับที่คนทั่วโลกได้รู้จักตัวละครนี้จริง ๆ ก็ตอนที่ Disney ได้นำมาผลิตเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันสองมิติในปี 1998 และทำให้มู่หลานถูกนับเป็นหนึ่งในเจ้าหญิง Disney ไปด้วย (ถูกบันทึกให้เป็นเจ้าหญิงลำดับที่ 8 ในลิสต์รายชื่อของเจ้าหญิง Disney) ทั้งที่ไม่ได้ครองคู่กับเจ้าชายเหมือนเรื่องอื่น ๆ แต่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากจักรพรรดิ

หนังทำรายได้รวมทั่วโลกไป 304 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 90 ล้านเหรียญฯ และได้เข้าชิงออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย ซึ่งหลายคนก็คงคุ้นกันดีกับเพลง Reflection ที่ร้องโดย Lea Salonga แต่ดราม่าของฉบับนี้ในปี 1998 นั้นคือการไม่ถูกยอมรับเลยจากประเทศจีน เพราะหนังไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในปี 1998 จนได้ฉายในปีถัดไป ซึ่งในเวลานั้นการแพร่ระบาดของแผ่นก๊อปละเมิดลิขสิทธิ์กำลังเฟื่องฟู พอหนังฉายจริง ๆ ชาวจีนส่วนใหญ่ก็ได้ดูจากแผ่นก๊อปไปแล้วเรียบร้อย นอกจากนั้นหนังก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายในช่วงเทศกาลตรุษจีนตามที่ Disney หวังไว้ เพราะทางการจีนสงวนช่วงเวลาทองอย่างตรุษจีนไว้ให้กับเฉพาะหนังจีนเท่านั้น

สำหรับภาพยนตร์ที่นำเรื่องของมู่หลานมาเป็นวัตถุดิบนั้น เคยถูกนำเสนอในเวอร์ชันหนังจีนนำแสดงโดย “เจ้าเหว่ย” (Viki Zhao) ผู้เคยโด่งดังจากซีรีส์ “องค์หญิงกำมะลอ”

ก่อนหน้านี้ในปี 2010 ก่อนที่ Disney จะหันมาเอาจริงเอาจังกับการดัดแปลงภาพยนตร์การ์ตูนในอดีตของตัวเองให้มาเป็นหนัง Live Action อย่างทุกวันนี้ ก็เคยมีแผนจะให้ “จางซิยี่” หรือ Ziyi Zhang จาก Memoirs of a Geisha (2005) มาเล่นภายใต้การกำกับของ Chuck Russell จากหนังหน้ากากเทวดา The Mask (1994) ที่ฟัง ๆ แล้วดูไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะเอาเสียเลย ต่อมา Disney ก็เคยหมายมั่นจะให้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง Ang Lee หรือหลี่อัน จาก Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) และ Life of Pi (2012) มากำกับ Mulan ฉบับคนแสดงแต่เขาปฏิเสธ

Ziyi Zhang ใน Memoirs of a Geisha (2005)
Ang Lee หรือหลี่อัน ผู้กำกับ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) ที่ Ziyi Zhang ก็ร่วมแสดงด้วย

รวมถึงเคยมีข่าวออกมาในปี 2017 ว่า นอกจาก Disney แล้ว ค่าย Sony ก็เคยอยากจะคิดสร้างหนังจากตำนานเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ถอยฉากไป และในปี 2020 นี้ ในจีนเองก็จะมีภาพยนตร์ Mulan สำหรับฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงของตัวเองด้วยเช่นกัน

ฉบับใหม่ระดมทีมนักแสดงทั่วฟ้าเมืองจีน

บทมู่หลานในฉบับนี้ ตกเป็นของนักแสดงเชื่อสายจีน (แต่ถือสัญชาติอเมริกัน) “หลิวอี้เฟย” ที่โด่งดังจากหนังฮอลลีวูดเรื่อง The Forbidden Kingdom (2008) ที่เป็นหนังล้อเรื่องราวในไซอิ๋วประกบเฉินหลงและเจ็ตลี นอกจากนั้นยังมีนักแสดงจีนอีกมากมายมาร่วมสมทบทั้ง “ดอนนี่ เยน” (Donnie Yen) จากหนังเรื่องราวอาจารย์ยิปมัน ปรมาจารย์มวยหยุ่งชนทั้ง 4 ภาคอย่าง Ip Man (2008-2019) และ Rogue One: A Star Wars Story (2016) ในบทขุนศึก, “กงลี่” (Li Gong) จากหนัง Farewell My Concubine (1993) และ Memoirs of a Geisha (2005) ในบทแม่มดที่เป็นตัวร้าย รวมถึง “เจ็ตลี” (Jet Li) จาก Hero (2002) และ The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor (2008) ในบทของจักพรรดิ

เจ็ตลีและหลิวอี้เฟยใน The Forbidden Kingdom (2008)

ส่วนผู้กำกับนั้น ตกเป็นของผู้กำกับหญิงชาวนิวซีแลนด์ Niki Caro ผู้เคยฝากผลงานเอาไว้อย่าง Whale Rider (2002), North Country (2005) ที่นำแสดงโดย Charlize Theron และ The Zookeeper’s Wife (2007) นำแสดงโดย Jessica Chastain ที่จะมาทำหน้าที่ตีความใหม่

ในที่แรกเธอก็เจอกระแสดราม่าพอสมควรเหมือนกันเพราะความ “ไม่ใช่คนจีน” และในยุคนี้การหาผู้กำกับจีนหรือเชื้อสายจีนมากำกับก็ไม่ใช่เรื่องยาก (อย่างเช่นตอนแรกที่ Disney อยากได้หลี่อันมากำกับเพื่อลดกระแสดราม่าแบบนี้) แต่ Caro ก็ได้โชว์วิสัยทัศน์และให้ความเชื่อมั่นกับ Disney ในการประสานวัฒนธรรมจีนเข้ากับวัฒนธรรมการเล่าหนังแบบดิสนีย์จนเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่ได้กำกับหนัง Disney ทุนสูงระดับ 200 ล้านเหรียญฯ

ผู้กำกับ Niki Caro

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

จงใจดัดแปลงมู่หลานให้ “ไม่เหมือนเดิม

ในฉบับภาพยนตร์ Live Action ปี 2020 นี้ จะไม่ได้เป็นการดัดแปลงจากฉบับการ์ตูนแบบตรง ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเนื้อหาหลายอย่างเพื่อให้เกิดการยอมรับในตลาดประเทศจีน และหนังเองก็ได้ผู้สร้างหนังของจีนมาร่วมลงทุนด้วย องค์ประกอบที่เปลี่ยนไปเช่น หนังจะไม่ได้เป็นมิวสิคัลที่มีเพลงประกอบเพราะ ๆ (หลายคนที่เคยชื่นชอบเพลง My Reflection จากฉบับการ์ตูนและรอฟังคงจะต้องผิดหวัง แต่จากตัวอย่างพอได้ฟังตอนเป็นเพลงสกอร์ก็ทำให้ได้ขนลุกอยู่ไม่น้อย)

Mulan รับบทโดย หลิวอี้เฟย ผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่อู่ฮั่น แหล่งต้นตอการระบาดของ Covid-19

และเจ้ามังกรตัวจิ๋ว “มูซู” ที่เคยเป็นทั้งเพื่อนคู่ซี้และไม้เบื่อไม้เมาของมู่หลาน ก็ถูกเปลี่ยนเป็นนกฟีนิกส์แทน เนื่องจากเมื่อครั้งออกฉายปี 1998 ถูกกระแสดราม่าจากชาวจีนเรื่องการนำเอามังกร สัตว์ที่เป็นเทพศักดิ์สิทธิ์ของจีนมาสร้างเป็นตัวตลก อย่างไรก็ตามเจ้าจิ้งหรีดนำโชคออย่าง “คริครี” จากฉบับภาพยนตร์แอนิเมชันยังจะได้กลับมากับฉบับคนแสดงนี้

มังกรน้อยมูซูกับเจ้าจิ้งหรีดคริครี จาก Mulan (1998)

ตัดบทแม่ทัพหลี่ชางออก เลี่ยงประเด็นรักร่วมเพศ

Jason Reed ผู้อำนวยการสร้างก็ได้ออกมาอธิบายถึงเหตุผลของการตัดตัวละครแม่ทัพ “หลี่ชาง” ผู้มีบทบาทสำคัญทั้งการเป็นผู้นำทัพและคนรักของมู่หลานในฉบับการ์ตูนออก เพราะตัวละครนี้เป็นตัวละครที่แสดงออกถึงความรักร่วมเพศภายในเรื่อง (หลี่ชางชอบมู่หลานในตอนที่ปลอมตัวเป็นผู้ชาย) หลังจากการตัดตัวละครตัวนี้ เขาก็ถูกตั้งคำถามว่า Disney อยากจะเบี่ยงประเด็น ไม่แตะต้องถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนนี้หรือเปล่า?

คำตอบของ Reed ก็คือ ทีมสร้างแยกหลี่ชางออกเป็นสองตัวละคร คนแรกคือแม่ทัพ “ถัง” (ดอนนี่ เยน) ผู้ที่เปรียบดังพ่อและอาจารย์ในหนัง และอีกคนคือ “ฮงฮุย” (โยซัน อัน) ทหารที่อยู่ในหมู่ทัพเดียวกับมู่หลาน โดย Reed ให้ความเห็นว่า ในช่วงเวลาการเคลื่อนไหวของ #MeToo (กระแสเรียกร้องของผู้หญิงในฮอลลีวูด ต่อการคุกคามทางเพศโดยผู้บริหารระดับสูงของค่ายหนังและผู้มีอิทธิพลในวงการ) การมีแม่ทัพที่สนใจในเรื่องเพศกับพลทหาร จะดูเป็นเรื่องที่น่าอึดอัดและคิดว่ามันไม่ค่อยเหมาะสม

ถึงอย่างนั้นก็มีอีกกระแสที่บอกว่า การมีตัวตนอยู่ในเรื่องของหลี่ชาง ก็เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของมู่หลานลงไปเหมือนกัน เพราะทำให้เห็นว่าท้ายที่สุดตัวละครผู้หญิงก็ไม่อาจทัดเทียมผู้ชาย และต้องลงเอยอีหรอบเดิม นั่นคือมาแต่งงานมีคู่ครองกับหลี่ชางอยู่ดี แม้ว่าจะไปออกรบได้อย่างเกรียงไกรแค่ไหนก็ตาม

Yoson An ผู้รับบท “ฮงฮุย” ทหารที่ใกล้ชิดกับมู่หลาน ได้อธิบายว่าตัวละครของเขากับมู่หลานเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์จากการฝึกและเคารพรักกันในแบบเพื่อนทหาร แต่เมื่อถามถึงประเด็นความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ เขากลับเลี่ยงที่จะตอบและอธิบายว่า พวกเขามีหลายมิติหลายแง่มุมและผู้ชมก็จะได้เห็นตอนที่ชมภาพยนตร์

Mulan
นักแสดง หลิวอี้เฟย และโยซันอัน

ดราม่า “หลิวอี้เฟย” สนับสนุนจีนปราบม็อบฮ่องกง

ดราม่าที่อาจทำให้ Disney หวาดหวั่นในทีแรกว่า จะทำให้มีผู้ชมภาพยนตร์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น (แต่พอเจอสถานการณ์โควิด-19 เข้าไป ปัญหานี้จึงดูเล็กไปเลย) ก็เกิดจากการที่หลิวอี้เฟยได้โพสต์ข้อความลงบนแพลตฟอร์มเว๋ยบ่อ (Weibo) โซเชียลมีเดียยอดนิยมของประเทศจีนโดยแปลเป็นภาษาไทยว่า “ฉันสนับสนุนตำรวจฮ่องกงและช่างเป็นความอัปยศของคนฮ่องกงจริง ๆ” โดยประโยคหลังนั้นเขียนเป็นภาษาอังกฤษ โพสต์ดังกล่าวของหลิวอี้เฟยถูกกดไลก์มากกว่า 78,000 ครั้ง และมีการรีทวีตซ้ำกว่าอีก 69,000 ครั้งในตอนนั้น ซึ่งความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าวของเธอพ้องไปในทิศทางเดียวกันกับนักแสดงจีนหลายคนที่สนับสนุนตำรวจฮ่องที่ปราบปราบม็อบ อย่างเช่น “เฉินหลง” เป็นต้น

ถึงแม้ว่า Twitter, Facebook และ Instagram จะถูกห้ามใช้งานในประเทศจีน แต่แพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ มีแฮชแท็กใหม่ขึ้นมาว่า #BoycottMulan และยังมีการแท็กถึง Disney เรียกร้องให้มีบทลงโทษต่อหลิวอี้เฟย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่สนับสนุนเข้าไปชมภาพยนตร์ Mulan ในโรงภาพยนตร์จากการทวีตแสดงความเห็นเช่นนี้ แต่สุดท้าย Disney ก็ไม่ตอบโต้ เลือกใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

ดราม่า “หลิวอี้เฟย” โดนด่าลืมกำพืด
ไม่พูดว่าตัวเองเป็นคนจีน

เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ หลิวอี้เฟยได้ไปให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Variety โดยเธอถูกตั้งคำถามว่าหากจะให้พูดมอตโตหรือคติประจำใจของตัวละครมู่หลาน เธอจะเลือกตอบด้วยคำว่าอะไรบ้าง “ซื่อสัตย์ กล้าหาญ และจริงใจต่อครอบครัว” ซึ่งเธอยังขยายความว่า มอตโตเหล่านี้เป็นคติประจำใจของตัวเธอเองด้วยเช่นกัน

ฉันภูมิใจที่เป็นคนเอเชียค่ะ และฉันก็ภูมิใจที่ได้รับโอกาสจะแสดงความสามารถ ซึ่งฉันจะทำออกมาให้ดีที่สุดค่ะ”

หลิวอี้เฟยที่งานรอบปฐมทัศน์ของ Mulan ในสหรัฐฯ
หลิวอี้เฟยที่งานรอบปฐมทัศน์ของ Mulan ในสหรัฐฯ

หลังจากบทสัมภาษณ์ถูกแปลงเป็นคลิปและถูกเผยแพร่ออกต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม ก็เริ่มมีกระแสต่อต้านจากชาวจีนที่ได้รับชม เป็นต้นว่า “ถ้าเธอจะอายที่จะเป็นคนจีนขนาดนั้นละก็ ฉันขอแนะนำให้หลิวอี้เฟยไม่ต้องกลับมาทำมาหากินที่จีนอีกต่อไปเลยก็ดีนะ” และหลายเสียงก็พร้อมจะแบน ไม่ติดตามผลงานภาพยนตร์ของเธออีก กลายเป็นว่าชาวจีนที่เคยสนับสนุนเธอเพราะออกมาเป็นกระบอกเสียงให้ยุติการประท้วงในฮ่องกง กลับกลายมาเป็นผู้ต่อต้านเธอแทน

หลิวอี้เฟยที่เป็นชาวอู่ฮั่นโดยกำเนิด (เมืองที่เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19) นักแสดงสาววัย 32 ปีที่ถือสัญชาติอเมริกันหลังจากย้ายมาอยู่นิวยอร์กตั้งแต่ 10 ขวบ เธอได้รับสมญานามว่า “หนึ่งในสี่บุปผาแห่งวงการบันเทิงแดนมังกร” ซึ่งหมายถึงนักแสดงที่สวยและมากความสามารถที่สุด ณ ปัจจุบัน ส่วนคนที่เคยครองตำแหน่งนี้มาแล้วในยุคก่อน ๆ ได้แก่ เจ้าเหว่ย (เคยเล่นเป็นมู่หลานมาก่อน), จางซิยี่ (เกือบจะได้เล่นเป็นมู่หลาน), โจวซวิ่น และ ซูจิงเล่ย

ในวันที่เธอต้องออดิชันทดสอบหน้ากล้องบทนี้ เธอบินจากปักกิ่งมายังลอสแอนเจลิสเพื่อเล่นบทมู่หลานถึง 5 ฉาก และหนึ่งในนั้นคือการพูดบทยาว 5 หน้ากระดาษซึ่ง Niki Caro ผู้กำกับบอกความประทับใจของเธอที่มีต่อหลิวอี้เฟยว่า เธอพูดบทได้ตรงทุกคนอย่างไม่ผิดเพี้ยน ท้ายที่สุดเธอคือผู้ได้รับคัดเลือกจากนักแสดงที่มาทดสอบกว่า 1,000 คน และในเรื่องนี้เธอเล่นฉากสตันท์เองถึง 90%

ผู้กำกับ Niki Carlo และหลิวอี้เฟย
ผู้กำกับ Niki Carlo และหลิวอี้เฟย

หนังเลื่อนฉายทั้งหมด 4 ครั้ง

Mulan นั้นเรียกได้ว่า เป็นทัพหน้าของหนังฟอร์มยักษ์ปีนี้ที่ถูกวางตัวให้ลงสนามแข่งขันช่วงโควิด-19 ยังไม่ซาไป โดยเข้าชิงกับหนัง Tenet ของค่าย Warner Brothers ส่วนค่ายอื่นนั้นถอยหนังนี้ไม่ปลายปีหรือไม่ก็ปีหน้าไปเลยเพราะไม่อยากเสี่ยงขาดทุน เดิมที่ Mulan มีกำหนดฉาย 27 มีนาคม 2020 และได้ทำการเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ในสหรัฐฯ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคมพร้อมกระแสคำวิจารณ์ด้านบวก ถึงอย่างนั้นช่วงเวลานั้นเองก็เป็นช่วงที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ พุ่งสูงมากจนท้ายที่สุดเครือโรงภาพยนตร์ทั้งหมดในสหรัฐฯ ออกมาประกาศปิดให้บริการ

ภาพเคาน์เตอร์ขายตั๋ว Mulan ในจีนซึ่งยังคงขึ้นแบนเนอร์ฉายตามเดิม ขณะที่พนักงานสวมหน้ากากอนามัย (ภาพจาก nbcnews.com)
ภาพเคาน์เตอร์ขายตั๋ว Mulan ในจีน ช่วงเดือนมีนาคม ขณะที่พนักงานสวมหน้ากากอนามัย (ภาพจาก nbcnews.com)

Disney จึงขยับวันฉายครั้งที่ 2 เป็น 24 กรกฎาคม ตามหลัง Tenet ที่วางคิวไว้เป็น 17 กรกฎาคม แต่พอ Tenet ดูท่าจะฉายไม่ได้ตามกำหนดแรก ก็ขยับวันฉายมาเป็น 31 กรกฎาคม ทำให้ Disney ไม่ค่อยปลื้มที่ Mulan จะเป็นหนังฉายเปิดเรื่องแรก เพราะเสี่ยงเจ๊งและคนดูส่วนใหญ่อาจยังไม่พร้อมจะกลับมาดูหนังในช่วงเวลานั้น และทำการเลื่อนกำหนดฉายหนังใหม่รอบที่ 3 เป็น 21 สิงหาคม และ Tenet ก็เลื่อนกำหนดฉายตัวเองเป็นรอบที่ 3 เช่นกันมาเป็น 27 สิงหาคมในการฉายตลาดทั่วโลก ก่อนจะเข้าฉายในสหรัฐฯ วันที่ 4 กันยายน รอบนี้ Mulan เลยเลื่อนมาชนแบบไม่หนีต่อแล้ว กำหนดให้วันที่ 4 กันยายน หนังเข้าสตรีมมิงใน Disney+ และฉายโรงในตลาดต่างประเทศที่ไม่มี Disney+ เปิดให้บริการ

หนังฟอร์มยักษ์ของ Disney เรื่องแรก
ที่สตรีมมิงลง Disney+

Disney+ แก้ปัญหาหนังออกฉายล่าช้าด้วยการให้บางประเทศที่มีแพลตฟอร์มสตรีมมิง Disney+ ได้ดูหนัง Mulan ในวันที่ 4 กันยายนนี้ ด้วยราคา 29.99 เหรียญฯ (ราว 930 บาท ซึ่งเหมาะแก่การดูทั้งครอบครัว) ซึ่งจะเป็นการขายแบบที่ไม่ใช่บริการปกติบน Disney+ เพราะผู้ใช้จำเป็นต้องจ่ายค่าเข้าชมเพิ่มอีก นอกเหนือจากการจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน 6.99 เหรียญฯ ก่อนที่ในเดือนธันวาคมปีนี้จะสามารถชมได้โดยไม่ต้องจ่าย 29.99 เหรียญฯ

Disney Mulan

การกำหนดกลยุทธ์แบบนี้นับเป็นครั้งแรกของ Disney ที่ต้องทดลองและวัดใจว่า ความสำเร็จจากการขายแบบสตรีมมิงจะพอฟัดพอเหวี่ยง เรียกกำไรกลับคืนจากคนดูทั่วโลกใกล้เคียงกับการนำหนังเข้าฉายโรงหรือไม่ เพราะจะว่าไป Disney+ ก็มีฐานผู้ชมเพิ่มขึ้นมาเป็น 60.5 ล้านคนทั่วโลก ครองอันดับ 3 แพลตฟอร์มนี้ที่มีจำนวนสมาชิกทั่วโลกมากสุด รองจาก Netflix และ Amazon Prime Video ต้องมาดูผลลัพธ์เมื่อ Disney สรุปผลรายได้ออกมา (ในกรณีที่ยอมเปิดเผย) ส่วนประเทศที่ไม่มีแพลตฟอร์ม Disney+ ก็ได้ชมหนังในโรง (เช่นในประเทศไทย)

นักวิเคราะห์ทางการเงินได้คาดการว่า หาก Disney อยากได้ทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญฯ คืน เฉพาะในส่วนรายได้ที่จะได้จาก Disney+ พวกเขาจำเป็นต้องมีผู้เสียเงินเพิ่มเพื่อเช่าหนังจำนวน 6.7 ล้านบัญชีสตรีมมิง ซึ่งไม่ถือว่าเยอะมากและพอสู้ไหว เพราะคิดเป็น 11% ของผู้ใช้ทั้งหมด และหากเพิ่มค่าโปรโมตไปอีกราว ๆ 50 ล้านเหรียญฯ จะต้องมีผู้เช่า 8.4 ล้านบัญชีสตรีมมิง หรือ 13.8% ของผู้ใช้ทั้งหมด และหากไม่มีเหตุการณ์โควิด หนังน่าจะทำเงินในสหรัฐฯ ไปได้ประมาณ 210 ล้านเหรียญฯ และทำรายได้ทั่วโลกไป 750 ล้านเหรียญฯ หักลบกลบหนี้จะได้กำไรอยู่ที่ประมาณ 375 ล้านเหรียญฯ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส