เมื่อพูดถึงนักเขียนการ์ตูนระดับตำนานเราคงจะรู้จักหลายคน ยิ่งถ้าใครที่ชอบอ่านหรือดูการ์ตูนญี่ปุ่นจะยิ่งรู้จักเยอะ แต่ถ้าพูดถึงการ์ตูนดังช่วงยุคปลาย 80s ถึง 90s หลายคนต้องรู้จักชื่ออากิระ โทริยามะ (Akira Toriyama) นักเขียนและผู้ออกแบบตัวละตัวละครจากเกมมากมายอย่าง ‘Dragon Ball’ ไปจนถึงเกมดังอย่าง ‘Dragon Quest’ ที่จนถึงตอนนี้เราก็ยังคงได้เห็นลายเส้นของอาจารย์ตามเกมต่าง ๆ และด้วยความสวยงามของลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่เมื่อเห็นเราก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือลายเส้นของอาจารย์โทริยามะ (ทั้งคนไทยและญี่ปุ่นจะติดปากเรียกนักเขียนการ์ตูนว่าอาจารย์) ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้อาจารย์โทริยามะได้ฝากผลงานเอาไว้ในวงการเกมมากมาย เมื่อคิดได้แบบนั้นเราจึงได้รวบรวมผลงานการออกแบบของอาจารย์โทรยามะมานำเสนอ จะมีผลงานจากเกมอะไรบ้างนั้นถ้าพร้อมแล้วก็มาดูพร้อมกันเลย

Akira Toriyama คือใคร ?

Akira Toriyama

อากิระ โทริยามะ เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 1955 เป็นนักวาดการ์ตูนระดับตำนานที่นักอ่านการ์ตูนทั่วโลกไปจนถึงคนที่เล่นเกมต้องรู้จัก เพราะเขาได้ฝากผลงานทั้งเกมการ์ตูนเอาไว้มากมายตั้งแต่อดีต โดยผลงานเรื่องแรกที่แท้จริงของอาจารย์โทริยามะก็คือเรื่อง ‘Awawa World’ ที่เข้าชิงรางวัล Young Jump Award รายเดือน ที่ได้ตีพิมพ์ในปี 1983 (รูปด้านล่าง) ที่เป็นการ์ตูนตลกเบาสมองก่อนที่จะมีผลงานเรื่อยมาในฐานะนักเขียน จนมาถึงผลงานที่สร้างชื่อให้อาจารย์โทริยามะก็คือเรื่อง ‘Dr. Slump’ ที่พิมพ์ครั้งแรกในปี 1980 จนถึงปี 1984 แต่สิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ที่สร้างชื่อเสียงให้อย่างแท้จริงก็คือเรื่อง ‘Dragon Ball’ ที่ในตอนแรกตัวเรื่องยังเป็นแนวตลกเบาสมอง ที่อ้างอิงเรื่องราวมาจากตำนานไซอิ๋วเกี่ยวกับการตามหาลูกแก้วมังกร จนเรื่องราวค่อย ๆ ถูกพัฒนาให้จริงจังขึ้นเรื่อย ๆ จนโดนใจคนอ่านและกลายเป็นตำนานมาจนถึงตอนนี้

Akira Toriyama

ขณะที่ชื่อเสียงในวงการเกมอาจารย์โทริยามะก็ไม่น้อยหน้า เพราะเขาคือหนึ่งในนักออกแบบตัวละครในเกมชื่อดังมากมาย โดยผลงานแรกที่ในวงการเกมที่อาจารย์โทริยามะมีส่วนร่วมคือเกม ‘Dragon Quest’ ในปี 1986 ที่จนถึงตอนนี้เราก็ยังคงเห็นการออกแบบตัวละครในเกมซีรีส์นี้อยู่ กับอีกหนึ่งเกมที่เป็นระดับตำนานมาจนถึงตอนนี้นั่นคือ ‘Chrono Trigger’ ที่อาจารย์โทริยามะวาดและออกแบบตัวละครได้สวยงามฉีกจากความเป็น ‘Dragon Ball’ และ ‘Dragon Quest’ ไปได้อย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ก็ยังมีส่วนร่วมในการออกแบบตัวละครและเกมต่าง ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวละครจากเกม ‘Dragon Ball’ ที่อาจารย์ก็ไปสร้างตัวละครใหม่เฉพาะเกมภาคนั้นอยู่หลายครั้ง ซึ่งจนถึงตอนนี้เขาก็ยังคงมีผลงานในเกมและการ์ตูนอยู่จนถึงปัจจุบัน

Dragon Quest
Chrono Trigger

Dragon Quest ฉบับเก่า

Dragon Quest 3

เริ่มต้นเกมแรกที่เป็นเหมือนจุดกำเนิดของอาจารย์โทริยามะในวงการเกม นั่นคือการมีส่วนร่วมในการออกแบบตัวละครในเกมซีรีส์ใหม่ ที่กำลังจะวางตลาดของค่าย Enix ที่ในตอนนั้นค่ายเกมกำลังมองหาคนออกแบบตัวละครในเกมที่มีเอกลักษณ์ สามารถดึงดูดคนให้หันมาสนใจเกมได้ทันทีที่เห็นปกเกม ซึ่งในตอนนั้นเองคาซึฮิโกะ โทริชิมะ (Kazuhiko Torishima) บรรณาธิการของนิตยสาร ‘Shonen Jump’ ใครคิดภาพไม่ออกให้คิดถึง (Dr. Mashirito) ดร.มาชิริโตะ ตัวร้ายในเรื่อง ‘Dr. Slump’ ได้แนะนำอาจารย์โทริยามะให้กับยูจิ โฮริอิ ‘Yuji Horii’ นักพัฒนาเกมไฟแรงรู้จัก ก่อนจะร่วมมือกันออกแบบตัวละครต่าง ๆ ในเกม ‘Dragon Quest’ ออกมา จนตัวเกมวางจำหน่ายในปี 1986 และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีในแง่ของเสียงชมและรายได้ แต่สิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์อย่างแท้จริงของซีรีส์นี้เกิดขึ้นในภาคที่ 3 ของซีรีส์ ที่ตัวเกมได้พัฒนามาถึงขีดสุดทั้งในแง่ของระบบการเล่นเนื้อเรื่องรวมถึงการออกแบบตัวละคร ที่คราวนี้ตัวลายเส้นตัวละครจะคล้าย ๆ ตัวละครใน ‘Dragon Ball’ ที่กำลังโด่งดังมาก ๆ ในตอนนั้น ซึ่งความสำเร็จนี้จะยกให้ใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะถึงแม้เนื้อเรื่องระบบการเล่นจะดีแค่ไหน แต่ถ้าขาดลายเส้นของอาจารย์โทริยามะ บนปกเกมกับหนังสือคู่มือก็ยากที่เกมที่จะประสบความสำเร็จ ทุกคนจึงยกความสำเร็จของเกมนี้ให้อาจารย์โทริยามะคนออกแบบตัวละคร โฮริอิคนสร้างเกมและโคอิจิ ซูงิยามะ (Koichi Sugiyama) ผู้แต่งเพลงที่เป็น 3 ตำนานที่วงการเกมในยุคนั้นต้องจดจำ

Dragon Quest 4-5

Dragon Quest Remake

Dragon Quest 6

ยังคงอยู่กับเกมซีรีส์ ‘Dragon Quest’ เพราะสิ่งที่ต้องพูดถึงในคราวนี้ไม่ใช่เรื่องเกมแบบหัวข้อก่อน แต่จะพูดถึงการรีเมกเกม ‘Dragon Quest’ ภาคเก่า ๆ ที่กลับเอามาขายใหม่  ซึ่งทุกครั้งที่เกมนี้ถูกเอามาทำใหม่เราก็จะได้เห็นลายเส้นปกของเกมนี้ในรูปแบบใหม่ จากลายเส้นอาจารย์โทริยามะที่พัฒนาลายเส้นให้สวยขึ้นคมขึ้นกว่าในอดีต จนแฟน ๆ เกมซีรีส์นี้ต่างซื้อมาเก็บกันโดยที่ไม่มีใครบ่นเลยว่า ‘Dragon Quest’ ภาคแรกรีเมกอีกแล้วแบบเกมอื่น แต่ตรงข้ามยิ่งเอามารีเมกคนยิ่งชอบยิ่งตามสะสม เพราะเราก็จะได้เห็นภาพปกใหม่ ๆ ของอาจารย์โทริยามะที่สวยขึ้นละเอียดขึ้นจากเดิม และยิ่งเป็นภาคใหม่ ๆ อย่างภาค 5 ไปถึง 7 ที่เพิ่งเคยถูกรีเมกแฟน ๆ ยิ่งชอบ เพราะลายเส้นของอาจารย์โทริยามะจะเปลี่ยนไปดูละเอียดคมสวยถูกใจแฟน ๆ ไม่เชื่อก็ดูรูปเปลี่ยนเทียบแล้วคุณจะเห็นความแตกต่างของลายเส้นที่สายขึ้นขนาดไหน

Dragon Quest 5-7

Famicom Jump II Saikyō no Shichinin และ Dragon Ball Shenlong no Nazo

Famicom Jump II Saikyō no Shichinin

หลังจากที่อาจารย์โทริยามะออกแบบตัวละครในเกม ‘Dragon Quest’ เขาก็ได้มีโอกาสมาออกแบบตัวละครในเกม ‘Dragon Ball Shenlong no Nazo’ ที่เป็นการเปลี่ยนลายเส้นตัวละครของตนเองให้เป็นกราฟิกแบบในเกม ที่เรื่องราวในเกมภาคนี้จะไม่ได้อ้างอิงเนื้อหาตามต้นฉบับในการ์ตูนแต่จะเป็นเรื่องราวใหม่ทั้งหมด อาจารย์จึงต้องออกแบบตัวละครต่าง ๆ ในเกมนี้ใหม่ตั้งแต่ตัวโกคูไปจนถึงตัวร้ายในเกม จนมาถึงปี 1991 อาจารย์โทริยามะก็ได้มีโอกาสมาออกแบบตัวละครพิเศษในเกมอีกครั้งกับเกม ‘Famicom Jump II Saikyō no Shichinin’ หรือเกมรวมดาวตัวละครต่าง ๆ ในนิตยสาร ‘Shonen Jump’ โดยในคราวนี้เขาได้ออกแบบตัวละครระดับหัวหน้าหลายตัวในเกมนี้ จนถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในญี่ปุ่นและบ้านเราในสมัยนั้น

Famicom Jump II Saikyō no Shichinin และ Dragon Ball Shenlong no Nazo

Chrono Trigger

Chrono Trigger

ในปี 1995 ยุคที่เกมแนว RPG หรือเกมภาษารุ่งเรือง โดยมี 2 เกมระดับตำนานที่แข่งกันทำตลาดอย่างคู่คี่สูสีนั่นคือ ‘Dragon Quest’ และ ‘Final Fantasy’ จนวันหนึ่งในนิตยสารเกมได้ประกาศเกมใหม่ออกมาพร้อมกับลายเส้นของอาจารย์โทริยามะ ในชื่อเกม ‘Chrono Trigger’ ที่เกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาไปยังมิติต่าง ๆ รวมถึงโลกในยุคอดีตไปจนถึงอนาคต ที่ตัวเกมมีระบบการเล่นกราฟิกที่สวยงาม จนมีการเปิดเผยออกมาว่าเกมนี้นอกจากจะได้ลายเส้นของอาจารย์โทริยามะแล้ว ก็ยังได้ฮิโรโนบุ ซากากุจิ (Hironobu Sakaguchi) ผู้ให้กำเนิดเกม ‘Final Fantasy’ กับโฮริอิผู้ให้กำเนิด  ‘Dragon Quest’ ที่เป็นคู่แข่งมาจับมือกันสร้างเกมนี้ออกมาในชื่อ ‘Dream Team’ ตัวเกมประสบความสำเร็จทั้งยอดขายและคำชมจากแฟน ๆ จนกลายเป็นเกม RPG ระดับตำนานที่ยากจะหาเกมไหนมาเทียบได้เลย ซึ่งหนึ่งในความดีงามก็คือลายเส้นที่อาจารย์โทริยามะออกแบบเอาไว้ในหนังสือเกมที่วาดออกมาได้สวยงามถูกใจแฟน ๆ มาจนถึงตอนนี้ ใครที่ไม่เคยเล่นแนะนำให้หาฉบับเก่ามาเล่น(ฉบับรีเมกเอามาทำใหม่ถูกเปลี่ยนเยอะเกินจนแฟน ๆ ไม่ชอบ) แล้วคุณจะรู้ว่าเกมระดับตำนานเป็นอย่างไร

Chrono Trigger

Blue Dragon

Blue Dragon

นับตั้งแต่เกม ‘Chrono Trigger’ เป็นต้นมาอาจารย์โทริยามะก็ไม่ได้ร่วมงานกับซากากุจิผู้ให้กำเนิดเกม ‘Final Fantasy’ อีกเลย จนกระทั่งซากากุจิ ลาออกมาจาก Square มาอยู่กับ Microsoft Game Studios ทั้งคู่จึงได้มาร่วมงานกันอีกครั้งในเกม ‘Blue Dragon’ ที่ยังคงแนวเกม RPG แบบเดิมที่ให้อารมณ์คล้าย ๆ เกม ‘Final Fantasy’ ที่คราวนี้ตัวละครทั้งหมดจะได้รับการออกแบบโดยอาจารย์โทริยามะ ที่ยังคงความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์โทริยามะได้อย่างไม่ขาดตก จนตัวเกมถูกเอาไปสร้างเป็นฉบับการ์ตูนฉายทางทีวีและมีเกมภาคต่อออกมามากมาย นับเป็นเกมที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการออกแบบตัวละครของอาจารย์โทริยามะอีกหนึ่งเกม

Blue Dragon

Dragon Ball Fighter Z 

Dragon Ball Fighter Z

จะน่าดีใจขนาดไหนที่เกมซึ่งวางจำหน่ายในตลาดนั้น มาจากลายเส้นของเราแบบไม่ผิดเพี้ยน  ยิ่งเป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีการถูกเอามาทำเป็นเกมมากมายด้วยแล้วจะยิ่งรู้สึกถึงเรื่องนี้ เพราะส่วนมากลายเส้นการออกแบบของนักเขียนนั้นจะถูกเอามาใช้แค่หน้าปกเกมเสียเป็นส่วนมาก หรือไม่ก็เอาลายเส้นจากการ์ตูนมาใส่ในเกมเป็นแบบภาพนิ่ง แต่เกม ‘Dragon Ball Fighter Z’ นั้นต่างออกไป เพราะตัวเกมนั้นเป็นเกมแนวต่อสู้ที่ยังคงเอกลักษณ์ลายเส้นและรูปแบบต่าง ๆ ของอาจารย์โทริยามะออกมาได้สมบูรณ์แบบทั้งหมด และเพื่อความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นไปอีก อาจารย์โทริยามะได้ออกแบบตัวละครใหม่อย่าง มนุษย์ดัดแปลงหมายเลข 21 (Android 21) ที่เกิดจากการนำเซลของจอมมารบูมาดัดแปลงกับมนุษย์ดัดแปลงที่มีรูปแบบการเล่นที่ถูกใจแฟน ๆ จนหลายคนอยากให้นำตัวละครตัวนี้ไปอยู่ในซีรีส์การ์ตูนภาค ‘Dragon Baall Super’ เลยทีเดียว

Dragon Ball Fighter Z

Tobal No. 1 และ Tobal 2

Tobal No. 1

หนึ่งในความพิเศษของลายเส้นที่เกิดมาจากปลายปากกาของอาจารย์โทริยามะ นั่นคือความมีเสน่ห์ที่มีนักเขียนน้อยคนนักจะทำได้ แถมลายเส้นของอาจารย์นั้นก็ไม่ตกยุคไม่ว่าตัวเกมจะผ่านมานานแค่ไหนก็ตาม หนึ่งในเกมที่มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์สวยงามฉีกแนวจากลายเส้น ‘Dragon Ball’ และ ‘Dragon Quest’ นั่นก็คือเกม ‘Tobal No. 1’ และ ‘Tobal 2’ เกมต่อสู้จากหนึ่งในความพยายามของ Square กับการอยากมีส่วนร่วมในตลาดเกมต่อสู้ จึงดึงอาจารย์โทริยามะมาเป็นคนออกแบบตัวละคร ที่ตัวเกมใส่ความเป็นแฟนตาซีที่มีเอกลักษณ์ของอาจารย์อย่างเต็มที่ จนเราได้เห็นตัวละครหน้าตาแปลก ๆ ที่ดูสวยงามและแหวกแนวตัวละครต่อสู้ในยุคนั้น ตัวเกมถูกสร้างออกมาถึงสองภาค ที่สุดท้ายเกมซีรีส์นี้ก็ไม่ได้ไปต่อเพราะรูปแบบการเล่นที่จำเจเมื่อเทียบกับเกมต่อสู้อื่น ๆ ในตลาดตอนนั้น ที่แม้จะมีการออกแบบตัวละครที่ดีขนาดไหนก็ตามซึ่งน่าเสียดายมาก ๆ

Tobal No. 1

Go! Go! Ackman

Go! Go! Ackman

คราวนี้มาดูการ์ตูนที่เกิดจากลายเส้นของอาจารย์โทริยามะที่ถูกสร้างเป็นเกมกันบ้าง ที่นอกจากเกมในซีรีส์ ‘Dragon Ball’ แล้วในอดีตก็เคยมีเกมที่สร้างจากการ์ตูนของอาจารย์โทริยามะอยู่อีก 2 เรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือเกม ‘Go! Go! Ackman’ การ์ตูนในชื่อเดียวกันกับเกมที่ถูกวาดขึ้นในนิตยสาร V Jump ช่วงปี 1993 ถึง 1994 ที่เป็นการ์ตูนแนวตลกเบาสมองที่อาจารย์ชอบเขียน ซึ่งตัวเกม ‘Go! Go! Ackman’ จะเป็นเกมแนวผ่านด่านไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ที่อ้างอิงฉากเรื่องราวมาจากในการ์ตูนที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Super Famicom’ ที่ถูกสร้างออกมาถึง 3 ภาคเลยทีเดียว ใครสนใจก็ไปหามาเล่นกันได้ตัวเกมค่อนข้างสนุกเลยทีเดียว

Go! Go! Ackman

Dr. Slump

Dr. Slump

ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วที่พูดถึงเกมที่มาจากการ์ตูนของอาจารย์โทริยามะ ที่จะไม่พูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้นั่นคือเรื่อง ‘Dr. Slump’ หรือที่บ้านเรารู้จักในชื่อ ‘ดร.สลัมป์ กับหนูน้อยอาราเล่’ ที่เป็นหนึ่งในการ์ตูนสร้างชื่อของอาจารย์โทริยามะก่อน ‘Dragon Ball’ ที่เป็นการ์ตูนตลกเบาสมองที่ไม่ต้องไปหามาสาระอะไรกับการ์ตูนเรื่องนี้ และด้วยความที่ตัวการ์ตูนออกไปทางตลกเบาสมองด้วยรึเปล่าเราจึงไม่เห็นเกม ‘Dr. Slump’ บนเครื่องเล่นเกมยุคเก่าเลย จะมีแค่เพียงเกมกดที่เรียกว่า ‘Game & Watch’ เท่านั้น ที่กว่าจะมีเกม ‘Dr. Slump’ ของตัวเองก็เป็นยุคของเครื่อง ‘Nintendo DS’ กับ ‘Playstation 1’ ไปแล้ว ซึ่งตอนนั้นก็เป็นการกลับมาวาด ‘Dr. Slump’ อีกครั้งของอาจารย์แล้ว เราจึงได้เห็นอาราเล่ที่มีลายเส้นต่างกันในเกมที่วางจำหน่าย

Dr. Slump

Dragon Quest Swords และ Dragon Quest Card

Kenshin Dragon Quest Yomigaerishi Densetsu no Ken

นอกจากจะออกแบบตัวละครให้กับเกมต่าง ๆ แล้ว เรายังจะได้เห็นลายเส้นของอาจารย์โทริยามะในของเล่นจากเกมต่าง ๆ ที่ถูกวาดมาแบบพิเศษเพื่อเกมนั้น ๆ อีกหลายเกม ไม่ว่าจะเป็น ‘Kenshin Dragon Quest Yomigaerishi Densetsu no Ken’ หรือ  ‘Dragon Quest Swords’ ในแบบของเล่น ที่ตัวกล่องและเนื้อหาในเกมนั้นจะคล้าย ๆ กับเกม ‘Dragon Quest Swords The Masked Queen and the Tower of Mirrors’ บนเครื่อง ‘Nintendo Wii’ ที่ลายเส้นของอาจารย์โทริยามะก็เป็นจุดดึงดูดชั้นดีให้แฟน ๆ หาซื้อเกมนี้มาสะสม รวมถึงการ์ดเกมของจริงที่สามารถเอามาเล่นกับเกมตู้หรือเล่นแบบเกมการ์ดปกติ ที่จะอ้างอิงรูปแบบลายเส้นตัวละครของอาจารย์โทริยามะที่ในกลุ่มนักสะสมชอบกัน ซึ่งที่ญี่ปุ่นการ์ดเกม ‘Dragon Quest’ เป็นที่นิยมมาก ๆ จนตอนนี้ก็ยังมีรุ่นใหม่ออกมาเรื่อย ๆ ใครสนใจก็ไปตามหาเก็บกันได้

Dragon Quest Card

Chōsoku Henkei Gyrozetter

Chōsoku Henkei Gyrozetter

เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่ทราบมาก่อนว่าอาจารย์โทริยามะนั้นได้ไปเป็นแขกรับเชิญในการออกแบบเกมต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง แต่ส่วนมากจะเป็นการออกแบบตัวละครจากเกมเดิม ๆ อย่าง ‘Dragon Quest’ ไม่ก็ ‘Dragon Ball’ ที่เรารู้ ๆ กันอยู่ แต่ก็มีอยู่หนึ่งเกมที่อาจารย์โทริยามะได้มาออกแบบเครื่องจักรให้ในเกม ‘Chōsoku Henkei Gyrozetter’ ที่เป็นเกมตู้แบบใช้การ์ด ที่เป็นเกมแข่งรถผสมเกมต่อสู้ด้วยหุ่นยนต์ที่ได้อาจารย์โทริยามะมาออกแบบตัวละคร ‘Beeman 500SS’ ที่ดูแล้วก็รู้ทันทีว่านั่นคือการออกแบบของอาจารย์โทริยามะ

Chōsoku Henkei Gyrozetter

Dragon Quest Heroes Rocket Slime

Dragon Quest Heroes Rocket Slime

นอกจากการออกแบบมนุษย์ไปจนถึงหุ่นยนต์แล้ว อีกหนึ่งตัวละครสร้างชื่อที่เราจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ เพราะมันคือตัวนำโชคประจำซีรีส์ ‘Dragon Quest’ อย่างเจ้าสไลม์ (Slime) ที่จากข้อมูลบอกว่าอาจารย์โทริยามะได้ไอเดียการออกแบบเจ้าตัวนี้จากหยดน้ำ แถมเจ้าสไลม์ยังเป็นตัวละครตัวแรกที่ถูกออกแบบในซีรีส์ ‘Dragon Quest’ ที่เมื่อโฮริอิเห็นเจ้าหยดน้ำสีน้ำเงินมีตาปากรูปนี้ก็ชอบทันที และด้วยความน่ารักที่เราเห็นมาในทุกภาค จึงทำให้มันมีเกมเป็นของตัวเองในชื่อ ‘Dragon Quest Heroes Rocket Slime’ ที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของเหล่าสไลม์ที่ต้องปกป้องหมู่บ้านจากเหล่าสัตว์หาง ที่ในภาคหลัง ๆ ตัวเกมได้เปลี่ยนจากเกมแก้ปริศนาผ่านด่าน มาเป็นเกมแอคชันที่สามารถสร้างรถถังมาต่อสู้กันอย่างสนุกถูกใจแฟน ๆ  ใครสนใจก็ไปหามาเล่นกันได้ เพราะภาคล่าสุดมีบน ‘Nintendo 3DS’

Dragon Quest Heroes Rocket Slime

Dragon Ball Legends และ Dragon Ball Z Kakarot

Dragon Ball Legends

ปิดท้ายกับผลงานล่าสุดของอาจารย์โทริยามะในวงการเกมกันบ้าง ที่ถ้าไม่นับเกมในซีรีส์ ‘Dragon Quest’ ที่ออกภาคใหม่มาเรื่อย ๆ แล้ว ก็มีเกมในซีรีส์ ‘Dragon Ball’ ที่อาจารย์โทริยามะได้ออกแบบตัวละครใหม่เพื่อใช้ในเกมอย่าง ซาเลต (Shallot) ชาวไซย่าปริศนาที่ไม่รู้ว่าเขาคือใคร กับซาฮา (Zahha) ตัวร้ายปริศนาที่มีรูปร่างคล้ายเหล่าเทพเจ้าในเรื่อง ที่ทั้งคู่จะเป็น 2 ตัวร้ายตัวใหม่ในเกม ‘Dragon Ball Legends’ ที่หลายคนยังเล่นกันอยู่ กับอีกหนึ่งตัวละครใหม่ในเกม ‘Dragon Ball Z Kakarot’ นั่นคือโบนยู (Bonyu) อดีตหน่วยรบพิเศษกีนิวคนที่ 6 ที่ขอลาออกจากกลุ่มเพราะทนการตั้งท่าของหน่วยนี้ไม่ไหว ใครที่อยากรู้ว่า 3 ตัวละครนี้จะเก่งขนาดไหนก็ลองไปหาเกมมาเล่นกันได้

Dragon Ball Legends และ Dragon Ball Z Kakarot

ก็จบกันไปแล้วกับเรื่องราวของอาจารย์โทริยามะ อากิระที่น่าสนใจในวงการเกม หวังว่าจะถูกใจกันไม่มากก็น้อย ซึ่งใครที่เป็นแฟนประจำของอาจารย์คงไม่ต้องพูดอะไรกันมาก เพราะไม่ว่าอาจารย์โทริยามะจะออกผลงานอะไรออกมา ก็ดูน่าสนใจถูกอกถูกใจแฟน ๆ ไปเสียทุกอย่าง ส่วนใครที่เพิ่งมาอ่านบทความนี้แล้วสนใจในเรื่องราวของอาจารย์ ก็ลองไปหาเกมที่เรานำเสนอในนี้ไปเล่นหรือหาดู แล้วคุณจะรู้ว่าอัจฉริยะแห่งวงการการ์ตูนและเกมที่แม้จริงเป็นอย่างไร  ส่วนใครที่มีผลงานของอาจารย์โทริยามะเกมไหนอีกก็บอกกันมาได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส