นิโคลาส เออร์วิง (Nicholas Irving) ปัจจุบันเป็นทหารผ่านศึก ปลดประจำการแล้ว เขาเคยสังกัดอยู่กองพันแรนเจอร์ที่ 3 เออร์วิงมีชื่อเสียงเมื่อตอนที่เขาถูกส่งไปประจำการในอัฟกานิสถาน ในช่วง 4 เดือนที่อยู่ที่นี่ เขารับหน้าที่เป็นมือสไนเปอร์ เออร์วิงสังหารข้าศึกไปได้ 33 นาย จากกิตติศัพท์ในครั้งนี้ ทำให้เขากลายเป็นนักแม่นปืนมือฉมังที่สุดคนหนึ่งในกองทัพสหรัฐฯ และได้ฉายานามว่า The Reaper ซึ่งแปลว่า “พญามัจจุราช”

หลังปลดประจำการมาแล้ว เออร์วิงก็หันมาเอาดีทางด้านเป็นนักเขียน มีทั้งเรื่องที่เล่าจากประสบการณ์และนิยาย บางเล่มก็ติดอันดับ New York Times bestseller บางเรื่องก็ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้ว


พอกำลังจะมีหนังสงครามที่ดัดแปลงจากเรื่องราวของสไนเปอร์ตัวจริงแบบนี้ เจ้าตัวก็เลยได้รับการติดต่อสัมภาษณ์ว่า ในฐานะที่เป็นสไนเปอร์มากประสบการณ์อย่างเขา น่าจะดูออกว่าหนังสไนเปอร์เรื่องไหนที่ทีมงานมีความตั้งใจ ศึกษาค้นคว้าทำการบ้านให้หนังออกมาดูสมจริงบ้าง ซึ่งเออร์วิงบอกว่าเขาดูหนังสงครามที่มีฉากสไนเปอร์มาเป็นสิบ ๆ เรื่องแล้วเหมือนกัน ทั้ง The Hurt Locker, Jarhead, Enemy At The Gates และ Shooter แล้วเขาก็เผยว่าจากหนังที่เขาดูมาทั้งหมด มีอยู่ 11 ฉากที่แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการของสไนเปอร์ที่เขายอมรับว่าถ่ายทอดได้สมจริงที่สุด เออร์วิง ดูคลิปสั้น ๆ จาก 11 เรื่อง แล้วก็บรรยายความประทับใจพร้อมให้คะแนนทั้ง 11 ฉาก ไว้ดังนี้

Gemini Man (2019) คะแนน 8/10

การใช้อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ของเขาดูดีมาก ๆ เขาปูผ้ารองพื้นก่อน ใช้ Range Finder (อุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดระยะทางไปยังวัตถุระยะไกล) เพื่อตรวจสอบกระแสลม, ค่าความกดอากาศ, วัดค่าความหนาแน่นของอากาศ, วัดระดับความสูง เขายังมี Dope Book (data on previous engagements) สมุดบันทึกค่าต่าง ๆ จากปฏิบัติการครั้งก่อน ๆ ซึ่งเขาสามารถเปิดย้อนหลังดูได้เป็นการอ้างอิงที่ดี แล้วเขาก็เอาค่าต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ในครั้งต่อ ๆ ไป ผมไม่เคยเห็นจุดนี้ในหนังเรื่องอื่น ๆ เลย

Jarhead (2005) คะแนน 9/10

มันเยี่ยมมาก มันเยี่ยมจริง ๆ ครับ ทั้งบทพูดระหว่างคนส่องกล้องและคนยิง มันเยี่ยมมากจริง ๆ เขาวางนิ้วมือขวาไว้บนไกปืนไรเฟิลตลอดเวลา ส่วนมือซ้ายก็ใช้ปรับกล้อง ที่ระยะ 800 เมตร ผมว่าไม่น่าจะยิงที่หัวได้หรอก แล้วภาพจากกล้องที่ระยะนั้นน่ะ มันมองไม่เห็นได้ใกล้ขนาดนั้นหรอก ภาพจริงมันจะต้องเล็กกว่านั้นเยอะ

แล้วช่วงเวลานั้นน่ะนะ มันเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่าแปลกประหลาดได้เลยล่ะ เพราะคุณมองผ่านกล้องแล้วเห็นเป้าหมาย ซึ่งคุณรู้แก่ใจเลยว่า คุณกำลังจะเอาชีวิตชายคนนี้ มันเป็นช่วงเวลาความเป็นความตาย อารมณ์ของเราเองก็จะดีดขึ้นดีดลงในช่วงเวลานั้น ซึ่งผมก็สามารถมองเห็นอารมณ์นี้ของ เจค กิลเล็นฮาล ผู้รับบทนี้เลยนะ ผมให้เรื่องนี้ 9 คะแนนเลยล่ะ

Clear and Present Danger (1994) คะแนน 7/10

พูดถึงการเหนี่ยวไกปืน มันออกมาไม่ดีนัก คุณต้องใช้แค่ปลายนิ้วเหนี่ยวไก แต่นี่ดูเหมือนเขาสอดเข้าไปทั้งนิ้วเพื่อเหนี่ยวไก มันเป็นอาวุธที่มีความแม่นยำสูง ฉะนั้นเราควรต้องเพ่งสมาธิไปที่การกดไกปืนเข้าหาตัว แต่ไม่ถึงกับต้องใช้ทั้งนิ้วเข้าไปแบบนั้น และนี่มันเป็นเรื่องที่เขาสอนกันในโรงเรียนสไนเปอร์จริง ๆ ครูผู้ฝึกสอนจะบอกพวกเราเวลาฝึก ‘เฮ้ เข้ามานี่กัน เอ้ายืนตรงแล้วก็ x y และ z แบบนี้นะ’ มันต้องสอนกันละเอียดแบบนี้เลย

ส่วนการลอบเร้นเข้าโจมตีนี่มันเป็นเรื่องยากเลยนะ โดยเฉพาะในเรื่องการสะกดรอยตาม มันไม่ใช่กลยุทธ์ที่ง่ายเลยจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำภารกิจลอบเร้นกันได้ดี สำหรับฉากฝึกสอนต่าง ๆ ในเรื่องนี้ผมให้แค่ 7 พอ

Saving Private Ryan (1998) คะแนน 9.5/10

มันไม่มีทางที่จะทำหนังดีกว่านี้ไปได้อีกแล้ว ผมนี่โตมากับเรื่องนี้เลยนะ แล้วเจตนาของสไนเปอร์ในฉากนี้คือเขาต้องการแค่ยิงเป้าหมายให้บาดเจ็บแค่นั้น คือถ้าเป้าหมายเราโดนยิงบาดเจ็บแล้วมันจะมีอีก 1 หรือ 2 คนวิ่งมาหิ้วเพื่อนออกไป นั่นเปิดโอกาสให้คุณเก็บได้ 3 คนแทนที่จะเป็นคนเดียว เป็นกลยุทธ์ที่ดีถ้าคุณเป็นสไนเปอร์ที่เหี้ยมพอนะ แต่ผมไม่ทำอะไรแบบนี้แน่นอน กองทัพบกสหรัฐฯ เราฝึกให้ยิงนัดเดียวจอด ในเรื่องนี้สไนเปอร์ข้าศึกเขาเอาผ้ากระสอบมาพันรอบไรเฟิลของเขาเพื่อให้กลมกลืนกับกองกระสอบที่อยู่ด้านหลัง มันสมบูรณ์แบบมาก ๆ กองทัพเยอรมันนี่ต้องยกให้เป็นเจ้าแห่งทักษะสไนเปอร์ ทั้งในเรื่องการพรางตัวและการยิงระยะไกล

อีกเรื่องคือ Snap-bang theory ทฤษฎีการฟังเสียงปืน เขาได้ยินเสียงปืนไรเฟิลยิงออกมาแล้ว วิน ดีเซล ก็โดนยิงร่วงลงไป มีคนโดนยิงแล้วก็ล้มลง ตอนที่ได้ยินเสียงปังของปืนไรเฟิล มันเทียบได้กับเสียงฟ้าร้องแล้วก็ฟ้าผ่าแบบนั้นเลย พอได้ยินปั๊บเขาก็คำนวณทันทีว่าจากความดังที่ได้ยินนั้น สไนเปอร์ข้าศึกอยู่ห่างออกไปแค่ไหน ซึ่งเขาพอคาดคะเนได้ แล้วก็คาดเดาตำแหน่งว่าสไนเปอร์น่าจะยิงมาจากไหน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในฉากนี้คือวิธีการที่ผมเองก็ใช้จริง ๆ ผมมองเห็นได้ถึงสติและความใจเย็นของเขาเลย เขาค่อย ๆ คืบคลานไปหาตำแหน่งแล้วก็วางไรเฟิลบนกองหิน แล้วค่อยสอดตัวไปอยู่หลังปืนไรเฟิล เราเองยังมองแทบไม่เห็นตัวเขาเลยเมื่อยู่หลังซากปรักหักพังนั้น วิธีการที่เขาพรางตัวให้กลมกลืนไปกับกองปรักหักพัง ตำแหน่งของเขา ทุกอย่างที่เขาทำมันแทบสมบูรณ์แบบ พอวินาทีที่สไนเปอร์เยอรมันส่องหาตัวเขาเจอ ก็สายไปเสียแล้ว

The Hurt Locker (2009) คะแนน 4/10

การสนทนาระหว่างสไนเปอร์กับคนส่องกล้องบอกตำแหน่งถือว่าโอเคนะ มันไม่ถึงกับดีที่สุดที่ผมเคยได้ยินมาหรอกนะ ฉากที่เป็นนัดที่ 2 ตอนที่เขาเบนไปอีก 20 เมตรทางซ้ายของอาคาร ฉากนี้มีบทสนทนาที่ดีมาก ตอนที่คนบอกตำแหน่งพูดกับสไนเปอร์ว่าเป้าหมายอยู่ตรงไหน หลังจากที่ยิงนัดแรกด้วย .50 คาลิเบอร์ ไปแล้ว ที่จริงแล้วคนบอกตำแหน่งควรจะรีบบอกตำแหน่งใหม่ทันทีเลย คือพอเขาพลาดนัดแรกไปแล้วน่ะ คนบอกตำแหน่งควรจะบอกสไนเปอร์ว่า ‘เฮ้ เล็งขึ้นไปอีก 2 มิลนะ แล้วยิงอีกนัด’ เขาไม่ควรจะปล่อยให้เป้าหมายลุกขึ้นมาวิ่งแบบนั้นได้

แล้วอีกนัด ตอนที่เขาเล็งเป้าหมายที่อยู่ในอาคาร มี 2 คนอยู่ในอาคารนั้น ฉากนี้มีแมลงวันมาเกาะที่ขนตาของคนบอกตำแหน่ง ผมมองว่าทีมงานประณีตมากที่ใส่เรื่องแบบนี้เข้ามา มันเหมือนกับการแสดงให้เห็นความยากลำบากของคนบอกตำแหน่งกับสไนเปอร์ ช่วงเวลานั้นมันเหมือนคุณอยู่ในโลกส่วนตัวกันแค่สองคน ไม่มีใครที่ไหนอีกแล้ว ก็ถือว่าไม่แย่นักหนานะ ผมให้ฉากสไนเปอร์นี้ 4 คะแนน

Lone Survivor (2013) คะแนน 10/10

นี่มันยอดเยี่ยมที่สุดจริง ๆ “Lone Survivor” นี่ผมยกให้เป็นหนึ่งในหนังที่สมจริงที่สุดที่ผมเคยดูมา ถ้าพูดถึงเรื่องฉากรบนะ ผมเคยใช้ไรเฟิลแบบเดียวกันนี้ในอัฟกานิสถาน อาวุธประจำของผมคือไรเฟิล SR-25 แต่ผมใช้แบบทีเห็นในหนังนั่นตอนที่ผมได้รับมอบหมายเป็นพลแม่นปืน อย่างฉากที่เห็นเนี่ย ผมมองว่ามันสมจริงมาก มันเป็นปืนขนาด 5.56 ก็ไม่ถึงกับทรงพลังอะไรมากนัก

หน่วยที่ผมสังกัดอยู่นั้นได้สร้างสถิติว่าเคยสังหารและจับกุมผู้ก่อการร้ายระดับโลกมาแล้วในอิรักและอัฟกานิสถาน ไม่จำเป็นหรอกว่าคุณจะเป็น หน่วยปฏิบัติการพิเศษ Navy SEAL, เป็นกรีนเบเรต์, กองกำลังพิเศษของนาวิกโยธิน หรือ เดลตาฟอร์ซ ไม่ว่าเราจะอยู่ในหน่วยไหน แต่เมื่อเราได้รับมอบหมายปฏิบัติการพิเศษ เราก็จะเหลือกันอยู่แค่ไม่กี่คน แล้วเราก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์แวดล้อมที่โหดหินมาก ๆ นั่นเป็นเหตุว่าทำไมเราต้องผ่านกระบวนการฝึกที่ดีที่สุดของที่สุด คนที่ผ่านการฝึกอย่างเคี่ยวกรำเช่นนี้มาแล้ว พวกเขาสามารถไปแอบอยู่บนห้องใต้เพดานบ้านคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยก็ได้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษเราเป็นแบบนี้แหละ เหมือนกับนินจาเลยก็ว่าได้ ถ้าพูดถึงหนังสงครามในโลกปัจจุบันแล้ว เรื่องนี้นะ ในความเห็นผมนะ ผมให้ 10 เต็มเลย

American Sniper (2014) คะแนน 7/10

ผมเคยเจอ คริส ไคล์ (Chris Kyle) ในเวกัสครั้งหนึ่ง ผมว่า แบรดลีย์ คูเปอร์ (Bradley Cooper) ดูเหมือนเขานะ คริส ไคล์ เป็น สไนเปอร์ประจำอยู่กับนาวีซีล แล้วเขาได้เครดิตว่าเป็นสไนเปอร์ที่สังหารเป้าหมายได้มากที่สุดในกองทัพอเมริกัน ก่อนหน้าเขาก็มี คาร์ลอส แฮตช์ค็อก (Carlos Hathcock) ผมจำได้ว่าได้ยินชื่อ คริส ไคล์ ครั้งแรกตอนผมประจำอยู่ในอัฟกานิสถาน ตอนนี้มีข่าวโจษจันกันว่าเขากำจัดเป้าหมายมาแล้วกว่า 100 ราย ผมฟังแล้วก็แบบ โอ้ ไม่มีทางเป็นได้หรอก

การจะยิงใครสักนัดหนึ่ง ฆ่าได้คนหนึ่งนั้น ผมอยากจะบอกว่า มันยากมากนะ ย้อนไปตั้งแต่ตอนเรียนในโรงเรียนเลย ผมต้องเรียนการยิงในระยะ 1 ไมล์ แล้วต้องฝึกยิงกันแทบตลอดเวลา โรงเรียนเขาก็สอนข้อเท็จจริงให้รู้กันว่าเวลายิงออกไปนั้นกระสุนจะต้องเดินทางอย่างไรบ้าง นึกภาพตามนะ 1 ไมล์ มันไม่ใช่แป๊บเดียวอย่างที่คิดหรอกนะ ด้วยระยะทางขนาดนี้ มันมีตัวแปรมากมายเกิดขึ้น การจะยิงไกลในระยะ 1 ไมล์นี่ผมต้องคำนวณแม้กระทั่งเวลาการหมุนของโลกเลย ต้องเอาค่าพวกนี้มาใส่ลงไปในสูตรคำนวณ ช่วงเวลาที่กระสุนบินออกไป โลกก็ยังหมุนอยู่ ถ้า 1,000 ไมล์ ก็จะกินเวลาเพิ่มเป็นชั่วโมง ซึ่งคุณต้องใส่ใจกับรายละเอียดพวกนี้ ซึ่งทีมงานก็ใส่พวกนี้ลงไปในหนังด้วย สำหรับมุมมองในหนังนั้น ผมให้ที่……….7 ก็แล้วกัน

Enemy at the Gates (2001) คะแนน 10/10

มันเปรียบได้กับ ‘มหากาพย์’ เลย ผมย้อนนึกถึงฉากนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แบบว่า ถ้าเป็นผมนะ ผมจะเลือกยิงใครก่อนดี ? แต่ก็น่าจะเรียงลำดับเหมือนในหนังนั่นแหละ ผมก็คงยิงคนที่อาบน้ำก่อน ส่วนปืนในเรื่องนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นไรเฟิล โมซิน-นากองท์ อาจจะนะ เป็นปืนที่แม่นยำมากในสถานที่เปิดโล่ง แล้วการยิงจากจุดนั้น ยิงผ่านช่องกำแพงแบบนั้น มันเสี่ยงมาก ๆ คือคุณต้องรู้จักไรเฟิลของคุณอย่างดีที่สุด คุณควรจะเล็งอย่างไร คุณกำลังเล็งเป้าไปที่อะไร แล้วคุณต้องไม่พลาดไปยิงโดนกำแพงด้วย สังเกตนะตอนเริ่มต้น ตอนที่เขากะระยะ เขาเลียนิ้วเพื่อไปเช็ดคราบโคลนออกจากรางสไลด์ มันคล้าย ๆ กับปืน AK-47 น่ะ จะมีรางสไลด์เล็ก ๆ อยู่ด้านบน พอยกขึ้นมาก็จะเป็นคันเหล็กเล็ก ๆ ไว้สำหรับเล็งเป้า มันทำหน้าที่เหมือนกับกล้องเล็งเป้าทางไกลนั่นแหละ

สำหรับผมน่ะ เคยยิงรวดเดียวมากสุดก็ 5 นัด เอาแค่สไนเปอร์มือดี ๆ สักคนนึงนะ ยังไม่ต้องถึงกับระดับพระกาฬอะไรแบบนั้น สไนเปอร์ที่ดีควรหยุดพอแค่นั้นก่อน แล้วก็การที่เขาใช้มือม้วนพันสายคล้องปืนได้เรียบร้อยและทะมัดทะแมง มันสมบูรณ์แบบมาก ๆ คุณไม่มีทางได้เห็นอะไรพวกนี้ในหนังเรื่องอื่น แต่เขาก็สอนกันในโรงเรียนสไนเปอร์นะ สำหรับฉากนี้มันทั้งรวดเร็วและดีงามมาก ๆ มองไปที่เป้าหมาย ม้วนสาย ลุกขึ้นยืน สวยงามและมั่นคง สาดกระสุนออกไป บูม มันสมบูรณ์แบบสุด ๆ มันต้องได้ 10 เต็ม ผมไม่มีข้อโต้แย้งอะไรเลยสำหรับเรื่องนี้

Smokin’ Aces (2006) คะแนน 3/10

ก่อนที่ผมจะมาเป็นสไนเปอร์ ผมใช้ปืนกลมาก่อน ผมบอกได้เลยว่ากับปืน 0.50 คาลิเบอร์ ที่เห็นในฉากนี้ ดูแย่มาก เธอใช้แม้กระทั่งเลเซอร์บอกตำแหน่ง ซึ่งสไนเปอร์เขาไม่ใช้กัน เพราะมันโจ่งแจ้งมาก ๆ สไนเปอร์ที่ซ่อนตัวอยู่หลังหน้าต่างแบบนั้น ควรจะรู้อยู่แล้วว่าลิฟต์ควรจะเลื่อนไปยังจุดไหน แล้วเธอควรจะยิงไปที่จุดไหน

ส่วนฉากที่เป้าหมายโดนยิงด้วยปืน .50 คาลิเบอร์ ก็จะไม่เป็นอย่างที่เห็น ที่จริงเลือดมันจะออกมาเป็นละอองฝอยกระจายเป็นหมอกเลย แล้วการที่ฝ่ายตรงข้ามยิงสวนกลับมาแบบนั้น ก็มีแต่จะโดนชาวบ้านบนถนนกันเป็นแน่ ผมชอบดูวิธีการใช้ข้าวของต่าง ๆ รอบตัวของสไนเปอร์ ประมาณว่าเธอจะวางปืนบนเตียงหรือไม่ แล้วปืนก็มักโผล่ออกไปนอกหน้าต่าง เหมือนที่คุณเห็นในหลาย ๆ เรื่อง แต่ เย่ เรื่องนี้เธอถอยห่างออกมาหน่อย เป็นผมก็ทำแบบนี้เหมือนกันนะ ตราบใดที่ไรเฟิลไม่โผล่ออกไปนอกหน้าต่าง ถือว่าเธอโอเคแล้วล่ะ แล้วก็ยังดีที่เธอไม่ยิงทะลุกระจกด้วย สำหรับเรื่องนี้ ผมให้……………3

Shooter (2007) คะแนน 2/10

มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง การยิงแบบนั้นในยุค 90s ที่ระยะ 90 เมตร แล้วเขายังยิงปืนพกหลุดจากมือคนร้ายได้ด้วยทั้งที่อยู่ไกลขนาดนั้น กระแสลมแบบนั้นอีก คุณลองคิดนะ นั่นอยู่บนยอดเขาเลยนะ สไนเปอร์จริง ๆ เขาไม่ทำแบบนั้นแน่ ๆ ต่อให้คุณแม่นขนาดไหนก็ตามเหอะ

แล้วบรรยากาศในฉากนี้ก็ไม่สมจริง ถ้าสังเกตที่ผมนางเอกนะ ผมเธอไม่ควรจะปลิวสไวขนาดนั้น เพราะเห็นได้ชัดว่าบนยอดเขานั้นกระแสลมไม่ได้แรงขนาดนั้น ผมว่ากระแสลมก็ประมาณ 5, 6, 7 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเองมั้ง

เขาไม่น่าจะกล้ายิงออกไปได้เลย ต่อให้เล็งเป้าที่หัวก็ตาม ที่ระยะไกลขนาดนั้น แล้วเล็งผ่านกล้องแบบนั้นนะ คุณไม่มีทางเห็นได้ชัดหรอก อย่างดีคุณก็เห็นคนเป็นเส้นดำ ๆ ขนาดเท่าไม้จิ้มฟันได้ แล้วยิงคุณเอาเส้นกากบาทในกล้องเล็งเป้าไปวางบนปืนพกในมือคนร้าย แค่เส้นนั้นก็ทับปืนพกมิดแล้ว

แล้วคุณลองดูฉากนี้ดี ๆ นะ จากระยะไกลคุณมองเห็นกล้องเล็งเป้าของพระเอกได้ชัดเลย เขาไม่ได้อำพรางส่วนหน้าของปืน มองเห็นจุดดำ ๆ ได้ชัดแต่ไกลเลย สไนเปอร์ซุ่มยิงเห็นฉากนี้จะเข้าใจกันดีเลย ในพื้นที่ขาวโพลนแบบนั้น แล้วมองเห็นจุดดำ ๆ แบบนั้น ถ้าผมเป็นฝ่ายตรงข้ามนะ มาร์ก วาห์ลเบิร์ก โดนผมยิงตายไปแล้ว ผมให้เรื่องนี้ 2 คะแนนพอ

Rambo IV (2008) คะแนน 2/10


สไนเปอร์ที่อยู่ในทีมทหารรับจ้างนั่น แบกปืน .50 คาลิเบอร์กระบอกใหญ่ ปืนนี้มันหนักประมาณ 17 กิโลกรัมได้ แล้วสไนเปอร์คนนี้ก็น่าจะหนักประมาณ 68 กิโลกรัม แล้วเขาวิ่งต่อเนื่องยาวเป็นกิโลเมตรด้วยความเร็วสูงแบบนั้นโดยที่แบกไรเฟิลไปด้วยเนี่ยนะ เป็นผมไม่ทำอะไรแบบนั้นแน่ สิ่งที่เขาควรทำคือ ถอดปืนแยกเป็น 2 ส่วน คนหนึ่งแบ่งส่วนบนไปถือ อีกคนแบกส่วนล่าง มันเป็นการช่วยกันกระจายน้ำหนัก แล้วคนนี้ก็สูงพอ ๆ กับผม ผมเองเคยต้องกระโดดลงจากเครื่องบินครั้งหนึ่ง โดยที่แบกปืนไรเฟิลลงมาด้วย มันโคตรที่จะไม่ถนัดเอาซะเลย ผมให้เรื่องนี้แค่ 2 พอ

ที่มา ที่มา