ถ้าถามคอหนังแอ็กชันว่ามีหนังแอ็กชันเรื่องไหน ที่เป็นหนังโปรดในดวงใจบ้าง รับรองว่าจะต้องมี Con Air อยู่ในรายชื่ออย่างแน่นอน Con Air ในชื่อไทยว่า ‘ปฏิบัติการแหกนรกยึดฟ้า’ ออกฉายเมื่อปี 1997 ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยรายรับทั่วโลกที่ 224 ล้านเหรียญ ตอกย้ำเส้นทางสายหนังบล็อกบัสเตอร์ของ นิโคลาส เคจ ที่เดิมทีเป็นนักแสดงสายดราม่าขายฝีมือ แล้วหันมาชิมลางกับหนังแอ็กชันเรื่องแรกกับ The Rock (1996) และหลังจาก Con Air ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้เคจเอาดีทางนี้ไปเลยยาว ๆ ทำให้เราได้ดูหนังแอ็กชันที่มี นิโคลาส เคจ รับบทนำกันอีกหลายเรื่องอย่าง Face/Off, National Treasure, Gone in 60 Seconds, Ghost Rider และอีกมาก แต่ Con Air ก็ยังเป็นหนึ่งในหนังยุครุ่งเรืองของ นิโคลาส เคจ ที่ยังอยู่ในใจผู้ชมมาจนถึงทุกวันนี้ และนี่คือเหตุผลใหญ่ ๆ 4 ข้อ ที่ทำให้ Con Air เป็นหนังแอ็กชันที่ครบเครื่องที่สุดเรื่องหนึ่ง

1.หนังได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของเครื่องบินขนส่งนักโทษที่มีอยู่จริง ๆ


Con Air เป็นผลงานอำนวยการสร้างของ เจอร์รี บรักไฮเมอร์ (Jerry Bruckheimer) ผู้อำนวยการสร้างที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งในฮอลลีวูด เขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปที่ทำให้ Con Air ถือกำเนิดขึ้นมา เรื่องมันเริ่มมาจาก โดนัลด์ เดอ ไลน์ (Donald De Line) รองประธานของ Touchstone Pictures ได้อ่านหนังสือพิมพ์ LA Time แล้วไปสะดุดกับบทความหนึ่งเข้า บทความนี้เล่าว่าในแต่ละปี รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบในการขนย้ายนักโทษถึง 150,000 คน แล้วรายที่น่ากลัวที่สุด ที่รัฐต้องรับผิดชอบในการขนส่งก็คือ ทิโมธี แม็กวีห์ (Timothy McVeigh) มือระเบิดแห่งโอคลาโฮมา หมอนี่นับว่าเป็นวายร้ายตัวยง เพราะเคยวางระเบิดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้ว 168 คน บาดเจ็บอีกกว่า 680 คน

หลังอ่านบทความนี้แล้ว เดอ ไลน์ ก็เกิดปิ๊งไอเดียว่า น่าจะเอามาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ ซึ่งบรักไฮเมอร์ก็เห็นชอบด้วย โปรเจกต์จึงได้ถือกำเนิดขึ้น แล้วยังได้ นิโคลาส เคจ กลับมารับบทนำเป็นเรื่องที่ 2 และในฐานะที่เคจคือนักแสดงเจ้าบทบาท เมื่อเขาจะต้องมารับบทเป็น คาเมรอน โพ (Cameron Poe) ซึ่งพระเอกเรื่องนี้ก็เป็นนักโทษ เคจจึงต้องทำการศึกษาข้อมูลชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษตัวจริง ด้วยการเข้าไปที่เรือนจำฟอลซัม คาดหวังว่าจะได้ลองพูดคุยกับนักโทษตัวจริงเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการแสดงซักหน่อย แต่การพูดคุยกับนักโทษนี่คงไม่ใช่รูปแบบการเดินเล่นคุยกันในสวนแบบชิว ๆ เป็นแน่ เคจเลยลองใช้วิธีพูดคุยสัพเพเหระเกี่ยวกับชีวิตของนักโทษที่เป็นคู่สนทนา ถามไถ่ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเขาทั้งก่อนที่จะต้องโทษ และระหว่างที่ต้องโทษ กลับกลายเป็นว่าทางฝั่งนักโทษเองก็สนใจชีวิตของเคจเช่นกัน แล้วก็ขอแนะนำกับเคจว่าถ้าเขาอยากจะเข้าสู่วงการฮอลลีวูดควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี ก็เลยเป็นบทสนทนาที่ราบรื่นดี เคจและคู่สนทนาต่อกันติด พูดคุยกันได้ถูกคอและเคจเองก็ได้ข้อมูลที่เพียงพอในระยะเวลาอันสั้น

แม้ว่าทางด้านเคจจะราบรื่นดีกับการหาข้อมูลจากนักโทษ แต่ทางด้านฝ่ายทีมสร้างนี่สิกลับไม่ได้รับความร่วมมือนัก บรักไฮเมอร์เล่าถึงปัญหานี้ให้ฟังว่า
“นายพลคนที่ดูแลเรื่องเครื่องบินขนส่งนักโทษนั้นบอกว่าเครื่องบินเขาไม่เคยโดนนักโทษยึดมาก่อนและไม่สะดวกที่จะให้ความร่วมมือกับกองถ่าย ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับผมหรอกนะ เพราะตอนที่เราถ่ายทำ Crimson Tide เราก็ไม่ได้รับความร่วมมือเช่นกัน”
ถึงแม้ว่าจะเจออุปสรรคเช่นนี้ แต่สำหรับบรักไฮเมอร์แล้ว เขาคือผู้อำนวยการสร้างระดับโลก และเป็นนักเล่าเรื่องที่เยี่ยมยอดคนหนึ่ง เขาก็แค่หยิบยกเรื่องจริงมาเป็นพื้นฐาน แล้วเติมเรื่องราวดราม่าลงไปในเนื้อหาที่ว่าด้วยนักโทษยึดเครื่องบิน ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น Con Air ที่เราได้ชมกันไป

2.สัดส่วนที่ลงตัวระหว่างแอ็กชันกับโรแมนติก


Cin Air เป็นหนังแอ็กชันที่มีฉากเปิดตัวต่างจากสูตรสำเร็จของหนังแอ็กชันส่วนใหญ่ ที่มักเปิดเรื่องด้วยการแนะนำวีรกรรมอันร้ายกาจของพระเอก หรือไม่ก็ตัวร้ายของเรื่อง แต่กับ Con Air นั้นเปิดตัวด้วยการแนะนำให้ผู้ชมรู้จักกับ คาเมรอน โพ ที่เป็นทหารกองทัพบกสหรัฐฯ ได้ออกจากกรมกลับมาหา ทริเซีย ภรรยาที่เพิ่งตั้งครรภ์ ซึ่งทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ประจำร้านเหล้าเล็ก ๆ ฉากเปิดนี้เป็นฉากที่ดูอบอุ่น ได้เห็นคาเมรอนกับทริเซียโอบกอดกันด้วยความคิดถึง ภาพย้อมสีส้มทองให้ดูอบอุ่น แล้วก็มีเพลง “How Do I Live” เวอร์ชันของ ทริชา เยียร์วูด ขึ้นมาประกอบฉากนี้ องค์ประกอบต่าง ๆ สามารถดึงคนดูให้ซาบซึ้งไปกับความรักของคู่นี้ได้ แต่ผ่านไปได้ไม่นาน หนังก็หักอารมณ์คนดู ด้วยการโยนแก๊งขึ้เมาประจำบาร์เหล้า ให้ออกมาหาเรื่องคาเมรอน ทำให้เขาจำเป็นต้องป้องกันตัวด้วยวิชาต่อสู้ตามแบบฉบับทหาร ผลก็คือ 1 ใน 3 ของแก๊งขึ้เมาต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของคาเมรอนโดยไม่ได้ตั้งใจ แค่ช่วงเวลาชุลมุนแค่ไม่กี่นาทีนั้นก็ส่งให้คาเมรอนต้องไปชดใช้โทษในคุกอีกหลายปี ทำให้เขาไม่ได้อยู่เคียงข้างภรรยาในวันที่คลอดลูกสาว และไม่ได้อยู่เห็นลูกสาวที่กำลังเติบโต

ตลอดเวลา 1 ชั่วโมง 55 นาทีของหนัง เราได้เห็นโทนของเรื่องราวที่คอนทราสต์กันระหว่างฉากแอ็กชันกับฉากโรแมนซ์ นี่คืองานบทภาพยนตร์ที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดี ในการใช้สองพลังหลักทั้ง แอ็กชัน และ โรแมนซ์ ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า จับความสนใจผู้ชมให้เกาะติดอยู่กับหนังคอยเอาใจช่วยคาเมรอนที่ต้องผจญภัยไปกับเหล่าวายร้ายเพื่อจุดหมายปลายทางที่มีภรรยาและลูกสาวรออยู่

ยกตัวอย่างเนื้อหาที่มีความขัดกันระหว่างแอ็กชันกับโรแมนติก คาเมรอนได้ยื่นขอทัณฑ์บนจนเป็นผลสำเร็จ ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน ระหว่างที่รอกำหนดปล่อยตัว เขาและลูกสาวต่างก็เขียนจดหมายหากัน ต่างคนก็ต่างจินตนาการถึงวินาทีที่จะได้เจอหน้ากันเป็นครั้งแรก แต่แล้วเส้นทางที่ครอบครัวจะได้กลับมามีความสุขด้วยกันพร้อมหน้า ก็ต้องเจออุปสรรคครั้งใหญ่ เมื่อเหล่าวายร้ายระดับหัวกะทิมาอยู่พร้อมหน้ากันบนเครื่องบินลำเดียวกัน ทำให้เราได้ดูฉากแอ็กชันดุเดือด ทั้งต่อสู้กันด้วยอาวุธ และมือเปล่า ฉากระเบิดตูมตาม เพื่อสุดท้ายเราจะได้เห็นภาพคาเมรอนได้กอดภรรยาและลูกสาวเสียที กับการที่คนดูได้เห็นวีรกรรมอันหนักหนาสาหัสของโพมากว่า 1 ชั่วโมง พอสุดท้ายเขาได้เจอหน้าลูกสาวเป็นครั้งแรก มีแสงไฟของคาสิโนระยิบระยับเป็นฉากหลัง แล้วเพลง “How Do I Live” ก็ขึ้นมาอีกครั้ง บวกกับการแสดงระดับออสการ์ของ นิโคลาส เคจ องค์ประกอบทั้งหลายนี้ก็ทำให้ผู้ชมหลาย ๆ คนมีน้ำตาคลอเบ้าขึ้นมาได้

หลังจากที่หนังออกฉาย มีหน่วยงานทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ชมที่ได้ชม Con Air ในช่วงสุดสัปดาห์แรก ผลก็คือ 60% ของผู้ชมที่เป็นหญิงในวัยต่ำกว่า 25 ปี ยกให้ Con Air เป็นหนังที่ยอดเยี่ยม เพราะว่ามันโรแมนติกมาก แม้ว่า Con Air จะเป็นหนังแอ็กชันแบบดุเดือดจริงจัง แต่ก็สามารถได้ใจผู้ชมที่ไม่ได้โปรดปรานหนังแอ็กชันเป็นพิเศษได้สำเร็จ ขนาดที่ว่าตัวบรักไฮเมอร์เองยังเล่าว่า แม่ของเขาเองในวัย 93 ปี ก็ยังชอบ
“มันทำเอาฉันน้ำตาไหลได้เลย ทั้ง ๆ ที่ฉันไม่ชอบหนังประเภทนี้ด้วยนะ ไอ้หนังประเภทที่ระเบิดนู่นนี่นั่นเต็มไปหมดน่ะ แต่ฉันชอบเรื่องนี้นะ เพราะว่ามันมีหัวจิตหัวใจดี”

3.อีกผลงานที่น่าจดจำของ เจอร์รี บรักไฮเมอร์ และ นักแสดงออสการ์ นิโคลาส เคจ

ต้องยอมรับว่าผลงานร่วมกันของบรักไฮเมอร์และเคจนั้นจัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อป นับตั้งแต่ The Rock เป็นต้นมา และ Con Air ก็ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่ถ่ายทำ The Rock นั่นแหละ บรักไฮเมอร์เดินเข้าไปหาเคจในรถเทรลเลอร์ แล้วก็ยื่นบท Con Air ให้เขาอ่าน จากนั้นเขาก็ไปเจรจากับ ไซมอน เวสต์ (Simon West) ซึ่งยังเป็นผู้กำกับหนังโฆษณาอยู่ในขณะนั้น แล้วไม่เคยมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์เลย เหตุที่บรักไฮเมอร์สนใจในตัวเวสต์และทาบทามให้เขามาลองกำกับนั้นก็เพราะ บรักไฮเมอร์เล็งเห็นว่าเวสต์เป็นผู้กำกับที่มีสไตล์ทางด้านภาพเด่นชัดเหมือนกับ โทนี่ สก็อตต์ และ ไมเคิล เบย์

Con Air ยังมีขั้นตอนการเขียนบทที่แปลกใหม่ นั่นก็เพราะ สก็อตต์ โรเซนเบิร์ก (Scott Rosenberg) เลือกนักแสดงก่อนเขียนบท เขาใช้วิธีชี้นิ้วเลือกเลยว่าเอาใครมาเล่นเป็นบทไหนบ้าง อย่างเช่น สตีฟ บุสเซมี, จอห์น คูแซก, นิโคลาส เคจ แล้วค่อยเขียนบทตัวละครนั้น ๆ ให้เข้ากับตัวนักแสดงที่เขาเลือกเอง

ไซมอน เวสต์ ผู้กำกับ คนซ้ายสุด

ส่วนบรักไฮเมอร์ก็มีส่วนร่วมในการเลือกนักแสดงด้วยเช่นกัน เขาเคยมีประสบการณ์ในการเลือก เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ นักแสดงตลกในขณะนั้น ให้พลิกบทบาทมารับบทเป็น อเล็กซ์ โฟลีย์ ตำรวจจอมบู๊ใน Beverly Hills Cop ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก รอบนี้เขาก็เลยเลือก เดฟ แชปเพลล์ (Dave Chappelle) นักแสดงตลกที่กำลังมาแรงในช่วงนั้น เคยมีผลงานแสดงใน Robin Hood: Men in Tights มาแล้ว ส่วนใน Con Air นั้น แชปเพลล์ได้รับบทเป็น พินบอล นักโทษปากมาก ที่เป็นลูกจ๊อกให้กับ ไซรัส เดอะ ไวรัส บทของ จอห์น มัลโควิช (John Malkovich)

ในที่สุด Con Air ก็ทำกำไรได้อย่างน่าพอใจ ไม่แค่นั้น บรักไฮเมอร์ยังส่งหนังเข้าชิงออสการ์อีก 2 สาขาด้วย ในสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม “How Do I Live” และ ผสมเสียงยอดเยี่ยม แต่ก็ปิ๋วไปทั้ง 2 รางวัล นั่นก็เพราะปีนั้นเป็นปีของ Titanic ที่กวาดเรียบไปทุกสาขา

4.ฉากไคลแมกซ์ท้ายเรื่องใช้เครื่องบินจริง ๆ พุ่งถล่มเข้าใส่คาสิโน

หลาย ๆ เหตุผลที่หนังประสบความสำเร็จนั้นก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ ไซมอน เวสต์ ผู้กำกับและทีมงานสร้าง ที่เลือกวิธีสร้างฉากย่อส่วน และใช้ระเบิดจริงแทนที่จะใช้ CGI หรือเทคนิคพิเศษทางด้านภาพ โดยเฉพาะฉากใหญ่ท้ายเรื่อง ที่เครื่องบินควันโขมงร่อนลงกลางถนนลาสเวกัส หลายคนน่าจะจำกันได้ว่าฉากนี้สมจริงเพียงใด แม้ขณะที่ถ่ายทำกันอยู่ ก็ยังมีชาวบ้านนึกว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นจริง โทรไปแจ้งเหตุกันวุ่นวาย โฆษกประจำสนามบินนานาชาติแม็กลาเรน เผยกับผู้สื่อข่าวว่า เขาได้รับสายโทรมาแจ้งเหตุเยอะมากว่ามีเครื่องบินตกลงบนถนน แต่ทางหอควบคุมและศูนย์วิทยุการบินน่ะทราบกันดีอยู่แล้วว่าวันนี้มีการถ่ายทำภาพยนตร์

และฉากย่อยในฉากใหญ่นี้ที่ทีมงานภูมิใจกันมากก็คือ ฉากที่เครื่องบินพุ่งเข้าชนอาคารแซนด์คาสิโน เหตุที่ทางเจ้าของคาสิโนยอมให้เครื่องบินพุ่งเข้าชนจริง ๆ จนวอดวายแบบนี้ได้ก็เพราะ ทางแซนด์คาสิโนมีแผนจะระบิดอาคารทิ้งอยู่พอดี ก็เลยเข้าทางทีมงานสร้างว่างั้นขอรับหน้าที่ทำลายให้แทนแล้วกัน และที่สำคัญฉากระเบิดนี้ ต้องถ่ายทำให้สำเร็จภายในเทคเดียวเท่านั้น ทีมงานเลยใช้กล้องทั้งหมด 14 ตัว วางบันทึกภาพมันแทบทุกจุดเพื่อเก็บภาพให้ได้ครบทุกมุมในขณะที่เครื่องบินกำลังพุ่งชน

ความสำเร็จในกระบวนการถ่ายทำนี้ ได้ถ่ายทอดบางส่วนออกมาในตัวอย่างหนัง ถึงขนาดผู้ชมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อใดที่ Con Air ออกฉาย มันจะต้องเป็นหนังแอ็กชันที่เยี่ยมยอดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ฮอลลีวูดเป็นแน่

ที่มา