ครบรอบ 25 ปี ไปอีกหนึ่งเรื่องกับ Air Force One หนังแอ็กชันขายชื่อ แฮร์ริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) ใครที่เคยชมต่างก็ต้องพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าหนังโคตรมันส์ ยิ่งช่วงท้ายนี่ ฉากไคลแมกซ์ลากกันยาว ๆ นึกว่าหมดแล้วก็ยังมีสถานการณ์ยาก ๆ ให้ประธานาธิบดีต้องตามแก้กันไม่จบสิ้นเสียที แฮร์ริสัน ฟอร์ด ในวัย 55 ปี สวมบทบาทเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เท่มาก สมวัย ชอบที่บทหนังก็เลือกให้ประธานาธิบดีเจมส์ แก้ไขสถานการณ์ด้วยสติปัญญาและไหวพริบ มากกว่าที่จะพะบู๊ด้วยตัวเอง ถึงจะมีฉากที่ต้องให้เตะต่อยอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เก่งกาจถึงขั้นพระเอกนักบู๊ขนาดนั้น อีกรายที่น่าจดจำก็คือ แกรี่ โอลด์แมน (Gary Oldman) ในยุคที่เขาเป็นวายร้ายอันดับ 1 บนจอภาพยนตร์ ใส่ความโรคจิตผ่านทางสีหน้าสายตาได้แบบน่ากลัวจริงจัง เดาอารมณ์ไม่ถูก จะร้ายขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

เรียกว่าผ่านมา 25 ปี ก็ยังจดจำความสนุกของเรื่องนี้ได้ และหลายคนน่าจะจำวลีเด็ดจากหนังได้กันเป็นอย่างดี “Get Off My Plane” “Liberty 24 is changing call sign, Liberty 24 is now Air Force One!” แต่ละประโยค เท่โคตร คือดูแล้วแบบได้อารมณ์ต้องโห่ ฮิ้ว ตามไปด้วยจริง ๆ หยิบมาดูอีกก็ยังสนุกอยู่ดี สมควรแล้วที่หนังทำกำไรให้ค่ายโคลัมเบียอย่างน่าพอใจ ทำรายได้ทั่วโลกไป 315 ล้านเหรียญ จากทุนสร้างที่ 85 ล้านเหรียญ ต้องยกให้เป็นอีกหนึ่งหนังแอ็กชันที่น่าจดจำจากยุค 90s ในโอกาสครบรอบ 25 ปี บทความนี้จึงขอพาผู้อ่านย้อนความทรงจำกันอีกครั้ง กับ 20 เกร็ดน่าทึ่งจากหนัง เชื่อว่าพออ่านจบแล้ว จะต้องย้อนไปเปิด Air Force One ดูกันอีกรอบเป็นแน่

1.เควิน คอสต์เนอร์ คือตัวเลือกแรกที่จะได้รับบทเป็น ประธานาธิบดี เจมส์ มาร์แชล

ในปีนั้นสำหรับ 2 คนนี้ถือว่าศักดิ์ศรีพอฟัดพอเหวี่ยงกัน แม้ว่า เควิน คอสต์เนอร์ จะอ่อนวัยกว่ามาก ปีนั้นอายุ 42 ปี แล้วมีหนังในเครดิตสุดฮิตถล่มทลายอย่าง The BodyGuard (1992) พอทีมงาน Air Force One ติดต่อไปยังคอสต์เนอร์ เสนอให้มารับบทนำเป็นประธานาธิบดี เจมส์ มาร์แชล ซึ่งคอสต์เนอร์ก็ให้ความสนใจ เพราะดูทีท่าแล้วหนังน่าจะฮิต ช่วยกู้ชื่อเขากลับมาได้จากผลงานก่อนหน้าที่เพิ่งคว่ำติดกันไป 2 เรื่อง Wyatt Earp (1994) และ WaterWorld (1995) แต่เขาก็ใคร่ครวญหนัก เพราะอยากจะพิสูจน์ตัวเองในฐานะผู้กำกับ-นักแสดงนำอีกครั้ง กับ The Postman เหมือนที่เขาเคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับ Dances with Wolves (1990) ซึ่งในที่สุด คอสต์เนอร์ก็เลือกที่จะบอกปฏิเสธบทประธานาธิบดี เจมส์ มาร์แชล แล้วเลือกเดินหน้ากับโปรเจกต์ The Postman แทน ผลออกมาหนังก็เจ๊งเละเทะต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ 3 นับเป็นการตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตของคอสต์เนอร์ เพราะหลังจากนั้นเขาก็ไม่มีหนังฮิตในเครดิตอีกเลย

แล้วส้มก็มาหล่นลงที่ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ที่เพิ่งมีหนังฮิตอย่าง The Fugitive (1993) ก็นับว่าเป็นประธานาธิบดีที่ดูภูมิฐานและสมวัยกว่า หลัง Air Force One ประสบความสำเร็จ ฟอร์ดก็ยังให้สัมภาษณ์และกล่าวขอบคุณไปยังคอสต์เนอร์อีกด้วย
“เควินเขารู้นะว่าเรื่องนี้มันเป็นหนังเอาใจตลาดที่ประสบความสำเร็จเป็นแน่ เขาเคยบอกกับผู้อำนวยการสร้างไว้นะ ว่าถ้าผมรับเล่นเรื่องนี้เขาก็จะยอมส่งต่อให้ ทั้งที่ผมกับเควินก็ไม่ได้สนิทสนมกันนักนะ ผมเคยเจอเขาสองสามครั้งได้มั้ง แต่ผมชอบเขามากนะ แล้วยิ่งตอนนี้ผมยิ่งชอบเขามากขึ้นอีกเป็นกองเลยเพราะเขาโยนหนังฮิตมาให้ผมแบบนี้”

ดูจะเป็นคำขอบคุณเชิงเยาะเล็กน้อยนะ

2.บน Air Force One ลำจริงไม่มีกระสวยนิรภัยหรอกนะ

เรารู้กันดีแหละว่า Air Force One นี่คือเครื่องบินประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฉะนั้นการจะขึ้นไปถ่ายทำบน Air Force One ลำจริงนั้นไม่มีทางเป็นไปได้หรอก แต่ก็ยังดี ที่ทีมงานซึ่งรวมไปถึง แฮร์ริสัน ฟอร์ด และผู้กำกับ วูล์ฟแกง ปีเตอร์เซน (Wolfgang Petersen) ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปเยี่ยมชมภายใน Air Force One ลำจริง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการถ่ายทำ แต่พอถึงขั้นตอนถ่ายทำจริง ทีมงานก็ใช้เครื่อง โบอิ้ง 747 มาตกแต่งเป็น Air Force One แทน แล้วที่เพิ่มเติมไปจากของจริงก็คือ มีกระสวยนิรภัยสำหรับให้ประธานาธิบดีใช้หลบหนี อย่างที่เราเห็นกันในฉากสำคัญของเรื่องนี้

ที่ตลกก็คือ ประธานาธิบดี บิล คลินตัน (Bill Clinton) ที่ครองตำแหน่งในช่วงนั้น ได้ดูหนังแล้วก็ตำหนิว่า หนังถ่ายทอดไม่ตรงตามความเป็นจริง เครื่อง Air Force One ของจริงไม่มีกระสวยนิรภัยซะหน่อย คนที่ออกมาตอบโต้ก็คือผู้กำกับปีเตอร์เซน ก็แก้ต่างว่า แม้ว่า Air Force One ในปัจจุบันนี้ยังไม่มี แต่รุ่นใหม่ในอนาคตก็ต้องมีแหละ

3.แกรี่ โอลด์แมน ต่อยหน้า แฮร์ริสัน ฟอร์ด จริง ๆ

แกรี่ โอลด์แมน วายร้ายอันดับ 1 ในฮอลลีวูดขณะนั้น มารับบทเป็น อีกอร์ คอร์ชูนอฟ (Egor Korshunov) ผู้นำกลุ่มก่อการร้าย ที่ลงมือปฏิบัติการอุกอาจยึด Air Force One กลางเวหาได้สำเร็จ และฉากที่นับว่าเป็นฉากสำคัญในโลกภาพยนตร์ฮอลลีวูด ก็คือฉากเผชิญหน้ากันระหว่างคอร์ชูนอฟ และประธานาธิบดีมาร์แชล เพราะเป็นการประชันบทกันระหว่าง 2 ยอดฝีมือของฮอลลีวูด รายหนึ่งคือพระเอกตลอดกาล ส่วนอีกรายก็คือวายร้ายตัวเอ้ของฮอลลีวูด และในฉากนี้ตามบทที่เขียนไว้ก็คือ คอร์ชูนอฟจะแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายไร้ความยำเกรง ชกหน้าประธานาธิบดีได้หน้าตาเฉย

ซึ่งฉากเผชิญหน้านี้มีความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก แต่ถ่ายทำไปหลายเทคแล้ว ผู้ออกแบบท่าทางการต่อสู้ก็ยังไม่พอใจ ให้ความเห็นว่าการที่โอลด์แมนปล่อยหมัดใส่หน้าฟอร์ดนั้นดูไม่สมจริงเอาเสียเลย ฟอร์ดก็เลยตัดสินใจบอกกับโอลด์แมนว่า ไม่ต้องเกรงใจเขา ซัดหน้าเขามาเต็ม ๆ ได้เลย เมื่อได้รับอนุญาตดังนั้น ด้วยความเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทอย่างโอลด์แมนก็เลยจัดให้ตามที่ต้องการ ซัดเข้าให้ป้าบ! เทคเดียวผ่าน แล้วก็เป็นเทคที่เราได้เห็นกันในหนังนั่นแหละ ถึงฉากนี้ก็กดย้อนดูสัก 2-3 รอบนะ

4.เกล็น โคลส ปฏิเสธขอไม่แสดงบทรองประธานาธิบดีน้ำตาแตก

เกล็น โคลส

คอหนังฮอลลีวูดน่าจะพอสังเกตเห็นกันว่า บทรองประธานาธิบดีในหนังนั้นมักจะเป็นสุภาพสตรี แต่บนโลกจริงนั้น เพิ่งมีรองประธานาธิบดีเป็นผู้หญิงก็คือ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) เมื่อปีที่แล้วนี่เอง ส่วนในหนัง Air Force One นั้นก็เป็นอีกเรื่องที่เขียนบทให้รองประธานาธิบดีเป็นสตรีเพศ แล้วก็ได้ เกล็น โคลส (Glenn Close) นักแสดงมากฝีมือมารับบทนี้ได้อย่างเหมาะสมเป็นที่สุด ซึ่ง แฮร์ริสัน ฟอร์ด เป็นผู้ที่ติดต่อไปยังโคลสแล้วชักชวนเธอให้มาร่วมงานในเรื่องนี้ด้วยตัวเขาเอง ซึ่งโคลสก็ตอบรับ ด้วยเงื่อนไขเดียวหลังจากที่ได้อ่านบทแล้ว ก็คือ ขอให้ตัดฉากที่รองประธานาธิบดี แคทธรีน เบ็นเน็ต หลั่งน้ำตาออกไป เธอให้เหตุผลไว้ว่า
“ฉันคิดว่ากลุ่มผู้ชมผู้หญิงไม่น่าจะพึงพอใจกับฉากแบบนี้ เพราะการมีบทผู้หญิงร้องไห้ในหนังมันดูซ้ำซากน่าเบื่อเกินไป”
แต่ในหนังเราก็เห็นฉากที่รองประธานาธิบดีเบ็นเน็ตน้ำตารื้น ๆ เหมือนกันนะ

5.ฉากที่อธิบายว่าทำไมเจ้าหน้าที่อารักขาประธานาธิบดีตัดสินใจทรยศ ถูกตัดออกไป

แซนเดอร์ เบิร์กลีย์

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือ เจ้าหน้าที่กิบส์ รับบทโดย แซนเดอร์ เบิร์กลีย์ (Xander Berkeley) ในหนังนั้น เราได้เห็นตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่า กิบส์นั้นเป็นไส้ศึกตัวสำคัญให้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และเป็นกลไกสำคัญให้ผู้ก่อการร้ายยึดเครื่อง Air Force One ได้สำเร็จ และที่ร้ายไปกว่านั้น เขายังคงเสแสร้งตีเนียนว่ายังคงซื่อสัตย์ทำงานให้กับประธานาธิบดีต่อไป ทำเอาคนดูลุ้นไปตลอดเรื่องว่ากิบส์จะเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาตอนไหน ซึ่งการอำพรางตัวตนของกิบส์นี้ล่ะ ที่เพิ่มความเข้มข้นให้กับหนัง และชวนลุ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งการอำพรางตัวตนของกิบส์นั้นถูกแก้ไขในบทร่างหลัง ๆ แต่เดิมทีในบทร่างแรก ๆ นั้น กิบส์เผยตัวตนตั้งแต่นาทีที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายยึดเครื่องได้สำเร็จ แต่เป็นไอเดียที่น่าชื่นชมของผู้กำกับปีเตอร์เซนเอง ที่เสนอว่าให้กิบส์ปิดบังตัวตนแบบนี้ต่อไปจะทำให้หนังชวนระทึกได้มากกว่า

และในหนังเวอร์ชันแรก ๆ ที่ถ่ายทำเสร็จไปแล้วด้วยนั้น เดิมทีก็มีฉากที่เล่าประวัติตัวตนของกิบส์ในช่วงยุคสงครามเย็น ที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มผู้ก่อการร้าย แต่สุดท้ายฉากนี้ก็ถูกตัดออกไป ด้วยทีมงานให้ความเห็นว่าไม่ค่อยจำเป็นเท่าใดนัก

6.แฮร์ริสัน ฟอร์ด พยายามหว่านล้อมคณะกรรมการสมาคมภาพยนตร์ให้ปล่อยเรต PG-13 ให้กับหนัง Air Force One

ลองสังเกตว่าหนังส่วนใหญ่ที่ แฮร์ริสัน ฟอร์ด รับบทนำนั้น มักจะเป็นหนังที่เอาใจผู้ชมในวงกว้าง มากกว่าจะเจาะจงแค่กลุ่มผู้ชมรุ่นใหญ่ อย่างเช่นหนัง Indiana Jones, Star Wars และ The Fugitive ซึ่งมักจะเป็นหนังเรต R ครอบคลุมกลุ่มผู้ชมมาถึงรุ่นเยาว์ ซึ่งฟอร์ดเองก็พึงพอใจที่หนังของเขาได้เรตนี้ พอมาถึง Clear and Present Danger นั้น คณะกรรมการพิจารณาเรตภาพยนตร์ MPAA ก็ดันมอบเรต R มาให้ สร้างความไม่พอใจให้กับฟอร์ด เขาจึงเข้าไปเจรจาหว่านล้อมกับคณะกรรมการด้วยตัวเอง ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ หนังได้เรต PG-13 กลับมา

มาถึงคิว Air Force One รอบนี้หนังก็ได้เรต R อีกแล้ว ฟอร์ดก็ทำเหมือนเดิมตรงเข้าหาคณะกรรมการ เจรจาต่อรองอีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่สำเร็จ คณะกรรมการให้เหตุผลว่า ถึงแม้ Air Force One จะไม่มีภาพรุนแรงมากก็ตาม แต่ปริมาณฉากที่มีความรุนแรงก็มากพอดู ไม่ใช่หนังที่เหมาะสำหรับครอบครัวที่พ่อแม่ลูกจะจูงกันไปดูอย่างแน่นอน

7.ประธานาธิบดี เจมส์ มาร์แชล ได้รับการโหวตว่าเป็นประธานาธิบดีที่ถูกแต่งขึ้นที่ยอดเยี่ยมที่สุด

มีประธานาธิบดีอยู่ในหนังและทีวีซีรีส์ของฮอลลีวูดมากมายหลายร้อยเรื่อง แต่ก็มี Air Force One นี่ล่ะ ที่เป็นเรื่องแรกที่เขียนให้ประธานาธิบดีเป็นพระเอกแอ็กชันเต็มตัว ในปี 2016 The Wall Street Journal ก็เลยเปิดโพลให้ผู้ชมโหวตกันว่า ประธานาธิบดีในหนังเรื่องไหน ที่เป็นคนโปรดของผู้ชมที่สุด
ซึ่งผลก็ไม่ผิดไปจากที่คาด อันดับที่ 1 ก็คือ เจมส์ มาร์แชล ประธานาธิบดีจาก Air Force One นี่แหละ รองลงมาก็คือ โจเซีย บาร์ธเล็ต ประธานาธิบดีจากซีรีส์ West Wing รับบทโดย มาร์ติน ชีน (Martin Sheen) และอันดับ 3 ตกเป็นของ ประธานาธิบดี โธมัส เจ.วิธมอร์ บทของ บิล พูลแมน อีกหนึ่งประธานาธิบดีสุดเท่ที่คอหนังจดจำได้ดีจาก Independence Day ที่ติดในอันดับ Top 10 ก็ยังมี ประธานาธิบดี เดฟ โควิก บทของ เคลวิน ไคลน์ จาก Dave และ ประธานาธิบดี เจมส์ ซอว์เยอร์ บทของ เจมี่ ฟอกซ์ จาก White House Down

8.โดนัลด์ ทรัมป์ บอกว่านี่คือหนังสุดโปรดเรื่องหนึ่งของเขา

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เคยเอ่ยถึงหนัง Air Force One (โดยไม่เอ่ยถึงชื่อเรื่อง เพราะจำชื่อหนังไม่ได้) ตอนที่เขาเดินสายหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 เขาได้พูดกับกลุ่มผู้สนับสนุนที่มาฟังเขาปราศัยว่า

“หนังเรื่องโปรดของผมคือหนังที่มี แฮร์ริสัน ฟอร์ด อยู่บนเครื่องบินเรื่องนั้นน่ะ ผมรัก แฮร์ริสัน ฟอร์ด นะ แต่ไม่ใช่เพราะว่าเขาเช่าตึกผมอยู่หรอกนะ ผมชอบที่เขาปกป้องสหรัฐอเมริกา”

แล้วข่าวนี้ก็ล่วงรู้ไปถึงหูของฟอร์ด เขาก็ไม่ค่อยสบอารมณ์นัก ที่หนังของเขาไปเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวแทนพรรครีพับลิกันที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะฟอร์ดนั้นสนับสนุนพรรคเดโมแครต แล้วฟอร์ดก็กล่าวฝากไปถึงทรัมป์ด้วยท่าทีขึงขังว่า “โดนัลด์ ขอโทษเหอะ นั่นมันหนังนะมันใช่เรื่องจริงซะที่ไหนล่ะ แต่ก็อย่างว่าล่ะ คุณจะรู้ได้ยังไงกันละเนอะ ?”
แต่ก็เหมือนว่าทรัมป์ไม่ได้แยแสกับคำตอบโต้ของฟอร์ดแต่อย่างใด แล้วเหมือนออกจะเยาะเย้ยกลับฟอร์ดด้วยในวันที่เขาชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ เขาเดินขึ้นสู่เวทีพร้อมกับเพลงธีมจากหนัง Air Force One

9.คุกที่นายพลราเด็คโดนคุมขัง คือคุกเดียวกับหนัง The Shawshank Redemption

นายพล อิวาน ราเด็ค

นอกเหนือจาก ประธานาธิบดี เจมส์ มาร์แชล และ อีกอร์ คอร์ชูนอฟ แล้ว อีกบทบาทสำคัญก็คือ นายพลอิวาน ราเด็ค (Ivan Radek) ผู้นำเผด็จการจากคาซัคสถาน รับบทโดย เจอร์เกน โพรชนาว (Jürgen Prochnow) นักแสดงชาวเยอรมัน ที่เคยรับบทนำใน Das Boot หนังที่สร้างชื่อให้กับผู้กำกับ วูล์ฟแกง ปีเตอร์เซน และได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในเรื่องนี้

ตอนต้นของหนังเราได้เห็นกันแล้วว่า นายพลราเด็คโดนจับตัวไปคุมขัง แล้วกลุ่มผู้สนับสนุนเขาจึงบุกยึด Air Force One เพื่อต่อรองให้ปล่อยตัวนายพลราเด็ค ในฉากที่นายพลราเด็คกำลังถูกปล่อยตัวจากคุกนั้น ผู้ชมบางคนอาจจะพอคุ้น ๆ กับภาพลักษณ์ของคุกเก่าแก่ซอมซ่อแห่งนี้ นั่นก็เพราะฉากนี้ไปถ่ายทำกันที่สถานพินิจรัฐโอไฮโอ ซึ่งเคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ The Shawshank Redemption หนังดังเมื่อปี 1994 นั่นเอง สถานพินิจรัฐโอไฮโอนี้ยังเคยถูกใช้เป็นฉากในหนังเรื่องอื่น ๆ เช่น Tango & Cash และ Judas and the Black Messiah

10.แฮร์ริสัน ฟอร์ด ยืนยันว่าบทบาทประธานาธิบดีของเขาไม่ได้อิงมาจากตัว บิล คลินตัน

ประธานาธิบดี บิล คลินตัน

หนัง Air Force One ออกฉายในช่วงที่ บิล คลินตัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 42 ของสหรัฐอเมริกา แล้วคนอเมริกันเองก็รู้ดีว่า แฮร์ริสัน ฟอร์ด นั้นเป็นเพื่อนกับ บิล คลินตัน แล้วออกตัวสนับสนุนคลินตันอย่างโจ่งแจ้ง ก็เลยมีการตั้งข้อสงสัยกันว่า บทบาทประธานาธิบดีเจมส์ มาร์แชล ของฟอร์ดนั้น อิงภาพลักษณ์มาจากประธานาธิบดี บิล คลินตัน รึเปล่า ทำเอาฟอร์ดร้อนตัวต้องออกมาให้การยืนยันว่า
“ผมไม่ได้อิงบทบาทการแสดงของผมมาจากประธาธิบดีคลินตัน หรือประธานาธิบดีคนไหน ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม”

แต่ถึงอย่างนั้น ประธานาธิบดีคลินตันก็บอกว่าเขาชื่นชอบหนังเรื่องนี้ เขาออกปากชื่นชม Air Force One ต่อสาธารณชน แล้วยังบอกด้วยว่าได้ชมหนังเรื่องนี้ในห้องฉายหนังในทำเนียบขาวถึง 2 รอบเลย

11.ค่าตัว แฮร์ริสัน ฟอร์ด นั้น สูงกว่าเงินเดือนประธานาธิบดี 100 เท่า


ทุนสร้าง Air Force One ที่ 85 ล้านเหรียญ ในปี 1997 นั้นก็จัดว่าอยู่ในหนังทุนสูงเรื่องหนึ่ง ถ้าเทียบอัตราเงินเฟ้อเป็นปี 2022 ก็อยู่ที่ประมาณ 141 ล้านเหรียญ ซึ่งเหตุที่ทุนสร้างสูงถึงเพียงนี้ เพราะต้นทุนส่วนหนึ่งก็คือค่าตัวมหาศาลของซูเปอร์สตาร์ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ที่รับไปเหนาะ ๆ ก่อนเลย 20 ล้านเหรียญ แล้วยังรับส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากำไรหนังตามหลังอีกต่างหาก

ซึ่งรายรับที่ 20 ล้านเหรียญของ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ในฐานะผู้รับบทประธานาธิบดีในหนังนั้น ก็ยังมีคนเอาไปเปรียบเทียบกับรายได้จริงของ บิล คลิตัน ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวจริง ที่มีรายรับอยู่ที่ 200,000 เหรียญต่อปี นั่นก็เท่ากับต้องคูณ 100 เท่า ถึงจะเท่ากับตัวเลขที่ แฮร์ริสัน ฟอร์ด ได้รับไปจากการรับบทเป็นประธานาธิบดีในหนังเพียงเรื่องเดียว

ไม่แค่นั้นนะ ยังมีคนอุตส่าห์เอาข้อแตกต่างตรงนี้ไปถาม แฮร์ริสัน ฟอร์ด ว่าคิดเห็นอย่างไรกับรายได้ที่ต่างกันลิบลิ่วขนาดนี้ ฟอร์ดก็ตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า
“รายรับผมน่ะเหรอ ถ้าท่านประธานาธิบดีสามารถทำงานแบบเดียวกับผมได้ เค้าก็น่าจะได้พอ ๆ กับผมนี่แหละ”

แต่เงินเดือนประธานาธิบดีก็ปรับสูงขึ้นในแต่ละปีนะครับ นั่นเป็นเงินเดือนประธานาธิบดีเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ส่วนเงินเดือนของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันนั้น อยู่ที่ 400,000 เหรียญต่อปีแล้ว

12.ถ้า แฮร์ริสัน ฟอร์ด ปฏิเสธบทประธานาธิบดี ตัวเลือกต่อไปก็คือ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์, คีอานู รีฟส์ และ ยีน แฮ็กแมน

ยีน แฮ็กแมน

หลังจาก เควิน คอสต์เนอร์ บอกปัดบทไปแล้ว ทางทีมงานก็ติดต่อทาบทาม แฮร์ริสัน ฟอร์ด ให้มารับบทนี้ แต่ระหว่างที่รอลุ้นว่าฟอร์ดจะตอบตกลงไหม ทางทีมผู้สร้างก็ต้องเตรียมตัวตัวเลือกเผื่อไว้ในใจด้วย ตัวเลือกแรกเลยก็คือ อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) พระเอกหนังแอ็กชันเบอร์ต้น ๆ ในเวลานั้น ซึ่งตัวจริงของชวาร์เซเนกเกอร์ก็เผยความปรารถนาอย่างเด่นชัดว่าเขาอยากเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่คุณสมบัติไม่ครบถ้วนตรงที่ไม่ได้เกิดในสหรัฐฯ ก็เลยไปได้ไกลสุดที่ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย 2 สมัย

ตัวเลือกถัดมาก็คือ คีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) ที่เพิ่งโด่งดังสุด ๆ จาก Speed (1994) แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมเท่าใดนัก เพราะในวันนั้นรีฟส์อายุเพิ่งจะ 33 ปีเท่านั้นเอง ตัวเลือกถัดไปนั้น วัยเหมาะสมกับบทประธานาธิบดีแน่นอน เพราะเขาคือ ยีน แฮ็กแมน นักแสดงอาวุโสมากฝีมือ แต่แฮ็กแมนได้อ่านบทภาพยนตร์แล้วเขาก็ปฏิเสธทันทีเพราะไม่ชอบ ลำดับถัด ๆ ไปก็คือ เดนนิส เควด, ทอมมี่ ลี โจนส์, ทอม แฮงก์ส และ จอห์น มัลโควิช ซึ่งเคยร่วมงานกับผู้กำกับ วูล์ฟแกง ปีเตอร์เซน มาแล้วใน In The Line of Fire แต่รายนี้ก็ไม่ว่าง เพราะเพิ่งตอบรับบทตัวร้ายในน Con Air ไป

13.Air Force One ทำเอา รูเพิร์ต เมอร์ดอค เจ้าของค่ายฟอกซ์หวาด ๆ เหมือนกันว่าหนังจะยิ่งใหญ่กว่า Titanic

รูเพิร์ต เมอร์ดอค

ในปี 1997 ไม่ได้มีแต่ Air Force One ที่เป็นหนังทำรายได้มหาศาลในปีนั้น แต่ยังมีหนังทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นั่นก็คือ Titanic ซึ่งเข้าตามหลัง Air Force One ใน 4 เดือนให้หลัง ซึ่งในระหว่างที่สร้างนั้น เจมส์ คาเมรอน ก็ถลุงเงินของฟอกซ์จนทะลุหลัก 200 ล้านเหรียญเข้าไปแล้ว

พอ Air Force One ออกฉาย แล้วกวาดรายได้ถล่มทลายไป ก็ยิ่งทำให้ รูเพิร์ต เมอร์ดอค เจ้าของค่ายฟอกซ์รู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ ว่าจะสูญเงิน 200 ล้านเหรียญไปหรือไม่ เพราะต้องลุ้นว่า Titanic หนังของตัวเองนั้นจะสนุกถูกใจผู้ชมได้เหมือนกับ Air Force One หรือไม่ จนเมื่อเขาได้ชมหนัง Titanic เวอร์ชันที่ตัดต่อสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว เมอร์เดอค ก็เผยความรู้สึกว่า
“โอเคนะ มันก็ดีแหละ แต่มันก็ไม่ใช่ Air Force One!”
จนเมื่อ Titanic เข้าฉายแล้วนั่นแหละ คุณค่าของหนังจึงได้พิสูจน์ตัวตนของมันเองว่าไปได้ไกลกว่า Air Force One หลายเท่าตัว หนังสามารถทำรายได้ผ่านหลัก 1,000 ล้านเป็นเรื่องแรก แล้วยังกวาดออสการ์ไปอีก 11 ตัว

14.เจอร์รี่ โกลด์สมิธ ต้องประพันธ์ดนตรีประกอบหนังให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์

เจอร์รี่ โกลด์สมิธิ

เดิมทีผู้ที่รับหน้าที่ทำดนตรีประกอบ Air Force One ก็คือ แรนดี้ นิวแมน (Randy Newman) ศิลปินและนักแต่งเพลงชื่อดังที่ผันตัวมาทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ แต่ผลงานที่เสร็จเรียบร้อยของนิวแมนนั้นไม่ถูกใจผู้กำกับ วูล์ฟแกง ปีเตอร์เซน ด้วยเหตุผลว่าดนตรีของนิวแมนนั้นไม่ทำให้รู้สึกตึงเครียดจริงจังเท่าที่ควร ทางทีมผู้สร้างจึงไปดึงตัว เจอร์รี่ โกลด์สมิธ (Jerry Goldsmith) อีกหนึ่งนักประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ชื่อดัง ซึ่งโกลด์สมิธเจองานยาก และกดดันสุดเพราะต้องทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาจำกัดเพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งในที่สุดผลงานของโกลด์สมิธก็ออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ส่วนงานดนตรีของนิวแมนที่ทำเสร็จแล้วไม่ได้ใช้นั้น เจ้าตัวก็เอาไปปรับแต่งแล้วนำไปใช้กับหนัง Toy Story 3 แทน อารมณ์หนังมันใกล้เคียงกันตรงไหนเนี่ย ?

15.Air Force One ดันให้ Starship Troopers เลื่อนไปฉายปลายปี

Starship Troopers อีกหนึ่งหนังไซไฟแอ็กชันเรื่องโปรดของหลาย ๆ คน ก็เป็นอีกเรื่องที่ได้รับผลกระทบจากความแรงของ Air Force One เช่นกัน หนังเป็นผลงานการสร้างร่วมของ ดิสนีย์ และ โซนี่ เช่นกัน เช่นเดียวกับ Air Force One ที่ผลิตโดย ทัชสโตน บริษัทในเครือของดิสนีย์ และ โคลัมเบีย พิกเจอร์ บริษัทในเครือของโซนี่

เดิมทีนั้นทั้ง Air Force One และ Starship Troopers ถูกวางกำหนดฉายไว้ในช่วงซัมเมอร์ของปี 1997 แต่ทางผู้บริหารนำมาพิจารณาแล้ว มั่นอกมั่นใจว่า Air Force One จะต้องเป็นหนังฮิตอย่างแน่นอน งั้นอย่าให้หนังเรามาชนกันเองเลย เลื่อน Starship Troopers ไปฉายเดือนพฤศจิกายนเลยจะดีกว่า ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาด Air Force One ทำรายได้ไป 315 ล้าน ทำกำไรได้อย่างน่าพอใจ ในขณะที่ Starship Troopers แม้จะเลื่อนหลบไปช่วงปลายปีแล้ว ก็ยังทำรายได้มาแค่ 121 ล้านเหรียญเท่านั้น

ที่มา