เมื่อพูดถึงการ์ตูนระดับตำนานอย่าง ‘Dragon Ball’ เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้เป็นอย่างดี ที่แม้แต่คนที่ไม่ดูการ์ตูนต่างรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงคนมีอายุ ซึ่งหลายคนก็ทราบกันดีว่าเรื่องราวในการ์ตูนเรื่องนี้ได้จบลงไปแล้วเมื่อปี 1995 แต่ในปัจจุบันตัวการ์ตูนได้มีภาคต่อออกมาในชื่อ ‘Dragon Ball Super’ ที่ยังคงความสนุกและเนื้อเรื่องที่ยังตื่นเต้นอยู่ไม่เปลี่ยน และเมื่อเราหันกลับมาที่วงการเกมเมื่อเราพูดถึงซีรีส์เกมอย่าง ‘Dragon Quest’ หลายคนที่ได้เห็นตัวละครในเกมซีรีส์นี้ ต่างก็รู้ทันทีว่าตัวละครจากเกมนี้ถูกวาดโดยอาจารย์อากิระ โทริยามะ (Akira Toriyama) จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมหน้าตาของตัวละครของทั้งสองเรื่องนี้จึงค่อนข้างคล้ายกัน และนอกจากหน้าตาตัวละครที่บังเอิญไปคล้ายกันแล้ว ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกหลายอย่างที่การ์ตูน ‘Dragon Ball’ ไปยืม ‘Dragon Quest’ มา แบบใครที่เป็นแฟนของทั้งสองซีรีส์นี้จะเห็นความเหมือนนั้นได้ทันที เรามาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างที่ ‘Dragon Ball’ ไปยืม ‘Dragon Quest’ มาใช้ อ่านกันสนุก ๆ ไม่ต้องไปจริงจังมาก ถ้าพร้อมแล้วก็ตามมาดูกันเลย

วิชาเคลื่อนย้ายในพริบตา กับคาถา ลูร่า

Dragon Ball

เริ่มต้นวิชาแรกที่เป็นเอกลักษณ์เด่นของ ซุน โกคู (Son Goku) ที่เรียกว่าวิชาเคลื่อนย้ายในพริบตา ที่วิชานี้จะทำให้ผู้ใช้สามารถเดินทางหายตัวจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่งได้ ด้วยการจับคลื่นพลังของคน ๆ นั้นแล้วหายตัวไปหา ที่แม้จะไกลขนาดไหนขอแค่จับพลังได้ก็สามารถไปหาได้หมด ซึ่งวิชานี้โกคูได้ร่ำเรียนมาจากมนุษย์ต่างดาวชาวยาโดแรต ที่ยานของโกคูนั่งมาตกที่นี่หลังการต่อสู้กับ ฟรีเซอร์ (Freeza) จึงทำให้เขาได้ร่ำเรียนวิชานี้พร้อมกับวิชารวมร่าง ซึ่งในภายหลังในภาค ‘Dragon Ball Super’ เบจิต้า (Vegeta) ก็ได้มาเรียนที่ดาวนี้และได้วิชานี้ไปเช่นกัน (แต่เจ้าตัวบอกว่าจะไม่ใช้อีกเพราะไม่อยากไปใช้ซ้ำกับโกคู) และในภาค ‘Dragon Ball Super’ ได้เพิ่มเงื่อนไขในการเคลื่อนย้ายอีกอย่างว่า นอกจากการจับพลังแล้วต้องเป็นสถานที่ที่เราเคยไปจึงจะไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับคาถาในเกม ‘Dragon Quest’ ที่ชื่อคาถาลูร่า (ルーラ) หรือ Return กับ Zoom ในภาษาอังกฤษ ที่การใช้งานเหมือนกันทุกอย่าง นั่นคือการย้ายตัวเอง (พวก) ไปยังสถานที่ต่าง ๆ แต่เงื่อนไขคือต้องเป็นสถานที่ที่เราเคยไปมาแล้วเช่นเมืองหรือจุดสำคัญ ๆ ในเกม ที่เวทมนตร์นี้จะมีอาชีพพ่อมดกับผู้กล้าที่สามารถใช้ได้ โดยข้อดีของคาถานี้เราจะสามารถหายตัวมายังโรงแรมได้เลยเป็นการย่นระยะการเดินทางได้เป็นอย่างดี ที่บางภาคคาถานี้ก็เป็นตำนานที่ต้องผ่านพิธีก่อนจะใช้ได้ก็มี นับเป็นการยืมมาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมเพราะในการ์ตูนเราจะเห็นโกคูใช้ท่านี้บ่อยมากทั้งตอนต่อสู้ตอนไปหาใครจนเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปเลย

Dragon Ball 
 Dragon Quest

ชุดที่เหมือนกัน

Dragon Ball 
 Dragon Quest

คราวนี้มาดูการออกแบบชุดของตัวละครกันบ้าง ที่ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์ ‘Dragon Quest Your Story’ หรือเคยเล่นเกม ‘Dragon Quest V’ คงจะรู้สึกได้ทันทีว่าชุดของพระเอกของเราในภาคนี้ (ตัวเอกในเกม ‘Dragon Quest’ จะไม่มีชื่อเราต้องตั้งเอง) มันช่างคล้ายกับชุดของจอมปีศาจ พิคโกโร่ (Piccolo) ในการ์ตูน ‘Dragon Ball’ มาก ๆ ซึ่งที่มาของชุดพิคโกโร่นั้นต้องย้อนไปในอดีตสมัยที่พ่อของเขาลี้ภัยจากดาวนาเม็กมายังโลกมนุษย์ ก่อนจะตัดสินใจแยกร่างด้านดีกับด้านชั่วออกมาเป็นพระเจ้าและราชาปีศาจ ซึ่งร่างมารก็สร้างความวุ่นวายไปทั่วโลกจนผู้คนจดจำและหวาดกลัวจอมปีศาจตนนี้ ซึ่งสุดท้ายก็ถูกโกคูในตอนเด็กฆ่าตาย แต่วินาทีที่จอมมารจะตายมันได้ให้กำเนิดลูกชายขึ้นมา และเขาได้กลับมาแก้แค้นแทนพ่อ แต่การเปิดเผยตัวตนว่าตัวเองคือราคาปีศาจพิโกโร่ก็ดูจะเร็วไป พิคโกโร่จึงต้องสวมเสื้อผ้าปกปิดตัวตนเพื่อกันคนอื่นรู้ จนมันกลายเป็นชุดประจำตัวไปในที่สุด ส่วนชุดของพระเอกในเกม ‘Dragon Quest V’ นั่นคือชุดของนักเดินทาง ที่สื่อถึงนักบวชผู้ใช้เวทมนตร์ในการรักษาและเวทพายุที่เป็นเอกลักษณ์ของอาชีพนี้ และนอกจากชุดนี้แล้วก็มีชุดของ หยำฉา (Yamcha) ในช่วงแรกที่เขาปรากฏตัว ตัวชุดก็เหมือนกับชุดนักกังฟูในเกม ‘Dragon Quest lll’ อีกด้วย เหมือนแค่ไหนดูรูปเปรียบเทียบเอา

Dragon Ball 
 Dragon Quest

คาถาและพลังในการรักษา

Dragon Ball

มาต่อกันที่พลังในการรักษาบาดแผลกันบ้าง ซึ่งถ้าใครที่เล่นเกม ‘Dragon Quest’ มาจะทราบดีว่าตัวเกมนั้นมีเวทมนตร์ในการรักษาหลัก ๆ อยู่หนึ่งวิชานั่นคือคาถา โฮอิมิ (ホイミ) ที่เป็นคาถาพื้นฐานที่เหล่านักบวชทุกคนต้องมีติดตัวตั้งแต่ต้น โดยคาถานี้จะช่วยรักษาอาการบาดเจ็บได้นิดหน่อย แต่เมื่อเราเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ก็จะเรียนคาถาที่สามารถรักษาได้มากขึ้นจนถึงขนาดที่ว่าพลังชีวิตกลับมาเต็ม 100% ก็มี แต่นั่นต้องแลกด้วยพลังเวทมนตร์หรือ MP จำนวนมากในการใช้ อย่างคาถา เบโฮมาซึน (ベホマズン) ที่จะฟื้นพลังทุกคนในทีมจนเต็มซึ่งผู้ใช้วิชานี้ได้ต้องเป็นระดับนักปราชญ์ที่อยู่จุดสูงสุดของอาชีพนักบวชและพ่อมดจึงจะใช้ได้ ซึ่งวิชารักษาอย่างโฮอิมินี้ก็คือวิชาพื้นฐานที่ผู้กล้าทุกคนต้องมีเช่นกัน ส่วนในเรื่อง ‘Dragon Ball’ ก็มีคนที่ใช้คาถาฟื้นพลังอยู่หลัก ๆ 2 คนนั่นคือ เดนเด้ ‘Dende’ ชาวดาวนาเม็กที่สืบเชื้อสายในการให้กำเนิดลูกหลานต่อไป (ชาวนาเม็กมีแต่เพศชายและออกลูกเป็นไข่) เขาจึงมีพลังในการรักษา กับอีกหนึ่งตัวละครที่เพิ่มมีพลังในการรักษานั่นคือ ทรังคซ์ (Trunks) ลูกชายในอนาคตของเบจิต้าที่เราคุ้นเคย เขาปรากฏตัวอีกครั้งในภาค ‘Dragon Ball Super’ ที่ตัวของเขานั้นคือผู้ช่วยของไคโอชินจึงทำให้ได้รับพลังการรักษาติดตัวมาด้วย  ซึ่งการใช้งานก็เหมือนกันนั่นคือการดึงพลังของผู้ใช้ในการรักษาบาดแผล แต่ไม่สามารถพื้นพลังกายให้กับคน ๆ นั้นที่เหมือนกับในเกมที่เพิ่มแค่ค่า HP แต่ไม่เพิ่มค่า MP นั่นเอง


 Dragon Quest

ปีศาจที่ถูกผนึก

Dragon Ball 
 Dragon Quest

มาที่ด้านเนื้อเรื่องที่เหมือนกันบ้าง กับเรื่องราวของราชาปีศาจที่ถูกปิดผนึกเอาไว้ในอดีตได้หลุดออกมาสร้างความวุ่นวาย โดยในเกม ‘Dragon Quest ll’ นั้นได้พูดถึงจอมปีศาจ ‘Malroth Master of Destruction’ เอาไว้ว่าในอดีตนั้นมันเคยสร้างความวุ่นวายจนถูกเหล่าผู้กล้าปิดผนึกเอาไว้ จนวันเวลาผ่านไปหลายร้อยปีมหาปุโรหิตปีศาจ ฮาร์กอน (High Priest Hargon) ได้ทำการเปิดผนึกปีศาจแห่งการทำลายล้างให้ตื่นขึ้นมา ซึ่งตัวของฮาร์กอนนั้นก็ได้รับความดีความชอบด้วยการเป็นเหยื่อสังเวยรายแรกเมื่อราชาปีศาจตื่นขึ้นมา ซึ่งเนื้อหาตรงนี้ก็คล้ายกับเรื่องราวของการ์ตูน ‘Dragon Ball’ ที่เราได้เล่าค้างเอาไว้ในหัวข้อก่อนเรื่องพระเจ้าที่แยกร่างดีกับชั่วออกมา ซึ่งร่างชั่วนั้นก็ตั้งตนเป็นจอมมารปีศาจและได้สร้างความวุ่นวายไปทั่ว จนอาจารย์ของผู้เฒ่าเต่าต้องใช้วิชา ‘The Evil Containment Wave’ หรือในชื่อไทยที่คุ้นหูคือ “คลื่นกักปีศาจ” ซึ่งเป็นวิชาต้องห้ามที่มนุษย์ห้ามใช้เพราะมันจะดูดพลังชีวิตผู้ใช้ไปจนหมด ซึ่งอาจารย์ของผู้เฒ่าเต่าก็สังเวยชีวิตผนึกจอมมารจนสามารถปิดผนึกมันไปได้ แต่สุดท้ายก็มีคนปลอดปล่อยปีศาจออกมาจนผู้เฒ่าเต่าต้องใช้วิชานี้จนตัวเองเสียชีวิตก่อนจะทำสำเร็จ ซึ่งในภาค ‘Dragon Ball Super’ โกคูก็ได้ไปขอเรียนวิชานี้เพื่อใช้ปราบศัตรูที่เป็นอมตะ ซึ่งแน่นอนว่าระดับโกคูใช้วิชานี้ได้อย่างสบาย และถ้าเราดูช่วงเวลาที่เกม ‘Dragon Quest ll’ วางจำหน่ายก็เป็นช่วงเดียวกับที่การ์ตูนฉายถึงตอนศึกราชาพิโกโร่พอดีจะเรียกว่ามับเอิญหรือจงใจก็ไม่อาจทราบได้

Dragon Ball 
 Dragon Quest

Death Balls ท่าไม้ตายของ Freeza กับคาถา เมราโซม่า

Dragon Ball

คราวนี้มาดูคาถาสุดรุนแรงกันบ้างกับพลังที่เรียกลูกไฟขนาดใหญ่ขึ้นมาจากปลายนิ้ว ก่อนจะบีบอัดเป็นมวลลูกบอลที่สร้างพลังโจมตีที่รุนแรง ที่ในเกมซีรีส์ ‘Dragon Quest’ จะเรียกคาถานี้ว่า เมร่า (メラ) ที่เป็นคาถาเรียกลูกบอลไฟขนาดเล็กยิงใส่ศัตรู 1 ตัว ซึ่งเป็นวิชาของเหล่าพ่อมดจะมีติดตัวตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเราสามารถเรียนรู้พลังนี้ได้ถึง 4 ขั้นซึ่งขั้นสุดท้ายจะเรียกว่า เมราไกอา (メラガイアー) ที่เป็นการเรียกลูกบอลไฟขนาดใหญ่โจมตีศัตรูที่รุนแรงที่สุดในคาถานี้ ซึ่งมีเพียงนักปราชญ์กับมอนสเตอร์รับดับสูงเท่านั้นที่จะทำได้ ซึ่งมันก็ช่างคล้ายกับท่า ‘Death ball’ ของฟรีเซอร์มาก ๆ ซึ่งท่านี้ฟรีเซอร์ก็ใช้อยู่หลายครั้ง และครั้งซึ่งเป็นที่จดจำของแฟน ๆ คือตอนที่ใช้ท่านี้ระเบิดดาวไซย่า กับอีกครั้งที่ใช้ตอนต่อสู้กับโกคูบนดาวนาเม็ก ที่เรียกว่าเป็นท่าไม้ตายที่ทำลายใกล้เคียงกันเลยทีเดียว

Dragon Ball 
 Dragon Quest

ความเหมือนที่ไม่แตกต่าง


 Dragon Quest

คราวนี้ขอกลับด้านมาที่ฝั่ง ‘Dragon Quest’ ไปยืม ‘Dragon Ball’ มาบ้าง กับตัวละครชาวเผ่าสวรรค์หรือที่ในเกมเรียกว่า ‘Havens Above’ ที่มีชนเผ่าโบราณที่อยู่บนท้องฟ้า ซึ่งที่นี่ก็มีความเกี่ยวเนื่องของตัวผู้กล้าในอดีตที่ปกป้องโลกในฐานะผู้เฝ้าดู ซึ่งถ้าเราดูรูปลักษณะของชนเผ่านี้ไม่ว่าจะดูตรงส่วนไหนมันก็ช่างคล้ายกับจอมมารบู (Majin Buu) ร่างอ้วนมาก ๆ จะต่างแค่ดวงตาเท่านั้น และชนเผ่านี้ก็มีหลายช่วงอายุที่ต่างกันด้วย ตั้งแต่เด็กวัยกลางคนไปจนถึงแก่ (รูปประกอบด้านล่าง) ซึ่งจอมมารบูนั้นในอดีตมันคือจอมปีศาจในร่างตัวเล็ก แต่ภายหลังมันได้ดูกลืนผู้ที่มีพลังแข็งแกร่งเอาไว้มากมายจนร่างของมันเปลี่ยนไป ซึ่งร่างอ้วนที่เราเห็นนี้คือการดูดร่างของไดไคโอชินเมื่อราว ๆ 5 ล้านปีก่อนไป เพราะมันสู้กับไดไคโอชินคนนี้ไม่ได้จึงดูดมารวมร่างจนกลายเป็นจอมมารบูที่จิตใจเหมือนเด็กเพราะได้จิตใจของไดไคโอไปนั่นเอง และเขาได้ปรากฏตัวอีกครั้งใน ‘Drasgon Ball Super’ ด้วย

Dragon Ball 
 Dragon Quest

ลูกคือคนพิเศษ

Dragon Ball 
 Dragon Quest

กลับมาที่ด้านเนื้อเรื่องอีกครั้งซึ่งคราวนี้ตัวเกม ‘Dragon Quest’ และการ์ตูน ‘Dragon Ball’ ได้ให้ความสำคัญกับลูกชายที่เกิดออกมาเหมือน ๆ กัน แถมตัวลูกชายยังมีบทบาทที่เป็นกุญแจแห่งชัยชนะโดยที่ตัวพ่อต้องเสียสละตัวเองเพื่อให้ลูกเติมโตมาคล้าย ๆ กันอีกด้วย  โดยเราขอยกตัวอย่างของเกม ‘Dragon Quest V’ ก่อน ที่ถ้าใครเคยเล่นเกมภาคนี้จะรู้ว่าตัวเราที่ได้เล่นมาตั้งแต่ต้นนั้นไม่ใช่ผู้กล้า แต่เราจะเป็นผู้มีชะตาในการให้กำเนิดผู้กล้า ซึ่งพลังและสีผมของผู้กล้าจะเปลี่ยนไปตามแม่ (เจ้าสาวที่เราเลือก) แต่หลัก ๆ ก็คือสีเหลือง ซึ่งหลังจากที่ผู้กล้าเกิดมาตัวเราและภรรยาก็จะถูกสาปให้เป็นหินอยู่หลายปี จนลูกชายเติบโตเป็นผู้กล้ามาช่วยเราจากคำสาปก่อนจะร่วมมือกันไปปราบจอมมาร เหมือนกับเรื่องราวใน ‘Dragon Ball Z’ ที่โกคูก็ฝากความหวังไว้ที่ ซุน โกฮัง (Son Gohan) ในการปราบปีศาจ เซล (Cell) ที่สุดท้ายโกคูของเราก็ต้องเสียสละตัวเองเพื่อช่วยโลก แถมทั้งสองตัวละครอย่างผู้กล้ากับโกฮังตอนเด็กและตัวพ่ออย่างโกคูและพระเอกในเกม ‘Dragon Quest’ยังมีหน้าตาคล้ายกันอีกด้วย ซึ่งเมื่อดูช่วงเวลาที่เกมและการ์ตูนฉายนั้นก็เป็นช่วงปีเดียวกันพอดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองตัวละครนี้จะมีหน้าตาคล้ายกันนั่นเอง

Dragon Ball 
 Dragon Quest

ตัวละครใหม่ใน Dragon Ball Super ที่คล้ายกับในเกม Dragon Quest

Dragon Ball 
 Dragon Quest

ด้วยความที่ตัวการ์ตูนเรื่อง ‘Dragon Ball’ มีการสานต่อไปยังภาค ‘Dragon Ball Super’ ที่เป็นเรื่องราวต่อจากตอนจบในปี 1995 กับการต่อสู้ครั้งใหม่ระดับจักรวาลอื่น (ในเรื่องนี้มี 12 จักรวาล)  ที่แต่ละจักรวาลก็จะมีเทพแห่งการทำลายล้างเทพผู้สร้างทุกสรรพสิ่งไปจนถึงนักสู้เก่ง ๆ อีกหลายจักรวาลที่มาต่อสู้กัน ที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบแถมยังทวีความสนุกมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้มีตัวละครใหม่ออกมาอีกหลายคน หนึ่งในนั้นก็มีตัวละครที่คล้ายกับตัวละครในเกม ‘Dragon Quest’ อย่างตั้งใจอยู่ด้วยอย่าง ‘Galactic King’ ราชาแห่งกาแล็กซีผู้ปกครองของกาแล็กซีทางช้างเผือกของจักรวาลที่ 7 (โลกใน ‘Dragon Ball Super’ อยู่ในจักรวาลที่ 7 จากทั้งหมด 12 จักรวาล) ซึ่งหน้าตาของราชาแห่งกาแล็กซี่ก็คงไม่ต้องไปสืบไกลว่าหน้าตาของเขาช่างเหมือนกับ โฮอิมิสไลม์  (Hoimi Slime) หรือ (Healslime) ในภาษาอังกฤษมาก ๆ  กับอีกหนึ่งตัวละครที่มาจากภาค ‘Dragon Ball Super’ เหมือนกันนั่นคือชาวดาวชาวยาโดแรตที่ก็เหมือนกับสไลม์ (Slime) ที่มีแขนขามาก ๆ ดูรูปประกอบจะเข้าใจ ซึ่งถ้าให้เดาตัวราชาแห่งกาแล็กซีน่าจะได้รับการออกแบบมาจากมนุษย์ต่างดาวทั่วไปตามสื่อ แต่บังเอิญไปคล้ายกับโฮอิมิสไลม์ ส่วนชาวยาโดแรตนี่น่าจะจงใจให้เหมือนมากกว่า (เป็นการคาดเดาจากผู้เขียน)

Dragon Ball 
 Dragon Quest

ท่าไม้ตายสุดยอด Genki Ball กับ Thordain

Dragon Ball

มาที่ท่าไม้ตายสุดยอดในเกม ‘Dragon Quest’ กับในการ์ตูน ‘Dragon Ball’ กันบ้างที่ทั้งสองท่าที่ตัวเอกอย่างโกคูและผู้กล้าใช้นั้นแม้จะมีรูปแบบของพลังที่ต่างกัน แต่ที่มาและการใช้นั้นเหมือนกันเป็นอย่างมาก เริ่มจากฝั่ง ‘Dragon Ball’ กันก่อนที่เราคงรู้จักชื่อนี้กันดีในชื่อท่าบอลเกนกิ (Genki Ball) ที่เป็นการขอยืมพลังจากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลก (นอกโลก) ในระยะที่พลังไปถึง มารวมกันเป็นพลังงานบริสุทธิ์ที่อัดแน่นไปด้วยพลังทำลายล้าง ที่แม้แต่ความชั่วร้ายที่สามารถคืนชีพร่างได้ก็ต้องตายแบบไม่ฟื้นเมื่อเจอพลังนี้ โดยวิชานี้โกคูมักจะใช้ยามที่หมดหนทางจริง ๆ อย่างตอนที่สู้กับเบจิต้าครั้งแรกหรือตอนสู้กับฟรีเซอร์ แต่ตอนที่หลายคนจดจำมากที่สุดก็คือตอนที่สู้กับจอมมารบูครั้งสุดท้าย ที่เป็นการรวมพลังจากคนทั้งโลกให้มาช่วยจัดการปีศาจตนนี้ ซึ่งมันก็เหมือนกับรูปแบบพลังเวทมนตร์ที่มีเฉพาะผู้กล้าเท่านั้นที่สามารถทำได้ กับเวทมนตร์ไรดีน (ライデイン) คาถาสายฟ้าอันรุนแรงที่มีแต่ผู้กล้าซึ่งถูกพระเจ้าเลือกเท่านั้นที่จะสามารถควบคุมพลังจากสวรรค์นี้ได้ ซึ่งในท่าสุดท้ายของพลังนี้จะเป็นการขอยืมพลังเพื่อน ๆ ในกลุ่มมาโจมตีในทีเดียวที่เรียกว่าคาถามินาดีน (ミナデイン) ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในเกม ‘Dragon Quest lV’  ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Thordain” ที่เป็นการรวมใจกันของทุกคนเพื่อเรียกสายฟ้าอันรุนแรงฟาดใส่ศัตรู ซึ่งการใช้ก็มีความเสี่ยงและผลที่ได้เหมือนกันอีกด้วย ใครที่เคยเล่นในซีรีส์ ‘Dragon Quest’ คงจะทราบดีถึงความเสี่ยงในการใช้คาถานี้

Dragon Ball 
 Dragon Quest

ตัวละครในเกม Dragon Quest และ Dragon Ball ที่หน้าตาเหมือนกัน

Dragon Ball 
 Dragon Quest

ปิดท้ายกับการเก็บตกตัวละครหน้าเหมือนกัน ซึ่งถ้าใครที่เป็นแฟนการ์ตูน ‘Dragon Ball’ แล้วมาเห็นตัวละครในเกม ‘Dragon Quest’ ต่างก็ต้องแซวกันขำ ๆ ว่าตัวละครตัวนี้หน้าเหมือนคนนี้เลย โดยเริ่มมาจากผู้กล้าใน ‘Dragon Quest Xl’ ที่เหมือนกับแอนดรอยด์ 17 (Android 17) หรือชื่อไทยที่เราคุ้นเคยคือ “มนุษย์ดัดแปลงหมายเลข 17” ที่เหมือนแค่ไหนก็ไปดูรูปกันเอาเอง อีกคนที่มาจากภาค ‘Dragon Ball Super’ กับพลังใหม่ของโกคูในชื่อ ‘Super Saiyan Blue’ ที่เมื่อมาเทียบกับผู้กล้าในเกม ‘Dragon Quest Vl’ แล้วก็ช่างเหมือนกันจริง ๆ ทั้งผมตั้ง ๆ สีฟ้าหน้าตาที่ก็เหมือนกับโกคู(รูปประกอบด้านล่าง) ที่แค่เปลี่ยนหัวกันก็สามารถเป็นตัวละครเดียวกันได้เลย หรือจะเป็นโกคูในตอนเด็กที่มีหน้าตาคล้ายกับผู้กล้าในเกม ‘Dragon Quest lll’ ที่ในยุคนั้นหลายคนก็คงจะถูกตกด้วยหน้าปกนี้ เพราะคิดว่านี่คือเกม ‘Dragon Ball’ ภาคใหม่ที่เมื่อซื้อมากลับเป็นเกมภาษาไปเสียอย่างนั้น และนี่ก็เป็นแค่บางส่วนเท่านั้นยังมีอีกหลายตัวละครที่หน้าเหมือนกัน อย่างตัวละครเทพเจ้ามังกรทั้งสองฝ่ายที่หน้าตาก็เหมือนกัน จะต่างกันตรงที่ขนาดความยาวของตัวเท่านั้น ซึ่งเอาไว้มีโอกาสเราจะหยิบยกเรื่องเหล่านี้มานำเสนอยังไงก็ติดตามกันได้

Dragon Ball 
 Dragon Quest

เป็นอย่างไรกันบ้างกับ 10 เรื่องราวความเหมือนของทั้งสองซีรีส์ที่มีอะไรหลายอย่างคล้ายกัน ซึ่งหลายอย่างที่มีในเกมและการ์ตูนทั้งสองเรื่องนั้นก็คือความจงใจของทีมพัฒนาในยุคนั้น ที่จงใจใช้ชื่อเสียงของการ์ตูน ‘Dragon Ball’ มาเป็นจุดขายให้เด็ก ๆ ที่ชื่นชอบการ์ตูนเรื่องนี้มาซื้อเกม ‘Dragon Quest’ ไปเล่น จนวันเวลาผ่านไปตัวเกม ‘Dragon Quest’ ก็พิสูจน์ให้แฟน ๆ เห็นว่าตัวเกมนั้นก็สนุกโดยที่ไม่ต้องใช้ตัวละครจาก ‘Dragon Ball’ มาเป็นจุดขายเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่ตอนนี้ลายเส้นของอาจารย์โทริยามะก็เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ไปเสียแล้วสำหรับเกมซีรีส์นี้ จนเราแทบคิดไม่ออกเลยว่าถ้าเกม ‘Dragon Quest’ ไม่ใช่ลายเส้นอาจารย์โทริยามะจะเป็นอย่างไร (ในการ์ตูน ‘Dragon Ball Super’ อาจารย์เป็นคนแต่งเรื่องแต่ให้คนอื่นเขียน) และถ้าใครมีเรื่องราวที่ทั้งสองเกมนี้เหมือนกันตรงไหนอีกก็บอกกันมาได้เพื่อแลกเปลี่ยนกัน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวอะไรที่เกี่ยวกับอะไรวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส