ต้นไม้อะไรต้นละล้านเจ็ด ต้นไม้อะไรทำไมขายเป็นใบ ใบละสามแสนห้า ใครจะบ้าซื้อ ซื้อแล้วจะเอาไปทำอะไรได้ ราคาแพงขนาดนี้ แพงเพราะคุณค่าและเหตุผลที่คนรักไม้ประดับจำพวกนี้ยอมรับได้ หรือเป็นเพียงการปั่นราคาให้แพงเล่น ๆ เพื่อสร้างกระแสกันแน่?

beartai Xcite ขอพาบุกไปยัง สรดี Garden อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี คุยกับ ‘คุณสรศักดิ์’ หรือ ‘คุณโอ’ เจ้าของผู้ปล่อยขายต้นฟิโลเดนดรอนก้านส้ม ในราคาต้นละ 1.7 ล้านบาท หรือเฉลี่ยใบละ 50,000 บาท และทำสถิติอีกครั้งกับการขายต้นมอนสเตอราในราคาต้นละ 1.4 ล้านบาทจนเป็นข่าวฮืฮฮาในช่่วงที่ผ่านมา


ชมคลิปสัมภาษณ์ และต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ได้ที่นี่

ที่มาของกระแสไม้ด่าง มันเกิดจากการที่คนสะสมต้นไม้เขาชอบเอาไปลุ้นกัน เพราะว่าไม้ด่างแต่ละใบที่เกิดขึ้นแต่ละใบจะมีเอกลักษณ์ของแต่ละใบที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ราคาไม้ด่างแต่ละใบสูงขึ้นเรื่อย ๆ จริง ๆ วงการไม้ด่างมีการซื้อขายกันมาเป็นสิบ ๆ ปี แล้วนะครับ

แต่ว่าในช่วงประมาณ 2 ปีให้หลัง ช่วงโควิดของบ้านเรานี่แหละ ราคาไม้ด่างก็ขึ้นมาค่อนข้างรวดเร็ว เพราะว่ามีความต้องการที่มากขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่คนอยู่กับบ้านมากขึ้น แล้วก็ไม่ได้ออกไปใช้จ่ายที่ไหน ก็เลยมีการแต่งสวนแต่งไม้มากขึ้น เลยทำให้ราคาต้นไม้มีการปรับราคาขึ้นค่อนข้างเยอะ

ปัจจัยที่จะทำให้ต้นไม้ปรับราคาขึ้น…อันนี้ตอบยากเหมือนกันนะครับ แต่ส่วนตัวผมคิดว่า มันเป็นเรื่องของความสวยงาม ความสมบูรณ์ ความด่างของใบเป็นหลัก ไม่ใช่ว่าใบเขียว ๆ แล้วมีด่างอยู่หน่อยหนึ่ง แล้วจะมีราคาแพง ต้องมีรายละเอียดที่ชี้ชัดลงไปอีก ไม้ด่างแต่ละใบ แต่ละต้น แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีราคาที่แตกต่างกันไปไม่เท่ากันอีก ในหนึ่งกระถางอาจจะมีสักสิบใบ แต่ว่าในแต่ละใบก็จะมีลักษณะในการให้ด่างที่แตกต่างกัน คนที่เป็นนักสะสมไม้ก็จะนิยมลุ้นว่า ไม้ด่างแต่ละใบที่แตกออกมาจะมีลายด่างเป็นอย่างไร หรือพัฒนาไปเป็นลายด่างแบบไหนบ้าง

ต้นมอนสเตอรา (ภาพจาก สรดี Garden)

สำหรับไม้ด่างต้นละ 1.7 ล้านบาทที่เป็นข่าว เป็นต้นฟิโลเดนดรอนก้านส้ม คนไทยเรียกว่าเป็น ‘ก้านส้มด่าง’ จริง ๆ ที่ราคามันไปถึงล้านเจ็ดได้ สำหรับผม ผมคิดว่าไม่ได้ขายแพงนะครับ มันสามารถต่อยอดได้อีกเยอะแยะเลย แต่ต้นฟิโลฯ ต้นที่ขายไป มีจุดเด่่นคือ ยังไม่เคยมีการตัดเพื่อขยายพันธุ์เลย ผมเลี้ยงมาจากตั้งแต่ 2 ใบ 3 ใบ จนเป็น 4-5 ใบ จนกระทั่งมีทั้งหมด 34 ใบ แล้วพอต้นมีอายุเยอะ ก็จะทำการตัดใบเพื่อขยายพันธ์ุ ก็จะมีการแตกยอดบริเวณลำต้นมากขึ้น ทำให้สามารถที่จะนำไปขยายพันธุ์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งของต้นไม้ต้นนี้เลย คนทีี่เป็นคนสะสมไม้ด่างจะรู้ว่า การที่เขาซื้อไป เขาสามารถเอาไปขยายพันธุ์ใหม่ ๆ แตกใบด่างรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาได้อีก

ฟิโลเดนดรอน สำหรับผมคิดว่ามันเป็นต้นไม้ที่มีเสน่ห์ ซึ่งจริง ๆ ฟิโลฯ ในบ้านเรามีเป็นร้อยเป็นพันชนิด แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นไม้ด่าง ฟิโลฯ บางพันธุ์ที่เป็นไม้เขียวที่มีราคาแพงก็มีเหมือนกัน ซึ่งนักสะสมต้นไม้จะชอบตรงที่ลวดลาย เส้นทรงของใบที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นไม้ประดับ ปกติใบจะเหมือน ๆ กันใช่มั้ยครับ แต่สำหรับฟิโลฯ แต่ละพันธ์ุก็จะมีลวดลายของใบที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลายและโดดเด่นเวลาที่นำเอาไปจัดสวนหรือจัดบ้าน

อย่่างฟิโลฯ ตั้งแต่ตัดยอดจนถึงเกิดรากสมบูรณ์ และเริ่มแตกใบแรก ใช้เวลาประมาณเดือนครึ่ง หรือ 45 วัน ก็สามารถที่จะออกขายสู่ท้องตลาดได้แล้ว ฟิโลฯ เป็นต้นไม้ที่ขยายพันธุ์ค่อนข้างง่าย ปกติฟิโลฯ ถ้าเป็นในต่างประเทศ จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีแหล่งกำเนิดจากอเมริกาใต้ นำเข้าจากประเทศบราซิล เอกวาดอร์ แล้วก็เอามาปลูกให้เข้ากับสภาพอากาศบ้านเรา ซึ่งประเทศไทยเป็นสภาพอากาศที่ฟิโลฯ ชอบมาก คือเป็นสภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกไม่มาก ประมาณแค่ 3-4 เดือน ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ฟิโลฯ ได้รวดเร็วประเทศอื่น ทำให้คนเล่นไม้ด่างจากต่างประเทศนิยมหาซื้อต้นฟิโลฯ จากบ้านเรา

สาเหตุที่ไม้ด่างมีราคาแพงก็คือ มีจำนวนที่น้อย แต่กำลังซื้อมีเยอะ และในหลาย ๆ ประเทศก็ให้การยอมรับในราคา จึงทำให้ราคาไม้ด่างถีบตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะไม่ได้สวิงเหมือนหุ้น ที่มีเรื่องละเอียดอ่อน หรือขึ้นอยู่กับสถานการณ์

“แต่ไม้ด่าง เป็นเรื่องของธรรมชาติ เวลาขึ้นราคามักจะไม่ค่อยหวือหวา ไม่น่ากลัว แต่ถ้าจะถามว่ามันจะขึ้นหรือลงเมื่อไหร่ คงตอบยาก ขึ้นอยู่กับความต้องการภายในประเทศและต่างประเทศเป็นหลัก”

ลูกค้าที่มักจะซื้อไม้ด่างทั้งในประเทศ และอาจจะหมายรวมถึงต่างประเทศด้วย จะมี 2 แบบ คือ นักสะสมไม้ด่าง สะสมเพื่อประดับ หรือเลี้ยงไว้เพื่อความสวยงาม เอาไว้ดูเล่น ถ้าเกิดมีเยอะก็อาจจะตัดใบขายบ้าง กับอีกประเภทคือ เป็นนักธุรกิจขายต้นไม้ ประเภทซื้อมาขายไป

จริง ๆ ฟิโลฯ ทั้งใบด่างหรือใบเขียว ราคาเริ่มต้นหลักสิบบาท หรือหลักร้อยบาทก็มีนะครับ จนไปถึงขั้นหลายแสนบาทต่อใบก็มี ไม่ได้แปลว่าไม้ด่างมันจะแพงไปเสียทุกต้น สำหรับไม้ด่างก็อาจจะมีราคาที่สูงหน่อย ตรงที่มีความพิเศษ เกิดจากยีนด้อย แล้วก็มีการเอาไปพัฒนาให้มีความด่างมากขึ้น มันก็เลยแพง

สรดี Garden ฟิโลเดนดรอน
ต้นมอนสเตอรา (ภาพจาก สรดี Garden)

สาเหตุที่ตลาดของไม้ด่าง ต้องมีการคิดราคาขายเป็นใบ หรือนับใบขาย ก็เพราะว่าเพื่อให้ง่ายในการคำนวณราคาและตกลงราคาเวลาซื้อต้นไม้ทั้งต้น จะได้ไม่ต้องมีข้อพิพาทระหว่างคนซื้อกับเจ้าของสวน เพราะฉะนั้น การนับใบขาย คือการทำให้มันมีความเป็นระบบ ทำราคาให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น

บางคนที่อยากจะเพาะพันธุ์ แต่เขาอาจจะไม่พร้อม เขาก็อาจจะเริ่มต้นที่ 2 ใบก่อน มีหลายคนเลยครับ ที่อาจจะไม่พร้อมซื้อ 10 ใบทั้งต้น แต่อาจจะซื้อเริ่มต้น 2 ใบเพื่อมาเลี้ยง จำนวนใบที่แตกเพิ่มก็คือกำไรที่เขาจะได้

สำหรับนักธุรกิจต้นไม้ ที่ปลูกต้นไม้เป็นอาชีพหลัก ส่ิงที่ผมอยากจะบอกคือ ต้องทำไปเรืื่อย ๆ ครับ ปลูกต้นไม้จากจำนวนที่เรามี ต่อให้ต้นไม้ต้นไหนไม่ได้มีตลาดที่รองรับ ก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องเร่งการขยายพันธุ์

ที่หลายคนถามว่าต้นฟิโลฯ ราคาล้านเจ็ด เป็นการปั่นราคาหรือเปล่า ผมคิดว่าหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการก็อาจจะไม่เข้าใจในจุดนี้ สำหรับผม ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ไม่สามารถทำได้จริง ๆ ครับ ถ้าทำแบบนั้นได้จริง ๆ ทำไมเกษตรกรไม่ปั่นราคาเงาะ ทุเรียน ขนุน ลำไยบ้าง เพราะว่ามันทำไม่ได้ครับ

“ต้นไม้ ไม้ประดับมันเป็นธรรมชาติ เป็นเหมือนเพื่อน ที่ทำให้เรามีความสุข เป็นคุณค่าทางใจ เป็นสิ่งที่อะไรก็ไม่สามารถมากำหนดราคาได้ทั้งนั้น”

ต้นฟิโลเดนดรอนก้านส้ม (ภาพจาก สรดี Garden)

ต่อให้มีใครสักคนคอยพยายามจะปั่นจริง ๆ แต่ถ้าไม่มีใครคล้อยตามด้วยเลย มันก็ทำไม่ได้จริง ๆ ต้นไม้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มา และมนุษย์ก็เอามันมาต่อยอดเป็นธุรกิจ ราคาที่ผมขายไม้ด่างออกไป ไม่ใช่เป็นการสร้างกระแสแน่นอนครับ เพราะว่าราคานี้ก็เป็นราคาที่ตลาดยอมรับในระดับสากล

ต้นไม้ประดับที่นิยมซื้อกัน ณ เวลานี้ ก็จะมี 3 ชนิด นอกจากฟิโลเดนดรอนแล้ว ก็ยังมีต้นมอนสเตอรา ที่ใบจะเป๋็นรู ๆ เหมือนมอนสเตอร์ และแอนโทเลียม (หน้าวัว) ฟิโลฯ ที่ราคาสูงสุด ณ ตอนนี้ก็น่าจะอยู่ราว ๆ ประมาณ 100,000 บาท เป็นฟิโลก้านส้ม ส่วนมอนสเตอราที่แพงที่สุดคือ มอนสเตอรามินต์ ใบจะออกสีฟ้า ๆ น้ำทะเล ราคาสูงสุดก็ถึงใบละ 500,000 บาทก็มี แต่ราคามาตรฐานที่ยอมรับกันโดยทั่ว ๆ ไปอยู่ที่ใบละ 350,000 บาท

ไม้สามตัวนี้เป็นที่นิยมในต่างประเทศ เพราะเหมาะที่จะจัดสวนแนว Tropical ซึ่งไม้ประดับพวกนี้จะนิยมนำไปประดับกัน ปกติเวลาปลูกไม้ประดับพวกนี้ เราจะไม่เพาะใบออกมาเยอะ เพราะยิ่งใบเยอะ คนซื้อก็จะแบกภาระลำบากหน่อย ปกติแล้วก็จะตัดทุก ๆ สองใบ แล้วเอามาเพาะต่อประมาณ 45 วัน ก็จะเริ่มแตกใบออกมา จนกระทั่งมีรากเกิดสมบูรณ์แล้วก็จะปล่อยขาย

อยากบอกกับคนที่จะเข้ามาสู่วงการไม้ประดับว่า รู้สึกดีใจนะครับว่า จากที่เราอาจจะไม่เคยเหลียวมองธรรมชาติเลย ต่อไปนี้จะได้รับการสนใจมากยิ่งขึ้นบ้าง ต้นที่ผมขายไปล้านเจ็ด หรือมอนสเตอราต้นละล้านสี่

“จริง ๆ ถ้าคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ คงไม่รู้ว่า ปกติมีการขายแพงกว่านี้ก็มีนะครับ
เพียงแต่ว่ามันไม่เป็นข่าวเท่านั้นเอง”

เผอิญว่าปกติผมจะชอบโพสต์เรื่องของต้นไม้ในแฟนเพจของตัวเองอยู่เรื่อย ๆ มันก็เลยมีการแชร์ออกไปทั้งในไทยและต่างประเทศ แล้วพอมาถึงจุดที่ต้นไม้ถูกขายออกจากมือผม ไปอยู่กับคนที่ซื้อ มันก็เลยเป็นกระแสขึ้นมา

ต้นฟิโลเดนดรอนก้านส้ม (ภาพจาก สรดี Garden)

ตอนเด็ก ๆ ผมโตมาในครอบครัวที่พ่อกับแม่ทำไม้ประดับขายมาก่อน เช่นพวกต้นคุณนายตื่นสาย หรือบัว เป็นต้น แล้วผมโตมาจำความได้ พ่อแม่ก็ใช้ให้ผมไปทำสวน เช่นเตรียมดินปลูกต้นคุณนายตื่นสาย เอาดินเหนียวลงกระถางเพื่อจะปลูกบัว อะไรแบบนี้ครับ มันก็เลยเป็นเจนเนอเรชันสืบต่อกันมา จนมาถึงรุ่นผมในที่สุด

ผมเองก็เคยทำงานประจำนะครับ เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน แต่จุดเปลี่ยนมันอยู่ที่วันหนึ่งที่กำลังเดินในสวนดอกไม้ แล้วมีคนโทรศัพท์เข้ามาบอกว่ามีปัญหาว้าวุ่นมาก ๆ เลย แล้วเป็นเรื่องที่ทำให้เราเดือดร้อน เป็นเรื่องทุกข์ด้วยนี่แหละ ระหว่างที่คุยสาย มือผมก็สัมผัสต้นไม้ไปด้วย แต่เชื่อไหมว่า ผมกลับไม่รู้สึกว้าวุ่นใจเท่าไหร่ พอวางสายและกลับมาตั้งสติ เราก็พบว่า นี่มันเรื่องที่ทำให้เราเดือดร้อนนี่นา แต่ผมรู้สึกเฉย ๆ นะ

ต้นมอนสเตอรา (ภาพจาก สรดี Garden)

อยากจะบอกคนที่อยากจะเริ่มเข้ามาวงการนี้ว่า การเริิ่มที่ดี ต้องเริ่มจากความรักก่อน แล้วเราจะอยู่กับมันได้นาน แม้ว่าทิศทางราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปทางไหนก็ตาม ขอให้เราจับใจ จับความรู้สึกของเราก่อนว่า เราชอบมันจริง ๆ ไหม หลาย ๆ คนที่เข้ามาอาจจะเพราะเห็นว่าราคามันดี ราคาต่อใบเท่านั้นเท่านี้บาท ถ้าวันหนึ่งที่ราคาต้นไม้ต้นนั้นที่เคยราคาสูง ราคามันตกลงมาต่ำที่สุด คุณยังจะรักต้นไม้เหล่านั้นอยู่ไหม

อยากให้เข้ามาเพราะว่าความรักจริง ๆ เพราะต่อให้ใบไม่สวย ราคาไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง ต้นไม้ก็ยังคงให้ความสุขกับเราได้อยู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นต้นฟิโลเดนดรอน หรือต้นไม้แพง ๆ อะไรที่เป็นต้นไม้ผมรักหมด เพราะต้นไม้ทำให้ผมมีความสุข


ภาพจาก สรดี Garden

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส