วิถีธรรมชาติของพืชและสัตว์บนโลกเรานี้ยังมีเรื่องที่ถ้าเราได้รับรู้รับฟังแล้วจะรู้สึกน่าสยดสยองอีกมา อย่างเช่นวิถีการแพร่พันธุ์ของเชื้อรา Ophiocordyceps unilateralis ชื่อเต็มอาจจะอ่านยากซักหน่อย แต่เราสามารถเรียกชื่อเล่นของมันก็ได้ว่า “เชื้อราซอมบี้” (Zombie Fungus) ที่สามารถพบเห็นได้ในประเทศแถบร้อนชื้นอย่างเช่น บราซิล และประเทศไทยเรานี่เอง ซึ่งถ้าวันไหนได้มีโอกาสไปเที่ยวป่าก็สามารถพบเห็นเจ้าเชื้อราซอมบี้นี้ได้ไม่ยาก วิธีหาก็ไม่ยาก ให้คอยสังเกตใบไม้ ใบของต้นอะไรก็ได้ที่อยู่ในระยะประมาณ 25 เซ็นติเมตร เหนือพื้นดิน ลองพลิกดูด้านหลังของใบไม้ บางใบคุณอาจจะพบร่างไร้ชีวิตของมดตัวหนึ่งใช้ปากของมันกัดค้างอยู่ที่เส้นกลางใบไม้ บางตัวเราอาจเห็นเห็ดรางอกออกมาจากส่วนหัวของร่างมดผู้โชคร้าย

ใบไม้ที่มีร่างของมดเหยื่อ

เมื่อเชื้อราซอมบี้ได้แทรกซึมเข้าสู่ร่างมดแล้ว นั่นเรียกได้ว่ามดตัวนั้นเตรียมจบชีวิตได้แล้ว และเป็นการจบชีวิตที่โหดร้ายอย่างมาก เชื้อราจะเริ่มต้นด้วยการดูดกลืนสารอาหารภายในร่างมด จากนั้นก็จะเข้าควบคุมสมองส่วนสั่งการ ขั้นตอนจากนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ที่เชื้อราซอมบี้จะควบคุมร่างมดให้มุ่งหน้าออกจากรังตัวเองแล้วพาร่างไปยังตำแหน่งที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมที่เชื้อราจะเริ่มเจริญเติบโตออกจากร่างมด ซึ่งมักจะเป็นใบไม้สักใบที่อยู่ห่างจากพื้นดินประมาณ 25 เซ็นติเมตร ดังที่เกริ่นไปข้างต้น เพราะตำแหน่งนี้จะมีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา ภารกิจสุดท้ายของเชื้อราซอมบี้นั้น มันจะสั่งการให้มดซอมบี้ล็อกขากรรไกรเข้ากับเส้นใบหลักของใบไม้ จากนั้นเชื้อราก็จะเริ่มเจริญเติบโต มีลำต้นงอกทะลุส่วนหัวของมดออกมา แล้วเมื่อเติบโตเต็มที่ก็จะบานเป็นทรงดอกเห็ดที่เต็มไปด้วยสปอร์ ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือตำแหน่งของใบไม้ที่กลายเป็นสุสานของมดซอมบี้นั้น มักจะห้อยอยู่เหนือรังเดิมของเจ้ามดโชคร้ายตัวนี้ เมื่อเชื้อราซอมบี้เจริญเติบโตเต็มที่ก็จะปล่อยสปอร์ให้ร่วงหล่นลงมาใส่รังของบรรดาพี่น้องมด ที่จะกลายร่างเป็นมดซอมบี้รุ่นใหม่ วนเป็นวัฏจักรสืบต่อไป

เดวิด ฮิวส์ (David Hughes) นักกีฏวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย

เรื่องความน่ากลัวของเชื้อราซอมบี้นี้ไปดึงดูดความสนใจของ เดวิด ฮิวส์ (David Hughes) นักกีฏวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ที่ได้ทุ่มเทเวลานานนับปีในการศึกษาวงจรชีวิตของเชื้อราซอมบี้ ว่ามันสามารถควบคุมร่างเหยื่อให้ทำตามความต้องการของตัวมันได้อย่างไร แล้วการค้นพบของฮิวส์ก็ทำให้เขาอึ้ง ทึ่ง ถึงความน่ากลัวของเจ้าเชื้อราซอมบี้ยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

แมริเดล เฟรเดอริกเซ็น (Maridel Fredericksen)

ในการค้นคว้านี้ฮิวส์ได้ แมริเดล เฟรเดอริกเซ็น (Maridel Fredericksen) ศิษย์เอกของเขามาเป็นผู้ช่วย ซึ่งเธอได้ทำการศึกษาเรื่องนี้กับมดตัวหนึ่งที่โดนเชื้อราซอมบี้เข้าควบคุมร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เธอเอาร่างมดโชคร้ายตัวนี้มาฝานเป็นแผ่นบาง บางที่ขนาด 50 นาโนมิเตอร์ เท่ากับ 1 ใน 1,000 ของเส้นผมมนุษย์ เธอเอาร่างมดแต่ละแผ่นมาเข้าเครื่องสแกน แล้วเอาภาพทั้งหมดมาประกอบกันภาพจำลอง 3 มิติ ขั้นตอนนี้เฟรเดอริกเซ็นต้องทำงานด้วยความอุตสาหะอย่างมาก เพราะเธอต้องมานั่งสังเกตภาพสแกนทีละแผ่นว่า ชั้นไหนที่เป็นร่างของมด แล้วชั้นไหนที่เป็นเชื้อราซอมบี้ ซึ่งการสังเกตกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งของมดนั้นก็กินเวลามากถึง 3 เดือนแล้ว ซึ่งตรงนี้ล่ะที่อาจารย์ฮิวส์ได้เข้ามาช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเธอ ด้วยการดึงตัว แดนนี่ เช็น (Danny Chen) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ซึ่งเช็นก็ช่วยได้มาก ด้วยการสร้างระบบ AI ขึ้นมาให้จำแนกว่าชั้นไหนคือมด ชั้นไหนคือเชื้อรา

วัฏจักรของเชื้อราซอมบี้

การทำงานในขั้นตอนนี้ทำให้ทีมของฮิวส์ได้รู้ลึกถึงขั้นตอนการเข้าควบคุมร่างมดของเชื้อราซอมบี้ ซึ่งมันเริ่มต้นด้วยการเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ที่เข้าไปอยู่ในกระแสเลือดของมด จากนั้นก็เริ่มแบ่งตัวเองออกมาเรื่อย ๆ แล้วพวกมันก็จะสร้างท่อขนาดจิ๋วขึ้นมาเชื่อมต่อเพื่อสื่อสารและส่งต่อสารอาหารให้กันและกัน ขั้นตอนต่อไป พวกมันเริ่มคืบคลานเข้าสู่กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของมดเหยื่อ เริ่มแบ่งตัวขยายร่างเข้าไปตามพื้นที่ว่างทุกส่วนในร่างมด หลังเห็นรูปแบบการรุกคืบของเชื้อราซอมบี้นี้แล้ว เดวิด ฮิวส์ ยืนยันเลยว่านี่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของ Ophiocordyceps เท่านั้น ไม่เหมือนกับเชื้อราประเภทอื่น ๆ เลย

ดูกันชัด ๆ สภาพร่างของมดเหยื่อ

Ophiocordyceps เริ่มต้นจากการเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่มีขนาดเล็กจิ๋วมาก แต่เมื่อเข้าสู่ร่างเหยื่อได้ก็เริ่มแบ่งตัวให้มีจำนวนมากแล้วยังสามารถทำงานร่วมกันได้ ทั้งที่ตัวมันเองไม่มีเซลล์สมองแต่กลับควบคุมสมองของสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันได้ สิ่งที่น่าสังเกตได้อย่างหนึ่งของเชื้อราซอมบี้นี้ก็คือ เมื่อมันควบคุมได้ทั้งร่างเหยื่อแล้วรวมถึงส่วนหัวได้ แต่มันจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสมองของเหยื่อ นั่นก็เพราะสมองของเหยื่อไม่มีความจำเป็นในการทำงานของเชื้อราซอมบี้อีกต่อไป หลังจากมันแทรกซึมเข้าไปทั่วร่างของมดเหยื่อแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายในการยึดร่างก็คือการทำลายเส้นประสาทหลักจากสมองที่สั่งการร่างกายให้เคลื่อนไหว เมื่อทำลายเส้นประสาทนี้แล้ว เชื้อราซอมบี้ก็จะเข้าควบคุมสั่งการร่างเหยื่อแทน จากนี้สมองของมดเหยื่อก็จะไม่สามารถควบคุมสั่งการอวัยวะต่าง ๆ ของตัวเองได้อีกต่อไป เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือสมองยังคงทำงานรับรู้ความเป็นไป แต่กลายเป็นนักโทษที่ถูกขังอยู่ในร่างกายของตัวเอง แล้วก็ได้เห็นร่างกายตัวเองเดินไปพบจุดจบ โดยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ ดีแล้วนะที่ไม่มีเชื้อราน่ากลัวอะไรแบบนี้เกิดขึ้นกับมนุษย์เรา

อ้างอิง