เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ ‘SIN’ ซิน ทศพร อาชวานันทกุล ได้เดินทางบนเส้นทางสายดนตรี เริ่มต้นจากการเป็นหนึ่งในสมาชิกวงดูโอในนาม ‘Singular’ ร่วมกับ มือกีต้าร์ ณัฐ – โชติวุฒิ บุญญสิทธิ์ จนใคร ๆ ต่างเรียกเขาว่า ‘ซิน ซิงกูล่าร์’ กับงานดนตรีในสไตล์เมโทรอะคูสติกกับบทเพลงฮิตสุดละมุนอย่าง “เบา เบา” “24.7” และ “ลอง” และได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก หลังจากได้ปล่อยผลงานออกมาสองอัลบั้มคือ ‘The White Room’ และ ‘Spirit’ ทั้งสองก็ยุติการทำวง Singular ลงอย่างน่าเสียดาย

ความทะเยอทะยานที่หดหายจากความผิดหวังและการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่ความรู้สึกเศร้าโศกที่กัดกินใจ ซินได้แปรเปลี่ยนความรู้สึกในช่วงเวลานี้ออกมาเป็นผลงานเพลงเดี่ยวชุดแรกที่ใช้ชื่อว่า ‘Melancholy’ (2558) อันบ่งบอกความหมายถึงความเศร้าโศกและหดหู่ ที่สามารถสะท้อนอารมณ์ของเพลงในอัลบั้มได้เป็นอย่างดี

สองปีต่อมาซินก็ได้ออกผลงานเดี่ยวชุดที่ 2 ในช่วงเวลาที่กลับมาเป็นคนที่สดใสได้อีกครั้ง งานเพลงในอัลบั้มนี้จึงมาพร้อมกับโทนที่สดใส เบาสบาย และใช้ชื่อว่า ‘Homepop’ (2560) กับ 7 บทเพลงหลากสีสัน หลากท่วงทำนอง มีทั้งสุข เศร้า เหงา ให้กำลังใจ อบอุ่น ฟังสบาย ผ่านเสียงร้องนุ่ม ๆ ในสไตล์ของซิน ภายใต้การโปรดิวซ์ของฟั่น โกมล บุญเพียรผล และ โซ่ ETC ที่พิเศษสุดเลยคือ การร่วมฟีเจอริงกันในเพลง Game Over กับนักร้องนักแต่งหญิงลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น Rachael Yamagata

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีบนเส้นทางสายดนตรี ซินได้ผ่านความเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิต ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นต่างซุกซ่อนอยู่ในหลากบทเพลงที่เรียงร้อยขึ้นมาตามแต่ละย่างก้าวของเขา บนย่างก้าวในขวบปีที่ 10 นี้ซินได้ย้ายมาอยู่ในบ้านใหม่คือ White Music และเพิ่งจัดงาน “SIN : SUPERNATURAL 10th Years LIVE” งานแฟนมีตปีที่ 10 ของซินพร้อมแฟนเพลง 300 คน ในบรรยากาศแบบละมุนและอบอุ่นเป็นกันเอง พร้อมออกผลงานชุดที่ 3 ชุดที่ดูจัดจ้านทั้งในด้านดนตรีและภาพลักษณ์ และสะท้อนความเป็นตัวเองของซินได้อย่างเข้มข้นเจนจัดชัดเจนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนซึ่งเราจะได้สัมผัสผ่านหลากบทเพลงในอัลบั้ม SIN ‘SUPERNATURAL’

จากงานดนตรีที่เน้นความเป็นอะคูสติกของ Singular มาสู่งานดนตรีพอปชั้นดีที่มีส่วนผสมของอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแจมด้วยเล็กน้อยในงานเดี่ยวสองชุดที่ตามมา ส่วนใน SIN ‘SUPERNATURAL’ เราจะได้สัมผัสกับงานดนตรีที่มีความเข้มข้นมากขึ้นและซาวน์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาผสมผสานอย่างมีสีสัน ผ่านการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ความตั้งใจที่จะทำงานที่ไม่อยู่ในกรอบ และนำเสนอความอิสระผ่านบทเพลงให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการเติมภาพลักษณ์ที่จัดจ้าน รวมไปถึงซาวด์ดนตรีที่มีกลิ่นอายความเป็นเอเชียน (Asian Vibe) ทำให้คิดไปถึงกลิ่นอายงานดนตรี traditional ของญี่ปุ่นหรือจีน แม้แต่งานอาร์ตเวิร์กก็มีความเป็นเอเชียน อย่างที่ชอบมากคือปกซิงเกิล ‘ฝนตกลงมาครั้งใด’ ที่ทำออกมาเป็นไวนิลเวอร์ชันญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีเพลงที่ทำออกมาเป็นเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นนั่นคือเพลง ‘FAKE’

ในด้านเนื้อหาของเพลงในอัลบั้มนี้ซินได้ท้าทายตัวเองว่ามีอะไรที่เขาไม่เคยเขียนบ้าง มีมุมอะไรที่น่าสนใจที่ทำให้เขาสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ เราจึงได้พบแง่มุมใหม่ ๆ ในการเขียนเพลงของซินที่เป็นการสะท้อนตัวตนในแบบฉบับของเขาอันถูกขับขานออกมาผ่านงานดนตรีที่มีทั้งความเหงา ความเศร้า เคล้าไปกับความสุข ความหวาน ละมุน โรแมนติก ที่มีการเรียบเรียงเสียงกีตาร์ เปียโน บีท ซาวด์อิเล็กทรอนิก ซินธ์ เครื่องสาย ให้ออกมากลมกล่อมลงตัว เบา ๆ ฟังสบาย ไม่หนัก แต่มีจัดจ้านบ้าง เป็นเพลงพอป เพลงรักที่ไพเราะลงตัว

เปิดอัลบั้มด้วย ‘สายฟ้า’ บทเพลงในท่วงทำนองของอิเล็กทรอนิกส์พอป เปี่ยมสีสัน เซ็กซี่น่าหลงใหล กับเรื่องราวของความรักที่วูบวาบราวกับสายฟ้า เมื่อเธอปรากฏกายเข้ามาในชีวิต

ซินลองทำเพลงด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิมในเพลง ‘FAKE’ ด้วยการให้ ‘แทน ลิปตา’ เป็นคนขึ้นดนตรีให้ก่อน และเมื่อได้ฟังดนตรีที่แทนส่งมาซินก็นึกถึงคำว่า ‘Fake’ ขึ้นมาทันทีจึงเริ่มเขียนเนื้อเพลงจากคำคำนี้ จากจุดเริ่มต้นที่แปลกใหม่นำไปสู่สีสันและถ้อยคำทำนองที่แปลกใหม่เช่นกัน เราจึงได้ยินคำบางคำที่ซินไม่เคยร้องมาก่อนปรากฏอยู่ในเพลงนี้  นอกจากนี้ซินยังได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์รุ่นใหม่ ฮาย-ธันวา เกตุสุวรรณ นักร้องนำวง Paper Planes จนออกมาเป็นบทเพลงที่มีซาวด์ดนตรีในสไตล์อิเล็กทรอนิกส์พอปที่จัดจ้านและผสมผสานกลิ่นอายดนตรีเอเชียนในแบบที่ซินอยากลอง บนคอนเซปต์ของเพลงที่จัดจ้านไม่แพ้กันว่า ‘คนที่มัน Fake ก็ไม่มีค่าพอจะให้ใครใส่ใจ ถ้าเจอก็โบกมือ’ เพลงนี้มีทำออกมาเป็นเวอร์ชันเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่นให้สัมผัสความเอเชียนกันแบบสุด ๆ อีกด้วย

หากอยากฟังเพลงเศร้าสไตล์ซิน ‘พร้อม’ คือแทร็กที่แฟนเพลงของซินจะต้องโดนใจแน่นอนกับบทเพลงอกหักรักเศร้าที่สวยงามเพลงนี้ ที่ซินได้ร่วมงานกับอู๋-ยศทร บุญญธนาภิวัฒน์ นักร้องนำวง The Yers เป็นครั้งแรก โดยอู๋ได้ใส่กลิ่นอายความเป็นโมเดิร์นพอปที่ผสมผสานความเป็นอาร์แอนด์บีลงไปบนเนื้อหาที่เรียงร้อยออกมาจากความรู้สึกของซินที่พูดเรื่องของความ ‘พร้อม’ ที่จะเสียใจเสียน้ำตาในช่วงเวลาที่ความรักได้เดินจากเราไป ‘พร้อม’ ที่จะปล่อยมือจากสิ่งที่เรารัก เพลงนี้มีอะคูสติกเวอร์ชันให้ได้ฟังกันในอีกอารมณ์หนึ่งด้วย

‘อย่าลืมฉัน’ คืออีกหนึ่งบทเพลงที่มีกลิ่นอายของความเป็นเอเชียนอย่างชัดเจน ในท่วงทำนองของความเศร้าบนความรู้สึกคิดถึงใครบางคนที่ได้ห่างกันไป จากคนเคยใกล้ในวันนึงต้องห่าง ห่างได้แต่อย่าหาย ไกลแค่ไหนหรือมีคนใหม่ก็ยังอยากให้เจอกันบ้าง แค่ได้เห็นรอยยิ้มของเธอก็ดีใจมากแล้ว

ใน ‘ฝนตกลงมาครั้งใด’ ซินจับมือกับโซ่ ETC โปรดิวเซอร์คู่ใจจากงานเพลงเดี่ยวใน 2 อัลบั้มที่ผ่านมาสร้างสรรค์บทเพลงพอป ฟังสบาย สไตล์วินเทจยุค 80 ในกรู๊ฟแบบบอสซาโนวาผสมซาวด์ดนตรีที่ฟังแล้วล่องลอย สร้างบรรยากาศชวนเหงาเข้ากับเนื้อหา เป็นบทเพลงอารมณ์สดใสในเนื้อหาเศร้าเหงาเหมือนคนที่พยายามร่าเริงทั้งที่ใจยังเหงาอยู่ ท่ามกลางบรรยากาศของฝนตกที่ทำให้คิดถึงใครบางคนที่เคยอยู่ใต้ร่วมเดียวกันกับเราถือร่มคันนั้นและกางกั้นเราไม่ให้เปียกปอน มีเสียงฝนเสียงฟ้าร้องมาเติมบรรยากาศของความคิดถึง ฉ่ำละมุนไปด้วยเสียงแซ็กที่เสริมเติมเข้ามาตั้งแต่ท่อนโซโลไปจนจบเพลง

‘อยู่ ๆ ก็คิดถึง’ เป็นอีกเพลงที่มีสองเวอร์ชันให้เราได้ฟังกันใน เวอร์ชัน lofi.mix มาพร้อมท่วงทำนองสบาย ๆ ฉ่ำเย็นใจฟังแล้วสบายหู สบายใจ  ส่วนเวอร์ชันที่มีวง MEAN มาแจมด้วย มาพร้อมจังหวะสนุก กีตาร์ตอด ๆ เท่ ๆ กับ เสียงร้องของโปเต้กับซิน ในกลิ่นความเป็นโซลพอปอุ่น ๆ ฟังแล้วอิ่มอกอิ่มใจ เวอร์ชันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโพรเจกต์ ‘เคมีเข้า’ ที่จับเอาศิลปินที่ต่างแนวหลากสไตล์แต่มีเคมีที่เข้ากันมาทำงานร่วมกัน เขียนเนื้อโดย ‘แม็ค-ศรัณย์ วงศ์น้อย’ หรือ ‘แม็ค อะแคปเปล่า 7’ และ เรียบเรียงโดย โซ่ ETC.

ในเพลง ‘ฟัง’ ซินได้ใส่กลิ่นอายความเป็นเอเชียนลงไปอย่างเปี่ยมเสน่ห์ ทั้งในส่วนของเมโลดี้และเครื่องดนตรีที่ใช้ อย่างพิณ กลองไทโกะ เครื่องเคาะ และเบลของญี่ปุ่นที่ใช้ตามศาลเจ้า เมื่อมาผสมผสานกับบีตและซาวด์ดนตรีที่มีความเป็นอิเล็กทรอนิกทำให้ได้บทเพลงที่มีสีสันงดงาม อีกทั้งยังได้ โอม Cocktail มาร่วมร้องแจมด้วยเล็ก ๆ “รักคืออะไร เราจะรู้ได้ยังไง ถ้ายังฟังเสียงใครต่อใครมากกว่าหัวใจตัวเราเอง” เป็นบทเพลงที่มอบมุมมองอันเป็นอิสระให้กับความรัก ให้เราเชื่อมั่นในรักจากหัวใจของตนมากกว่าที่จะถูกปิดกั้นด้วยเงื่อนไขหรือกฏเกณฑ์ใด ๆ “ไม่มีเงื่อนไขใด ไม่มีใครนิยาม หรือกฎเกณฑ์ที่ต้องตาม ยามที่เธอลองให้รักบอกหัวใจตัวเอง”

เพลงนี้มีเวอร์ชันที่รีมิกซ์โดย ฮาย ธันวา ซึ่งได้พี่อ้อม สุนิสา มาฟีเจอริงด้วย เป็นเวอร์ชันสไตล์ซินธ์พอปเก๋ ๆ ที่ได้ความเท่ของพี่อ้อมมาเติมอย่างลงตัว นอกจากเสียงร้องของทั้งคู่ที่เข้ากันได้เป็นอย่างดี ยังมีเรื่องของตัวตนของทั้งคู่ที่ยิ่งทำให้สารของเพลงนี้มีความหนักแน่นมากขึ้น

อีกหนึ่งเพลงที่น่าประทับใจก็คือ ‘อยู่นาน ๆ ได้ไหม’ เป็นการนำเอาเพลงเก่ามาทำใหม่ได้เหงาจับใจมีการใส่ซาวด์อิเล็กทรอนิกสให้ร่วมสมัย เสียงเปียโน เสียงกีตาร์โปร่ง เสียงเครื่องสายกับเสียงร้องเหงา ๆ เคล้าความอบอุ่นของซิน พาใจเราล่องลอยไปในห้วงความทรงจำ เฝ้าย้ำคิดถึงใครสักคนที่เราอยากให้อยู่ข้างกาย นาน ๆ และหยุดช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นไว้ไม่ให้จากเราไปไหน ‘อยู่นาน ๆ ได้ไหม นานนานจะเจอะกันสักที’  เป็นเวอร์ชันทำใหม่ไพเราะละเอียดอ่อนและละเมียดละไม จนเจ้าของเสียงร้องในเวอร์ชันต้นฉบับอย่าง พี่ก้อย-ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ ต้องออกปากชมเลยทีเดียว

นอกจากงานเพลงจะดีแล้วตัว CD ของอัลบั้มนี้ยังทำออกมาได้น่าสนใจอีกด้วย ด้วยงานอาร์ตเวิร์กที่มีความลึกลับและเสน่ห์ในแบบเอเชียนกับ CD แผ่นคู่ที่ออกแบบมาเป็นโทนสีที่แตกต่างกันเป็นโทนร้อนแผ่นหนึ่งและโทนเย็นอีกแผ่นเข้ากันกับสีสันและอารมณ์ของบทเพลงในอัลบั้มนี้ได้เป็นอย่างดี

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส