[รีวิว] Maid : 10 ตอนคุ้ม ๆ กับชีวิตที่ฮึดสู้ของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว
Our score
8.6

[รีวิว] Maid : 10 ตอนคุ้ม ๆ กับชีวิตที่ฮึดสู้ของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว

จุดเด่น

  1. บทดีมาก เชื่อมโยงแต่ละประเด็นเข้ามาด้วยกันอย่างกลมกลืน เชื่อง่าย คล้ายตาม มีมิติทุกตัวละคร
  2. การดำเนินเรื่องมีกลิ่นของหนังอินดี้อเมริกันที่มีกิมมิกในแต่ละตอนน่าสนใจ การนำเสนอเรียบง่าย ไม่หวือหวาแต่แฝงเสน่ห์อย่างมีศิลปะ แตกต่างกันไปทุกตอนอย่างได้อรรถรส
  3. นักแสดงนำดึงอารมณ์ร่วมของคนดูได้แบบเผลอไผล เรียกว่าอินง่ายอินไวส่งอารมณ์ชัดอย่างเป็นธรรมชาติ

จุดสังเกต

  1. ด้วยการนำเสนอแบบเรื่อย ๆ เรียบ ๆ และเรียลมาก ๆ ที่ถึงแม้จะมีศิลปะการนำเสนอที่ดี แต่ก็อาจจะทำให้สายฮาร์ดคอร์ไม่ถูกใจสิ่งนี้
  • ความสมบูรณ์ของบท

    9.0

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • คุณภาพนักแสดง

    9.0

  • คุรภาพการเล่าเรื่อง

    7.0

  • ความคุ้มค่าในการรับชม

    9.0

‘Maid: ชีวิตเปื้อนเหงื่อ’ ซีรีส์ที่ได้แรงบันดาลใจจากบันทึกความทรงจำติดอันดับหนังสือขายดีของ New York Times ในชื่อ Maid : Hard Work, Low Pay, and a Mother’s Will to Survive จากปลายปากกาของ สเตฟานี แลนด์ (Stephanie Land) ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘อเล็กซ์ แลมป์ลีย์’ (มาร์กาเร็ต ควอลลีย์) แม่เลี้ยงเดี่ยวที่หันมาทำงานรับจ้างทำความสะอาดซึ่งแทบจะได้เงินไม่พอยาไส้ หลังจากที่เธอตัดสินใจหนีออกมาจาก ‘ฌอน’ ( นิก รอบินสัน) สามีขี้เหล้า ที่ควบคุมอามณ์ไม่ได้จนทำร้ายจิตใจเธอ เพื่อให้แมดดี้ ลูกสาวของเธอมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นเรื่องจริงที่สะท้อนให้เห็นความไม่ย่อท้อของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่แม้จะพบกับอุปสรรคที่คร้านจะสู้ แต่มันก็ต้องสู้สิน่า

MAID

เอล็กซ์ ตัดสินใจอุ้มแมดดี้ลูกสาววัย 3 ขวบ หนีออกมาจากบ้านในกลางดึกคืนหนึ่ง เธอขับรถคันเก่า ๆ มุ่งหน้าไปอย่างไร้จุดหมาย รู้แต่เพียงว่าเธอต้องออกไปจากบ้านหลังนี้ ออกไปจากความรุนแรงในครอบครัวที่นับวันยิ่งหนักข้อขึ้นทุกที แต่ปัญหาก็คือเธอไม่มีงาน หนำซ้ำยังกลายเป็นคนไร้บ้าน สิ่งที่เธอพอจะทำได้ก็คือหันหน้าเข้าหาหน่วยงานรัฐเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่…การจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เรื่องที่จะได้มาง่าย ๆ เพียงแค่การร้องขอ “ฉันเดือดร้อน ช่วยฉันด้วย รัฐต้องดูแลให้ที่อยู่กับฉัน” ไม่ค่ะมันไม่ง่ายขนาดนั้นทุกอย่างมีขั้นตอน กฎระเบียบ ข้อแม้ ที่เธอต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องในทุก ๆ ด่านเพื่อให้ได้มันมา

MAID

ในเมื่อสิ่งแรกที่เธอควรมีคืองาน ในที่สุดเธอได้รับการช่วยเหลือให้เข้าทำงานกับ แวลู เมด (Value Maids ) บริษัทจัดหาแม่บ้านทำความสะอาด ด้วยค่าแรงรายชั่วโมงที่ไม่คุ้มหนื่อยแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีงานทำ ได้ที่ซุกหัวนอนชั่วคราวที่ดีกว่าที่คิดในที่พักพิงสำหรับเหยื่อความรุนแรงจากครอบครัว และงานนี้ก็กลายเป็นงานที่เลี้ยงชีวิตของเธอกับลูกสาว และเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ที่กว่าจะฝ่าฟันไปถึง มันไม่ง่ายเอาซะเลย

บทชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ แบบเรียลอาร์ต

ต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้เป็นดราม่าเรียบง่ายที่ใช้การเล่าเรื่องแบบปล่อยไหล ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ มีกิมมิกในแต่ละตอนแตกต่างกันไป มีการนำเสนอเชิงสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่ายแล้วยังแอบเท่อยู่ในบางตอนซะด้วยสิ กับเนื้อเรื่องที่บอกเล่าชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาไม่ยอมกับอะไรสักอย่างในชีวิต ซีรีส์ทำให้เรารู้ได้เลยว่าการลุกขึ้นครั้งนี้ของ อเล็กซ์ แลมป์ลีย์ นางเอกของเรื่อง เธอไม่ได้ลุกขึ้นเพื่อตัวเองเป็นสำคัญ แต่ทุกอย่างที่ทำคือเพื่อลูกของเธอเป็นหลัก สัญชาติญาณความเป็นแม่ ชัดเจนและเข้มข้นมาก ๆ ในตัวของเธอ

MAID

สิ่งที่ซีรีส์สะท้อนให้เห็นชัด ๆ เลยก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับอเล็กซ์ เคยเกิดขึ้นกับผู้หญิงทั่วโลกมาแล้วไม่ต่างกัน แตกต่างตรงที่ผู้หญิงหลายคนไม่อาจจะผ่านมันไปได้แบบเธอ หลายคนยอมเป็นเหยื่อของความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่า อย่างที่เราก็ไม่เข้าใจเหตุผลว่ายอมทำไมวะ? ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีหญิงสาวที่ยอมกลับไปเป็นเหยืออีกครั้งซะด้วยสิ เอาจริง ๆ เรื่องแบบนี้มันก็พูดยากถ้าเราไม่เป็นเขา ไม่อย่างนั้นเราคงจะไม่เห็นผู้หญิงที่ยอมเป็นกระสอบทรายให้สามีซ้อมชิงแชมป์มวยไทย จนหน้าตาเนื้อตัวยับเยินกันอยู่ทุกวันนี้หรอก จริงไหม

แต่อเล็กซ์ไม่เป็นแบบนั้นค่ะ เธอไม่ได้ถูกสามีทำร้ายร่างกาย แต่เธอถูกทำร้ายจิตใจให้เกิดความกังวล หวาดกลัวจนเกิดอาการของโรค PTSD (Post-traumatic stress disorder คือ สภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากต้องเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง) บอกอย่างนี้อย่าเพิ่งนึกว่าซีรีส์จะดึงดราม่าความเจ็บป่วยทางจิตใจของนางเอกมาเรียกน้ำหูน้ำตาอะไรแบบนั้นนะ แต่ซีรีส์เน้นไปที่การมองโลกในแง่บวก หมายถึงแง่ที่บวกขึ้นในด้านของการพยายามพาชีวิตของตัวเองและลูกไปสู่ด้านที่ดีกว่า ในขณะที่ปัญหาต่าง ๆ ที่เธอเผชิญช่างน่าเหนื่อยหน่ายและบีบคั้น

MAID

เธอมีฌอนเป็นสามีติดเหล้าที่พยายามจะแย่งสิทธิ์การปกครองบุตรไปจากเธอ เพียงเพราะว่าอยากจะได้เธอและลูกกลับคืนมาแต่ตัวเองก็ไม่มีปัญญาจะดูแลให้ดี เรื่องนี้ได้ ‘นิก รอบินสัน’ มารับบทเป็น ฌอน สามีที่ต้องเข้ารับการบำบัดการติดยาเสพติด นิกเล่นเรื่องนี้ทำเอาหมดสภาพหนุ่มหล่อไปเลยจ้ะ กับบทของชายไม่เอาไหน รักลูกรักเมียมาก ๆ ก็จริงอยู่ พยายามแล้วที่จะเป็นคนดีเพื่อเธอและลูก แต่พอเหล้าเข้าปากแล้วก็กลายเป็นคนสารเลวที่ถึงขั้นห่วยแตกได้อย่างน่ารังเกียจ เป็นจอมบงการที่เห็นแก่ความสุขของตัวเองฝ่ายเดียว บทเขียนให้เราเผลอเห็นใจอีตาฌอนนี่ขึ้นมาช่วงหนึ่ง เป็นความเห็นใจที่เผลอเบลอไปพร้อมกับนางเองได้หน้าตาเฉย และหลงคิดไปว่าอะไร ๆ มันอาจจะดีขึ้นกว่าที่คิด

MAID

จุดนี้ทำให้เข้าใจผู้หญิงที่ยอมกลับไปเป็นเหยื่อได้แบบชัดเจนมากขึ้น การนำเสนอด้านอารมณ์ ความรู้สึกมีทั้งความเรียลและความเป็นอาร์ตที่ใช้สัญลักษณ์แทนความรู้สึกของนางเอกที่ดำดิ่งได้อย่างชัดเจนสุด ๆ ชนิดที่ว่าแทบจะเข้าใจความรู้สึกและปมในใจทั้งหมดของนางเอกได้ด้วยฉากเดียว บวกกับซาวด์ประกอบที่ถูกจังหวะ จนเห็นภาพชัดกว่านี้ไม่ได้อีกแล้วผสมอยู่ด้วยอย่างลงตัว

เธอมาจากครอบครัวพัง ๆ

ซีรีส์บอกกับเราว่าสิ่งที่เธอทำลงไปทุกอย่าง คือการปกป้องลูกสาวของเธอไม่ให้ต้องมีชีวิตซ้ำรอยเธอ เพราะความรุนแรงในครัวครัวที่ฝังลึกอยู่ในความทรงจำมันไม่น่าพิศมัย สิ่งที่เธอตัดสินใจอาจดูเหมือนว่าเธอคิดมากไป เธอเองนี่แหละที่ทำให้ตัวเองกลายเป็นคนไร้บ้าน กระเตงลูก 3 ขวบมาระหกระเหินแต่หากมองลึก ๆ ในมุมของผู้หญิงที่ถูกกระทำ นี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้องและเด็ดเดี่ยวอย่างที่สุด ชูป้ายไฟเลยจ้ะ เป็นดราม่าเข้าเนื้อที่ไม่ได้ขยี้แบบจัดหนัก แต่ค่อย ๆ ซึมเข้ามาในความความรู้สึกระหว่างดูได้แบบเนียน ๆ เรียกว่ามาเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดน่าเบื่อเลยสักตอนเดียว ดูแล้วอยากดูต่อไปเรื่อย ๆ เพราะอยากรู้ว่าสุดท้ายแล้ว อเล็กซ์จะพายัยหนูแมดดี้ไปขึ้นฝั่งที่ตรงไหน

สิ่งที่เธอพบเจอมาในอดีต กลายเป็นบทเรียนที่เธอจะไม่ยอมให้ลูกสาวคนเดียวของเธอต้องเผชิญ และก็บอกกับผู้ชมได้ว่า การเป็นพ่อเป็นแม่มันง่ายมาก ๆ แค่มีสัมพันธ์กันตามธรรมชาติเรียกร้องก็ให้กำเนิดมนุษย์กันได้แล้ว แต่การเป็นพ่อและแม่ที่ดีมันไม่ง่าย ในซีรีส์เรื่องนี้พ่อและแม่ของอเล็กซ์ เป็นพ่อและแม่ที่จัดได้ว่าล้มเหลวในหน้าที่ของผู้ให้กำเนิด ตัวละครทั้งเรื่องมีขาวสะอาดอยู่คนเดียวคือหนูน้อยแมดดี้เพราะเธอยังเด็ก นอกนั้นเป็นสีเทาที่แตกต่างกันไปแต่ไม่มีใครดำสนิท ทุกตัวละครมีเหตุผลมาหักล้างให้เข้าใจได้ในความเป็นมนุษย์อย่างมีมิติน่าเชื่อถือ ก็คนอ่ะเนอะ มีสิทธิ์เป็นพ่อเป็นแม่ แต่ใช่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์ได้ทั้งหมด

MAID

‘แอนดี้ แม็กโดเวลล์’ รับบทเป็น ‘พอลล่า’ แม่ของอเล็กซ์ที่มีอาการไบโพลาร์ เป็นผู้หญิงที่ผ่านความรุนแรงในครอบครัวมาแบบติสท์แตก เป็นศิลปินสติบรรเจิดที่หลงอยู่ในโลกของตัวเองและดูจะน่าปวดหัวพอ ๆ กับสามีของ อเล็กซ์เลยก็ว่าได้ งานนี้แม่ลูกนอกจอมารับบทเป็นแม่ลูกในจอได้อย่างลงตัว ส่งและรับอารมณ์กันได้น่าเชื่อถือเข้าไปอีกเพราะนี่คือสายเลือดแท้ ๆ ที่มาร่วมงานกันจริง ๆ บวกกับฝีมือการแสดงของรุ่นใหญ่อย่าง แอนดี้ แม็กโดเวลล์ด้วยแล้ว ทำให้รู้สึกได้เลยว่าถ้าชีวิตเรามีแม่แบบนี้ก็อยากจะบ้าตายรายวัน วันละหลาย ๆ รอบกันไปเลย จบ ๆ กันไป ปวดกบาลกับคุณแม่มากค่ะ ณ จุดนี้

MAID

‘บิลลี่ เบิร์ก’ รับบทเป็น แฮงก์ พ่อของอเล็กซ์ที่ก็เป็นผู้ชายสำเภาเดียวกับสามีของตัวเอง ถึงแม้ว่าปัจจุบันเขาจะพยายามอยากจะเป็นพ่อที่ดีที่สายไปซะแล้วของอเล็กซ์ก็ตาม บทเรียล ๆ ของซีรีส์เรื่องนี้ก็ไม่ได้สร้างโลกสวย ๆ มาไว้ให้กับคนดู แต่กลับตอกย้ำความจริงที่ว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ทำเอาไว้ในอดีตมันจะส่งผลในอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่ ๆ และสัญชาติญาณของการเอาตัวรอดโดยเฉพาะความทรงจำของผู้ถูกกระทำ แม่นยำเสมอ ซึ่งในบทของพ่อจะทำให้เราเห็นความจริงข้อนี้ชัดมาก เรียกว่าชัดจนผิดหวังกับตัวละครตัวหนึ่งและในขณะเดียวกันก็เข้าใจตัวละครอีกตัวได้ทันทีแบบสับสวิตช์

กับชีวิตที่เปื้อนเหงื่อ

คิดดูเอาแล้วกันว่านางเอกมีชีวิตรายล้อมไปด้วยผู้คนประเภทไหนกัน แต่ชีวิตที่น่าร้องกรี๊ดของเธอก็ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความเข้มแข็งของเธออย่างน่าทึ่ง ด้วยบทเรียล ๆ ที่ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นซีรีส์สู้ชีวิตของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่เนื้อหาภายในตลอดทั้งสิบตอนคือบทชีวิตที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่หลายคนอาจ มองข้าม หลายคนอาจไม่ให้ความสำคัญและเห็นว่า “โถ มันก็เรื่องแค่นี้เอง ทำไมต้องคิดมากด้วยล่ะ” ซึ่งซีรีส์ก็สะท้อนให้เห็นเลยว่า สังคมส่วนใหญ่และแม้แต่คนในครอบครัวยังให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ไม่เพียงพอ

MAID

ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อความเจ็บปวดที่ผู้ถูกกระทำได้รับ ระบบสงเคราะห์คนไร้บ้านที่กว่าจะได้รับความช่วยเหลือก็ต้องผ่านหลายด่านให้ตรวจสอบ ผสมการนำเสนอแบบสื่อสัญลักษณ์ที่เล่าด้วยภาพจนทำให้เราเห็นใจและเข้าใจนางเอกได้แบบร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วย จนเผลอคิดไว่าถ้าเป็นเราที่ไปตกอยู่ในสถานะเดียวกับนางเอก เราจะจัดการชีวิตพัง ๆ ของเรายังไงละเนี่ย แต่ความใฝ่ดีของนางเอกก็เผยให้เห็นด้านของการเป็นนักสู้ที่ไม่ได้สู้เพื่อตัวเองเพียงคนเดียว แต่สู้เพื่อรอยยิ้มบริสุทธิ์น้อย ๆ ที่เธอต้องรับผิดชอบไปจนกว่าเขาจะเติบโต

ในมุมมองของสังคมอาจจะดูเหมือนว่าเธอใช้ชีวิตอยู่บนสังคมที่เหลื่อมล้ำ มีความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นในสังคมอเมริกัน มีความแตกต่างในด้านคุณภาพชีวิตที่เห็นอย่างชัดเจน คนรวยเป็นแบบนั้น คนจนต้องโดนแบบนี้ แต่ ซีรีส์ก็เปิดเผยอีกหลาย ๆ ด้านให้เห็น เรียกได้ว่ากระเทาะเปลือกสังคมมาแบบเบา ๆ ผ่านการทำงานของนางเอกที่ได้เข้าไปรู้เห็นชีวิตของบรรดาลูกค้าตามบ้านต่าง ๆ จนเรื่องราวเเหล่านั้นกลายเป็นประโยชน์กับเธอในที่สุด หรือแม้แต่การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่กันก็ยังแอบแฝงด้วยผลประโยชน์ เมื่อไม่ได้อย่างใจก็โดนทิ้งขว้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือว่า หากเราไม่งอมืองอเท้าและพร้อมจะยืนหยัดด้วยลำแข้งอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่โทษดินโทษฟ้าแต่พร้อมจะคว้าโอกาสเอาไว้เมื่อมันมาถึง เราจะได้มิตรแท้ที่เราคาดไม่ถึงยืนอยู่ตรงหน้าเสมอ

เรียกได้ว่าซีรีส์มีทั้งมุมจิกกัดเล็ก ๆ และในขณะเดียวกันก็ให้ข้อคิดพร้อมกับการปลอบประโลมที่เชื่อว่าจะกระทบใจและให้แง่คิดดี ๆ กับใครอีกหลายคน ที่เคยผ่านวันเวลาเหนื่อยหนักในชีวิตมาคล้าย ๆ กับนางเอกของเรื่อง อย่างแน่นอน ดูเพลินมากค่ะ เป็นซีรีส์ 10 ตอนจบที่สามารถดูให้จบได้ภายใน 2 วันแบบสบาย ๆ

Maid : ชีวิตเปื้อนเหงื่อ

  • แรงบันดาลใจจาก : Maid: Hard Work, Low Pay, and a Mother’s Will to Survive by Stephanie Land
  • กำกับ : Molly Smith Metzler
  • จำนวนตอน : 10 ตอนจบ /ตอนละ 47-60 นาที

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส