เชื่อว่าหลายคนเจออากาศร้อนๆ ยิ่งรู้สึกอยากดื่มน้ำเย็น ๆ มีน้ำแข็งเอาไว้เคี้ยว เพราะการเคี้ยวน้ำแข็ง ยิ่งเคี้ยว ยิ่งเพลิน ยิ่งสดชื่น แต่รู้หรือไม่ว่า การเคี้ยวน้ำแข็งจนติดเป็นความเคยชิน อาจทำให้เราเป็น โรคติดน้ำแข็งได้ แล้วโรคนี้น่ากลัวหรือไม่ มีวิธีแก้ไขอย่างไร ไปไขข้อสงสัยเหล่านี้กัน

เครดิตรูปภาพจาก scholarship.in.th

โรคติดน้ำแข็ง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Pagophagia” เป็นภาษากรีกมาจากคำว่า “Pagos” แปลว่า น้ำแข็ง บวกกับ “Phago” ที่แปลว่า กิน ซึ่งเป็นอาการอยากเคี้ยวน้ำแข็ง หรืออยากดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ มาก ๆ ในทุกสถานการณ์ ไม่ใช่แค่อากาศร้อนหรือกระหายเพียงอย่างเดียว รวมถึงอาการอยากเคี้ยวน้ำแข็งนานกว่า 1 เดือนขึ้นไป ซึ่งสาเหตุของโรคนี้ก็มีอยู่หลายสาเหตุ เริ่มจากประการแรกเริ่มจาก มีผลวิจัยชี้ว่าโรคนี้เกี่ยวข้องกับการที่ร่างกายขาดแคลเซียม ธาตุเหล็ก ทำให้รู้สึกเฉื่อยชา เลยอยากเคี้ยวน้ำแข็งเพื่อให้ตื่นตัว ต่อมาคือ การมีความเครียดสะสม บางคนก็ใช้วิธีการเคี้ยวน้ำแข็งเป็นที่ระบายความเครียด และอาจส่งผลทำให้บางคนมีอาการย้ำคิดย้ำทำ

ข้อสังเกตข้อแรกต้องเริ่มจากการเช็กตัวเองก่อนว่ารับประทานน้ำแข็งต่อวันมากน้อยแค่ไหน ต่อมาก็ดูว่าเราเคี้ยวน้ำแข็งมานานรึยัง รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยไหม เช่น เวียนหัว ไม่ค่อยอยากอาหาร ผิวซีดกว่าปกติ เพราะโดยส่วนมากจะสอดคล้องกับภาวะขาดแคลเซียม ธาตุเหล็ก หรือโรคโลหิตจาง แน่นอนว่าการเคี้ยวน้ำแข็งมีผลเสีย ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพฟัน ทำให้เกิดอาการท้องผูก เกิดความเครียด และอาจเกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจาง

โดยปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยเริ่มจาก พยายามลดปริมาณน้ำแข็งที่เราเคี้ยวหรือทาน และดื่มน้ำเย็นแทนการเคี้ยวน้ำแข็ง แต่ถ้าหากเกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจาง จะต้องทานอาหารที่เสริมธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ ฟักทอง ถั่วเหลือง หรือผักใบเขียว หากห้ามใจหยุดเคี้ยวไม่ได้จริง ๆ หรือกลัวว่าจะมีผลในระยะยาว อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างจริงจัง

อ้างอิง , อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส