เดือนมกราคมปี 2021 เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันและประวัติศาสตร์โลก เพราะการมีพิธีเข้าสาบานตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 46 ของ Joe Biden วัย 77 ปีจากพรรคเดโมแครต เมื่อวันที่ 20 มกราคม ท่ามกลางความลุ้นของฝั่งสนับสนุน Biden และประชาชนทั่วไปว่า จะเกิดเหตุจลาจลจากฝั่งสนับสนุนอดีตประธานาธิบดี Donald Trump อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่รัฐสภาจนมีผู้เสียชีวิต 5 รายหรือไม่ แต่สุดท้ายพิธีสาบานตนก็ผ่านไปอย่างราบรื่น

เมื่อสหรัฐฯ ที่เปรียบดั่งประเทศ “ผู้นำโลก” เปลี่ยนโฉมหน้าไปเพราะมี “ผู้นำใหม่” โลกก็เปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นท่าทีของจีน ไต้หวัน รัสเซีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศคู่ขัดขัดแย้งในสงครามการค้าและการแย่งชิงบทบาทการเป็นผู้นำบนเวทีโลก ก็ออกมาส่งสัญญาณต่อสหรัฐฯ แตกต่างกันไป สิ่งที่น่าติดตามก็คือ การเผยไต๋ทีละนิดของรัฐบาล Biden ที่ถูกทดสอบจากมหาอำนาจอื่น ๆ ว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไร วันนี้ Beartai-What the Fact ขอสรุปความเปลี่ยนแปลงของโลกในรอบ 10 วันหลัง Biden ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Biden หลังพิธีสาบานตนและเริ่มเข้าทำงานในห้องทำงานรูปไข่ ณ ทำเนียบขาวมาให้ได้อ่านกัน

คงท่าที “แข็งกร้าว” กับจีน ขวางการรุกทะเลจีนใต้-ตะวันออก

เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับท่าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะมีต่อรัฐบาลจีน เมื่อ Joe Biden เลือกจะสานต่อนโยบายต่างประเทศจากรัฐบาล Trump โดยที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า สหรัฐฯกำลังจัดทำแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและตรงประเด็นต่อจีน ที่จะเน้น 3 เรื่องเป็นพิเศษคือ เรื่องแรก สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เรื่องที่ 2 ปัญหาสังคมและการเมืองในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และเรื่องที่ 3 การคุมคามไต้หวันของจีน

แม้ยังไม่ได้มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดเชิงลึกว่า สหรัฐฯ จะดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่คำจำกัดความของจีนสำหรับมุมองของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็มองว่า จีนมีความชัดเจนในนโยบายต่างประเทศมากขึ้น และมั่นใจมากขึ้นว่า จีนมีนโยบายบริหารจัดการที่ดีกว่าสหรัฐฯ ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินนโยบายเชิงรุกกับจีน หนึ่งในนโยบายเรื่องนี้ของ Biden ที่หลายฝ่ายรอจะเห็น หลังจากเขาพูดอย่างหนักแน่นว่าเป็นหนึ่งในนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็คือการจะร่วมมือกับประเทศพันธมิตรที่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ สร้างพลังเสียง “Chorus of Voice” เพื่อต้านทานและคานอำนาจกับ

โดยนับตั้งแต่ 20 มกราคมที่ผ่านมา สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทของหลายประเทศ ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน นั้นได้เกิดความตึงเครียดขึ้นอย่างชัดเจน เริ่มจากฝูงเครื่องบินรบของจีนบินผ่านประชิดน่านฟ้าไต้หวันอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ต่อมากองทัพสหรัฐฯ ออกมาตำหนิจีนทันทีว่า มีเจตนาข่มขวัญไต้หวัน จากนั้นสหรัฐฯ จึงส่งเรือรบเข้าสู่น่านน้ำทะเลจีนใต้เพื่อสนับสนุนไต้หวัน จีนจึงออกแถลงการณ์ว่า การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ ไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และย้ำว่าไต้หวันไม่สามารถแยกออกจากจีนได้ จึงขอให้สหรัฐฯ เคารพหลักการ “จีนเดียว” ด้วย

อย่างไรก็ตาม กองทัพสหรัฐฯเปิดเผยว่า ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ยังไม่มีเรือรบและเครื่องบินรบลำใดของจีนเข้าใกล้พาหนะทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ในรัศมี 460 กิโลเมตร นอกจากนั้นสหรัฐฯ ก็ส่งสัญญาณชัดเจนในการขวางจีนแผ่ขยายอำนาจในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก โดยทูตจีนประจำวอชิงตันได้โต้กลับสหรัฐฯ ด้วยการแถลงเป็นนัยว่า อย่ามองปักกิ่งเป็นศัตรูทางยุทธศาสตร์เพราะอาจนำไปสู่ความผิดพลาดร้ายแรง

ต่อมาเมื่อ 27 มกราคม Biden ก็ได้ต่อสายตรงไปให้ความมั่นใจกับนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูงะ แห่งญี่ปุ่นว่า คณะบริหารของเขา ยังคงมุ่งมั่นปกป้องญี่ปุ่น โดยรวมถึงหมู่เกาะเซ็งกากุ หรือที่จีนเรียกว่า หมู่เกาะเตียวหยู ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์บนเกาะพิพาทนี้ Lloyd Austin รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่ง ก็ได้ต่อสายตรงถึง โนบูโอะ คิชิ รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่นเช่นกันว่า น่านน้ำดังกล่าวอยู่ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น และย้ำว่า สหรัฐฯ จะคัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวของจีนในการเข้ามีอำนาจเหนือเกาะนี้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังกล่าวกับรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ว่า สหรัฐฯ จะปกป้องฟิลิปปินส์จากการโจมตีในแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงทะเลจีนใต้ที่หลายประเทศมีข้อพิพาทแย่งชิงสิทธิ์กับจีนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่า ท่าที่แข็งกร้าวที่ออกมาใน 10 วันหลังการเข้ารับตำแหน่งของรัฐบาล Biden เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทีมบริหารของอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ไม่เคยปฏิบัติแบบนี้มาก่อน ดังนั้นความเคลื่อนไหวเหล่านี้จึงตอกย้ำว่า คณะบริหารของ Biden จะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านความมั่นคงที่แข็งกร้าวกับจีน ชนิดที่อาจต่อเนื่องกับนโยบายต่างประเทศที่ Trump เคยมีต่อจีนเลยทีเดียว

ชุย เทียนข่าย เอกอัครราชทูตประจำวอชิงตัน กล่าวผ่านฟอรัมออนไลน์เมื่อวัน 27 มกราคมที่ผ่านมา ย้ำว่าจีนมีจุดยืนมายาวนานในการอยู่ร่วมกับสหรัฐฯ อย่างสันติ แต่ก็เตือนว่า การที่สหรัฐฯ จะมองจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์และศัตรู “ในจินตนาการ” เป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมและอาจนำมาซึ่งความผิดพลาดร้ายแรง โดยชุยก็ย้ำว่า รัฐบาลจีนต้องการร่วมมือ ไม่ใช่เผชิญหน้า และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อแก้ไขจุดยืนที่ไม่ตรงกัน แต่จีนจะไม่ยอมอ่อนข้อในด้านอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และหวังว่า สหรัฐฯ จะเคารพผลประโยชน์หลักของจีนและ “ไม่ล้ำเส้น”

ซื้ออเมริกัน” กลับมาหนุนนโยบายอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ

Biden ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารประกาศใช้ประโยชน์จากอำนาจซื้อของรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะผู้ซื้อสินค้าและบริการรายใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อส่งเสริมการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศ รวมถึงสร้างตลาดสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ คือ “Buy American” ซึ่งจะเป็นการสานต่อจากนโยบาย “Made in America” ของ Trump ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าดำเนินนโยบายไม่สำเร็จ โดย Biden นั้น ตั้งใจจะอุดช่องโหว่ของนโยบายนี้ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งบังคับนโยบายได้แค่กับจำนวน 1 ใน 3 ของการจัดซื้อสินค้าและบริการประจำปีของรัฐบาลกลางที่มูลค่าระมาณปีละ 600,000 ล้านเหรียญฯ

Biden แถลงเมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมการผลิตของสังคมอเมริกันนั้นเคยเป็นคลังแสงแห่งประชาธิปไตยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อจากนี้อุตสาหกรรมนี้จะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรในการสร้างความมั่งคั่งให้สหรัฐฯ อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีอันตราส่วนเป็น 12% ของอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นส่วนสำคัญของแผนการ Biden ที่จะกระตุ้นการขึ้นค่าแรง สร้างงาน สนับสนุนธุรกิจของชนกลุ่มน้อย และเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ

ทั้งนี้ ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทอุตสาหกรรมการผลิตจำนวนมากของสหรัฐฯ ถูกดึงดูดด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดน้อยกว่าในจีนและประเทศโลกที่สาม บริษัทยักษ์ใหญ่ จึงพากันโยกย้ายไปตั้งโรงงานในต่างแดน ส่งผลให้เกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลของสหประชาชาติได้เปิดเผยว่า จีนได้แซงอเมริกาขึ้นเป็นผู้ผลิตทางอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปแล้วเรียบร้อย ทางด้านกลุ่มสหภาพแรงงานยักษ์ใหญ่ AFL-CIO ก็แถลงแสดงการต้อนรับคำสั่งล่าสุดของ Biden โดยมองว่า เป็นก้าวแรกในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ

เมื่อ 25 มกราคมเช่นกัน วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติด้วยคะแนน 84-15 รับรองการเสนอชื่อ Janet Yellen วัย 74 ปี เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ โดยเธอต้องเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญฯ การขึ้นภาษี และมาตรการใช้จ่ายอื่น ๆ ของรัฐบาล Biden Yellen นั้นกลายเป็นรัฐมนตรีคลังหญิงคนแรกของสหรัฐฯ หลังจากเมื่อ 7 ปีที่แล้วก็สร้างประวัติศาสตร์ในการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank (FED)) ผู้หญิงคนแรก โดนเธอได้รับการคาดหมายว่า จะมีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับรัฐสภาเพื่อผลักดันมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงแผนการลงทุนมูลค่า 2 ล้านล้านเหรียญฯ ในโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม การศึกษา และการวิจัยเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของสหรัฐฯ ด้วย

ต่ออายุสนธิสัญญาจำกัดหัวรบนิวเคลียร์กับรัสเซียไปอีก 5 ปี

Biden ต้องการต่ออายุสนธิสัญญาลดอาวุธยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ หรือ New START (Strategic Arms Reduction Treaty) ที่สหรัฐฯ เคยลงนามไว้กับประเทศรัสเซีย และลงนามกันมาตั้งแต่ปี 2010 โดย Biden ตั้งใจต่ออายุไปอีก 5 ปี โดยตามเนื้อหาของสนธิสัญญา New START นี้ สหรัฐฯ และรัสเซียจะต้องจำกัดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานให้เหลือประเทศละไม่เกิน 1,550 ลูก ซึ่งเป็นการจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ให้อยู่ในระดับที่ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

ไม่เพียงเท่านั้น สนธิสัญญาฉบับนี้ยังจำกัดจำนวนขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นดินและจากเรือดำน้ำ รวมถึงจำนวนเครื่องบินทิ้งระเบิดด้วย โดยสนธิสัญญา New START มีกำหนดหมดอายุในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ทางด้าน Jen Psaki โฆษกทำเนียบขาว ได้แถลงว่า ประธานาธิบดี Biden ได้แสดงท่าทีชัดเจนมาโดยตลอดว่า สนธิสัญญา New START นั้นเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคงต่อสหรัฐฯ การต่ออายุสนธิสัญญาจึงเป็นเหตุเป็นผล ส่วนทางด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ระบุว่า หากสนธิสัญญาได้รับการต่ออายุ ชาวอเมริกันจะมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ ทางกระทรวงจะสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของรัสเซีย และให้คำมั่นจะปกป้องประเทศจากการกระทำที่อุกอาจและเป็นอันตรายจากรัสเซียต่อไป

ล่าสุดด้านประธานาธิบดี Vladimir Putin แห่งรัสเซีย ก็ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายต่ออายุสนธิสัญญา New START ต่อไปอีก 5 ปี ตามที่ทำเนียบเครมลินแถลงเมื่อ 29 มกราคม โดยกฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับในวันที่ประกาศลงในรัฐกิจจานุเบกษาของรัสเซีย รัฐบาลรัสเซียได้ระบุว่า การต่ออายุข้อตกลงนี้จะช่วยปกปักรักษาความโปร่งใส และช่วยความสามารถในการคาดเดาความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ให้ยังคงมีอยู่ต่อไป รวมถึงรัสเซียก็จะสนับสนุนเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ระดับโลกต่อไป โดยเบื้องหลังนั้น เกิดจากที่ Putin ได้พูดคุยโทรศัพท์ครั้งแรกกับ Biden เมื่อ 26 มกราคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา โฆษกทำเนียบขาวยังระบุว่า Biden ได้มอบหมายให้หน่วยข่าวกรองต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อกล่าวหาต่างๆ ต่อรัสเซีย กรณีการล้วงข้อมูลไซเบอร์เทคอเมริกัน การแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 การใช้อาวุธเคมีโจมตี Alexi Navalny แกนนำฝ่ายค้านสำคัญ โดยโฆษกหญิงแห่งทำเนียบขาวก็ย้ำในประเด็นนี้ว่า แม้ จะร่วมมือกับรัสเซียเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ เองก็จะเดินหน้าเอาผิดรัฐบาลรัสเซียต่อพฤติกรรมที่อุกอาจและเป็นปรปักษ์ด้วยเช่นกัน

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

เปลี่ยนรถยนต์ของหน่วยงานรัฐบาลทุกคันเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า”

Biden ได้ออกนโบายเปลี่ยนรถยนต์และรถบรรทุกทุกคันของรัฐบาลให้กลายเป็นรถยนตร์ไฟฟ้าทั้งหมด โดยแผนการดังกล่าวอยู่ภายใต้คำสั่งโดยตรงของ Biden ที่ลงนามไปเมื่อ 25 มกราคม โดยมีชื่อเรียกแผนการดังกล่าวว่า “Buy American” ซึ่งจะเป็นแผนการที่จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐฯ หลังจากที่ประชาชนประสบปัญหาตกงานจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ

ในรายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดยานยนต์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าการลงทุนและซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และมีเพียงบริษัทแค่ 3 บริษัทที่ผลิตในสหรัฐฯ ณ ขณะนี้คือ Tesla, General Motors (GM) และ Nissan Motors เท่านั้น ในขณะที่ Ford Motors และบริษัทอื่น ๆ ก็เริ่มหันมาสนใจการลงทุนในการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ มากขึ้นแต่ยังไม่ได้ผลิตเพื่อวางจำหน่าย อย่างไรก็ตามแผนการการเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าของ Biden ก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะหมายรวมถึงรถยนต์ระบบไฮบริดที่ยังใช้พลังงานน้ำมันอยู่ด้วยหรือไม่ แต่รัฐบาล Biden ก็มีการตั้งเป้าเอาไว้ว่า สหรัฐฯ จะต้องดำเนินนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใน 4 ปีนี้ตามที่ Biden ได้เคยหาเสียงเอาไว้

Biden เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะสร้างการจ้างงานในอุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าให้ประชาชนในประเทศมีงานทำเพิ่มขึ้นราว 1 ล้านงานและยังไม่นับรวมถึงแผนการที่ Biden จะผลักดันให้มีการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ภายในประเทศเอง เนื่องจากปัจจุบัน การประกอบรถยนต์ภายในสหรัฐฯ นั้น ชิ้นส่วน 50% ของรถยนต์ จะต้องถูกผลิตขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่ง Biden กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าว ยังไม่สูงมากพอที่จะส่งผลต่อการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ทั้งนี้ บริษัทยานยนต์หลายบริษัทในสหรัฐฯ ก็ออกมาตอบรับท่าทีของนี้อย่างดี เช่น GM และ Ford Motors ที่ออกมาลงความเห็นว่า นโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทและเศรษฐกิจโดยภาพรวมของสหรัฐฯ

ตั้งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ “ผู้หญิง” คนแรก

Avril Haines ได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (Director of National Intelligence) หรือ DNI ของสหรัฐฯ เป็นคนที่ 7 โดยก่อนหน้านี้ Haines เคยเป็นอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (Central Intelligence Agency) หรือ CIA และเป็นรองผู้อำนวยการหญิงของ CIA คนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี Obama ด้วยเช่นกัน

Haines ได้รับเสียงข้างมาก 84 ต่อ 10 ในการประชุมสภาซึ่งต้องรับรองการเข้าดำรงตำแหน่งของเธอ ซึ่งกลายเป็นกระบวนการรับรองที่แปลกตามากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะประธานการประชุมคือรองประธานาธิบดี Kamala Harris ซึ่งก็เป็นผู้หญิงที่ได้ดำรงตำแหน่งที่ไม่เคยมีผู้หญิงคนใดเคยได้นั่งมาก่อนเช่นกัน ทำให้ Harris ถึงกับกล่าวในการประชุมว่า “นี่เป็นภาพบรรยากาศที่ไม่เคยชินตาสักเท่าไร” ส่วน Haines ก็กล่าวในสภาว่า “DNI ไม่อายที่จะพูดความจริง แม้การพูดครั้งนั้นจะเกี่ยวข้องกับอำนาจหรือเป็นเรื่องที่ยากจะพูดก็ตามที” เพื่อยืนยันว่าเธอจะบริหารงานด้านข่าวกรองอย่างตรงไปตรงมา หน้าที่หลักของ Haines คือการดูแลหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ทั้งหมด 18 แห่ง โดยในระหว่างการพิจารณารับรองในที่ประชุม Haines ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ ควรมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อภัยคุกคามที่เกิดจากจีนต่อไป

สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และหยุดความคลั่งชาติเกินเหตุ

Biden ได้ยกเลิกมาตรการแบนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) เข้าทำงานในกองทัพสหรัฐฯ หลังรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี Trump ได้ผลักดันมาตรการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2017 จนได้รับอนุญาตจากศาลสูงสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 โดยอ้างว่า กลุ่มทรานส์เจนเดอร์อาจส่งผลต่อความไร้ประสิทธิภาพ การสร้างความกลมเกลียวกันในหมู่ทหาร รวมถึงการต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้ภายในกองทัพสหรัฐฯ

รัฐบาลของ Biden สานต่อนโยบายไปในทิศทางเดียวกับสมัยอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ที่สนับสนุนความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เพื่อสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมอเมริกันที่ยกย่องการหลอมรวมความหลากหลายจนกลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมเอาไว้ สถิติข้อมูลของ RAND Corporation เมื่อปี 2016 พบว่า กองทัพสหรัฐฯ มีทรานส์เจนเดอร์เข้ารับราชการทหารราว 6,630 นาย โดยมีตัวเลขคาดการณ์การเข้ารับฮอร์โมนของทรานส์เจนเดอร์ในกองทัพอยู่ที่ราว 30-140 ครั้งต่อปี ขณะที่ตัวเลขการผ่าตัดที่เกี่ยวโยงกับการแปลงเพศจะอยู่ที่ราว 25-130 ครั้งต่อปี ค่าใช้จ่าย อยู่ที่ราว 2.4-8.4 ล้านเหรียญฯ สหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านสุขภาพที่ทุ่มให้กับกองทัพทั้งหมด

และเมื่อ 22 มกราคม Biden ก็ได้ลงนามคำสั่งพิเศษขยายขอบเขตของกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ในสหรัฐฯ จากการถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในสถานที่ทางการและสถานที่ทำงาน คำสั่งดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลสูงที่ระบุว่า LGBTQ ควรได้รับการปกป้องจากการถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องของการจ้างงานและการป้องกันการเกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงการแสดงออกทางเพศ

นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังยังระบุว่า เยาวชนอเมริกันควรจะได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้โดยปราศจากความกังวลใจว่าเขาอาจจะถูกปฏิเสธจากการได้เข้าห้องน้ำ ได้เข้าใช้ห้องล็อกเกอร์ รวมถึงการเล่นกีฬาในโรงเรียน ขณะที่ผู้ใหญ่เองก็ควรจะได้ใช้ชีวิต ได้เข้าทำงานในสถานที่ที่อยากทำ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่า จะถูกไล่ออก ถูกลดขั้น หรือถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศที่ต่างกัน อีกทั้งยังยอมรับว่าที่ผ่านมามีการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากลึกในวิถีอเมริกัน ที่ไม่ใช่แค่มิติในเรื่องเพศ แต่ยังรวมถึงเชื้อชาติ ความเชื่อ และการทุพพลภาพอีกด้วย

แต่ละหน่วยงานของรัฐจะปรึกษากับอัยการสูงสุดในแต่ละรัฐเพื่อให้คำสั่งพิเศษนี้ออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุดภายใน 100 วันแรกของการทำงาน ทางด้าน Alphonso David ประธานของ Human Rights Campaign ในสหรัฐฯ ระบุว่าวันนี้พลเมืองอเมริกันหลายล้านคนได้ “พักหายใจ” หลังมีสัญญาณว่าประธานาธิบดีและคณะรัฐบาลชุดใหม่ออกมายอมรับว่า การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ แต่ยังเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมทางกฎหมายด้วย แม้รายละเอียดการนำคำสั่งไปปรับใช้อาจจะใช้ระยะเวลาสักพัก แต่คำสั่งพิเศษนี้ก็ทำให้พลเมือง LGBTQ หลายล้านคนเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เพียงแค่ไม่กี่วันหลัง Bidenขึ้นดำรงตำแหน่ง

นอกจากนี้ Biden ยังเสนอชื่อ Dr. Rachel Lavine ซึ่งเป็นทรานส์เจนเดอร์ให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐฯ คนใหม่ ส่งผลให้เธอจะกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลผู้เป็นทรานส์เจนเดอร์คนแรกที่ได้รับการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ เดิมที Dr. Rachel Lavine ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าการรัฐเพนซิลเวเนียจากพรรคเดโมแครตให้ดูแลงานด้านสาธารณสุขของรัฐเพนซิลเวเนีย ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา โดยเธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard และ Tulane Medical School ที่ผ่านมาเธอเชี่ยวชาญเกี่ยวกับสารโอปิออยด์ กัญชาเพื่อการแพทย์ ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการกิน รวมถึงการแพทย์เพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

Dr. Rachel Lavine มีความเป็นผู้นำ และมีความเชี่ยวชาญที่เราต้องการ เพื่อนำพาให้พลเมืองอเมริกันก้าวผ่านวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ไปให้ได้ อย่างไม่คำนึงถึงถิ่นที่อยู่อาศัย เชื้อชาติ ศาสนา รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศหรือการทุพพลภาพ เธอจะเป็นหน้าประวัติศาสตร์ ที่จะช่วยส่งเสริม และสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุขของทีมบริหารชุดใหม่ของเรา” Biden กล่าว

Dr. Lavine จะเป็นผู้ช่วยให้กับอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย (ที่รับช่วงต่อ Kamala Harris ซึ่งพ้นจากตำแหน่งนี้เมื่อปี 2017) และกำลังจะนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ หลัง Biden ได้ผลักดันแผนฟื้นฟูประเทศขณะกำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด ด้วยงบประมาณ 1.9 ล้านล้านเหรียญฯ พร้อมตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ให้กับประชาชนให้ได้ 100 ล้านโดส ภายใน 100 วันแรกของการทำงาน ของ Biden

ส่วนประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยนความคลั่งชาติเกินเหตุนั้น Biden ก็ได้ลงนามในคำสั่งยกเลิกคณะกรรมการที่ปรึกษาของอดีตประธานาธิบดี Trump ที่มีชื่อว่า “1776 Commission” โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งในสมัยของประธานธิบดีที่ผ่านมาที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านโครงการ “The 1619 Project” ของ The New York Times ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ โดยโครงการดังกล่าวจะมุ่งสอนนักเรียนอเมริกันผ่านประวัติศาสตร์การต่อสู้ของทาส ชนพื้นเมือง และสตรีอเมริกัน คณะกรรมการชุดของ Trump ไม่มีนักประวัติศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อเมริกันเลย และล่าสุดรายงานของคณะกรรมการ 1776 Commission ได้ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ทางการของสหรัฐฯ แล้ว

เปิดรับผู้อพยพจากปัญหาสภาพภูมิอากาศปีละ 50,000 คน

ด้านนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจาก Biden จะลงนามในคำสั่งให้ประเทศกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนหลังจาก Trump ลงนามคำสั่งเพื่อออกมาจากข้อตกลงเมื่อปี 2017 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นโยบายด้านผู้อพยพใหม่ของ Biden ก็มาเกี่ยวข้องกับปัญหาสภาพอากาศและโลกร้อนด้วย เมื่อ Biden ให้คำมั่นว่า จะกำหนดเส้นทางการมอบสัญชาติให้กับผู้ประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมจากนานาชาตินับแสนคน โดยเร็วที่สุดหลังเข้ารับตำแหน่ง

ในปี 2019 วุฒิสมาชิก Ed Markey ได้ดำเนินนโยบายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้พระราชบัญญัติผู้พลัดถิ่นจากสภาพภูมิอากาศ (The Climate Displaced Persons Act) เพื่อเปิดรับคนเหล่านั้นเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งระบุว่า ผู้พลัดถิ่นจากสภาพภูมิอากาศ คือผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นหรืออพยพจากบริบทสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งภัยธรรมชาติ ความแห้งแล้ง ความอดอยาก และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล

โดยถ้าหากนโยบายนี้ถูกบังคับใช้ สหรัฐฯ จะต้องเปิดรับผู้อพยพตามเงื่อนไขไม่น้อยกว่า 50,000 รายต่อปี Ama Francis นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัย Columbia ระบุว่าเธอยังไม่อยากคาดหวังว่าก้าวแรกของนโยบายผู้อพยพใหม่จะชูเรื่องผู้อพยพจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องหลัก เพราะปัจจุบันยังมีช่องว่างในกฎหมายคนเข้าเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งแยกจากกันอยู่

นอกจากนี้ Biden ยังได้ให้มอบสถานะคุ้มครองชั่วคราว (Temporary protected status (TPS)) ให้กับคนที่สูญเสียดินแดนจากสงครามและภัยธรรมชาติให้เข้ามาอาศัยทำกินในสหรัฐฯ ได้ด้วย ซึ่ง Biden ได้เสนอว่าผู้ถือสถานะดังกล่าวอาจได้รับสัญชาติสหรัฐฯ จากการปฏิรูปนโยบายผู้อพยพในอนาคต หลายฝ่ายมองว่า นโยบายนี้นับเป็นก้าวสำคัญของนโยบายผู้อพยพทั่วโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นโดยในรายงานยังระบุด้วยว่า ภายในปี 2050 โลกอาจมีผู้อพยพจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากถึง 1,000 ล้านคน

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

Amanda Gorman หญิงสาวผู้ขึ้นกล่าวขานบนกวีคือใคร?

WASHINGTON, DC – JANUARY 20: Youth Poet Laureate Amanda Gorman speaks at the inauguration of U.S. President Joe Biden on the West Front of the U.S. Capitol on January 20, 2021 in Washington, DC. During today’s inauguration ceremony Joe Biden becomes the 46th president of the United States. (Photo by Rob Carr/Getty Images)

อีกหนึ่งคนที่กลายเป็นดาวเด่นของพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ Biden ก็คือ Amanda Gorman กวีหญิงวัย 22 ปี ผู้ได้รับรางวัลกวีเยาวชนแห่งชาติคนแรกของสหรัฐฯ หลังจากที่เธอกลายเป็นกวีอายุน้อยที่สุดที่ได้ขึ้นขับขานบทกวีในพิธีนี้ Gorman ร่ายบทร้อยแก้วชื่อ “เนินเขาที่เราข้าม (The Hill We Climb)” สะกดผู้ชมทั้งในพิธีและผู้ชมที่รับชมผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก โดยเริ่มต้นบทกวีที่กล่าวว่า “เมื่อวันเวลามาถึง เราเฝ้าถามตัวเองว่า จะหาแสงสว่างในร่มเงาที่มืดมิดไร้จุดจบนี้ได้ที่ไหน?

เราได้เห็นพลังอำนาจที่อาจทำลายชาติเรา มากกว่าการร่วมแบ่งปัน มันอาจทำลายประเทศเรา หากหมายถึงการฉุดรั้งประชาธิปไตย ความพยายามนี้เกือบสำเร็จ ในขณะที่ประชาธิปไตยถูกฉุดรั้งไว้ชั่วคราว แต่นับแต่นี้ ประชาธิปไตยจะไม่อาจถูกปฎิเสธได้อีกต่อไป” เนื้อหาบทร้อยแก้วความยาว 5.30 นาที ยังอ้างอิงถึงเหตุจลาจลบุกรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา

ภายหลังการขับขานบทร้อยแก้วของ Gorman บรรดานักการเมืองหญิงและบุคคลมีชื่อเสียง ทั้ง Hillary Clinton อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและสุภาพสตรีหมายเลข 1, Michelle Obama อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 และ Oprah Winfrey พิธีกรผิวดำคนดังต่างออกมาชื่นชมและแสดงความภาคภูมิใจในบทกวีอันน่าทึ่งของเธอ

แล้วเธอคนนี้เป็นใคร จึงได้รับโอกาสอันใหญ่ยิ่งนี้? Gorman เกิดที่เมืองลอสแอนเจลิส ในปี 1998 และเคยมีปัญหาด้านการพูดในวัยเด็ก ก่อนจะเอาชนะได้และหายดีในที่สุด จนกลายเป็นนักกวีตั้งแต่วัยเยาว์ ปัจจุบันเธอได้เข้าเรียนในสาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Harvard ที่ผ่านมาเธอเคยเข้าร่วมเป็นผู้แทนรุ่นเยาว์ของสหประชาชาติในปี 2013 ก่อนที่ในปี 2017 เธอจะคว้ารางวัลกวีเยาวชนแห่งชาติคนแรกของสหรัฐฯ ขณะที่เธอยังมีผลงานหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกชื่อว่า “The One for Whom Food is not Enough” ที่ตีพิมพ์ในปี 2015 และเตรียมเปิดตัวหนังสือภาพประกอบบทกวีอีกเล่มในปีนี้ ความใฝ่ฝันสูงสุดของเธอคือการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีภายในปี 2036

ชุดของประธานาธิบดีและเหล่าคนสำคัญในพิธีสาบานตน

จุดเด่นของงานพิธีสาบานตนอีกอย่างที่เป็นที่สนใจของผู้คนทั่วไปและคนในวงการแฟชั่นก็คือ ชุดของประธานาธิบดีคนใหม่และสุภาพสตรีหมายเลข 1 โดย Jill Biden นั้นเลือกสวมใส่โอเวอร์โค้ตผ้าทวีดประดับคริสตัลสวารอฟสกีสีฟ้าและปักประดับสร้อยคอมุกลงไปในชุด รวมถึงชุดเดรสสีฟ้าเซรูเลียน จากแบรนด์ Markarian ซึ่งนับว่าผิดคาดไปจากที่กูรูแฟชั่นหลายคนคาดไว้ว่า เธอจะสวมใส่แบรนด์แถวหน้าของแฟนชั่นอเมริกัน เช่น Oscar de la Renta เหมือนชุดลายดอกที่เธอใส่ในวันประกาศตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ Biden เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แต่เธอกลับเลือกแบรนด์หน้าใหม่มาแรงแบรนด์เล็ก ๆ อย่าง Markarian ซึ่งเป็นของดีไซเนอร์หญิงชาวอเมริกันชื่อว่า Alexandra O’Neill แทน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นแบรนด์เล็ก ๆ ที่ใช้วัตถุดิบง่าย ๆ ของเมืองนิวยอร์ก O’Neill จะทำการตัดเย็บเมื่อมีการสั่งเท่านั้น เพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เลือกโทนสีฟ้าซึ่งเป็นสีของพรรคเดโมแครต

ส่วนทางด้าน Kamala Harris รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ เธอเลือกสวมชุดสีม่วงสวมทับด้วยโอเวอร์โค้ตสีม่วงจากแบรนด์ Christopher John Rogers และสร้อยคอมุกจากแบรนด์ Wilfreo Rosado โดยทั้งสองเป็นอเมริกันดีไซเนอร์แบรนด์เล็ก ๆ ที่ไม่ใช่แบรนด์ระดับโลก โดย Christopher John Rogers เป็นกลุ่มคนเควียร์ใน LGBTQ และเป็นผิวดำ ขณะที่ Rosado นั้นเป็นชาวเปอโตริกันอเมริกัน (เกิดในสหรัฐฯ แต่มีพ่อแม่เป็นชาวเปอโตริโก)

ไม่เพียงแค่นั้น สีม่วง-ขาวยังเป็นสีตัวแทนของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งของผู้หญิงในอเมริกาที่ชื่อว่า ขบวนการ Suffragette ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อีกด้วย ซึ่งในวันประกาศตัวชิงตำแหน่งของ Biden ในเดือนพฤศจิกายน Kamala ก็สวมชุดสูทกางเกงสีขาว ที่เป็นสัญลักษณ์แทนขบวนการ Suffragette มาแล้ว

ในหน้าประวัติศาสตร์นั้นหญิงสาวในขบวนการนี้ ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในสหรัฐฯ และได้สวมชุดสูทสีขาวล้วนออกมาเดินขบวนประท้วงในเมืองนิวยอร์ก เมื่อปี 1913 ชุดสูทสีขาวล้วนจึงมีความหมายในการระลึกถึงและเฉลิมฉลองความสำเร็จของขบวนการสิทธิสตรีในการมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือการได้เข้าร่วมทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา อีกคนที่สวมใส่ชุดสูทกางเกงสีขาวเพื่อแสดงเป็นนัยในพิธีดังกล่าวก็คือ ศิลปินชื่อดังอย่าง Jennifer Lopez ที่สวมชุดสูทกางเกงสีขาวจาก Chanel

ไม่เพียงแค่นั้น ทั้ง Kamala Harris และ Jill Biden ยังเลือกสวมใส่เครื่องประดับเป็นสร้อยมุกทั้งคู่ โดยมุกนั้นได้แฝงนัยทางการเมืองเอาไว้สำหรับผู้หญิงและคนผิวดำ ในหนังที่ได้เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัสออสการ์อย่าง Hidden Figures (2016) ตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงอย่าง Katherine G. Johnson ผู้หญิงผิวดำคนแรกที่โดดเด่นในองค์การ NASA ซึ่งเธอบอกว่าแม้ในกฎการแต่งกายจะบอกไว้ว่า ผู้หญิงสวมใส่สร้อยมุกเส้นเล็ก ๆ ได้ แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าผู้หญิงผิวดำนั้นได้เงินเดือนไม่พอ แม้จะซื้อสร้อยมุกเส้นเล็ก ๆ มาใส่ นอกจากนั้น สร้อยมุกยังเป็นตัวแทนของผู้หญิงผิวดำในทางการเมืองของอเมริกาอีกด้วย เพราะมันคือเครื่องประดับที่ Shirley Chisholm หญิงผิวดำคนแรกที่ได้รับการรับเลือกเข้าทำงานในสภาครองเกรสสวมใส่

นอกจากนี้ดาวเด่นอีกคนอย่าง Amanda Gorman เธอมาในโค้ตสีเหลืองและที่รัดผมสีแดงของ Prada อันเป็นสีที่ Shirley Chisholm เลือกใช้ในช่วงการหาเสียงของเธอในยุค 70s ไม่เพียงแค่นั้น หากสังเกตที่นิ้วมือของเธอดี ๆ จะเห็นแหวนรูปกรงนก ซึ่งเป็นตัวแทนของบทกวีชื่อ “I Know Why the Caged Bird Sings” ของ Maya Angelou กวีหญิงผิวดำชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง ซึ่งแหวนวงนี้ Oprah Winfrey เป็นผู้มอบให้เป็นของขวัญแก่ Gorman

https://www.youtube.com/watch?v=WOfdQw4DAh4

หินดวงจันทร์และภาพที่เปลี่ยนไปในห้องทำงานรูปไข่ ณ ทำเนียบขาว

ตามธรรมเนียมแล้วเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่เข้ารับตำแหน่งก็มักจะทำการตกแต่งห้องทำงานรูปไข่อันเป็นห้องทำงานประจำตัวของประธานาธิบดีที่ทำเนียบขาว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการแสดงออกถึงอุดมการณ์ของตัวเองทางอ้อมผ่านภาพเขียน ภาพถ่าย ธง และรูปปั้นต่าง ๆ ภายในห้องด้วย โดยในครั้งนี้องค์การ NASA ได้เปิดเผยว่า Biden ได้ทำการขอยืมก้อนหินดวงจันทร์จากหน่วยงานไปตกแต่งในห้องทำงานด้วย ซึ่ง NASA ก็ได้จัด “ก้อนหินจากดวงจันทร์” รหัส Lunar Sample 76015,143 จากภารกิจ Apollo 17 เมื่อปี 1972 ที่เก็บไว้ที่ Johnson Space Center ไปให้ ภารกิจครั้งนั้นนับเป็นภารกิจสุดท้ายของการไปสำรวจดวงจันทร์ของมนุษยชาติ

โดย Lunar Sample 76015,143 ที่นาซ่าจัดส่งไปให้เป็นหินน้ำหนัก 332 กรัม และมีอายุ 3,900 ล้านปี ที่ Ronald Evans และ Harrison Schmitt สองนักบินอวกาศที่ได้ลงไปแตะผิวดวงจันทร์ในโครงการ Apollo 17 เก็บมาจากฐานของภูเขา North Massif ที่ Taurus-Littrow Valley บริเวณ 3 กิโลเมตรทางตอนเหนือของที่จอด Lunar Module โดยคาดว่า Biden อาจบอกเป็นนัยได้ถึงความตั้งใจการขับเคลื่อนวงการวิทยาศาสตร์ของเขาในอีกวาระ 4 ปีข้างหน้าของเขา ซึ่งก็น่าติดตามว่า Biden จะดำเนินโครงการ Artemis ที่ NASA จะส่งผู้หญิงคนแรกไปลงดวงจันทร์ ในปี 2024 และการสำรวจอวกาศจะเป็นอย่างไรต่อไป

The Washington Post ก็ได้รายงานว่า ของตกแต่งห้องทำงานของประธานาธิบดีคนที่ 46 ก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เช่นจากเดิมภาพพอร์ตเทรตของ Andrew Jackson ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับนิยมจากชาวอเมริกันมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่ง Trump นำมาประดับห้องทำงาน ก็ถูกแทนที่ด้วยภาพของ Benjamin Franklin นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันคนสำคัญแทน โดย The Washington Post ตีความว่าภาพ Franklin โดยเป็นการส่งสัญญานจาก Biden ว่า เขาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ Franklin ยังมีบทบาททางการเมืองในฐานะแกนนำปลดปล่อยสหรัฐอเมริกาในฐานะดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ เขาจึงได้รับการยกย่องในฐานะผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐฯ ด้วย

ห้องทำงานรูปไข่ของ Donald Trump (ภาพจาก AP News)
ห้องทำงานรูปไข่ของ Joe Biden (ภาพจาก AP News)

ภาพเขียนอีกภาพที่เปลี่ยนไปคือ ภาพของ Franklin D. Roosevelt ประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมมากในกลุ่มคนอเมริกันก็ถูกแทนที่ด้วยภาพประธานาธิบดีอเมริกัน Thomas Jefferson และ Alexander Hamilton ซึ่ง The Washington Post ตีความว่า Biden ต้องการจะบอกว่า เขารับพร้อมรับฟังความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ได้ เปรียบเสมือนการนำประธานาธิบดี Thomas Jefferson มาทำงานร่วมกับ Alexander Hamilton นอกจากนั้น ในห้องก็ยังเปลี่ยนรูปปั้นของ Martin Luther King Jr. และ Rosa Parks ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียม แทนที่รูปปั้นของ Winston Churchill นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ห้องทำงานรูปไข่ที่ทำเนียบขาวของ Joe Biden (ภาพจาก AP News)

อย่างไรก็ตาม ก็มีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญที่ Biden มีรสนิยมและแนวคิดตรงกับ Trump นั่นคือโต๊ะทำงาน ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของทำเนียบขาว เจ้าหน้าที่ทำเนียบประธานาธิบดีจะนำแบบโต๊ะทำงานเสนอให้ประธานาธิบดีที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเลือก 6 แบบ ซึ่งประธานาธิบดี Biden เลือกแบบที่เรียกว่า “Resolute” ซึ่งเป็นโต๊ะแบบเดียวกับที่ Trump และ Obama ใช้เป็นโต๊ะทำงาน นอกจากนี้ ห้องทำงานของ Biden ห้องใหม่ยังมีจุดเด่นอยู่ที่พรมเป็นสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton เคยใช้มาก่อนด้วย

นอกจากนี้ หากใครได้ติดตามชีวิตของ Trump มาตลอด ก็คงจะพอทราบว่า เขาติดการดื่มน้ำอัดลมไดเอตโค้กถึงขนาดที่ดื่มมันวันละ 12 กระป๋อง และแม้แต่บนโต๊ะทำงานของเขาก็จะมีปุ่มกดเรียกบริกรประจำทำเนียบขาวให้ยกไดเอตโค้กมาเสิร์ฟถึงโต๊ะเลยทีเดียว ซึ่งโต๊ะทำงานของ Biden ในปัจจุบันก็จะเห็นว่าเจ้าปุ่มที่ว่านี้ได้หายไปแล้วเรียบร้อย

ปุ่มกดสั่งไดเอตโค้กของ Donald Trump (ภาพจาก AP News)
โต๊ะทำงานตัวปัจจุบันของ Joe Biden ที่ปุ่มไดเอตโค้กหายไปแล้ว (ภาพจาก AP News)
  • อ้างอิง: CNN / BBC / Reuters / AFP / AP News / Washington Post / CNBC / NBC News / MSNBC / The Verge / Asia.Nikkei / VICE / Independent / Wionews / NPR / Sky News / Politico

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส